ปาฐกถาเรื่อง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ - ตอนที่ 2


.....มูลนิธิฯ ไม่ต้องการที่จะให้แก่บุคคลที่ทำประโยชน์แก่ชุมชนของตน.....


                ต่อจากตอนที่แล้ว.... บทความก่อนหน้านี้ ปาฐกถาเรื่อง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล”  ตอนที่ 1    

  ******************************************
     ตอนที่ 2    บทความพิเศษ ปาฐกถาเรื่อง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล”  โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ

                ต่อมามีผู้บริจาคให้มูลนิธิฯ  มากมาย   ตั้งแต่สมเด็จพระศรีนครินทร์  และสมเด็จพระพี่นางก็บริจาคเป็นครั้งใหญ่ๆ  หลายครั้ง และมีบริษัท, เอกชน, ห้างร้านใหญ่ๆ   ช่วยบริจาคอีก       เวลาที่ตั้งมูลนิธิฯ  ขณะนั้นเป็นเวลาที่ประเทศไทยกำลังรุ่งเรือง   ต่อมาเศรษฐกิจยุบตัวลงในปี 2540    ซึ่งค่อนข้างกระทบกระเทือนมาก  และอัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์ต่อบาทก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน      แต่เนื่องจากสำนักพระราชวังได้ช่วยเหลือในด้านงบประมาณการพระราชพิธีพระราชทานรางวัลและการเลี้ยงคอกเทล  และการมี Banquet  นอกจากนั้นบริษัทการบินไทยก็ให้ค่าตั๋วเครื่องบินฟรีแก่ผู้ที่เดินทางทั้งกรรมการรางวัลนานาชาติและผู้ที่ได้รับรางวัล      และโรงแรมโอเรียนเต็ลก็ให้ห้องพัก   ซึ่งมีการลดราคาเป็นพิเศษให้แก่กิจการของมูลนิธิฯ   จึงดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย

                 มูลนิธิฯ จัดตั้งขึ้นโดยมีคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งสมเด็จพระเทพฯ  ท่านทรงเป็นองค์ประธานและมีอุปนายกซึ่งเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มีกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ  อธิบดีกรมสารนิเทศ  คณบดีคณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สงขลานครินทร์  เป็นต้น  และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้วย

                 เมื่อมีการประชุมครั้งแรก  คณะกรรมการมูลนิธิฯ     ได้สรุปว่ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล หรือที่เรียกว่ารางวัลมหิดล ในตอนแรกๆ จะต้องเป็นรางวัลนานาชาติ   ซึ่งมอบให้ผู้สมควรได้รับจากประเทศใดๆ  ก็ได้     คณะกรรมการมีมติให้กับผู้เป็นแพทย์และได้สร้างวิชาการที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลจำนวนมากข้ามประเทศและข้ามทวีปเป็น 1 รางวัล     อีกหนึ่งรางวัลให้แก่บุคคลซึ่งสร้างความรู้ใหม่ หรือรับความรู้ใหม่จากผู้อื่นมาประยุกต์ต่อประชากรจำนวนมาก   ข้ามประเทศและข้ามทวีปเช่นกัน    มูลนิธิฯ  ไม่ต้องการที่จะให้แก่บุคคลที่ทำประโยชน์แก่ชุมชนของตน   ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในประเทศหรือนอกประเทศก็ได้  

                มูลนิธิฯ  ได้มอบหมายให้ผมไปกระทำ 2 อย่าง คือ [1] ร่าง Charter ของมูลนิธิฯ เป็นภาษาอังกฤษ       และ [2] ให้ประกอบการตั้ง  “คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ” ขึ้นคณะหนึ่ง    เพื่อพิจารณาหาผู้สมควรได้รับรางวัลมหิดลเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ    การเขียน Charter ได้กระทำร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ  เขียนเป็นภาษาอังกฤษ มีข้อความซึ่งให้อำนาจเลขาธิการไว้ค่อนข้างมาก  และให้อำนาจคณะกรรมการรางวัลนานาชาติให้มีสิทธิจัดการประชุมอย่างใดก็ได้ที่เหมาะสม    เพื่อจะกลั่นกรองผู้สมควรได้รับรางวัลและเสนอกรรมการใหญ่ต่อไป

                                                                                                            (โปรดติดตามต่อไป)
                                  *******************************************
ที่มา : บทความพิเศษ  ปาฐกถาเรื่อง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล”  โดย ณัฐ ภมรประวัติ พ.บ. 
         จาก สารศิริราช  ปีที่ 54 ฉบับที่ 9 เดือนกันยายน  2545

หมายเลขบันทึก: 14364เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2006 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท