เรื่องเล่าที่มีความรู้เล็กๆอยู่ข้างใน...การจัดการงานสาธารณะ รัฐศาสตร์ รามคำแหง


การจัดการงานสาธารณะ  ชุมชนคีรีวง  จังหวัดนครศรีธรรมราช

                คีรีวงเป็นชื่อหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ที่ตำบลกำโลน  อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหมู่บ้านที่สวย รวยน้ำตก ยกวัฒนธรรม นำพัฒนา  ด้วยเหตุที่ตั้งอยู่ที่ราบเชิงเขาหลวงด้านทิศตะวันออก มีเทือกเขาหลวงที่โอบล้อมทั้ง 4 ด้าน แต่เดิมหมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อว่า บ้านขุนน้ำ แต่มาเปลี่ยนเป็นคีรีวงอันมีความหมายว่าบ้านที่อยู่ในวงล้อมของภูเขาตามชื่อวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางหมู่บ้าน  ชาวคีรีวงดำเนินชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายและสงบสุขด้วยสภาพ พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์และการพึ่งพาอาศัยกันในลักษณะเครือญาติจนมาเผชิญกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2505 ครั้งที่ 2 ในปี 2518 และครั้งที่ 3 ในปี 2531  ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุด  ซึ่งในแต่ละครั้งสร้างความเสียหายให้แก่หมู่บ้านอย่างมหาศาลเนื่องจากหมู่บ้านอยู่ในภูเขาทำให้เกิดดินถล่มลงมา น้ำป่าพัดพาบ้านเรือนต้นไม้และที่ทำกินพังเสียหายและทำลายเส้นทางน้ำที่ใช้ติดต่อกับภายนอกจนหมดสิ้น  ครั้งที่ 3 ที่มีความร้ายแรงมากนั้นทำให้ชาวบ้านต้องหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีแม้บ้านที่จะอยู่อาศัยและมีหนี้สินมากมายซึ่งชาวคีรีวงและกระผมเองซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอลานสกาคงจะไม่ลืมเหตุการณ์ในครั้งนี้ชาวบ้านต่างต่อสู้กับภัยธรรมชาติด้วยตัวของตนเองด้วยความสามัคคีและการบริหารจัดการของชุมชนที่ดีทำให้สามารถกอบกู้ชุมชนขึ้นมาใหม่เพื่อความมั่งคงของชุมชน
                ชาวคีรีวงส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนผลไม้ที่กลมกลืนกับป่าธรรมชาติหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สวนสมรม คือการปลูกผลไม้หลายๆชนิดไว้ในสวนเดียวกัน เช่น สะตอ มังคุด ขนุน เงาะ ทุเรียน เป็นต้น เนื่องจากผลผลิตของชาวคีรีวงได้ออกสู่ตลาดพร้อมๆกันหรือไล่เลี่ยกับจังหวัดอื่นๆทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำไม่ดีเท่าที่ควร  ประกอบกับการที่มีการรับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านทำให้เกิดความเสียหาย  จึงทำให้ชาวคีรีวงเริ่มมีหนี้สะสมขึ้นมามากมาย  และเริ่มที่จะมีการกู้หนี้กันมากขึ้นซึ่งดอกเบี้ยก็อยู่ในอัตราที่สูงมาก
                เนื่องจากการมีหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมากนี้เองจึงทำให้เกิดแนวความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ชาวคีรีวงมีหนี้สินที่ลดลงทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันระยะเริ่มแรกจะมีเพียง 50 คน จัดตั้งเป็นธนาคารเล็กๆของหมู่บ้านโดยสมาชิกของกลุ่มจะมีการตั้งสัจจะว่าจะเก็บเงินจากการทำสวนมาฝากไว้ที่ธนาคารหมู่บ้านทุกเดือน  ทุกๆสิ้นเดือนชาวคีรีวงจะพากันเดินทางมาที่ทำการกลุ่มโดยจะนำเอาเงินสัจจะที่สะสมไว้มาฝากเข้าบัญชี  ธนาคารเล็กๆแห่งนี้เกิดขึ้นมาจากแนวความคิดที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนของชาวคีรีวง  จากธนาคารเล็กๆซึ่งมีสมาชิกเพียงไม่ก็คนได้พัฒนาจนกลายมาเป็นกลุ่มออมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และได้มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือปลดหนี้ของชาวบ้านจากนายทุนหรือ ธ.ก.ส. ที่ละหลายๆราย รวมทั้งช่วยให้ชาวบ้านไม่ต้องก่อหนี้ใหม่กับนายทุน หรือแม้แต่ ธ.ก.ส. เพราะทางกลุ่มออมทรัพย์จะคอยช่วยเหลือเรื่องนี้อยู่แล้วแม้ราคาผลผลิตทางการเกษตรจะต่ำแต่ชาวบ้านก็สามารถออมเงินส่วนที่เหลือได้ ทางกลุ่มออมทรัพย์จะมีเงินหมุนเวียนอยู่ในรูปของเงินกู้ และเงินสวัสดิการ เพราะชาวบ้านเกือบทั้งหมดได้หันมาใช้บริการในรูปของการฝาก-ถอน-กู้  จากกลุ่มออมทรัพย์จากความสำเร็จของการพัฒนาหมู่บ้านและการส่งเสริมการออม การเติบโตที่แท้จริงของกลุ่มออมทรัพย์มาจากการต่อสู้ของชาวบ้าน จากความร่วมมือของชาวบ้านและการแก้ใขปัญหาต่างๆในกลุ่มออมทรัพย์โดยมีคณะกรรมการโดยปราศจากความช่วยเหลือแนะนำใดๆของใคร  จากการเริ่มมีสมาชิกเพียง 50คนปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 2500 คน จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการในการทำงานของกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งผมได้เข้าไปร่วมในคณะทำงานและฝึกงานอยู่ที่หมู่บ้านคีรีวงนี้
                
โครงสร้างธนาคารหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์คีรีวง  มีคณะดำเนินงาน 4 ชุด ชุดละ 6 คน
1.    คณะกรรมการอำนวยการ มีหน้าที่ในการบริหารงานทั้งหมดภายในกลุ่มออมทรัพย์
2.    คณะกรรมการเงินกู้ มีหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัติเงินกู้ทั้งหมด
3.    คณะกรรมการตรวจสอบ มีหนาที่ควบคุมการใช้เงินบัญชีของกลุ่ม
4.    คณะกรรมการส่งเสริม มีหน้าที่แก้ปัญหาระหว่างสมาชิก
จากการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์บ้านคีรีวงเริ่มจากกลุ่มเล็กๆเพียงเวลาไม่กี่ปีซึ่งเริ่มแรกมีเงินทุนเพียง 35,000 บาท แต่ในปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ที่ 10 ล้านบาทนับว่าการดำเนินงานของกลุ่มประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการชุมชนที่ดี มีกระบวนการทำงานที่มีระบบประชาชนเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการบริหารชุมชนกันเอง ผมซึ่งเป็นคนในอำเภอลานสกาและได้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของการออมทรัพย์ ได้สัมผัสถึงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านทำให้ทราบว่าชาวคีรีวงเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายมีการพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งในตอนก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในแรกเริ่มอาจจะมีปัญหาบ้างแต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของชาวคีรีวงเองทำให้กลุ่มออมทรัพย์ประสบความสำเร็จในที่สุด                                                          

เล่าโดย.......     นาย  ธีรยุทธ์       มาศเมฆ  เลขที่ 41   MPM5  4812840415

 

คำสำคัญ (Tags): #storytelling
หมายเลขบันทึก: 14582เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2006 07:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 01:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท