การเป็นวิทยากรกระบวนการโครงการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นที่ตำหูล่องทำให้ผมเห็นข้อจำกัดของการทำงานสร้างความเข้มแข็งชุมชน แก้ปัญหาความยากจน ที่ไม่อาจสำเร็จได้โดยง่าย คงทำกันอีกนานแสนนาน ไม่ง่ายเหมือน"อาจสามารถ"
คำถามวนเวียนไปมาว่า ความยากจนมาจากอะไร?
1)เชิงโครงสร้าง ระบบทุนนิยมนิยมวัตถุ
2)ท่าทีต่อชีวิตหรือทิฐิของแต่ละบุคคล
จิตกำหนดวัตถุหรือวัตถุกำหนดจิต หรือต่างกำหนดซึ่งกันและกัน
การจัดการความรู้ที่เป็นเครื่องมือสำคัญ ถึงที่สุดแล้ว ก็ถึงทางตัน
คือเรื่องทิฐิ ที่ต้องเริ่มจาก
ความเห็นชอบ และดำริชอบ
จากนั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายคือสิ่งที่ดำริไว้
ผมสรุปของผมเองว่า
การแก้ปัญหาหรือทำอะไรให้ดีขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับคน ต้องใช้
1)มรรคแปด
2)ทิศหก
3)ทิฐิและศีลเสมอกัน
มรรคแปดคือคำจำกัดความครบถ้วนตั้งแต่ความเห็นชอบจนถึงการปฏิบัติจนเห็นผลบรรลุเป้าหมาย
ทิศหก เป็นการทำหน้าที่ตามบทบาทที่ตนเองเกี่ยวข้องอย่างถูกต้องครบถ้วน อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลตามหน้าที่ของตน ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันความสำเร็จแต่ต้นเลยทีเดียว
ทิฐิและศีลเสมอกัน เป็นคำอธิบายกำกับการทำงานร่วมกันตามหน้าที่ที่ต้องมีความเห็นหรืออุดมการณ์เสมอกัน มีศีลคือการปฏิบัติตามระเบียบข้อตกลงที่กำหนดไว้อย่างเท่าเทียมเสมอกัน ซึ่งเป็นการกำกับการทำงานรวมกลุ่มนั่นเอง ข้อหลังนี้ มักเกิดปัญหาเสมอหากสมาชิกมีศีลไม่เสมอกัน ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน ยิ่งการรวมกลุ่มไม่ได้เกิดจากทิฐิหรืออุดมการณ์ที่เสมอกันยิ่งเป็นเรื่องยาก ต่อเนื่องมาถึงชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลกใบน้อยนี้ด้วย
เรื่องที่สรุปไว้แม้ว่าจะมองจากด้านในเป็นหลัก เพราะยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ปัจจัยภายในเป็นเงื่อนไขสำคัญนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอก เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างเกือบทั้งหมดมาจากการยอมรับของปัจจัยภายในซึ่งคลื่นวัตถุนิยมส่งออกมา หากปัจจัยภายในปรับสภาพให้คลื่นทำอันตรายไม่ได้ก็จะช่วยได้มาก อย่างไรก็ตาม คลื่นก็ยังมีผลต่อสภาพแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อเราได้เพราะการทำให้อยู่ในสภาพที่คลื่นทำอะไรไม่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงต้องสร้างเงื่อนไขในการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นด้วย
พูดไปพูดมาก็หนีไม่พ้นเรื่องที่คนโบร่ำโบราณถกเถียงกันมาไม่รู้กี่พันปีแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนบริบทของเรื่องราวเป็นโลกยุค2006ก็เท่านั้น
วัตถุกับจิตยังคงรบรากันต่อไป
ตราบจนไม่มีวัตถุและจิตในใจคน