เครือข่าย KM ใน รพช. จังหวัดสงขลา


เราจะโค้ชเครือข่ายนี้ผ่าน บล็อก GotoKnow เราเชื่อว่า พรพ. จะเข้ามาเป็นโค้ชด้วยเช่นกัน โดย พรพ. เน้นโค้ชด้านเนื้อหาด้านคุณภาพโรงพยาบาล ส่วน สคส. เน้นโค้ชด้านกระบวนการ KM

เครือข่ายจัดการความรู้ใน รพช. จังหวัดสงขลา

           เราไปจัด KM workshop ให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และ HACC ภาคใต้    เพื่อเริ่มต้น HKM Network จังหวัดสงขลา ซึ่งผมขอเรียกว่า SHKM (Songkhla Hospital KM) Network     คำว่า รพช. หมายถึงโรงพยาบาลชุมชน     ในการประชุมครั้งนี้ (๑๐ ๑๑ มิ.ย. ๔๘) มี รพช. ทุกโรงในจังหวัดสงขลาเข้าร่วม จำนวน ๑๕ โรง       คุณอ้อ (วรรณา) เป็นวิทยากรหลัก    คุณหญิง (นภินทร) เป็นวิทยากรผู้ช่วย   ผมเป็นกองหนุน     ผู้จัดการหรือเจ้าของการประชุมคือคุณศิริลักษณ์ ตันชัยสวัสดิ์  ผู้จัดการเครือข่ายโรงพยาบาล (HACC) ภาคใต้     คำว่า HACCย่อมาจากHospitalAccreditationCoordinatingCenter    เป็นศูนย์ของ พรพ. (สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล)

           เราออกแบบการประชุมไม่เหมือน HKM Network ของ ๑๗ รพ. ภาคเหนือตอนล่าง     คือกำหนด หัวปลา ของ KM ว่า เพื่อการได้รับการรับรองคุณภาพ รพ.    และกำหนด หัวปลา ของการประชุม เน้นการพุ่งเป้าประเด็นไปที่แก่นความรู้”(Core Competence) ของการบรรลุคุณภาพที่ ๑๕ รพ. นี้เห็นร่วมกันว่ายังตนอ่อนแออยู่     คือใช้ยุทธศาสตร์กำจัดจุดอ่อน    

           ๑๕ รพช. ที่จะรวมตัวกันเป็นเครือข่าย กำหนด หัวปลาย่อย ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Care & Share) ใน ๒ วันนี้ ๕ เรื่อง คือ

1.        การนำองค์กร

2.        การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล

3.        การพัฒนาคุณภาพบริการ

4.        การพัฒนาคุณภาพคลินิกบริการ

5.        การควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล

 

           เนื่องจากเรื่อง KM เพื่อพัฒนาคุณภาพ รพ. นี้ สคส. มีประสบการณ์ด้านเนื้อหา (content) อยู่บ้างแล้ว     เราจึงเริ่ม ฉีกตำราทิ้ง  คือไม่ทำตามรูปแบบ ธารปัญญา เคร่งครัดนัก     หรืออาจกล่าวว่า เราใช้ตำราหลายเล่มขึ้น ก็ได้     หรือกล่าวใหม่ว่า สคส. ใช้ความรู้จากประสบการณ์มากกว่าความรู้จากตำรา ก็ยิ่งถูกต้องมากขึ้นไปอีก

 

           เริ่มด้วยการทำความเข้าใจกับ Group Facilitator และ Note Taker ประจำกลุ่ม     คนทั้ง ๒ กลุ่มมีความสับสน    สงสัยว่าจะเอาอะไรเป็นหลัก    เอามาตรฐานขั้นตอนการทำงาน    หรือจะเอาเรื่องเล่าความสำเร็จ     ถ้าวิธีบรรลุความสำเร็จไม่ตรงกับมาตรฐานขั้นตอนการทำงาน จะยึดถือว่าอันไหนถูก    จะเป็นที่ยอมรับโดยผู้บริหารหรือไม่

           เห็นวิธีคิดในแนวทางควบคุมและสั่งการไหมครับ    ถ้าจะทำ KM เราจะต้องก้าวข้ามวัฒนธรรมอำนาจแบบนี้ ให้ได้

 

           ทญ. อรพินท์ เค้าสงวนศิลป์ รองสาธารณสุขจังหวัดสงขลา แจ้งในพิธีเปิดอย่างเป็นกันเอง ว่า รพช. ทั้งหมดผ่านบันไดขั้นที่ ๑ แล้ว    และต้องการก้าวต่อไป สู่การรับรอง HA      แต่เมื่อดำเนินไประยะหนึ่งก็เกิดความสับสน ท้อแท้     ต้องการ ตัวช่วยในการเรียนรู้     เมื่อ พรพ. หนุนผ่าน HACC ให้ดำเนินการต่อยอดกระบวนการ HA ด้วยเครือข่าย KM    จ. สงขลาก็ขานรับทันที

 

การทำงานกลุ่ม รอบที่ ๑   แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านเรื่องเล่าแห่งความสำเร็จ     

           แม้การจัดห้องและเครื่องอำนวยความสะดวกบางอย่างจะไม่ดีนัก     แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเรื่องเล่าของความสำเร็จ ในประเด็นที่พุ่งเป้า (focus) และผู้มาร่วมแลกเปลี่ยน เป็น คุณกิจ ตัวจริง   ทำให้บรรยากาศของการประชุมในทั้ง ๕ กลุ่มเต็มไปด้วยความคึกคัก    ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) เพื่อการบรรลุเป้าหมายของแต่ละ หัวปลาย่อย  หลั่งไหลออกมาแทบจดไม่ทัน    

           ทั้ง ๗๕ คนที่มาร่วมการประชุมได้เรียนรู้บทแรกจากการสัมผัสด้วยตนเอง ทุกคนมีความรู้เพื่อการปฏิบัติมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ!!!

           บทเรียนบทที่ ๒ การเดินเรื่องด้วยความสำเร็จ    เรียนรู้ร่วมกันด้วยการเล่าเรื่อง (storytelling) ราวของความสำเร็จ    จะทำให้เกิดบรรยากาศสร้างสรรค์ บรรยากาศของความชื่นชม    นำไปสู่การรวมตัวกันพัฒนางานอย่างเป็นธรรมชาติ

           ผมนั่งสังเกตการณ์อยู่ในกลุ่มผู้บริหาร คือผู้อำนวยการโรงพยาบาล    ได้เห็นว่าผู้อำนวยการแต่ละคนมี tacit knowledge ด้านการบริหารจัดการสูงมาก    และสามารถจดบันทึกหลักการออกมาจากเรื่องเล่า เป็น explicit knowledge ได้คล่องแคล่ว    แต่มักละเลยไม่บันทึก tacit knowledge     ทำให้ผมรู้สึกว่าคนที่มีความรู้สูงในลักษณะที่เป็นนักวิชาชีพจะมีทักษะในการจัดการความรู้ชัดแจ้ง (explicit knowledge) เท่านั้น      ไม่มีทักษะในการจัดการความรู้ฝังลึก (tacit knowledge)      นี่คือประเด็นของการจัดการความรู้   ที่จะต้องฝึกทักษะในการบันทึก tacit knowledge จากเรื่องราวของการทำงาน    ฝึกบ่อยๆ จนสามารถลบความมืดบอดต่อ tacit knowledge ลงไปได้

           เนื่องจากผู้จัด workshop เตรียม flip chart ไม่ดี    มีให้ใช้หลังการประชุมเริ่มไปกว่าครึ่งทาง     ทำให้การบันทึก ขุมความรู้ไม่ได้ใช้ flip chart    ขาดพลังของ visual stimulation ในการสกัด ขุมความรู้”(knowledge assets)     ขาดการร่วมกันสกัด ขุมความรู้โดยสมาชิกกลุ่ม    และทำให้ตอนนำเสนอผลการประชุมกลุ่มขาด flip chart ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ดูพร้อมกันไปด้วย   

           ในภาพรวม กลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถเล่าเรื่องและสกัด ขุมความรู้ ออกมาได้ดี    บรรยากาศของการประชุมเป็นบรรยากาศของความสนุกสนาน ชื่นชมยินดี    ผศ. นพ. สุธรรม --  อดีตผู้อำนวยการ รพ. สงขลานครินทร์ แสดงความพิศวงว่าบรรยากาศของการประชุมไม่มีความขัดแย้ง  ไม่มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน     ถ้าคนเหล่านี้กลับไปที่ รพ. ของตน จะสามารถประชุมกันภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ได้ไหม    อะไรคือปัจจัยที่ช่วยทำให้การประชุมวันนี้เกิดบรรยากาศที่ดีเช่นนี้

           หลังจากตัวแทนกลุ่มนำเสนอผล ขุมความรู้ และเรื่องเล่า จากการประชุม ต่อที่ประชุมใหญ่แล้ว     วิทยากรหลัก คือคุณอ้อ ก็มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิตั้งข้อสังเกต     ได้แก่ คุณเนาวนิตย์ ทฤษฎิคุณ    คุณเกศินี   คุณศิริลักษณ์    และผม     ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญมากที่จะช่วยตอกย้ำความเข้าใจเชิงทฤษฎี ที่สังเกตเห็นจากประสบการณ์จริงของผู้เข้าร่วมประชุม

            ผมได้ให้ข้อสังเกตในประเด็นต่อไปนี้

1.        การประชุมกลุ่มมีเจตนาให้เรียนรู้ ๒ ชั้น    คือชั้นแรกเป็นความรู้เชิงเนื้อหาสาระ (content) ตาม หัวปลา ของแต่ละกลุ่ม    และชั้นที่ ๒ เป็นความรู้เชิงกระบวนการในการประชุมกลุ่ม    ผู้เข้าร่วมประชุมควรสังเกตบรรยากาศของการประชุม   วิธีจัดห้องประชุม  วิธีดำเนินการประชุม ฯลฯ ที่ดี     สำหรับเอาไปประยุกต์ใช้ใน รพ. ของตน

2.        การประชุมครั้งนี้มีความรู้ฝังลึก หรือความรู้ในคน ปลดปล่อยออกมามากอย่างน่าภาคภูมิใจ    ปัจจัยแห่งความสำเร็จก็คือสมาชิกกลุ่มเป็น คุณกิจ ตัวจริง    และการกำหนดให้เล่าเรื่องราวของความสำเร็จ

3.        การบันทึกความรู้ฝังลึก เป็นทักษะอย่างหนึ่ง    ที่เป็นจุดอ่อนของผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาชีพโดยทั่วไป     ยิ่งเชี่ยวชาญมาก ก็มักยิ่งบันทึกความรู้ฝังลึกได้ไม่ดี    ที่ไม่ดีเพราะบันทึกเป็นความรู้ชัดแจ้งหรือความรู้เชิงทฤษฎีเสียหมด     เนื่องจากสมองมีความชำนาญมากในการจับประเด็นและสังเคราะห์เป็นความรู้เชิงทฤษฎี เชิงหลักการ     วิธีบันทึกความรู้ฝังลึกที่ดีทำโดยบันทึกในภาษาพูด บันทึกเป็นประเด็นย่อยๆ เล็กๆ    ในลักษณะของการบันทึก ความรู้ดิบ     ไม่ใช่บันทึก ความรู้สุก ที่ผ่านการ หุง ทางความคิดแล้ว

4.        การเล่าเรื่องที่ดี ต้องไม่ตีความ    ต้องเล่าตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ณ เวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้น     ต้องไม่เล่าตามความรู้สึกนึกคิดขณะที่เล่า

5.        การบันทึก tacit knowledge หรือ ขุมความรู้” (knowledge asstes)  ควรทำบน flip chart จะช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มได้ดีกว่า     ควรหยุดตรวจสอบขุมความรู้ร่วมกันเป็นระยะๆ 

6.        เรื่องเล่าเกี่ยวกับ home healthcare team ของ รพ. ควนเนียง เป็นตัวอย่างของการใช้วิธีทำงานแบบ multidisciplinary team เป็นเครื่องมือให้เกิด KM ตามธรรมชาติ    เพราะจะทำให้คนต่างวิชาชีพ ต่างหน้าที่ต้องปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปโดยไม่รู้ตัว     ทำให้  ความรู้ไหลผ่านแดน คือไหลผ่านคนที่คิดต่างกัน ประสบการณ์ต่างกัน มีทฤษฎีต่างกัน ทำให้ความรู้ถูกยกระดับขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

การทำงานกลุ่ม รอบที่ ๒  ทำ ตารางแห่งอิสรภาพจาก ขุมความรู้

           เราให้ทดลองใช้ card technique ตามที่ผมแนะนำไว้ใน blog-for-thai-km.blogspot.com วันที่ ๙ พค. ๔๘    ซึ่งเราทดลองใช้มาแล้วในหลาย workshop และพบว่าใช้การได้ดีมาก    สำหรับในคราวนี้เวลามีน้อย แต่กลุ่มก็สามารถสร้างตารางแห่งอิสรภาพ ได้ในระดับน่าพอใจ

           ผมได้แนะนำให้เครือข่ายเอาร่างนี้ไปดำเนินการต่อ   ใช้เวลามากกว่านี้ในการทำให้ตารางมีความครบถ้วนและเหมาะสมมากขึ้น     ให้ คุณกิจ ตัวจริงได้ร่วมกันปรับปรุง     และได้แนะนำให้ใช้ ตารางแห่งอิสรภาพนี้เพื่อประโยชน์ ๒ ประการ

1.        ใช้ประเมินตนเอง เพื่อใช้จับคู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทรงพลัง

2.        ใช้เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้     โดยใช้กระบวนการถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อทำความเข้าใจและปรับปรุง ตารางแห่งอิสรภาพ นั้นเอง เป็นเครื่องมือให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการทดลองปฏิบัติ

 

การทำงานรอบที่ ๓  AAR 

           เราทำ AAR ใน ๒ ประเด็น  คือ

1.        ประเมินการประชุมกลุ่ม ๒ ช่วง โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียนรู้วิธีหา intellectual capital ภายในองค์กร   บันทึกเป็น ขุมความรู้”(Knowledge Assets)  และ สังเคราะห์เป็น แก่นความรู้” (Core Competence)  สำหรับไว้ใช้งานต่อไป   ให้ผู้เข้าร่วมประชุมตอบ ๓ คำถามตามแนว AAR    โดยให้มีตัวแทนกลุ่มละ ๒ คนเป็นผู้นำเสนอความความรู้สึกของตน

2.        ประเมินการประชุมในภาพรวม    ว่าแต่ละคนมีเป้าหมาย (ของตน) อย่างไร ในการเข้าร่วม workshop นี้     และตอบ ๓ คำถามตามแนว AAR

 

          การทำ AAR นี้ ก็มีเป้าหมาย ๒ ชั้นเช่นเดียวกัน    คือเพื่อเรียนรู้เครื่องมือทำ KM ที่เรียกว่า AAR     กับเพื่อนำความเห็นไปใช้ปรับปรุงการจัดการประชุม และปรับปรุงงานในโรงพยาบาลของตน

           ผมรับเป็นวิทยากรในช่วง AAR นี้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นอิสระ  ไม่มีถูก ผิด  เน้นการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายมุมมอง   เน้นความคิดสร้างสรรค์    เคล็ดลับสำคัญคือให้ผู้ที่มีอาวุโสน้อยเป็นผู้นำเสนอก่อน    เพื่อไม่ให้ความคิดเห็นของผู้ใหญ่ปิดกั้นความคิดของผู้อาวุโสน้อย

          ความมาแตกเอาตอนนี้ ว่าผู้เข้าร่วมจาก รพช. เกิดความเครียดก่อนเข้าร่วมประชุม   บางคนถึงกับขอเปลี่ยนตัว     เนื่องจากผู้จัดแจ้งและกำชับแล้วกำชับอีกไปทางโรงพยาบาลว่าต้องเตรียมอ่านทำความเข้าใจ KM จากเอกสารและเว็บไซต์ให้ดี    ถ้าเตรียมมาไม่ดี อาจารย์วิจารณ์ พร้อมที่จะกลับกรุงเทพได้ตลอดเวลา     และผู้จัดการประชุมแจ้งว่า ได้รับสารนี้จากคุณอ้อ ทาง อี-เมล์     ซึ่งผมนึกในใจว่าคุณอ้อเขารู้ใจผมชนิดแทงทะลุจริงๆ

 

การทำงานรอบที่ ๔  การวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเครือข่าย  

           การขับเคลื่อนเครือข่าย KM ต้องการการจัดการ    และการจัดการต้องการยุทธศาสตร์     การจัดการความรู้เป็นการ เข็นครกขึ้นภูเขา    คือต้องเอาชนะวิธีคิด  วิธีการ  และวัฒนธรรม  แบบเก่าๆ ที่ล้าหลัง    จึงต้องมีการ ทำไปเรียนไป ระยะหนึ่ง    จนเปลี่ยนเข้าสู่วัฒนธรรมใหม่    การจัดการความรู้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตามปกติในการทำงาน    เมื่อถึงจุดนั้น การทำ KM ก็เป็นอัตโนมัติ    คือ ทำก็เหมือนไม่ทำ  ไม่ทำก็เหมือนทำ     อยู่ในสภาพที่ โยนเครื่องมือทิ้งได้    

           โปรดอย่าลืมว่า KM เป็นเพียงเครื่องมือ  ไม่ใช่เป้าหมาย

           ความสำเร็จที่เห็นชัดเจนก็คือ ผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้ง ๑๕ รพ. เห็นคุณค่าของวิธีการค้นหา ปัญญาปฏิบัติ ที่มีอยู่ภายในองค์กร    และเห็นคุณค่าของการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ปฏิบัติ    คือเห็นพ้องกันว่าควรมีเครือข่าย KM รพช. ในจังหวัดสงขลา (SHKM)     เพื่อจูงมือกันผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล      และจะมีการจัด SHKM blog เพื่อเป็นเวทีเสมือนสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพ รพช. ในจังหวัดสงขลา 

           สคส. ขอแจ้งจุดยืนว่า  สคส. ยินดีร่วมมือกับเครือข่าย KM ที่ทำจริง  ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อให้ผ่านการประเมินของ กพร./ทริส     ดังนั้น สคส. จะเฝ้าดูว่าเครือข่ายนี้ทำจริงแค่ไหน    ถ้าทำจริง อีก ๖ เดือน สคส. จะมาทำกิจกรรมร่วมกัน    และจะมีการเชิญเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ สคส. ซึ่งจัดอยู่เป็นประจำ     รวมทั้งกิจกรรม มหกรรมความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒    วันที่ ๒ ๓ ธค. ๔๘  ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์  หลักสี่  กรุงเทพ

           เราออกจากห้องประชุมระหว่างที่ทาง สสจ. (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) สงขลา กำลังปรึกษาหารืออยู่กับ HACC และผู้บริหาร รพ. ว่าจะดำเนินการเครือข่ายต่อไปอย่างไรดี    

           ผมได้ให้ความเห็นว่า   น่าจะให้แต่ละ รพ. กลับไปประเมินตนเองตาม ๒๐ มาตรฐานของ พรพ.    แล้วส่งผลให้ HACC เพื่อทำธารปัญญา และบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้      สำหรับกำหนดคู่/กลุ่มแลกเปลี่ยนในแต่ละมาตรฐาน     แล้วให้กลุ่มแลกเปลี่ยนระหว่างโรงพยาบาลไปกำหนดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละมาตรฐานกันเอง     แต่ละกลุ่มเขียนรายงานกิจกรรมแลกเปลี่ยนของตนขึ้นบล็อก    แต่ละทีม/บุคคลของ คุณกิจผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในแต่ละมาตรฐานก็เขียนบล็อก    ทาง HACC จัดการเครือข่ายผ่านบล็อก    

           นอกจากนั้นผมแนะให้ แต่ละ รพ. กลับไปดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใน รพ. ของตน    โดยยึดการพัฒนาคุณภาพบริการผู้ป่วยเป็นหลัก (ไม่ใช่ยึดมาตรฐานของ พรพ. เป็นหลัก)     และนำขุมความรู้ขึ้นบล็อก    ก็จะเกิดเครือข่าย KM เพื่อการพัฒนาคุณภาพ รพ. ในหลายวง หลายชั้น   ทั้งวงเล็ก วงใหญ่    วงในโรงพยาบาลแต่ละโรง และวงระหว่าง รพ. ใน จ. สงขลา     วงเครือข่ายของ พรพ. และของ สคส.  ก็จะมาร่วมแจมเองตามความสนใจ

           จะเห็นว่า ผมมองวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็น ๒ แบบ    คือแบบยึดมาตรฐาน พรพ.  กับแบบยึดคุณภาพของบริการผู้ป่วย     และมองการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๒ แบบ  คือแบบพบหน้าพบตัว   กับแบบผ่านไอที คือบล็อก    จะต้องดำเนินการหลายแบบไปพร้อมๆ กัน

           แต่จะดำเนินการอย่างไรอยู่ที่การตัดสินใจร่วมกัน ระหว่าง สสจ.   โรงพยาบาล   และ HACC

           สคส. ประเมินว่า workshop ครั้งนี้ประสบความสำเร็จในการ ติดอาวุธ KM ให้แก่ รพช. ทั้ง ๑๕ โรงใน จ. สงขลา     แต่การใช้ KM เป็นเครื่องมือบรรลุ HA ขึ้นอยู่กับผู้ใช้เครื่องมือ หรือผู้ปฏิบัติ     สคส. ไม่สามารถปฏิบัติแทนได้    แต่ยินดีเป็น โค้ช ให้

           เราจะโค้ชเครือข่ายนี้ผ่าน บล็อก GotoKnow ครับ    เราเชื่อว่า พรพ. จะเข้ามาเป็นโค้ชด้วยเช่นกัน     โดย พรพ. เน้นโค้ชด้านเนื้อหาด้านคุณภาพโรงพยาบาล     ส่วน สคส. เน้นโค้ชด้านกระบวนการ KM

           เครือข่ายนี้น่าจะเป็นเครือข่ายแรกที่ขับเคลื่อนเครือข่ายด้วย บล็อก

วิจารณ์ พานิช

๑๑ มิ.ย. ๔๘

บนเครื่องบินกลับกรุงเทพ

หมายเลขบันทึก: 142เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2005 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท