การศึกษานอกกะลา (เก็บตกจากประชุมวิชาการ KM ครั้งที่ 20 การจัดการความรู้ของ กศน.)


คนมักจะนึกถึงครูแก่ๆ ดุๆ ขี้บ่นเมื่อนึกถึงห้องสมุด นึกถึงการนั่งฟังที่แสนยาวนาน เมื่อครูเริ่มทำหน้าที่การสอน นึกถึงเสียงสวรรค์จากสัญญาณเลิกเรียน ไม่ว่าจะเป็นเสียงกริ่ง ออด หรือระฆังแบบแต่ก่อน

ต้องขอบอกว่าเวทีประชุมวิชาการครั้งที่ 20 ที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆ    ดีเกินกว่าที่คิดมากทีเดียว   แต่เดิมผมกะว่าจะมาฟังว่า  วงการ  การศึกษานอกโรงเรียน  หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า  กศน.  นั้น     เขาทำอะไร  อย่างไรบ้างเกี่ยวกับ  "การศึกษาตลอดชีวิต"   และ  "การศึกษาตามอัธยาศัย"  ที่ได้ยินแบบผิวๆค่อนข้างบ่อยครั้ง       ที่ว่าเกินคาดนั้น  แบบว่าได้เต็มๆ ผมได้วิธีคิดเกี่ยวกับเรื่อง  "คิดนอกกรอบ"  หรืออาจจะเรียกว่า  "วิธีคิดเชิงสร้างสรรค์"   หรือ Creativity  อะไรก็แล้วแต่ตามที่ท่านจะเรียก    ผมเชื่อว่ามันคล้ายๆกันเลยขอเรียกแบบปนๆ ไปอย่างนี้ก่อนนะครับ   ต้องขอแสดงความเสียใจกับหลายๆท่านที่ไม่ได้มางานนี้   โดยเฉพาะวงการศึกษา   ซึ่งแปลกมาก Hub ใหญ่ๆของวงการศึกษาไม่สนใจเข้ามาร่วม  ด้วยสาเหตุใดผมไม่ทราบ   ที่ว่าเสียดายคือ  การปฏิบัติที่นำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา   ค่อนข้างจะเห็นเป็นรูปธรรมในเวทีนี้

เรามักจะเห็นป้าย

การปฏิรูปการศึกษา     

การปฏิรูประบบราชการ

การประกันคุณภาพ    โมเดลแก้จน    และอื่นๆอีกมากมาย    

และผมขอทำนายว่า   มีตามมาอีกเยอะ  เตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้เลย

สิ่งเหล่านี้    คือสิ่งดีนะครับ    แต่พอลงมา  มันกลายเป็น   สิ่งที่คนหน้างานเอือมระอากับมันในทางปฏิบัติ    พอแยกย้ายเอาไปทำ  มันก็เลยอีหลุยฉุยแฉก  ไม่ดี ไปเสียดื้อๆ     สมัยเรียนหนังสือชั้น  ปวช.   ผมต้องขึ้นรถเมล์แดงไปเรียนและกลับทุกวัน  และเห็นป้ายที่เขียนวางไว้ที่กระจกหน้ารถว่า   "รถด่วน"  แทบทุกคัน  แต่พอนั่งไปคนละเรื่องครับ    วิ่งแบบหวานเย็น  จอดแช่เป็นว่าเล่น     ทำนองเดียวกันเลย   ไม่ว่า  "ป้าย หรือ ธง"  จะเขียนอะไรไว้อย่างไร    การกระทำหลายๆเรื่อง   ไม่ได้ทำตามสิ่งที่เขียนเอาไว้เลย

กลับมาที่เรื่องการศึกษานอกโรงเรียนดีกว่าครับ

วันที่ 25 มกราคม 2549   วันนั้นมี  กศน. 4  แห่งจาก  นครศรีธรรมราช, ชุมพร,  อุบลราชธานี, และแม่ฮ่องสอน    ส่วนมีใครบ้างนั้น  ต้องลองติดตามอ่านในคลังความรู้ประชุมวิชาการเอาเองก็แล้วกันนะครับ          (ติดตามอ่านที่ www.kmi.or.th)     กศน.ชุมพรได้เล่าถึงกิจกรรมที่พยายามรวบรวมความรู้หน้างานของครู กศน. และของชุมชนที่มีครู  กศน.  เข้าไปทำงานอยู่    มีการรวบรวมเรื่องเล่าดีๆ  เอาไว้ใน Blog Gotoknow   อันนี้ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ ลองเปิดค้นหาดูนะครับ      กศน. แม่ฮ่องสอนได้ยกเรื่องราวกรณีชุมชนบ้านห้วยปูแกง  อ.เมือง  ที่ครูอาสา ได้พาชาวบ้านเรียนรู้จัดการชุมชนตัวเองจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชาวกะเหรี่ยงที่น่าสนใจอีกที่หนึ่ง       กศน.นครศรีธรรมราช  ที่พากันทบทวนวิธีการทำงานแบบเดิม  ซึ่งมองว่า  ที่ผ่านมานั้น  ทำแบบเดิมๆ  ฝึกอบรมอาชีพ  แล้วก็ไม่ทิ้ง  "ร่องรอยของการเรียนรู้"  เอาไว้เรียนจบครูก็กลับบ้าน  นักเรียนก็กลับบ้าน ต่างคนต่างแยกย้าย   ครู กศน. กลุ่มนี้จึงได้ออกแบบกิจกรรมผ่าน "โครงงานเรียนรู้กลุ่มอาชีพ"   โดยมีวิธีการให้ชุมชนสำรวจทุนความรู้เดิมที่ตนมี  นำมาพูดคุยผ่าน เวทีประชาคมชาวบ้าน     วางแผนว่าจะทำกันต่ออย่างไร  ใช้กลุ่มเป็นตัวเคลื่อนรองรับกิจกรรมหลังการฝึกอบรม  จนปัจจุบันเกิดกลุ่มต่างๆมากมาย   อาทิ  กลุ่มปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์  กลุ่มทำเครื่องแกง   กลุ่มทำกระถาง   กลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น  และในระหว่างที่ทำมีการบันทึกทั้งในระดับครู  กศน. เอง  หรือระดับชาวบ้านในกลุ่ม   ได้เขียน  "ความรู้เล็กๆที่ตนภูมิใจ"  เอาไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้จากการทำงานในรอบต่อๆไป     ท้ายสุด  กศน. อุบลราชธานี  ได้มาเล่าวิธีการทำห้องเรียนคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่    ห้องสมุด 365 วัน   ห้องสมุดสุดเขตประเทศไทย (ห้องสมุดล้อเหล็ก, ห้องสมุดในรถไฟ)   มุมอ่านหนังสือที่สถานีรถไฟ  โครงการครูเดี๋ยวเดียว     (ผมชอบชื่อพวกนี้จริงๆ  เพราะมันกระแทกความรู้สึกตื้นๆของคนได้ดีทีเดียว)     มีเรื่องเล่าในรายละเอียดเยอะทีเดียว    บวกกับตอนท้าย  ผู้เข้าร่วมได้แชร์ประสบการณ์  และความคิดเห็นต่อที่ประชุม  เลยทำให้ความรู้มันควบแน่น (จนเกือบจะเป็นหยดน้ำแห่งปัญญา)    ทั้งวันของการประชุมจึงเต็มไปด้วยความน่าสนใจมากทีเดียวครับ

จากเหตุการณ์วันนั้นทำให้เราเห็นวิธีคิดของ "คนที่คิดนอกกรอบ"   คนที่คอยปรุงแต่งการเรียนรู้ด้วยการฉาบผิวเปลือกนอกเอาไว้ด้วยรสชาติที่หอมหวานมากขึ้น   เพื่อไม่ให้คนรู้สึกว่ามันเป็นยาขมอย่างที่คิด   เช่น   คนมักจะนึกถึงครูแก่ๆ ดุๆ ขี้บ่นเมื่อนึกถึงห้องสมุด    นึกถึงการนั่งฟังที่แสนยาวนาน เมื่อครูเริ่มทำหน้าที่การสอน    นึกถึงเสียงสวรรค์จากสัญญาณเลิกเรียน  ไม่ว่าจะเป็นเสียงกริ่ง  ออด  หรือระฆังแบบแต่ก่อน     เหล่านี้เป็นต้น     จะว่ายากก็ไม่เชิง   แต่ด้วยกรอบ หรือคอกที่ล้อมความคิดของคนเอาไว้ จนไม่รู้จักโลกนอกกรอบ    มิหนำซ้ำ  ระบบโครงสร้างใหญ่ๆของการศึกษาที่ชักพาให้คนหลงระเริงกับการขึ้นขั้น  ขึ้นตำแหน่ง  ขึ้นเงินเดือน  จนมองไม่ออกว่า  ระบบคุณภาพ  กับการทำงานประจำวันนั้น  เป็นเรื่องเดียวกัน    ครูน้อยมักขาดเวทีให้แสดงศักยภาพเนื้อในของตนออกมา  ต้องยึดถือโปรแกรมการสอนแบบเบ็ดเสร็จเป็นเหมือนพระคัมภีร์ยังงัย ยังงั้น   จนต่อมความคิดสร้างสรรค์มันค่อยๆฝ่อหมดสภาพไปตามกาลเวลา   ช่างน่าเสียดายจริงๆ

จากงานครั้งนี้ผมเลยกลับมาฝันถึง  "ห้องสมุดในจินตนาการ"   เป็นห้องสมุดของชุมชน  บริหารโดยชุมชน และเพื่อชุมชน    เป็นทั้งห้องรับแขก  เป็นหน้าเป็นตาของชุมชน   เป็นทั้งห้องเรียนของชาวบ้าน  ครู  ข้าราชการ  พระ เณร  และเด็กๆรุ่นใหม่ในชุมชน    เป็นทั้งศูนย์ความรู้ที่เก็บอยู่ในหนังสือ  ในสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอย  ในตัวคน  ในจารีตประเพณี   ในภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า-กลาง-ใหม่   เป็นคลังความรู้ทั้งหมดที่ชุมชนมีและได้เก็บรวบรวมเอาไว้  รวมทั้งความรู้ภายนอกชุมชนที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนในหลายๆเรื่อง    เป็นลานกิจกรรมของชุมชนให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความสามารถ   แสดงความรู้สึก  แสดงความคิดเห็น  เป็นที่ซึ่งใช้ประกาศเกียรติคุณความดีของคนในชุมชน ให้คนในชุมชนได้ซึมซับความดีงามทั้งในรูปแบบที่ได้เห็น  ได้ฟัง  และได้อ่าน

ทั้งหมดทั้งปวงที่ว่านี้  จำต้องใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่อการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ประณีต  และวางกลไกที่ซับซ้อน  แต่ชวนสัมผัส   และต้องมีกลุ่มแกนนำที่ผ่านทะลุเปลือกแข็งๆของกะโหลกกะลามาแล้ว  ถือเป็นกลไกที่สำคัญอันหนึ่ง อย่างน้อย 1 ชุมชนน่าจะต้องมีมากกว่า 2 คน   เอาไว้เมื่อท้อใจยามใดจะได้ช่วยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน  และช่วยกันคิดหาช่องทางแก้ไข  ไม่โดดเดี่ยวเกินไป      โดยส่วนตัวผมยังเชื่อว่า  "จุลภาค สามารถเขย่า  มหภาคได้"  ไม่อย่างนั้นคงไม่มีศาสนาเกิดขึ้นมาในโลกนี้   และยังเชื่อว่าในช่วงชีวิตหนึ่งน่าจะได้เห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราสักแห่งหนึ่งก็ยังดี

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14135เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2006 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท