"สมอง" กับการ แยกแยะ/รวบรวม และ เรียบเรียง


ใน บันทึกก่อนหน้านี้ ผมเล่าว่าสมองเราทำงานอยู่ประมาณนี้ละครับ สองอย่างหลักๆ คือ แยกแยะ/รวบรวม (classification) และ เรียบเรียง (logical reasoning)

จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะสมองมนุษย์ สมองสิ่งมีชีวิตทุกประเภทก็เหมือนกันครับ

แล้วคราวนี้ เรา "แยกแยะ/รวบรวม" อย่างไรล่ะ? แล้ว "เรียบเรียง" อีก เราทำอย่างไร?

ปัญหาสองปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่จะเราต้องทำความเข้าใจ เราถึงจะมีความสามารถในการทำ "สมองเทียม" (ปัญญาประดิษฐ์ - Artificial Intelligence) ที่ทำงานได้เหมือนสมองมนุษย์ได้ครับ

ทั้งสองปัญหา ที่จริงแล้วปัญหาการ "เรียบเรียง" นี่ง่ายกว่าปัญหา "แยกแยะ/รวบรวม" ครับ

สาเหตุที่ง่ายเพราะในตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เรามีการพัฒนาการด้านคณิตศาสตร์มายาวนานมาก และ "คณิตศาสตร์" ที่เราเห็นกันอยู่นี้ ที่จริงแล้วเป็น "ตัวอย่าง" ที่สะท้อนว่าสมองเรา "เรียบเรียง" อย่างไรครับ โดยตัวอย่างที่ชัดที่สุดจะเห็นได้จากสาขา "ตรรกศาสตร์" (Logic) และสาขาย่อยต่างๆ ของตรรกศาสตร์ครับ

งานวิจัยด้าน AI ไปให้ความสำคัญกับตรรกศาสตร์อยู่พักใหญ่เหมือนกัน แต่เราพบว่าตรรกศาสตร์อย่างเดียวไม่สามารถใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างสมองเทียมได้

อะไรบางอย่างขาดหายไปครับ

ตอนหลังเราพบว่าการ "แยกแยะ/รวบรวม" กลับเป็นงานส่วนสำคัญที่สมองเราทำงานเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งกว่านั้นการ "เรียบเรียง" นั้นแท้จริงแล้วแฝงอยู่ในการ "แยกแยะ/รวบรวม" เรียบร้อยแล้ว

ความจริงแล้วการ "เรียบเรียง" คือการ "แยกแยะ/รวบรวม" นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น "ถ้าความจริงคือ แมวไม่ใช่หมา ถ้ามิ้งเป็นแมว มิ้งไม่ใช่หมา" อย่างนี้เป็นตรรกศาสตร์ครับ

แต่ถ้ามองจริงๆ แล้ว หมายความว่าเราต้องมีความสามารถแยกแยะระหว่าง แมว กับ หมา ก่อนใช่ไหมครับ ถ้าเราแยกแยะได้ เราก็ย่อมรู้ได้ว่า แมวไม่ใช่หมา

หลังจากนั้นเมื่อเราเห็น "มิ้ง" เราจึงใช้ความสามารถในการแยกแยะนั้นมาบอกว่า "มิ้ง" เป็นแมว

การ "แยกแยะ/รวบรวม" นี่ที่จริงแล้วคือ ทฤษฎีเซต (Set Theory) นั่นเองครับ

สมองเราสร้างเซตของแมวและหมาขึ้นมาเมื่อเราเรียนรู้สิ่งที่เราสามารถใช้ในการแยกแยะระหว่างสองสิ่งนี้ได้ และเมื่อเราเห็นแมวตัวหนึ่ง เราก็จะเปรียบเทียบแมวตัวนั้นว่าเป็นสมาชิกหนึ่งในเซตแมวในสมองเรา แล้วเราก็บอกได้ว่าสิ่งนี้คือแมว ซึ่งไม่ใช่หมา

พอถึงตรงนี้ต้องบอกไว้ก่อนว่า เซตของหมาและแมวของแต่ละคนไม่เหมือนกันนะครับ อย่าลืมว่าเราสร้างเซตขึ้นมาจากการเรียนรู้ซึ่งแต่ละคนจะคล้ายกันแต่จะไม่มีเหมือนกันร้อยเปอร์เซนต์

ที่จริงแล้วผมเป็นนักวิชาการที่มีเหตุผลทางวิชาการชัดเจนมากในการบอกว่า ทำไมผู้ชายแต่ละคนชอบผู้หญิงไม่เหมือนกัน เพราะเซตของ "ผู้หญิงสวย" ของแต่ละคนไม่เหมือนกันนั่นเอง

การเติบโตของงานวิจัยด้าน AI ที่จริงแล้วเติบโตตามพัฒนาการของคณิตศาสตร์ครับ ก่อนหน้านี้คณิตศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎีตรรกศาสตร์ แต่ในตอนนี้ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ทฤษฎีเซต (Set Theory) เป็นฐานรากที่อยู่ชั้นล่างสุดของคณิตศาสตร์ทั้งมวลครับ

หมายความว่า ก่อนหน้านี้เราเชื่อว่าเราสามารถอธิบายคณิตศาสตร์ทุกประเภทได้ด้วยทฤษฎีตรรกศาสตร์ แต่ตอนนี้เรามั่นใจว่าเราสามารถอธิบายคณิตศาสตร์ทุกประเภทได้ด้วยทฤษฎีเซตและอธิบายได้ชัดเจนกว่าครับ

นั่นคืองาน "เรียบเรียง" ทุกประเภทที่สมองเราทำงานคืองาน "แยกแยะ/รวบรวม" นั่นเองครับ

ด้วยการเติบโตในทิศทางเดียวกับนี้ งานวิจัยด้าน AI จึงมาเน้นที่งานของการ "แยกแยะ/รวบรวม" เพราะเราเชื่อว่าการทำงานของสมองคือระบบของการ "แยกแยะ/รวบรวม" ที่ซับซ้อนครับ

ด้วยเหตุนี้เอง หากเราสามารถสร้างระบบ "แยะแยะ/รวบรวม" ที่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเช่นเดียวกับสมองมนุษย์ได้ เราก็จะสามารถสร้าง "สมองเทียม" ได้แน่นอนครับ

สรุปว่าเรามามุ่งที่ "แยกแยะ/รวบรวม" อย่างเดียวนะครับ แต่จะ "แยกแยะ/รวบรวม" อย่างไรนั้น ติดตามตอนต่อไปครับ

ส่วนท่านที่สนใจว่าสิ่งที่นักวิจัยด้าน AI คิดกันมานั้น จะสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างไรในการบริหารจัดการนั้น ... โอ... อีกหลายตอนเลยกว่าจะถึงครับ

หมายเลขบันทึก: 140215เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2007 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • บทความอาจารย์น่าสนใจมากครับ 
  • ไม่ทราบตอนต่อๆไปจะมีเรื่องจริยธรรม  คุณธรรมด้วยรึเปล่า ?
  • กลัวสมองเทียมเก่ง  แต่มีปัญหาด้านนี้ เพราะสมองจริงยังมีปัญหาเลย  อิอิ

เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมนี่เป็นเรื่องน่ากลัวของสมองจริงครับ และเนื่องจากสมองจริงมาสร้างสมองเทียม ผมเชื่อว่าในวันที่เรามีสมองเทียมทำงานได้เทียบเท่าสมองจริง ปัญหาคุณธรรมและจริยธรรมของสมองเทียมก็จะเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งครับ

สวัสดีครับ

น่าสนใจครับ สมองจริงสร้างสมองเทียม

สมองเทียมตรงไปตรงมา ไม่โกง หากสมองจริงไม่โกง

โกงหมายถึงเรื่องของคุณธรรม และจริยธรรมครับ

แต่หากไปถึงขั้นที่สมองเทียมพัฒนาตัวเองได้ อาจจะกลับมาคุมสมองจริงได้ ก็คงน่าสนุกไปอีกระดับครับ

มาคิดๆ ดูอีกที สมองคนนั้นมีส่วนที่จริงและเทียมผสมอยู่ข้างในด้วยหรือเปล่าครับ

ขอบคุณมากครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท