AAR Day 1 ของ KM เขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 1


AAR Day 1 ของ KM เขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  เขต 1

        กิจกรรมใน Day 1 (30 ม.ค.49) มีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ KM โดยมีทีมแกนนำของ สพท. นนทบุรี เขต 1  เป็นผู้จัดการประชุม (รวม 4 วัน)   และคุณหญิง (นภินทร  ศิริไทย) เป็นวิทยากรของ สคส.   มี ดร. ประพนธ์,  อ้อม,  และผมไป back up เป็นครั้งคราว

         ผมไปร่วมตอนบ่ายแก่ ๆ ทันฟังรายงานผลการประชุมกลุ่มว่ามีแผนดำเนินการ KM ในเครือข่ายอย่างไร   และได้มีโอกาสฟังแผนกิจกรรมที่นำเสนอโดย อ. วันวิสาข์  ผอ. รร. วัดโพธิ์นอน   ที่ผมฟังแล้วชุ่มชื่นหัวใจเห็นความหวังของเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 1   ว่ามีการริเริ่มดี ๆ ที่เป็น KM ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว   คือเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก (นักเรียนน้อยกว่า 200) 7 โรง   มีกิจกรรม ลปรร. ระหว่างโรงเรียน   โดยให้ครูแต่ละโรงเรียนนำสิ่งที่ดีที่สุดของตนมาเล่า   และให้เด็กมาแข่งขันทางวิชาการกัน

         ยิ่งได้ฟังแผนกิจกรรมที่ อ. วันวิสาข์จะไปดำเนินการยิ่งชื่นใจ   เพราะท่านบอกว่าจะกลับไปจัดให้ครูแต่ละคนเล่าผลสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เพื่อนครูฟัง   จะจัดให้ในกระบวนการทำงานมีการ ลปรร. กันตลอด   จัดให้ทำงานเป็นทีม

         นี่คือการเข้าถึงหัวใจของ KM ครับ

         แผนที่ผู้แทนแต่ละกลุ่มนำเสนอยังไม่ใช่แผน KM ที่ดี   ยังคิดแบบเดิม ๆ อยู่   ไม่ได้คิดแบบ KM

         มีผู้แทนกลุ่มบางกลุ่มพูดถึงการกลับไปจัดให้ครูเล่าเรื่องผลสำเร็จเล็ก ๆ ให้เพื่อนครูฟัง   เข้าใจวิธีเดิน KM โดยใช้ผลสำเร็จ  ไม่ใช้ปัญหา   นี่คือความสำเร็จของ Day 1

    

     บรรยากาศในห้องประชุม            บรรยากาศการนำเสนอผลการประชุมกลุ่ม

มีสิ่งที่ต้องปรับปรุงมาก   ทั้งที่ผู้จัดการประชุมและที่ผู้มาร่วมประชุม  ได้แก่
1. การตรงต่อเวลา   เริ่มประชุมตรงเวลา   และเลิกตรงเวลา  ไม่รอผู้มาสาย
2. ความรับผิดชอบในการมาประชุม   ได้แก่เตรียมตัวพร้อมตามข้อตกลง   ผมจับได้ว่าแทบจะไม่มีคนเตรียมอ่านหนังสือที่แจกไปก่อน   ถ้าวัฒนธรรมการประชุมของครูเป็นเช่นนี้   ทีมแกนนำ KM ของนนทบุรีเขต 1 ก็ต้องมียุทธศาสตร์เอาชนะ/แก้ไขวัฒนธรรมความรับผิดชอบต่อการประชุม
3. การเริ่มด้วย รร./กลุ่มที่มีการดำเนินการ KM อยู่แล้ว   หรือได้กลับไปริเริ่ม KM อย่างจริงจัง   จัดสรรทรัพยากรให้อย่าง "ไม่เสมอภาค" คือ รร.ที่ไม่เอาไหน   จะได้รับการดูแลเอาใจใส่และทรัพยากรสนับสนุนการทำ KM น้อยกว่า
4. การพัฒนาทักษะ "การฟังอย่างลึก" (deep listening) แก่ผู้บริหารและครู   เราเห็นจุดอ่อนจากการประชุมที่ผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่งอ่อนแอด้านทักษะการฟัง   ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งในการทำ KM   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังและพูดแบบ "สุนทรียสนทนา" (dialogue)

         ในส่วนของ สคส. เราแนะนำให้ทีมแกนนำของนนทบุรีเขต 1  จับตาและเสาะหา รร.ที่เอาจริงเอาจัง   หรือมีการดำเนินการ KM อยู่แล้ว   และเข้าไปส่งเสริมให้ดำเนินการได้เข้มข้นและเข้มแข็งขึ้น   ไปช่วยเชื่อมโยงกับภายนอกเขต   ให้ได้รับความชื่นชมและส่งเสริมให้ช่วยเหลือโรงเรียนใกล้เคียง

         KM มีเคล็ดลับอยู่ที่การเดินเรื่องด้วยความสำเร็จ   ด้วยกิจกรรมดี ๆ    ด้วยความพิถีพิถันในคุณภาพ   ความเอาจริงเอาจัง   KM ที่ดีจะช่วยแก้ไขวัฒนธรรมที่อ่อนแอและจอมปลอม

วิจารณ์  พานิช
 31 ม.ค.49

หมายเลขบันทึก: 13954เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2006 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

     ผมได้ลองเสนอร่างแผนพัฒนา KM ใน สพท.และใน โรงเรียน  อยากขอความกรุณาอาจารย์หมอช่วยพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะด้วยครับ ในบล็อกของผม /tanes ผมเสนอให้เริ่มต้นเดือนเมษายนนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท