หากเราเอ่ยถึงคำว่า “นาค” ในแวดวงชาวพุทธเราคงต้องนึกถึง
บุคคลผู้กำลังจะบวชเป็นบรรพชิต แต่คำว่า “นาค”
ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงข้อความนั้น นาคคือสัตว์ชนิดหนึ่ง
ชอบหากินตามริมน้ำ มีกลิ่นตัวเหม็นคาว เพราะนาคชอบกินของคาวเช่น ปลา
ปู กุ้งสดๆ แต่นาคในความรู้สึกของผู้เขียน
“นาคเป็นสัตว์น่ารักและน่าศึกษา”
นาคตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในน้ำ หากินกุ้งหอยปูปลาในน้ำ ในที่นี้ให้ชื่อว่า
“แก้ว” อีกตัวหนึ่งอาศัยอยู่บนบก หากินอาหารอยู่บนบก
ในที่นี้ให้ชื่อว่า “เงิน” วันหนึ่ง
ขณะที่ต่างตัวต่างหากินกันอยู่นั้น
นาคแก้วและนาคเงินก็เหลือบไปเห็นปลาตัวหนึ่ง
นอนตายคาบเกี่ยวระหว่างน้ำกับบก ทั้ง ๒ ตัวรีบแสดงความเป็นเจ้าของ
ขณะที่นาคแก้วให้เหตุผลว่า ตนควรจะได้ครอบครองเพราะตนพบปลาตัวนี้ก่อน
อีกอย่างหนึ่ง ปลาตัวนี้ก็อยู่ในน้ำด้วย
ส่วนนาคเงินก็อ้างเหตุผลยืนยันเหมือนกันว่า
ปลาตัวนี้ควรเป็นของตนเพราะตนเห็นก่อนนาคแก้ว และปลาตัวนี้ก็อยู่บนบก
ตนหากินอยู่บนบก ย่อมมีสิทธิ์ที่จะครอบครองปลาตัวนี้อย่างแน่นอน
ต่างตัวต่างเถียงกันไม่รู้จบสิ้น เมื่อหาข้อยุติไม่ได้
นาคแก้วก็ให้เหตุผลว่า เอาอย่างนี้ไหม เพื่อความยุติธรรม
เราควรหาใครมาตัดสินเรื่องราวของเราดีกว่า นาคเงินเห็นด้วย ทั้ง ๒
ตัวจึงหาบปลาเดินทางไปหาใครสักตัวหนึ่งมาเป็นผู้ตัดสิน
ขณะนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินสวนทางมา นาคทั้ง ๒
จึงปรึกษาตกลงกันให้สุนัขจิ้งจอกเป็นผู้ตัดสินคดีความให้
จึงขอร้องให้สุนัขจิ้งจอกช่วยเป็นผู้ตัดสินให้
ฝ่ายสุนัขจิ้งจอก ก็รับปากทันทีว่า “ได้สิ ฉันจะตัดสินคดีให้
แล้วเรื่องราวล่ะเป็นอย่างไร เล่าให้ฟังหน่อย
ฉันจะได้ตัดสินให้ด้วยความยุติธรรม”
นาคทั้ง ๒ เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้สุนัขจิ้งจอกฟังจนหมดสิ้น
คำถามที่สอดแทรกมาตรงนี้คือ “หากฉันเป็นสุนัขจิ้งจอก
หรือหากฉันเป็นผู้ตัดสินคดีนี้
ฉันจะตัดสินอย่างไร”
ณ ห้องสนทนาบรรยายเนื้อหาทางจริยธรรม นักศึกษาบางคนให้ความเห็นว่า
“ควรแบ่งปลาออกเป็น ๒ ส่วน” ผู้บรรยายถามว่า “๒
ส่วนแบบไหน แบบตัดหัวตัดหาง หรือแบบผ่าซีก” บางคนให้ความเห็นว่า
“ควรแบ่งแบบตัดหัวตัดหาง” “แล้วส่วนหัวจะให้ใคร ส่วนหางจะให้ใคร
ทั้ง ๒ ตัวจะได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่”
บางท่านให้ความเห็นว่า “ควรแบ่งแบบฝ่าซีก” “ถ้าอย่างนั้น
ก้างปลาควรให้ใคร” นักศึกษาท่านหนึ่งบอกว่า
“ควรให้สุนัขจิ้งจอก”
“แล้วสุนัขจิ้งจอกเกี่ยวข้องอะไรกับปลาตัวนี้
เขาไมได้มีส่วนในการพบเจอปลาสักนิดเดียว”
นักศึกษาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า “ไม่ควรให้นาคทั้ง ๒ ตัว
ควรนำปลานั้นไปให้คนอื่น” “ปัญหาคือ นำไปให้ใคร
ใครที่เรานำไปให้เขามีส่วนอะไรกับปลานั้น
เราใช้อำนาจโดยความไม่ชอบธรรมหรือไม่”
นักศึกษาอีกท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า
“ควรนำปลานั้นไปต้มหรือย่างทำเป็นอาหารแจกจ่ายกันและกัน”
“ถ้าทำอย่างนั้น ก็ไม่ยุติธรรมอีกเช่นกัน
ในเมื่อสิ่งของๆผู้อื่นยังไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ
การนำสิ่งนั้นไปโดยอำนาจมิชอบ ล้วนเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง”
อีกท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า “ควรตั้งคำถาม
ใครตอบถูกมากกว่าจะได้รับปลาเป็นรางวัล” เอาเป็นว่า
เรามาดูกันว่า สุนัขจิ้งจอกจะแบ่งปลาอย่างไร
สุนัขจิ้งจอกแบ่งปลาให้นาคทั้ง ๒ ดังนี้คือ “ท่อนหัว
ฉันขอตัดให้นาคแก้ว ในฐานะอาศัยอยู่ในน้ำ
ท่อนหางฉันขอตัดแบ่งให้นาคเงินในฐานะผู้อาศัยอยู่บนบก
ส่วนท่อนกลางเป็นของฉันผู้ตั้งอยู่ในความยุติธรรม”
เมื่อแบ่งปลาเสร็จ
สุนัขจิ้งจอกจึงหยิบท่อนกลางของปลาเดินหายเข้าไปในป่าใหญ่
ปล่อยให้นาคแก้วและนาคเงินยืนมองหน้ากันและกันด้วยความงุนงงครุ่นคิดบางสิ่งบางอย่างอยู่ระหว่างทาง
จากเรื่องราวนี้มีข้อคิดคือ
๑) บุคคลบางคนในโลกนี้
หวังแต่จะได้สิ่งของเพียงผู้เดียวโดยไม่ยอมแบ่งให้ผู้ใด
สุดท้ายสิ่งที่ตนหวังก็ถูกแบ่งออกกลายเป็นของผู้อื่นไป
๒) บุคคลบางคนในโลกนี้
จะไม่ยอมเสียเปรียบให้กับผู้ใด
ผลสุดท้ายเขาย่อมเสียเปรียบมากกว่าสิ่งที่ไม่ยอมเสียไปนั้น
๓) การแสวงหาผู้ทรงความยุติธรรม
ควรพิจารณาด้วยปัญญาให้ดี
มิฉะนั้นจะได้ผู้ไม่ทรงยุตธรรมอย่างแท้จริง
๔) การตัดสินคดีความ หากรู้จักยินยอมกันบ้าง
ก็จะไม่เสียเวลา ทรัพย์สิน ความรู้สึก มากกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น
๕) การตอบคำถามของผู้ฟัง ในฐานะผู้ตัดสินคดีความ
ทุกคนจะตอบบนฐานประสบการณ์ของตน ผู้ชอบเผด็จการ
มักตัดสินอำนาจด้วยความรู้สึกของตน
ผู้เป็นนักพนันมักตัดสินปัญหาด้วยการตั้งคำถาม ผู้เป็นประชาธิปไตย
มักตัดสินปัญหาโดยไม่ยึดความรู้สึกของตน อย่างนี้เป็นต้น
๖) บนโลกของธุรกิจ
คนจะไม่ยอมทำสิ่งใดหากไม่ได้สิ่งหนึ่งเป็นสิ่งตอบแทน
บางคนขอค่าตอบแทนมาก บางคนขอค่าตอบแทนน้อย
แต่ไม่ได้หมายถึงคนที่ทำเพื่อสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจะไม่มี
๗) ยิ่งแสวงหาความยุติธรรม
ความยุติธรรมยิ่งห่างไกล
๘) อย่าหวังว่าใครจะให้อะไรโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน
จงตั้งใจไว้เสมอหากให้สิ่งใดจะไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆจากใครๆ
นั้นคือการให้ในสิ่งที่ควรจะเป็น
จากเรื่องราวดังกล่าวนี้ ศาสนาพุทธได้สอนอะไรบางอย่างให้กับผู้ศึกษา
และอาจเป็นตัวชี้วัดอะไรบางอย่างบนความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน
ผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา ศาสนานี้ให้ชื่อว่า “มิตร” หรือ
“สหาย” โดยแบ่งมิตรออกเป็น ๒ ส่วนคือ มิตรแท้ และมิตรเทียม
(มิตรปลอม, มิตรเก๊) ทั้ง ๒
ส่วนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันดังนี้
มิตรแท้
มิตรมีอุปการะ คือ บุคคลผู้คอยปกป้องเพื่อนผู้เสเพล
ไม่ให้ประมาทในการครองชีวิต คอยกระตุ้นเตือน
ปกป้องไม่ให้ทรัพย์สมบัติของเพื่อนสูญหายไปโดยประมาท
เมื่อมีภัยมาถึงเพื่อน คอยเป็นกำลังใจให้เข้มแข็ง
หากเพื่อนมีธุระก็สามารถสานต่อธุระนั้นให้ด้วยความจริงใจ
แม้เพื่อนจะไม่ออกปากขอความช่วยเหลือก็ตาม
มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ คือ
บุคคลผู้เป็นเสมือนญาติหรือเงาของเพื่อนด้วยกัน
ลักษณะของคนประเภทนี้คือ ตนมีความลับอะไร
ก็จะเปิดเผยให้เพื่อนได้รับรู้
พร้อมกับปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย
ไม่ละทิ้งเพื่อนในยามที่เพื่อนถึงความวิบัติ
ชีวิตของตนยอมสละให้เพื่อนได้
มิตรแนะประโยชน์ คือ
บุคคลผู้คอยตักเตือนเพื่อนไม่ให้ทำความชั่ว แนะให้ทำแต่สิ่งดีๆ
ให้เพื่อนได้รู้ในสิ่งที่ตัวเองรู้มา แนะนำแนวทางที่ดีให้
มิตรมีความรักใคร คือ
บุคคลผู้เห็นเพื่อนมีความทุกข์ก็พลอยทุกข์ไปด้วย
เห็นเพื่อนมีความสุขก็มีความสุขไปด้วย ในคราวที่มีตนติเตียน
หรือให้ร้าย จะคอยปกป้องให้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
(จริงก็ว่าไปตามจริง) ในคราวที่มีคนสรรเสริญ
ก็จะสนับสนุนในฐานะเพื่อนของตนเป็นคนเช่นนั้นอย่างแท้จริง
มิตรเทียม
คนปอกลอก คือ คนที่คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
ยอมเสียน้อยเพื่อจะให้ได้ของที่มากกว่า เมื่อมีภัยอันตรายมาถึงตัว
ก็อาสารับใช้เพื่อนเพื่อหวังให้เพื่อนช่วยเหลือ
ขณะที่ยามปกติไม่เคยช่วยเหลือใครเลย ในเวลาที่จะคบใครสักคนหนึ่ง
ก็คบเพราะเห็นว่าคนที่ตนคบจะให้ประโยชน์ต่อตนเอง
หากไม่เห็นประโยชน์ก็ไม่คบค้าสมาคมด้วย
คนดีแต่พูด คือ คนที่มักเก็บเรื่องอดีตมาพูด
เพื่อยกย่องเชิดชูตนเอง
มักอ้างอนาคตวาดฝันเป็นเรื่องเป็นราวน่าเชื่อถือ
มักอ้างสิ่งที่ไม่มีมาพูดให้ดูดี
เวลาที่จะให้ของแก่ใครก็จะให้ของที่ไร้ประโยชน์
ในคราวที่เพื่อนขอความช่วยเหลือ มักแบ่งรับแบ่งสู้
หรือทำได้ไม่เหมือนปากพูด
คนหัวประจบ คือ
คนที่ไม่ขัดใจใครแม้ภายในจะขัดใจก็ตาม
การไม่ขัดใจใครก็เพื่อนหวังผลประโยชน์ข้างหน้า
คนหัวประจบนี้มีลักษณะคือ เห็นคนอื่นทำชั่ว ก็เห็นด้วยคล้อยตามกัน
เห็นคนอื่นทำดีก็เห็นด้วยคล้อยตามกัน ต่อหน้าสรรเสริญเยินยอ
พอลับหลังตั้งนินทาว่าร้าย
ใส่ไคล้สนับสนุนถ้อยคำให้เสียหายยิ่งขึ้น
คนชักชวนในทางเสื่อมเสีย คือ
คนที่คอยชักชวนผู้อื่นให้ดื่มสุรายาเมา ชักชวนเที่ยวเตร่ไร้สาระ
ชักชวนให้เล่นการละเล่นเสียเวลาและเงินทอง
ชักชวนให้เล่นการพนันขันต่อ
หากมิตรแท้และมิตรเทียม (คนเทียมมิตร) อยู่รอบข้าง
ศาสนานี้สอนให้ห่างไกลคนเทียมมิตรไว้
เพราะคนเทียมมิตรไม่ใช่มิตรที่ยั่งยืน
เมื่อถึงคราวที่เขาควรเห็นแก่ตัวเขาก็ต้องเห็นแก่ตัวคือเอาตัวรอดไว้ก่อน
ไม่ใช่จะตายก็ตายด้วยกัน สำหรับ สุนัขจิ้งจอกในท้องเรื่องข้างต้น
น่าจะเทียบได้กับผู้ปอกลอก หากไม่เห็นว่าผู้อื่นจะมีประโยชน์อะไรกับตน
สุนัขจิ้งจอกก็คงไม่รับอาสาในการตัดสินคดีความนั้นแน่