หัวใจของการพัฒนาพันธุ์ข้าว


ครานี้ เราเริ่มมาลงลึกให้ถึงแก่นใจของข้าวกันอีกวาระหนึ่ง นั่นคือเทคนิคการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว คุณรู้มั๊ย เรื่องเทคนิคสำคัญตัวนี้ นักเรียนชาวนาเอง ก็ไม่ใช่ว่าจะได้เรียนกันง่ายๆ เพราะหลักสูตรนี้คือหัวใจหลัก ข้าวขวัญ จึงจัดระดับหลักสูตรไว้เป็นระดับสูงสุด คือ นักเรียนชาวนา จะได้เรียนหลักสูตรนี้ ก็ต่อเมื่อ สามารถผ่านการเรียนรู้ใน 2 หลักสูตรแรก คือ หลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี และหลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี เพราะฉนั้ นถ้านักเรียนชาวนาคนใด ก้าวเข้าสู่หลักสูตรนี้ได้แล้ว ให้คุณมั่นใจได้เลยว่า นักเรียนคนนั้น มีพื้นฐานความรู้เชิงเทคนิคในการพัฒนาระบบเกษตรที่ค่อนข้างเต็มเปี่ยมแล้ว...การันตีโดยข้าวขวัญนี่แหล่ะ.....


            การปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชาวนาให้สามารถปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ด้วยตนเอง เกิดขึ้นจากการที่เห็นว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน บริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่กำลังเข้ามามีบทบาทในการควบคุมเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ โดย
เฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของชาวนา ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวกำลังถูกถ่ายโอนไปสู่ธุรกิจภาคเอกชนมากขึ้น เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกถูกผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ ชาวนาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่แพงขึ้น  อีกทั้งพันธุ์ข้าวที่มีการพัฒนาขึ้นโดยบริษัทธุรกิจหรือหน่วยงานราชการมักจะตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีอัตราที่สูงทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาสูงขึ้น  นอกจากนี้พันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้นมักจะไม่เหมาะสมกับระบบการทำนาของชาวนา ทำให้ชาวนาต้องปรับระบบการทำนาของตนไปตามพันธุ์ข้าวที่ตนเองปลูก กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวนา ในขณะที่พบว่าความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่ชาวนาลดลง ทำให้การทำนามีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดโรระบาดข้าวได้ง่าย ปัญหาอีกประการหนึ่งคือพบว่าบริษัทเมล็ดพันธุ์ได้พากันเก็บรวบรวมพันธุ์พืชต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อหวังผูกขาดความรู้การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ของชาวนาให้สามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดระบบการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวนา


จะทำอย่างไรจึงจะได้ข้าวพันธุ์ดี
1.      จะต้องมีการเก็บรวบรวมพันธุ์ให้มีความหลากหลาย  โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีการปรับตัวได้ดีในพื้นที่นั้นๆ
2.      การเก็บรวบรวมจากภายนอก อาจใช้วิธีการแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายชาวนาหรือจากธนาคารเชื้อพันธุ์
3.      จะต้องมีการปลูกทดสอบพันธุ์ เพื่อศึกษาลักษณะประจำพันธุ์คัดเลือกไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป
4.      จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการปรับปรุงพันธุ์ ว่าจะทำการปรับปรุงพันธุ์ไปเพื่ออะไร
5.      ต้องเข้าใจว่าการผสมพันธุ์เป็นการเติมลักษณะต่างๆ เข้าไปเพื่อสร้างตัวเลือกที่จะเกิดในชั่วลูกชั่วหลาน ให้มากขึ้น
6.      จะต้องมีการคัดเลือกพันธุ์หลังการผสมเพื่อหาพันธุ์ที่ต้องการ ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาพอสมควร

 

สิ่งที่ควรรู้สำหรับการคัดเลือกข้าวเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงพันธุ์
            จะต้องรู้จักลักษณะพันธุ์ข้าวที่ตนเองสนใจ เช่น ลักษณะลำต้น สี อายุ รสชาติ ความต้องการน้ำและแสง  ตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวไวแสง (ข้าวปี) เปลือกสีฟาง ข้าวสารสีขาวใส เมล็ดยาว ไม่เป็นท้องไข่หรือท้องปลาซิว คอรวงยาว เวลาหุงมีกลิ่นหอม นุ่ม รสชาติอร่อย ดังนี้เป็นต้น

อย่าได้คิดเชียว ว่าหมูๆ เพราะเราต้องคุยและศึกษาเรื่องนี้กันอีกยาวนัก...ว่าแต่ คุณล่ะ อย่าล้ากันซะก่อน เพราะของดีมักจะมีมาอวดเป็นระยะๆ

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13871เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2006 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท