การปฏิบัติภาวนาจิต (ถอดเทปหลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ตอนที่ ๓ “เมื่อจิตมาจับลมหายใจ”


 

ในเมื่อจิตมาจับลมหายใจ

เมื่อจิตสงบ สว่าง จะมองเห็นลมภายใจเป็นท่อยาว วิ่งออก วิ่งเข้า แล้วจิตก็จะไปยึดอยู่ที่ท่อลมวิ่งออกวิ่งเข้า สว่างไหวเหมือนหลอดนีออน

บางทีเป็นท่อยาว

บางทีก็เดินตั้งแต่จมูกจนถึงเหนือสะดือสองนิ้ว

บางทีก็มองเห็นแต่ข้างใน เห็นแต่อยู่ภายในกาย

บางทีก็มองเห็นพุ่งออกมาข้างนอกด้วย ซึ่งก็แล้วแต่จิตจะปรุงแต่งขึ้นมา

อันนี้เป็นประสบการณ์

ทีนี้ถ้าหากจิตไม่เป็นอย่างนั้น พอวิ่งออกวิ่งเข้าตามลมซึ่งเข้าออก ๆ

เมื่อจิตสงบนิ่งเข้าไปมันจะไปนิ่งสว่างอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย เรียกว่า “ดวงสว่างอยู่กลางกายนั่นเอง”

ที่นี้นอกจากสงบนิ่งเป็นดวงสว่างอยู่ท่ามกลางของร่างกายแล้ว ยังสามารถพุ่งกระแสความสว่างออกมารอบตัว

ในขณะนั้นจิตจะมองเห็นอวัยวะต่าง ๆ อยู่ภายในกายทั่วหมดในขณะจิตเดียว

ตั้งแต่ผมขนเล็บฟันหนัง เนื้อเอ็นกระดูกจนกระทั่งถึงมตฺตเก มตฺตลุงคฺง  มันสมองเป็นที่สุด จะรู้เห็นในขณะจิตเดียว

ทีนี้เมื่อจิตไปกำหนดรู้เห็นอยู่ภายใน ภายในกายรู้เห็น เห็นอวัยวะครบถ้วนอาการสามสิบสอง

จิตเริ่มละเอียด ๆ ๆ ลงไปทีละน้อย ๆ แล้วในที่สุดเข้าไปสู่อัปนาสมาธิถึงฌานที่สี่ ร่างกายตัวตนหายไปหมด

ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวนิ่งสว่างไหวอยู่

ที่นี่เมื่อจิตผ่านความเป็นอย่างนี้ แล้วไปสู่จุดซึ่งเรียกว่า จตุถฌาน

จิตอาจจะมาลอยเด่นอยู่เหนือร่างกาย แล้วจะมองเห็นร่างกายขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง สลายตัวไปทีละอย่าง ๆ ๆ ในที่สุดเหลือแต่โครงกระดูก โครงกระดูกก็จะทรุดหวบลงไปแหลกละเอียด หายสาบสูญไปกับผืนแผ่นดิน

แล้วก็เหลือเพียงจิตสว่างไหวอยู่เพียงดวงเดียว

บางทีอาจจะเป็นย้อนกลับไปกลับมาหลายครั้งหลายหน

อันนี้ก็พึงเข้าใจว่าจิตเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมา

ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อให้เรารู้ว่าจริงว่า “ร่างกายของเราจะเป็นไปเช่นนั้น”
ที่นี้บางทีอาจจะมองเห็นร่างกายแยกกันเป็นกอง ๆ กองดิน กองน้ำ กองลม กองไฟ

ทีนี้เมื่อจิตถอนจากสมาธิมาแล้วก็รู้สึกว่ามีกาย

ถ้าสมาธิจิตที่กายหายไปแล้วนี่ พอจิตย้อนกลับมาหากาย ตอนนี้นักปฏิบัติต้องประคองสติให้ดี

และเมื่อจิตมาสัมพันธ์กับกายเราจะรู้สึกซู่ซ่าทั่วร่างกาย เหมือนกับฉีดยาแคลเซียมเข้าเส้นอย่างแรง จะวิ่งซู่ไปทั่วกายตั้งแต่หัวสู่เท้า

ตอนนี้นักปฏิบัติผู้มีสติสัมปชัญญะจะไม่ตื่นตกใจ

จิตจะมีสติกำหนดรู้ความเป็นไปจนกระทั่งมีความรู้สึกเป็นปกติ

พอมีความเป็นปกติ สมาธิยังอ่อน ๆ จิตก็ยังบอกกับตัวเองว่านี่แหละคือการตาย ตายแล้วมันก็ขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เน่าเปื่อย ผุพัง ทุกสิ่งทุกอย่างสลายตัวไปเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ

ไหนเล่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขามีที่ไหน จิตมันจะว่าอย่างนี้

ในขณะที่มันรู้เห็นนิ่งอยู่เฉย ๆ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เห็นร่างกายตายมันก็เฉย เห็นร่างกายเน่าเปื่อยผุพังมันก็เฉย

แต่มันรู้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถบันทึกข้อมูลไว้หมดทุกอย่าง “อันนี้เรียกว่าความรู้เห็นในขั้นสัจจธรรม”

สัจจธรรมย่อยไม่มีภาษาสมมติบัญญัติ และก็เป็นความรู้ความเห็นในสมาธิสมถะเสียด้วยนะ

พออย่างนั้นนักปฏิบัติที่ยังภาวหน้าไม่ถึงขั้น อย่าไปด่วนปฏิเสธว่าสมาธิขั้นสมถะไม่เกิดภูมิความรู้

จิตของคนเราแม้ไม่มีร่างกายตัวตนสามารถรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้แต่พูดไม่เป็น

รู้เห็นเหมือนกับคนใบ้ รู้เห็นนิ่ง ๆ เฉย ๆ

แต่สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้พร้อมหมด

ทำไมจึงไม่พูด ทำไมจึงไม่คิด

ในขณะนั้นร่างกายไม่มี จึงไม่มีเครื่องมือ จึงคิดไม่เป็น พูดไม่เป็น
สงสัยหรือเปล่า

ถ้าสงสัยปฏิบัติไปให้ถึงขั้นนี้แล้วจะหายสงสัย

อย่ามัวแต่ไปเถียงว่าสมาธิขั้นสมถะมันไม่เกิดภูมิความรู้ ไม่เกิดภูมิความรู้

ขอประทานโทษ ไม่ตำหนิยกโทษ แท้ที่จริงตัวภาวนาไม่ถึงขั้น

ไปอ่านกันเพียงแต่ตำรับตำราเท่านั้น

ถ้าหากนักปฏิบัติภาวนาชาวพุทธเนี่ย ยังเห็นว่าสมาธิขั้นสมถะยังไม่เกิดความรู้อยู่ตราบใด

พุทธบริษัทก็จะพากันโง่จนกระทั่งศาสนาสาบสูญออกไปจากโลก

ไม่ใช่ด่านะ

ให้พยายามไปพิจารณาดูให้ดี

สมาธิตามความเข้าใจของนักปฏิบัติในปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างนี้

เช่นอย่างมาภาวนาพุทธโธ ๆ ๆ ๆ แล้วก็ข่มจิตลงไป น้อมจิตลงไป ๆ อาศัยการฝึกให้คล่องตัวจนชำนิชำนาญ ในเมื่อมันเกิดความคล่องตัวเราจะสะกดจิตตัวเองให้หยุดเมื่อไหร่ก็ได้

แต่ความหยุดนิ่งของจิตตามที่เราตั้งใจจะให้หยุดนิ่ง มันไม่ใช่สมาธินะ

พระเดชพระคุณ มันเป็นแต่เพียงความสงบเท่านั้น

สมาธิจริง ๆ เมื่อจิตหยุดนิ่งมันจะเปลี่ยนสภาวะ

นิ่งปั๊บ เป็นนิ่ง สว่าง รู้ตื่น เบิกบาน ถ้าหากว่ากายเกิดในขณะนั้น มีวิตก

วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคตา พร้อม

นิวรณ์ห้าทั้งหลายมันจะสงบระงับไปหมด

อันนี้มันจึงจะเรียกว่าสมาธิที่มันเป็นเองโดยธรรมชาติของสมาธิ

เมื่อสมาธิธรรมชาติมันเกิดขึ้นแล้ว นักปฏิบัติไม่สามารถที่จะน้อมจิตน้อมใจไปไหนได้หรอก นอกจากจิตจะปฏิวัติตัวไปเองโดยพลังของศีล สมาธิ ปัญญาที่ประชุมพร้อมแล้ว

ซึ่งเราสวดสติปัฏฐานสี่เมื่อสักครู่นี้ว่า เอกายโน มคฺโค สมฺมทกฺขาโต สตฺตานํ วิสุทฺธิยา

เมื่อศีล สมาธิ ประชุมพร้อมลงเป็นหนึ่ง

ศีลก็เป็นอธิศีล

สมาก็เป็นอธิศีล

ปัญญาก็เป็นอธิปัญญา

ในเมื่อศีลสมาธิเป็นอธิผู้ยิ่งใหญ่ ก็สามารถปฏิวัติภูมิจิตภูมิธรรมไปตามขั้นตอน ซึ่งสุดแท้แต่พลังนั้นจะเป็นไปให้เป็นไปอย่างไร

ผู้ปฏิบัติไม่มีสัญญาเจตนาที่จะน้อมจิตไปอย่างไร

จิตจะออกนอกไปเรื่องจิต

จิตจะเข้าในเป็นเรื่องของจิต

จิตจะมากำหนดรู้อยู่ที่จิต เป็นเรื่องของจิต

ซึ่งเขาจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

ในขณะที่จิตเป็นไปโดยเช่นนั้น

จะไปรู้ไปเห็นอะไรก็เพียงว่าเฉย ๆ นิ่ง ๆ อยู่นั้นแหละ

เช่นอยากจะรู้อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา รู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ก็เพียงสักแต่ว่ารู้อยู่เฉย ๆ

คำว่าอนิจจํ ก็ไม่มี

ทุกขํ ก็ไม่มี

อนตฺตา ก็ไม่มี

ถ้าไปยืนมีแล้วสมาธิมันจะถอน

เราอาจจะพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา ไม่เที่ยง เป็นอนตฺตา

เราว่าได้ตั้งแต่จิตยังไม่สงบเป็นสมาธิ

เมื่อจิตสงบเป็นสมาธินี้มันจะเกิดแต่สิ่งที่เกิดดับ ๆ ๆ อยู่เท่านั้น
แล้วคำพูดที่ว่าอะไรมันจะไม่มี

มันจะมีต่อเมื่อจิตถอนจากสมาธิมาแล้วมันจึงจะพูดเป็น เพราะมันมีกายเป็นเครื่องมือแล้ว

อันนี้ทางเป็นไปของจิตทางหนึ่ง....


เพราะฉะนั้นในเมื่อสรุปรวมลงไปแล้วว่า

เราจะบริกรรมภาวนาก็ตาม

จะพิจารณาอะไรก็ตาม

การบริกรรมภาวนา เรียกว่าการปฏิบัติตามแบบของสมถะ

การพิจารณา เรียกว่าการปฏิบัติตามแบบของวิปัสสนา

ทั้งสองอย่างนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้จิตสงบเป็นสมาธิ

เพื่อได้เกิดสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง

และทั้งสองอย่างนี้ ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้วเนี่ย ภาษาคำพูดอะไรต่าง ๆ มันจะไม่มี

ผู้ปฏิบัติแบบสมถะก็ดี

ผู้ปฏิบัติแบบวิปัสสนาก็ดี

ในเมื่อจิตปล่อยวางอารมณ์แล้วมันจะไปนิ่งว่างอยู่เฉย ๆ

ที่นี่จุดที่มันนิ่งว่างเนี่ย ทางหนึ่งวิ่งกระแสออกนอกเกิดภาพนิมิตดังที่กล่าว

อีกทางหนึ่งมันวิ่งตามลมเข้ามาข้างในจะมารู้เห็นอวัยวะในร่างกาย ซึ่งเรียกว่ารู้อาการสามสิบสอง

มันจะไปจนกระทั่งถึงจตุถฌาน......

ที่นี้อีกทางหนึ่งมันไม่เป็นไหนละ

จิตรู้อยู่ที่จิตอยู่เพียงอย่างเดียว ไม่เข้านอก ไม่ออกใน

แล้วจะว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าจิตรู้จิตอย่างเดียว

ถ้ากายยังมีอยู่มันก็จะเห็นอารมณ์ที่เกิดดับ ๆ ๆ อยู่อย่างละเอียด

นี่ทางไปของจิตมันมีอยู่สามทางเท่านี้...

อันนี้ขอฝากนักปฏิบัติทั้งหลายเอาไว้พิจารณา


ขอน้อมจิตนมัสการขอโอกาสกราบลงแทบเท้าองค์ครูบาอาจารย์
ท่านหลวงพ่อพุธ ฐานิโย


กราบนมัสการขอบพระคุณด้วยดวงจิต

หมายเลขบันทึก: 139107เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท