สร้างป่าชุมชน :


ป่าชุมชนโดยทั่วไปเป็นผืนป่าผืนเล็ก ๆ มีขนาดและรูปแบบผันแปรไปตามลักษณะและพัฒนาการของชุมชน ป่าชุมชนจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับระบบนิเวศป่าในท้องถิ่น ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับชุมชนจะราบรื่นและยาวนานเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของชุมชนเป็นสำคัญ
 มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ  ระบบนิเวศจึงเป็นสิ่งแวดล้อมของมนุษย์  มนุษย์สังเคราะห์แสงเองไม่ได้จึงไม่อาจสร้างอาหารด้วยตัวเอง  ต้องเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากระบบนิเวศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากป่าไปใช้ประโยชน์  วิธีการเก็บเกี่ยวมีหลายแบบ  บางวิธีทำให้ระบบนิเวศเสื่อมลง  แต่บางวิธีนอกจากจะไม่ทำลายยังช่วยให้เกิดการกระจายพันธุ์  และเพิ่มพูนคุณค่าทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศ  ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในระบบนิเวศจึงเป็นความสัมพันธ์สองทาง คือ ทั้งใช้หรือเอาออกไปจากระบบ และให้หรือเกื้อกูลให้ระบบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การจัดการระบบนิเวศป่าแบบนี้เป็นการจัดการแบบประณีตซึ่งหน่วยงานของรัฐทำไม่ได้เพราะไม่มีความประณีตและศักยภาพเพียงพอสามารถทำงานได้เฉพาะด้านเท่านั้น  นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้ไม่มากพอ  ในสถานการณ์ปัจจุบันโดยทั่วไปจึงไม่พบว่ามีวิธีใด (รวมทั้งวืธีการประกาศป่าอนุรักษ์แล้วห้ามไม่ให้มีกิจกรรมใด ๆ ของมนุษย์ยกเว้นพนักงานเจ้าหน้าที่) ที่ดีไปกว่าวิธีการจัดการป่าในรูปแบบหรือกระบวนการของ "ป่าชุมชน" ซึ่งสามารถสนองความต้องการของชุมชนในระดับยังชีพ หรือหาอยู่หากินได้
รูปน้ำตก
ป่าชุมชนโดยทั่วไปเป็นผืนป่าผืนเล็ก ๆ  มีขนาดและรูปแบบผันแปรไปตามลักษณะและพัฒนาการของชุมชน  ป่าชุมชนจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับระบบนิเวศป่าในท้องถิ่น  ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับชุมชนจะราบรื่นและยาวนานเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของชุมชนเป็นสำคัญ  ชุมชนล่มสลายป่าก็หมด  ป่าหมดชุมชนก็ล่มสลาย  ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างป่ากับชุมชนจึงเป็นที่รับรู้กันมานาน  ดังนั้นเพื่อสร้างกลไกการบริหารจัดการป่าที่เหมาะสม  จึงต้องมีการพัฒนาองค์กรชุมชน  สร้างแผนการจัดการนิเวศป่าชุมชน  โดยชุมชนเป็นผู้ทำ  แผนการจัดการนิเวศป่าชุมชนจะช่วยให้เห็นภาพรวมของป่าทั้งผืน  ทำให้รู้จักเข้าใจและเห็นคุณค่าป่าผืนใหญ่  ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้มองเห็นระบบนิเวศย่อย ๆ ในระบบนิเวศป่าผืนใหญ่  เช่น  ที่สูงเป็นป่าดิบเขา  ที่โคกเป็นป่าโคก  หนองน้ำหรือที่น้ำท่วมขังเป็นฤดูกาลก็มีป่าพรุหรือป่าบุ่งป่าทามขึ้นอยู่  ที่ดินตื้นมีกรวดหินมากอากาศแห้งแล้งก็มีป่าเต็งรังขึ้น  หากมีดินหนาขึ้นมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้นมาสักหน่อยก็จะมีป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบแล้ง  เป็นต้น  ดังนั้นหากรู้จักระบบนิเวศดีพอ  รู้จักเนื้อหาองค์ประกอบของระบบนิเวศที่มีอยู่ในป่า  รู้จักกฎเกณฑ์หน้าที่ตามธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันในป่า  รู้ถึงผลกระทบและรู้จักจัดการกับผลกระทบจากการเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์สรรพสิ่งจากระบบนิเวศ และตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้  คนกับระบบนิเวศก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทำลายซึ่งกันและกัน  คนไม่ทำลายป่าและป่าก็จะไม่ทำลายคน คือ ไม่โค่นล้มมาทับหรือเป็นเหตุให้ชุมชนต้องอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่
กระบวนการที่จะช่วยให้คนรู้จักระบบนิเวศป่า  อยู่กับป่าและพึ่งพาป่าได้โดยไม่ทำลายซึ่งกันและกันมีหลายรูปแบบ  แต่รูปแบบที่มีการจัดการ  มีกลไกทางสังคมและทางการบริหารจัดการคอยควบคุมอีกชั้นหนึ่ง คือ รูปแบบของป่าชุมชน  ป่าชุมชนจึงช่วยให้ป่าได้รับการคุ้มครอง  ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากคนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกระดับ  ในระดับที่ได้ดุลยภาพหรือไม่ทำลายเพื่อช่วยให้ระบบนิเวศทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์  ดุลยภาพเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกฏธรรมชาติ  มีการถ่ายทอดพลังงาน  การหมุนเวียนธาตุอาหาร  การทดแทน  การรบกวนทำลายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและจากมนุษย์  ตลอดจนการฟื้นฟูตามธรรมชาติ  หากชุมชนพึ่งระบบนิเวศมากเกินจุดดุลยภาพและระบบนิเวศไม่สามารถฟื้นฟูสภาพได้ตามธรรมชาติ  ก็อาจต้องช่วยเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติโดยการปลูกเสริมและป้องกันอันตรายจากไฟหรือสัตว์เลี้ยงหรือใช้ระบบการตัดฟันช่วยการสืบพันธุ์ของต้นไม้  ซึ่งมีมากมายหลากหลายวิธีให้เลือกใช้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดการ  ป่าชุมชนจึงไม่ใช่ป่าเพื่อเศรษฐกิจมุ่งทำไม้หรือผลิตไม้ไว้ใช้สอย  แต่ไม้ใช้สอยเป็นผลผลิตหนึ่งในหลาย ๆ อย่างของการจัดการระบบนิเวศป่าชุมชน
หมายเลขบันทึก: 139098เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท