เศรษฐกิจพอเพียงเยียวยาโลก


เศรษฐกิจพอเพียงเยียวยาโลก

เศรษฐกิจพอเพียงเยียวยา....โลก   ในหลวง  กับรหัสพัฒนาใหม่ตลอดระยะเวลา ๖๐ ปี แห่งการครองราชย์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศเป็นอเนกปริยาย  ทั้งด้านการศึกษา  ศาสนา  วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี   ศิลปวัฒนธรรม  เกษตรกรรม  สิ่งแวดล้อม   การแพทย์   การสาธารณสุข ฯลฯ  อาจจะเรียกได้ว่าทุกด้าน  พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาต่างๆเหล่านี้  ได้มีการกล่าวถึงอยู่ทั่วไปในลักษณะต่างๆ ในบทความนี้ต้องการหาความหมายเชิงลึกของแนวทางการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษาในช่วงต้น  และทรงได้รับการศึกษาท่ามกลางอารยธรรมของยุโรป  อันอาจกล่าวว่าทรงเป็นบุคคลทันสมัย  แต่ทิฐิหรือทรรศนะเกี่ยวกับการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  หาตรงกับแนวทางของอารยธรรมตะวันตกไม่    แต่แตกต่างกันถึงฐานราก     อาจเรียกได้ว่าไม่ใช่ทรรศนะแบบตะวันตกด้วยซ้ำ ทิฐิ(concept)  เกี่ยวกับเรื่องอะไรนำไปสู่การปฏิบัติตามแนวคิดนั้น ในมรรคมีองค์    ท่านจึงเริ่มต้นข้อ      ด้วยสัมมาทิฐิเสมอ  เพราะสัมมาทิฐินำสู่สัมมาปฏิบัติ  แต่ถ้าเริ่มต้นเป็นมิจฉาทิฐิ   สิ่งที่ตามมาคือมิจฉาปฏิบัติ 

 แนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาก็เช่นเดียวกัน  ถ้าเป็นสัมมาทิฐิก็นำสู่สัมมาพัฒนา    แต่ถ้าเป็นมิจฉาทิฐิก็นำสู่มิจฉาพัฒนา  ฉะนั้นในการหาความหมายเชิงลึกของแนวทางการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิฐิของการพัฒนา   เปรียบเทียบระหว่างการพัฒนาตามแนวทางอารยธรรมตะวันตกและแนวทางตามพระราชดำริ รหัสพันธุกรรม(Genetic Code)  กำหนดรูปลักษณ์ของชีวิต

รหัสพัฒนา(Development Code)  กำหนดรูปลักษณ์ของสังคม ในที่ดินผืนเดียวกันมีต้นไม้นานาพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลายในรูปลักษณ์และคุณสมบัติที่แตกต่างกันเพราะถูกออกแบบมาให้ต่างกัน   รหัสพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดแบบหรือโครงสร้าง  รหัสพันธุกรรมคือ DNA     DNA  มีbaseเรียกเป็นตัวอักษร A  T  C  G   เส้น  DNA  ของมนุษย์มีความยาว  ๓ พันล้านตัวอักษร   ทั้ง ๓ พันล้านตัวอักษรมีความจำเพาะมาก  ถ้าผิดไปตัวหนึ่งเขาเรียกว่ากลายพันธุ์   ฉะนั้น   การเรียงลำดับตัวอักษรในรหัสพันธุกรรมกำหนดรูปลักษณ์ชีวิต  คำถามก็คือ  มีรหัสพัฒนา  ที่ประกอบด้วยการเรียงลำดับตัวอักษรที่ต่างกันกำหนดรูปลักษณ์ของสังคมต่างกันหรือไม่

รหัสพัฒนาของอารยธรรมตะวันตก เดิมมนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่ม  หรือตามกระเปาะวัฒนธรรม(Cultural  pockets)   วัฒนธรรมหมายถึงวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ    สิ่งแวดล้อมแตกต่างหลากหลายกันไปตามสถานที่ต่างๆ  วัฒนธรรมจึงมีความหลากหลายไปตามความหลากหลายของสิ่งแวดล้อม    เมื่อประมาณ  ๕๐๐  ปี  ในยุโรปมีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นความรู้ที่คม  ชัด  ลึก และมีเสน่ห์  แต่ยังไม่ใช่ปัญญา  ยุโรปนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสร้างเทคโนโลยีที่มีอานุภาพมาก  สร้างอาวุธทรงอานุภาพ    ชาวยุโรปใช้อำนาจมหาศาลมหาศาลนี้บังคับหรือเข่นฆ่าผู้คนไปทุกทวีป   กำลังผลิตด้วยเครื่องจักร  ได้เกิดการผลิตมากเกินของยุคอุตสาหกรรม    สินค้าเหล่านี้ต้องการผู้บริโภค   จึงมีการทำทุกวิถีทางที่จะสร้างค่านิยมและผลักดันคนทั้งโลกเป็นผู้บริโภคทั้งหมด  ก่อให้เกิดอารยธรรมใหม่  มีขอบเขตทั่วโลก   เป็นอารยธรรมตะวันตกซึ่งมีลักษณะเป็นวัตถุนิยม   บริโภคนิยม     และเงินนิยม ถ้าทบทวนความเป็นมาของอารยธรรมปัจจุบันจะเป็นได้ว่าเริ่มจากความรู้(Knowledge) นำสู่อำนาจ(Power)และเงิน(Money)   รหัสของการพัฒนาในระบบนี้  จึงอาจเขียนได้ว่า  KPM  หรือ  ความรู้ อำนาจ  -   เงิน วิกฤตอารยธรรมตะวันตกและการแสวงหาทางออก  การพัฒนาแบบสมัยใหม่  หรือแบบตะวันตก  อาจมีผลดีหลายอย่าง  เช่น ความสะดวกสบายจากเครื่องทุ่นแรง  การคมนาคม  ฯลฯ    แต่สิ่งที่เป็นผลจากการพัฒนาตามแนวทางนี้เชิงประจักษ์อันปฏิเสธไม่ได้มี    ประการ  คือ

๑.  ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันมากขึ้น

๒.  การทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล

๓.  การทำลายวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ

๔.  เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคมอย่างรุนแรง

นักปราชญ์ตะวันตกเช่น  Larslo, Grof  และ  Russell  มีความเห็นว่า  อารยธรรมตะวันตกกำลังพาโลกทั้งโลกไปสู่วิกฤตการณ์อย่างรุนแรง  นอกจากจะมีการปฏิวัติจิตสำนึก  ท่านทะไลลามะมีความเห็นว่าโลกเป็นโลกบกพร่องทางจิตวิญญาณ(Spiritual  deficiency  decease) และต้องการการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ(Spiritual  Revolution)    ท่านพุทธทาสมองเห็นวิกฤตการณ์ปัจจุบันนานแล้ว  ท่านพร่ำสอนว่า  ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา  โลกาจะวินาศ    ท่านพุทธทาสเห็นว่าวิกฤตการณ์ปัจจุบันรุนแรงมาก    ไม่มียาขนานไหนรักษาได้    นอกจากโลกุตรธรรม    ท่านจึงใช้ชีวิตทั้งหมดปรุงยาโลกุตรโอสถให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน  

พระเจ้าอยู่หัวกับรหัสพัฒนาใหม่       

รหัสพัฒนาของอารยธรรมตะวันตกคือ  KPM   หรือ  ความรู้  -  อำนาจ  -  เงิน  ถ้ามองแนวทางการพัฒนาของพระเจ้าอยู่หัวเชิงลึกจะเห็นว่ารหัสการพัฒนาต่างจากแนวทางตะวันตกโดยสิ้นเชิง  รหัสพัฒนาบอกทิฐิการพัฒนา  จึงเป็นตัวกำหนดการปฏิบัติและผลการปฏิบัติที่ต่างกันถึงขั้นรากฐาน   จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  ที่เราควรทำความเข้าใจจากพระราชกรณียกิจ  พระราชดำรัส   และพระราชนิพนธ์  ในการเข้าเฝ้าฯปีหนึ่ง   ทรงมีพระราชดำรัสกับผู้เคยได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ว่า ใครจะว่าเชยก็ช่างเขา  ขอให้เราพออยู่พอกิน  และมีไมตรีจิตต่อกัน  พระราชดำรัสนี้ชี้ให้เห็นสังคมอีกแบบหนึ่ง  ซึ่งต่างไปจากสังคมปัจจุบันที่เน้นการแข่งขันเสรี  เชย  หมายถึง  ไม่ทันสมัย  พออยู่พอกินและมีไมตรีจิตต่อกัน  หมายถึง  เน้นการอยู่ร่วมกัน  (Living  together)   ไม่ใช่แย่งชิง  ทอดทิ้งกัน  แข่งขันเสรี  ตัวใครตัวมัน       

สังคมไทยอยู่ได้เพราะมีการให้  เป็นพระราชดำรัสอีกตอนหนึ่ง  เราควรถอยหลังเข้าคลอง     เป็นพระราชกระแสอีกตอนหนึ่ง  เพราะในคลองคลื่นลมสงบ  มีความปลอดภัย   ถ้าออกไปในทะเลคลื่นลมแรง  เรืออาจล่ม   ที่จริงคำว่า  ถอยหลังเข้าคลอง  ใช้ในความหมายไม่ดี    ถอยกลับไปสู่ความล้าหลัง   แต่ก็ทรงใช้คำนี้อย่างเป็นการท้าทาย  แต่สังคมไทยก็ยังไม่เข้าใจ  ยังทะยานออกสู่ทะเลลึกที่คลื่นลมแรง  ควรจำว่าใน พ.ศ. ๒๕๔๐  ในเดือนเดียว   เงินไหลออกเกือบหมดประเทศ   เพราะการออกไปโต้คลื่นลมแรง จนเรือล่ม ใช่หรือไม่ ในพระราชนิพนธ์เรื่อง  พระมหาชนก  โปรดอ่านให้ดีๆว่า  พ่อค้า  ๗๐๐  คน มีความโลภต้องการไปแสวงหาโชคลาภที่สุวรรณภูมิ   แล่นเรือไปในทะเล  คลื่นลมแรง    เรืออับปางลง    พ่อค้า  ๗๐๐  คน  อ้อนวอนให้เทวดาช่วย  ไม่คิดพึ่งตนเอง   แล้วตายหมด

ในพระราชนิพนธ์เรื่อง  พระมหาชนก   พระมหาชนกคิดพึ่งตนเอง  และมีความเพียรอันบริสุทธิ์   พระมหาชนกมีแนวคิดที่แรงๆ เช่นว่า คนทั้งปวงล้วนตกอยู่ในโมหภูมิ    โมหะ  หมายถึง  ความโง่  ความหลงไป    ในนั้นมีคำว่า  เมืองอวิชชาที่เต็มไปด้วยความชั่วช้า    วิชชาที่มี ช ช้าง    ตัว  เป็นคำทางพุทธศาสนา ที่มีความหมายพิเศษ   วิชชาหมายถึงปัญญาที่หลุดพ้นจากความโง่และความหลง  ทำให้พ้นทุกข์   อวิชชา  ความไม่รู้เป็นสาเหตุของความทุกข์และความยุ่งเหยิงวุ่นวายทางสังคม  ซึ่งอาจเรียกว่า  วิกฤตการณ์ทางสังคมก็ได้       

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในรูปและนัยต่างๆมาประมาณ  ๓๐  ปี   รวมทั้งที่นำมากล่าวข้างต้นนี้ด้วย  เช่นที่ว่า  ใครจะว่าเชยก็ช่างเขา  ขอให้เราพออยู่พอกิน  และมีไมตรีจิตต่อกันคำถามในการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักกับคำถามในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง   ไม่เหมือนกัน     คำถามปัจจุบันคือทำอย่างไรจะรวย   แต่คำถามในวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง  คือ  ความดีคืออะไรรหัสพัฒนาของวิถีเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาตามกระแสหลักไม่เหมือนกัน  

รหัสพัฒนาตามกระแสหลักคือ  KPM =  ความรู้  -  อำนาจ  -  เงิน  

รหัสพัฒนาตามกระแสเศรษฐกิจพอเพียงคือ  GCK= ความดี  -  การอยู่ร่วมกัน  -  ความรู้   

G=Goodness  = ความดี

C=Community  หรือ  Culture  =  วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน  Knowledge=ความรู้  

มรรควิธีวิถีแห่งความพอเพียง  

การปรับเปลี่ยนจากวิถีเศรษฐกิจนิยม  -  บริโภคนิยม   -   เงินนิยม  ไปสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องยาก  เพราะคนคุ้นเคยกับวิธีคิดและโครงสร้างเก่าในสังคม ขอเสนอมรรควิถี    ประการ   เพื่อปรับไปสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ๑.  สร้างทิฐิและจิตสำนึกใหม่     ควรมีการรณรงค์ให้ผู้คนเปลี่ยนคำถามจาก  ทำอย่างไรจะรวย  ไปเป็นคำถามใหม่ว่า  ความดีคืออะไร  เมื่อถามซ้ำๆอยู่อย่างนั้น  ทิฐิและจิตสำนึกจะค่อยๆเปลี่ยนไป  ว่าเป้าหมายของชีวิตและการพัฒนาคือความดีและการอยู่ร่วมกัน  ไม่ไช่การทำกำไรสูงสุด  รหัสพัฒนาใหม่คือ GCK หรือ  ความดี - การอยู่ร่วมกัน  -  ความรู้     ความดีต้องเป็นตัวตั้ง  การอยู่ร่วมกันเป็นเป้าหมายความรู้เป็นเครื่องมือชีวิตและเศรษฐกิจพอเพียง

๒.  การออกแบบโครงสร้างการพัฒนาที่ถูกต้องสังคมมีเครื่องมือมากแต่ขาดการออกแบบโครงสร้างทุกชนิดต้องมีฐานที่แข็งแรง  โครงสร้างนั้นจึงจะมั่นคง สังคมก็เช่นเดียวกันที่ต้องมีฐานที่แข็งแรง   ฐานของสังคมคือชุมชน  ท้องถิ่นแต่ฐานกลับอ่อนแอลงการพัฒนาข้างบนทุกชนิดต้องเชื่อมกับฐานล่างอยู่บนความเข้มแข็งของฐานล่าง  จึงเป็นโครงสร้างการพัฒนาที่ถูกต้อง  ชุมชนเข้มแข็งคือฐานของเศรษฐกิจพอเพียง  หากมหาวิทยาลัยต่างๆรู้จักมองลงไปข้างล่างสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น  มหาวิทยาลัยจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเราเข้าใจความสำคัญของฐานล่างของสังคม ก็จะเข้าใจว่า ทำไมพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงตะลอนๆไปช่วยคนข้างล่างจนพระเสโทหยดจากปลายพระนาสิก การพัฒนาต่างๆข้างบนไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ  การศึกษา  พระศาสนา  การสาธารณสุข   การสื่อสาร  ฯลฯ  มีพลังมาก  ถ้าเชื่อมกับฐานล่างให้ข้างล่างกับข้างบนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน   ประเทศไทยจะแข็งแรง  พอเพียง  และเรืองแสง

๓.  ส่งเสริมจิตตปัญญาศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตน การศึกษาทุกวันนี้เป็นการศึกษาวิชาต่างๆ  ซึ่งเป็นเรื่องนอกตัวทั้งสิ้น  ไม่มีเลยที่ศึกษาเรื่องภายในตัวเอง จึงจำเป็นต้องดึงเอาพลังภายในขึ้นมาใช้มีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทั้งในตนเอง และเชิงองค์กร จึงจะเผชิญกับวิกฤตรุนแรงของโลกได้ จิตตปัญญาศึกษาจะช่วยให้การปรับไปสู่วิถีแห่งความพอเพียงเป็นไปได้ง่ายมากขึ้นจึงควรทำความเข้าใจและส่งเสริมอย่างจริงจัง

๔.  สร้างเครื่องมือใหม่ทางสังคม(New  Social  Tool)   โครงสร้างในองค์กรทุกชนิดเป็นโครงสร้างทางดิ่ง  หมายถึง  เน้นการใช้กฎหมาย  กฎระเบียบ   และการสั่งการจากบนลงล่างเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ  โครงสร้างชนิดนี้ไม่มีพลังเพียงพอที่จะแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อน  จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานเชิงองค์กร  ซึ่งไม่ใช่การโค่นล้ม หรือ ทำลาย

วิธีการคือการสร้างความสัมพันธ์ทางราบเป็นความสัมพันธ์ใหม่ทั้งภายในและภายนอกองค์กร  โดยถือหลักว่าทุกคนมีศักดิ์ศรี  มีคุณค่าและมีศักยภาพ  สามารถเข้ามารวมกลุ่ม  ร่วมคิด  ร่วมทำ   ด้วยความเสมอภาคและเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย  

หลักการข้างต้นจะเกิดเป็นโครงสร้างทางสังคมใหม่  เรียกเป็นสัญลักษณ์ว่า INN ดังนี้  

I = Individual หรือ  ปัจเจกบุคคลที่มีจิตสำนึกใหม่ว่าเรามีเกียรติ  มีศักดิ์ศรี  มีคุณค่า  มีศักยภาพที่จะทำอะไรดีๆ

N = Nodes   คนที่มีความสนใจร่วมกัน  เรียนรู้ร่วมกัน  ร่วมคิด  ร่วมทำ    ทุกคนเสมอภาค  เป็นความสัมพันธ์ทางราบ  

N = NETWORKS  มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั้งระหว่างบุคคลและกลุ่ม แนวทางการพัฒนาของพระเจ้าอยู่หัวอาจเรียกว่าเอาความดีเป็นตัวตั้ง เพื่อการอยู่ร่วมกัน โดยใช้ความรู้ ซึ่งอาจเขียนเป็นรหัสพัฒนาว่า GCKหรือความดี-การอยู่ร่วมกัน- ความรู้ การพัฒนาแบบเก่านำโลกเข้าไปสู่ความเสื่อมเสียทางศีลธรรมและเจ็บป่วยมากขึ้นเรื่อยๆเพราะใช้เงินเป็นตัวตั้งหากจะเยียวยาโลกได้ต้องใช้รหัสพัฒนาใหม่               

      ฉะนั้น  จึงควรสนใจศึกษาหาความหมายเชิงลึกของแนวทางการพัฒนาของพระเจ้าอยู่หัวให้ดี  เพราะอาจพบรหัสพัฒนาใหม่ที่ช่วยให้โลกรอดได้ 

       นายแพทย์ประเวศ  วสี  ราษฎรอาวุโส  

 นำเสนอโดย...สะแกกรัง        

หมายเลขบันทึก: 138968เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ
  • เยี่ยมมากเลยครับ
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาแลกเปลี่ยน
  • ขยันเขียนบันทึกเล่าประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกันต่อๆ ไปนะครับ

 

 

ขอบคุณสำหรับบทความเกี่ยวกับ เศรษฐกิจพอเพียง บทความนี้มากๆ ครับ ได้ประโยชน์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท