มองเวียดนามแล้วย้อนมองไทย...ฤาเราจะถอยหลังเข้าคลอง



          ได้อ่านบันทึกของคุณเอกชัยที่นี่...

ทิศทางประเทศไทยจะไปทางไหน แล้วใครล่ะกำหนดชีวิตประเทศไทย

แล้วได้แสดงความคิดเห็นไว้บ้างแล้ว  แต่ก็ยังติดใจขอนำมาเขียนเพิ่มในบันทึก

          เวลาสอนนักศึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศ  ก็อดที่จะยกตัวอย่างประเทศเวียดนามไม่ได้

           ขณะนี้ประเทศเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงถึงกว่าร้อยละ 8 ทุกประเทศจึงหันมาจับตามองเวียดนาม รวมทั้งเป็นที่จับตาของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทยด้วย


          อย่างที่คุณเอกชัยบอกว่า...คนไทยหลายคนมองการเติบโตของเวียดนามอย่างวิตกว่าเวียดนามจะกลายเป็นคู่แข่งและจะแซงหน้าประเทศไทยในอนาคต   แต่ในความเป็นจริงแล้ว.....

  

เวียดนามไม่เคยมองเราเป็นคู่แข่งเลย   เขามองไปไกลกว่านั้นแล้ว...

 

มีบางคนมองว่า... การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามแสดงถึงการถอยหลังลงคลองของไทย  ดิฉันเคยเขียนเรื่อง

จะมองใกล้...หรือมองไกล : ทุกอย่างอยู่ที่คุณเลือก

          ถ้าเรามองใกล้ก็จะมัววิตกจริตกับประเทศเวียดนาม     แต่เราควรมองไปข้างหน้ามากกว่า   เพียงแต่เราก็ควรเรียนรู้ประเทศเวียดนามบ้าง ว่าทำไมประเทศนี้ถึงได้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วขนาดนี้

 

ลองมาดูข้อมูลของประเทศเวียดนามกันดีกว่า


ระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ระหว่างปี 2001-2005 ตัวเลข จีดีพีเติบโตเฉลี่ย 7.51 ทุกปี

สัดส่วนของภาคการผลิตด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง คิดเป็นร้อยละ 20.9 ของจีดีพี

สัดส่วนภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 41 ของจีดีพี

สัดส่วนของภาคบริการคิดเป็นร้อยละ 38.1 ของจีดีพี

มูลค่าของผลผลิตทั้งหมดได้นำส่งออกคิดเป็นร้อยละ 50 ของจีดีพี

สัดส่วนของคนจนได้ลดลงจากร้อยละ 17.5 เมื่อเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนี้ เมื่อปี 2001 เหลือเพียงร้อยละ 7

  

โดยที่รัฐบาลได้สร้างงานเพิ่มขึ้น 7.5 ล้านตำแหน่ง และรายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นจาก 5.7 ล้านด่อง เป็น 10 ล้านด่อง

  

ในด้านการรักษาพยาบาลก็มีการขยาย โรงพยาบาลและเครือข่ายศูนย์อนามัยลงไปยังระดับรากหญ้าทุกระดับ     

สำหรับราคายาก็ยังมีราคาถูก   ยาแผนใหม่ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศอินเดีย ซึ่งมีอุตสาหกรรมยาที่ทันสมัยและมีราคาถูก 

ส่วนประเทศไทยกลับห้ามนำเข้ายาราคาถูกจากอินเดีย ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมกับการต้องจ่ายค่ายาราคาแพงของฝรั่งที่มีบริษัทผูกขาดไม่กี่รายผูกขาดอยู่

เรื่อง การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่าเป็นนโยบายที่มีความสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วนสูงสุดของชาติ

  

รัฐสวัสดิการภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เท่าเทียมและเป็นธรรมต่อคนทุกกลุ่มในสังคม เวียดนามจึงสามารถระดมทรัพยากรมนุษย์ ที่มีถึง 54 ชนเผ่าซึ่งได้รับสิทธิและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน มาเข้าร่วมในการพัฒนาประเทศ

  

นโยบายการให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมกันอย่างเช่น เมืองเดียนเบียนฟู ที่อยู่บนยอดดอยสูง ก็ยังมีโรงเรียนประชาบาล ของชาวเขาเผ่าไทยดำเป็นตึกใหญ่โตทันสมัย เหมือนกับโรงเรียนเอกชนในบ้านเรา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอันเป็นรากฐานของการแก้ไขปัญหาความยากจน และล้าหลังที่ตรงจุดที่สุด แม้แต่ชาวเขาก็ไม่ถูกทอดทิ้ง

  

ในเรื่องการศึกษาเขาส่งเสริมอย่างครบวงจร เช่น ตำราเรียน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มีราคาถูกมาก

  

มีการสร้างอุดมการณ์เพื่อร่วมกันพัฒนาชาติอย่างมีทิศทางโดยพลังของเยาวชนนี้ มีภาพให้เห็นทั่วไป 

 

ในกรุงฮานอย ซึ่งมีบึงขนาดใหญ่มากมายในใจกลางเมืองเต็มไปหมด ตามริมบึงจะเห็นมีกระชอนด้ามยาววางอยู่ตามริมบึง จะเห็นมีคนหยิบมาตักเศษขยะ หรือใบไม้แห้ง ออกจากบึงมาวางไว้ริมบึงเพื่อไม่ให้บึงสกปรกหรือเกิดน้ำเน่า

  

นี่คือ การสร้างคนให้มีคุณภาพและมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของสาธารณะอย่างได้ผล

  

มีความใส่ใจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ในเมืองฮานอยซึ่งเป็นเมืองหลวงที่มีต้นไม้ยักษ์ที่ต้องใช้หลายคนโอบรอบนับเป็นพันต้นๆ ทั่วไปหมดทั้งเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า....

การสร้างชาติโดยการสร้างคนให้มีอุดมการณ์ อุดมการณ์ชาติของเวียดนามเน้นที่เอกราช สังคมประชาธิปไตย

 

การสร้างชาติให้มั่งคั่ง เข้มแข็งทางการทหาร สร้างสังคมที่เป็นธรรม สร้างความภูมิใจในความเป็นชาติ และสร้างสังคมที่มีความศิวิไลซ์ เน้นในเรื่องคุณธรรม และการดำรงชีวิตอย่างสร้างสรรค์ มีรสนิยม และถูกสุขอนามัย

  

ไม่ส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างเหลวแหลก เละเทะ ไร้สาระ ฟุ่มเฟือย และ ไร้รสนิยม   เท่าที่ทราบมาคนเวียดนามไม่ค่อยนิยมใชับัตรเครดิต  นิยมใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอย  กล่าวคือ  ถ้าไม่มีเงินสดก็จะไม่ซื้อของ

 

          ที่นำมาเล่าเป็นเพียงบางมุมมองของประเทศเวียดนามเท่านั้น แล้วลองมองย้อนดูประเทศเราบ้าง   ไม่อยากมาเขียนวิจารณ์ประเทศไทย   แต่อยากให้ทุกคนหยุดคิด   เพราะก่อนที่เราจะไปแข่งขันกับต่างประเทศได้    โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ   สังคม ของประเทศไทยเราเข้มแข็งแล้วหรือยัง

 

อ้างอิงจาก : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q1/2007march26p2.htm

หมายเลขบันทึก: 138476เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2007 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

สวัสดีครับ น้องลูกหว้า

  • อ่านบันทึกนี้แล้วโดนใจมากครับ
  • ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์กับเขาหรอกครับ แต่เห็นจากประสบการณ์ตรงที่ผ่านมา
  • ประเทศที่ปกครองโดยนายทุนทางการเงิน หรือนายทุนทางอำนาจ  ย่อมนำพาประเทศชาติย่อยยับ ไม่พัฒนา เสียดุลย์อำนาจการค้า ฯลฯ
  • อย่าว่าแต่ถอยหลังลงคลองเลยครับ ผมว่าลงทะเล หรือลงเหวมากกว่า 
  • ลงคลองยังหาฝั่งเจอง่ายๆ ครับ

ขอบคุณครับ

 

  • เวียดนามพัฒนาไปมากเลย
  • นักศึกษาปริญญาเอกที่มาเรียนด้วยกันก็เรียนเก่งมาก
  • ตัวเปียกตอนนี้
  • เพิ่งไปถอยหลังเข้าคลองมา
  • อิอิอิๆๆ
  • P  พี่  สะ-มะ-นึ-กะ
  • บันทึกนี้ไม่ได้เน้นแต่เรื่องเศรษฐศาสตร์หรอกค่ะ
  • แต่มองภาพรวมของประเทศเวียดนาม  อยากให้เห็นว่า เขาเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เยาวชน เน้นเรื่องการศึกษา  วิทยาศาสตร์ เป็นหลัก
  • สอนให้คนเวียดนามรักสิ่งแวดล้อม มีวินัยในตนเอง    ใช้จ่ายเงินแบบรู้คุณค่า
  • เรียกว่าเขาเริ่มที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก่อนค่ะ
  • ต้องชื่นชมนโยบายของประเทศเขาจริงๆเลยค่ะกำลังใจทุกฝ่าย  เราต้องช่วยเหลือกัน
  • แม้เราจะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ก็มีส่วนช่วยปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ได้   ให้เขามีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม    จะให้ไปเปลี่ยนความคิดผู้ใหญ่ก็คงค่อนข้างยากแล้ว
  • คราวนี้ก็ได้แต่หวังว่า...ประเทศไทยเราจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีเข้าถึงทุกภาคของสังคม
  • P  อิอิ..
  • ถ้าตัวแห้งแล้ว  ก็ก้าวเดินไปข้างหน้าได้แล้วค่ะ
  • สิ่งที่พี่ทำอยู่ก็มีส่วนช่วยให้ประเทศเราก้าวไปข้างหน้าแล้วค่ะ
  • เริ่มพัฒนาจากเยาวชนก่อน   ช่วยกันนะคะ
  • ความเป็น "ชาตินิยม"  คือประเด็นน่าศึกษา
  • ความเป็นค่านิยมที่อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเข้มแข็งก็น่าสนใจ
  • เห็นว่าตอนนี้  ข้าวดี ๆ ... ก็มาจากเวียดนามกันทั้งนั้น ..
  • .....
  • ขอบคุณครับ

บางที  เราอาจจะไม่อยู่ในห้วง ถอยหลังลงคลอง

แต่อาจจะกำลัง

กลิ้งลงคลอง... หรือเปล่าครับ

  • P น้องพนัสคะ
  • พี่ขอให้เป็นเพียงแค่คิดค่ะ
  • เราอย่าได้ถอยหลังเข้าคลองจริงๆเลย
  • เวียดนาม  ญี่ปุ่นเขามีความเป็นชาตินิยมสูงมากประเทศของเขาถึงได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
  • ถ้ามองแบบเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า นี่คือวัฏจักรทางเศรษฐกิจค่ะ
  • คือประเทศเริ่มต้นด้วยภาคเกษตรกรรม  จากนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงาน   แล้วพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นทุนและเทคโนโลยีขั้นสูง
  • ตอนนี้ประเทศไทยเราถูกจี้ด้วยหลายๆประเทศที่เริ่มพัฒนาในวัฏจักรเศรษฐกิจ
  • เห็นได้จากพวกสิ่งทอตอนนี้ก็มีหลายประเทศเริ่มเข้ามาแข่งขันมากขึ้น   เกษตรกรรม เช่น. ข้าว ก็มีเวียดนามเข้ามาชิงตำแหน่ง  
  • สิ่งที่เราต้องคิดคือ ต้องเร่งพัฒนาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เน้นทุนและเทคโนโลยี   ส่วนภาคเกษตรกรรมเราก็ต้องพัฒนาพันธุ์พืชให้มีคุณภาพมากขึ้น
  • คือควรพัฒนาควบคู่ทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมไปพร้อมๆกัน   เพราะอย่าลืมว่าที่เราผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า เรามีภาคเกษตรกรรมนี่เอง...
  • เป็นข้อมูลที่ดีมากครับน้องลูกหว้า
  • พี่ตามไปดูบทความของอาจารย์ ดร.กมล แล้ว
  • พี่มีโอกาสเสี้ยวส่วนที่เข้าไปเห็นบางมุมของเวียตนามมาบ้าง คราวที่ไปเวียตนามครั้งแรกครับ
  • ครั้งนั้นพี่กะจะไปทำงานพัฒนาในโครงการของชาติเวียตนามที่สนับสนุนโดย ฟิลแลนด์ แต่บังเอิญมีปัญหาเรื่องศาสนาที่พี่นับถืออยู่จึงไม่มีโอกาสเข้าไปทำงานตามที่เสนอมา
  • แต่มีโอกาสศึกษางานลึกๆของสังคมและแนวทางของรัฐบาลเวียตนามที่กำลังเร่งพัฒนาสังคมแบบก้าวกระโดด พี่ก็เลยเอาเสี้ยวส่วนของมุมมองและข้อมูลที่รับทราบมาแลกเปลี่ยนอ่ะครับ เพราะได้ตระเวนดูพื้นที่และพูดคุยกับเจ้าเมืองมาครับ
  • เวียตนามยังปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีความแข็งแกร่งมาก
  • ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด และชี้เป็นชี้ตายการพัฒนาและตัดสินใจได้เลย ผิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดของเรา ที่ยกคณะไปเยี่ยมเยือนเขาหลายต่อหลายคณะ แต่ตัดสินใจอะไรไม่ได้เลย ต้องกลับมารายงานและสอบถามท่านอธิบดี ปลัดกระทรวง ท่านรัฐมนตรีทั้งนั้น
  • เขาพยายามสร้างกระบวนการทำงานให้เป็นแบบสมัยใหม่ เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชน การเป็นประชาธิปไตย(แบบฉบับเวียตนาม  เหมือนเรามีแบบฉบับไทยไทย) กล่าวคือ อย่างไรเสียก็ต้องฟังตัวแทนของพรรคที่ประจำในแต่ละจังหวัด ดังนั้นเป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบ
  • ความสำคัญตรงนี้ที่นักสังคมนิยมมักกล่าวกันในสมัยก่อนว่า เป็นเผด็จการเพื่อประชาชน มิใช่เผด็จการเพื่อกลุ่มหรือพวกพ้อง
  • พื้นฐานทางวัฒนธรรมและสภาพทางภูมิศาสตร์ ทางระบบนิเวศ มีส่วนสร้างให้คนเวียตนามต้องขยัน ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่มีตลอดปี หากไม่ทำ อดตาย ข่าวภัยภิบัติโดยเหตุธรรมชาตินั้น ที่ออกมานั้นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แท้จริงมีมากมายจริงๆ
  • คนเวียตนามบอกพี่ว่า ที่เมืองไทยเอาถุงทรายนับร้อยนับพันไปกั้นน้ำมิให้ไหลเข้าบ้าน แต่ที่เวียตนามชาวบ้านต้องเอาถุงทรายไปวางไว้บนหลังคา ทับกระเบื้อง สักกะสี เพื่อมิให้ปลิวหายไปกับลมพายุที่รุนแรงมากกว่าที่เมืองไทยประสบหลายเท่านัก
  • แต่ละปีมีพายุระดับรุนแรงเข้าประเทศเวียตนามมากกว่า 10 ลูก เพราะประเทศเขาที่เป็น S shape country นั้นเผชิญหน้ารับทะเลตะวันออกและมหาสมุทรตลอดแนวยาวเหยียด
  • เหตุผลหนึ่งที่ต้องปลูกข้าว 3-4 ครั้งต่อปีเพราะไม่รู้ว่าแต่ละปีจะโดนพายุหอบไปช่วงไหน จึงต้องปลูกมากไว้ก่อน
  • เพื่อนบอกว่า ด้วยเงื่อนไขต่างๆดังกล่าวดังนั้นในชีวิตคนเวียตนามแต่ละวันเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาคือ เช้านั่งกินกาแฟล้อมวง เย็นล้อมวงดื่มเบียร์หรือเหล้า  แต่สิ่งที่เป็นประเด็นในวงกาแฟและเบียร์คือ หนึ่ง การเมือง สองการกีฬา และสาม การพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อ update ข้อมูลก่อนไปทำงาน และหลังจากกลับที่ทำงาน
  • ร้าน Internet เพิ่มขึ้นอย่างดอกเห็ดเหมือนเมืองไทย ดีกว่าเมืองไทยอีกครับ คือ พี่ไปพักโรงแรมตั้งแต่ระดับ สามดาว สี่ดาว ห้าดาว ทุกโรงแรมมี Internet ให้ผู้เข้าพักใช้ฟรี และเป็น ADSL เมืองไทยน่ะครับ ไม่มีหรอกระดับ สามดาว บางแห่งสี่ดาวก็ไม่มีด้วยซ้ำไป หากมีก็ไม่ฟรี ชั่วโมงละ 100 บาทขึ้นไป
  • ร้าน Internet ก็มีปัญหาแบบเมืองไทยคือ วัยรุ่นเข้าไปใช้และแอบบดู web โป๊ ครับ ขนาดพี่นั่งติดกันเห็นจะจะ วัยรุ่นก็ไม่สน  พี่ลองถามเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่พี่จะไปทำงานด้วยว่ามีปัญหาไหม เขาก็ยืนยันว่ามีปัญหาดังกล่าวจริง แต่รัฐทราบและกำลังหาทางแก้ไข
  • เนื่องจากเป็นการปกครองด้วยระบบสังคมนิยมที่ปกครองด้วยพรรคเดียว อำนาจรัฐจึงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขาทำงานเหมือนรัฐคือบริษัทหนึ่งที่กำลังทำการผลิต มีการตั้งเป้าเพื่อส่งออก เช่นเรื่องข้าว เขาบอกว่า ปี พ.ศ. 2551 จะต้องส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 10% ทุกจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิต ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องลงไปทำงานกับประชาชนเร่งการผลิตให้ได้ 10% ตามนโยบาย ซึ่งมีปัญหาบ้างในทางปฏิบัติ เพราะภัยธรรมชาติ และปัญหาคุณภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินและอื่นๆ แต่ต้องทำ
  • ดังนั้นระบบประชาธิปไตยจึงเป็นแบบประชาธิปไตยภายใต้ระบบพรรคเดี่ยว มิใช่เสรีประชาธิปไตยแบบไทยเรา
  • ข้อดีของระบบประชาธิปไตยแบบภายใต้ระบบพรรคเดี่ยวนี้ ข้อดีคือ ไม่ต้องพูดมาก เมื่อรัฐมีนโยบายทุกภาคส่วนต้องทำอย่างสุดชีวิต และเมื่อผู้นำมีคุณธรรม ทำงานแบบมีอุดมการณ์เพื่อชาติประชาชนจริงๆแล้ว ระบบนี้จะเป็นระบบที่มีพลังการผลิตมหาศาล ข้อเสียคือเป็นเผด็จการ หากผู้นำไม่ดี ไม่เก่ง และไม่มีคุณธรรม ตรงข้ามกลับคอรับชั่น มันก็คือกลุ่มคอรับชั่นครองเมืองนั่นเอง
  • การปกครองแบบพรรคเดี่ยวกำหนดอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้หากผู้นำมีวิสัยทัศน์ เช่น ทั้งเมืองมีแต่จักรยานและมอเตอร์ไซด์ และรถเมล์ขนส่งมวลชน ไม่มีรถปิคอัป หรือรถเก๋งวิ่งกันเต็มถนนแบบบ้านเรา ประหยัดกว่า ไม่มีการแตกต่างทางชนชั้นมากนัก เพราะทุกครอบครัวมีสิทธ์ที่จะมีรถมอเตอร์ไซด์ได้  
  • เวียตนามมีพลเมืองมากมายถึง 84-86 ล้านคน ขณะที่พื้นที่ของประเทศเล็กกว่าไทยหลายเท่า พื้นที่ที่มีอยู่ก็เป็นเทือกเขาเสียครึ่งหนึ่ง ประชากรที่มากมายนี้ก็ยังเป็นปัญหาของรัฐบาล ปัจจุบันเขามีนโยบายสนับสนุนให้มีบุตรครอบครัวละ 2 คน แต่ยังไม่ได้กำหนดเป็นกฏหมาย แต่เชื้อเชิญให้ครอบครัวใหม่ควบคุมการมีบุตรลง
  • เพื่อนชาวเวียตนามยืนยันว่ายังมีการคอรับชั่นอยู่ แต่เป็นการคอรับชั่นแบบกินค่าคอมมิชั่น แต่ไม่มีเอากันจนบ้านเมืองถล่มทลาย และจะไม่เข้าในกระทบเรื่องราวของนโยบายรัฐ เพื่อนชาวเวียตนามกล่าว ??
  • แบบนี้เพื่อนชาวเวียตนามบอกว่า สังคมนิยมประชาธิปไตยของเขาดีกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบไทยเราอีกครับ

เพิ่งกลับจากเวียดนามมาเมื่อปลายกันยา

ก่อนไปก็คิดว่าเวียดนามเจริญก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนน่ากลัว

แต่...เมื่อไปเห็นกับตา ตอบได้ว่า ยังห่าง ไม่ถึงกับต้องวิตกกังวล ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลว่าเวียดนามกำลังเดินหน้า

แต่...อย่าประมาท เพราะ......
ในขณะที่เวียดนามเดินหน้า แต่ เราถอยหลัง
ย่อมจะเสมอ และแซงได้ ในเวลาที่เร็วขึ้น

แทนที่จะตามทันในเวลา 30 ปี ก็จะกลายเป็น 10 ปี หรือ 15 ปี แล้วก็จะแซงในที่สุด ถ้า.....ไทยยังตีกันไม่หยุด



 

สวัสดีค่ะ  

  • ดูพัฒนาการของประเทศไทย แล้วรู้สึก
  • ว่าเทียบเท่ากับวัยรุ่น ..(อ้างตาม ทบ.จิตวิทยาการของอีริคสัน)
  • สับสน
  • อารมณ์เป็นใหญ่  พายุบุแคม
  • ติดเพื่อน
  • เปรียบเทียบ
  • พยายามจะ Identifies ตัวเอง
  • ลองใจเย็น ๆ ให้โอกาสประเทศไทยอีกนิด 
  • ก็จะเติบโต เป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ (หรือเปล่า) ค่ะ
  • เอิ้ก ๆๆ

 

ได้ประโยชน์มากมายจากบันทึกนี้ ...ครับ

 

เราผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า เรามีภาคเกษตรกรรมนี่เอง...

ประเทศชาติจะก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีมากมายและยาวไกลสักแค่ไหน

แต่ต้องไม่ลืมคนส่วนใหญ่ของประเทศ (ที่เป็นภาคเกษตรกรรม) 

...

ขอบคุณครับ

สวัสดีเจ้าค่ะ  คุณครูลูกหว้า

                 แวะมาเยี่ยมเจ้าค่ะ ...สบายดีไหมค่ะ คุณครู....เราไม่ถอยหลังเข้าคลองอย่างแน่นอนเจ้าค่ะ ถ้าเราเหยียบคันเร่ง เดินหน้าเต็มกำลัง....ถ้าไม่เดินหน้า เราก็คงจะตกคลองแน่ๆเจ้าค่ะ

                 เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ --------> น้องจิ ^_^

  • P  พี่ไพศาล...
  • ขอบพระคุณมากเลยค่ะ สำหรับข้อมูล
  • หว้าคิดอยู่แล้วว่าพี่ต้องเข้ามาช่วยแจม
  • ความลำบากในหลายๆด้านทำให้คนเวียดนามต้องก้นาวเดินไปข้างหน้า...
  • แต่ความจริงแล้ว..ถ้ามองด้านเศรษฐกิจตอนนี้เรายังถือว่าเกินดุลการค้ากับเวียดนามอยู่มาก
  • เพราะยิ่งเวียดนามมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเขาก็ยิ่งนำเข้าสินค้าทุนจากประเทศไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมมากขึ้น
  • และนอกจากข้าวแล้ว  สินค้าส่งออกอื่นก็ไม่ถือว่าเป็นคู่แข่งกับประเทศไทย
  • แต่ที่หว้ามอง  หว้าเน้นที่จิตสำนึกของคนไทยเรามากกว่าค่ะ
  • ขอเป็นส่วนเล็กๆที่จะช่วยเป็นแรงผลักดันการพัฒนาประเทศค่ะ....
  • เรื่องนี้ต้องคุยกันอีกยาวนะคะ
  • อย่าชะล่าใจเลยนะคะ  เพราะแผนเศรษฐกิจของเวียดนามทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
  • ประเทศไทยเราต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงค่ะ   เพราะนับวันประเทศไทยจะมีค่าแรงที่สูงขึ้น  ทำให้ต่างประเทศเริ่มย้ายฐานการลงทุนไปประเทศเวียดนามมากขึ้น....
  • คราวนี้ปัญหาจะตามมาอีกมาก....อย่างน้อยต้องมีคนตกงานอย่างแน่นอน
  • คือไม่อยากให้คนไทยชะล่าใจค่ะ 
  • P  คุณ กุ้ง..
  • เข้าใจเปรียบเทียบนะคะ  
  • ประเทศไทยเราอยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือคะ
  • มิน่าถึงได้ทะเลาะกันไม่เว้นแต่ละวัน อิอิ...
  • ในขณะที่ประเทศอื่นเขาเน้นการปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตอาสา   รักบ้านเกิด  ช่วยกันพัฒนาประเทศ
  • แต่บ้านเรามัวทำอะไรกันน๊อ... คอยจับผิดกัน
  • ไม่อยากให้ใครได้ดี  สาดโคลนกันไปมา...
  • เอ..แล้วอย่างนี้ถ้าโตเป็นผู้ใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่แบบไหนกันคะเนี่ย

สวัสดีครับ อ.ลูกหว้า

  • อ่านแล้วเศร้า ประเทศไทย ใช้คำว่ากำลังพัฒนาตั้งแต่ผมเกิด จนผมอายุเกือบ 50 ก็ยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา
  • พัฒนากันจนทรัพย์กรธรรมชาติหมดประเทศแล้ว
  • พัฒนากันจนใครบางคนรวยเอาๆ
  • พัฒนาจนเหลือแต่โครงกระดูก
  • ขอบคุณทุกท่านมาก

สวัสดีค่ะ

P

เวียดนาม มีความกดดันและความยากลำบากมากว่าเราหลายเท่า ในอดีต นั่นคือสิ่งที่ผลักดันให้เขา พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะต้องช่วยกัน ผลักดันประเทศให้เจริญให้มากและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ

เราเอง สบายไปหน่อย ขาดความกระตือรือล้นเท่าที่ควรค่ะ

คนไทยจำนวนไม่น้อย ชอบสนุกสนาน ไม่ซีเรียส แต่จริงๆแล้ว ฉลาด ทำอะไร ก็ทำได้ดี ถึงดีมากนะคะ

ส่วนการการเกษตรกรรมของไทย โดยเฉพาะ ข้าว เราก็หนี ไป เป็นผู้ผลิตข้าวราคาสูงแล้ว เพราะตอนนี้ เป็นยุคการค้าเสรี การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

จุดอ่อน ของเราอย่างหนึ่ง ในเรื่องการเกษตรคือ เรามีการเพาะปลูก ขนาดเล็กเสียมาก คือไม่มากกว่า 10 ไร่/ครอบครัว  ทำให้เกษตรกรยากจน ต้นทุน/ไร่จะสูง

พี่เคย ไปทำcontract farming กับเกษตรกร จะเห็นอยู่ตลอดค่ะ

เมื่อเกษตรกร เงินทุนไม่พอ อำนาจการต่อรองในด้านการขายพืชผลก็น้อยค่ะ

เรื่องนี้ ต้องแก้ไขกันมากค่ะ

พี่ว่า เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และมาพยายามเน้นจิตสำนึกของคนไทยด้วยกัน ให้หันมาช่วยกันพัฒนาชาติ ตามกำลังความสามารถที่มีอยู่ให้เต็มที่นะคะ

ไม่เคยไปเวียดนามสักที แต่มีเพื่อนคนเวียดนาม น่ารักดี เคยมาเที่ยวบ้านเราด้วย สวยเวียดนามดูผอมๆ เอ้อ นอกประเด็นนะครับ..  ก่อนนี้ได้ข่าวเรื่องนักเรียนเวียดนามแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ได้คะแนนอันดับต้นๆ ดูหวั่นๆ ว่าเราจะตามหลังเวียดนาม

ประเทศเราก็ต้องดูเพื่อนบ้านไปด้วย ปรับปรุงตัวเองไปด้วย บ้านเรามีความหลากหลายและซับซ้อน เคยเห็นรายการโทรทัศน์บ้าง หนังสือบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยทราบรายละเอียด เป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ ได้ยินหนาหูเหมือนกัน

 

  • P  น้องพนัส
  • ที่พี่บอกว่า ไทยเราผ่านวิกฤติมาได้ก็เพราะภาคเกษตรกรรมนั้นก็เพราะว่า.. แม้เราจะเจอวิกฤติเศรษฐกิจ  แต่เราไม่ต้องนำเข้าอาหารไงคะ
  • บ้านเรามีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว   แต่ครั้งหนึ่งเรากลับละเลย  หันไปสนใจแต่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว
  • เห็นด้วยนะว่าเราต้องพัฒนาไปควบคู่กันค่ะ
  • P  น้องจิ
  • ประเทศไทยต้องการคนรุ่นใหม่อย่างน้องจิช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศค่ะ
  • รับปากแล้วนะคะว่าจะใส่เกียร์เดินหน้าเลย
  • พี่จะคอยช่วยดันอยู่ข้างหลังค่ะ
  • ตั้งใจเรียนนะคะ    ประเทศเราจะได้มีคนคุณภาพเพิ่มอีกหนึ่งคน
  • P  พี่เกษตรยะลา...
  • อย่าเพิ่งเศร้าเลยค่ะ
  • ยังไม่สายนะคะ   พวกเราต้องช่วยกันเติมน้ำดีเข้ามาในสังคมเยอะๆ   เพื่อจะได้แทนที่น้ำเน่าทั้งหลายที่มีอยู่เกลื่อนเมือง
  • เราทำคนเดียวอาจจะรู้สึกเหงา   แต่เรารวมกลุ่มกันได้ค่ะพี่   มาช่วยกันนะคะ
  • พี่ศศินันท์คะ...
  • เห็นด้วยค่ะว่าคนไทยเราสบายมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว   ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์
  • นิสัยของคนไทยเลย  ง่ายๆ สบายๆ  ไม่ค่อยเครียด
  • แต่เวียดนาม   ญี่ปุ่นเขาเจอสภาพสงคราม   มีความลำบากกว่าเรามากเขาจึงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
  • ส่วนเรื่องเกษตรกรมีการเพาะปลูกขนาดเล็กนั้นเรื่องนี้หว้าไม่เคยลงไปศึกษาเลยค่ะ
  • แต่ถ้าพวกเกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันก็จะเพิ่มอำนาจต่อรองได้มากขึ้น....(เรื่องนี้ไม่กล้าออกความเห็นค่ะ  ไว้เข้าไปศึกษาแล้วจะมาคุยใหม่)
  • หว้าเองก็จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดค่ะ
  • เพราะเรามีหน้าที่เผยแพร่ให้ความรู้อยู่แล้ว  การที่เราปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้พวกเขา...เขาจะได้มาช่วยกันพัฒนาประเทศของเราให้ดีขึ้น
  • สิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ฝันเฟื่อง   แต่เป็นฝันที่เป็นจริงได้  ถ้าทุกคนช่วยกันค่ะ
  • P  คุณธวัชชัย
  • ประเทศเวียดนามนั้นเน้นเรื่องการศึกษามากค่ะ
  • รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างมาก....
  • ช่วงนี้มีคนพูดกันมาก  วิจารณ์กันเยอะ
  • แต่คนที่จะลงมือช่วยกันจริงๆมีบ้างหรือยังเอ่ย????

สวัสดีค่ะ อ.ลูกหว้า

  • เมืองไทยเราเป็นเมืองอยู่สบาย....ที่ไหนๆก็ไม่เหมือนเมืองไทย....เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นและ เวียดนาม     แต่ด้วยความขยันต่างกัน  และความเป็นชาตินิยม จึงดูว่าเขาพัฒนาเร็วกว่าไทยเรา
  • สังคมไทยเราหากไม่มีการทุจริต ......มีอำนาจมากกินมาก....ป่านนี้ไปโลดแล้วค่ะ 
  • ที่สำคัญ...คนไทยชอบทะเลาะกัน.....ยิ่งช่วงนี้ยิ่งมีอะไรให้ได้ดูมากมาย......ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ......หากคนไทยสามัคคีกันร่วมแรงร่วมใจกัน....เมืองไทยก็จะอยู่สบายไปจนโลกดับเลยหละค่ะ

 

 

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆนะครับ

จิตสำนึก จิตสาธารณะ และความสามัคคีที่เรายังมีไม่เต็มนะครับ

  • มองเวียดนาม>>> การศึกษาและวินัย...พลังสร้างชาติ
  • ย้อนมองไทย>>> แค่หยุดอยู่กับที่ (ไม่ต้องถอยหลังไปไหน)...เวียดนามแซงได้ไมยากค่ะ

@@@ นำคำขอบคุณจากคุณหลานมาฝาก อาจารย์ตุมปรีง ค่ะ...เขาตอบจดหมายแล้วป่านนี้คงส่งถึงมือ อ.ลูกหว้าแล้วกระมังคะ

@@@ หยุดดื่มน้ำว่านหางจรเข้ซักแก้วก่อนค่ะ

W2

ขอบคุณมากๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ อ. ลูกหว้า หนูคิดว่า จริงแล้วใทยมีทรัพยากรที่ดีกว่าเวียดนาม แต่ที่เวียดนามมีการพัฒนาคนควบคู่กับการพัฒนาวัตถุ อยากให้คนไทยพัฒนา ต้องสร้างคนค่ะ หนูมีคำถามที่ส่งไปถามทาง mail รบกวนอ.ช่วยตอบหนูหน่อยค่ะ หนูสงสัยว่าทำไมทองขึ้นราคา เป็นเพราะน้ำมันขึ้นราคาใช่ไหมค่ะ แล้วเงินบาทไทยเป็นเพราะอะไร ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำตอบและคำแนะนำ ด้วยความเคารพ อ.ลูกหว้ารักษาสุขภาพด้วยนะค่ัะ
  • P  พี่หญ้าบัวคะ..
  • เห็นด้วยค่ะว่า...ถ้าคนไทยหยุดทะเลาะกันได้  ประเทศเราคงจะพัฒนามากกว่านี้นะคะ
  • P คุณหมอคะ.
  • เรื่องแบบนี้ต้องเป็นความสมัครใจค่ะ เราบังคับเขาไม่ได้หรอกค่ะ
  • เพียงแต่เราชี้แนะได้  จะได้มีแนวร่วมกันเยอะๆ  ทุกคนต้องช่วยกันค่ะ
อาจารย์ กัตจัง เราเป็นครูก็มีส่วนช่วยในเรื่องการปลูกฝังเรื่องวินัย คุณธรรม ความรู้ เพราะเด็กเหล่านี้จะเป็นกำลังสร้างชาติต่อไปค่ะ
น้อง berger เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ไทยเราควรจะพัฒนาทั้งคนและพัฒนาทางเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย สำหรับคำถามไว้พี่ตามไปดูนะคะ พอดีกำลังจะคุมสอบค่ะ
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ผมเห็นป้ายแถวแจ้งวัฒนะ เขาเขียนประมาณว่า "เมื่อวานเวียดนามตามหลังเรา แต่วันนี้เขาจะแซงเรา" น่าคิดนะครับ
  • จุดเด่นของเขาอยู่ที่ระเบียบวินัยของคนในชาติครับ
  • อาจารย์ผมที่ มสธ เคยบอกว่า คนไทยชอบคิดว่า เวียดนามมองเราเป็นคู่เทียบเทียบ แต่ถามคนเวียดนามจริงๆแล้วเขาไม่ได้เปรียบเทียบกับไทยครับ เขาเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น (อายไหมครับคนไทย)
  • ยังไม่เลิกทะเลาะกันก็ยังไม่เจริญครับ การเจริญหยุดชะงัก
  • อย่างนี้หากทะเลาะกันเมื่อไรน่าเอาน้ำสาดนะอาจารย์ จะได้แยก(เหมือนตัวไรหว่า) ฮิๆๆๆ

ขอขอบคุณอาจารย์ลูกหว้า...

  • เรื่องเวียดนามนี่คงจะคล้ายๆ กับกลุ่มประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากขงจื่อ หรือเอเชียตะวันออกไกล (ญี่ปุ่น จีน เกาหลี) ซึ่งเน้นขยันขันแข็ง ทำจริง รักชาติ กตัญญู....
  • คุณธรรมเหล่านี้ทำให้เขาไปได้ไกลอย่างที่อาจารย์เขียนไว้
  • P  คุณสุดทางบูรพา...
  • ก็เพราะคนไทยมัวแต่มองใกล้ๆไงคะ  มัวแต่ระแวงว่าเวียดนามเขาจะมาแซงเรา...
  • ความจริงเรานำเขามาตั้งนาน   แต่ชะล่าใจมาตลอด   มัวแต่ทะเลาะกันแล้วมาช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว
  • แทนที่จะเร่งพัฒนาประเทศ    บันทึกนี้นำมาให้อ่านแบบให้คนไทยรู้สึกตัวกันบ้างค่ะ...
  • นอกจากเราจะย่ำอยู่กับที่แล้ว  สุดท้ายเราจะเริ่มถอยหลังเข้าคลองหรือเปล่า    เพราะนับวันเรายิ่งผลาญทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อม   ปัญหาสังคม  ปัญหาความยากจนตามมามากมาย....
  • เรื่องนี้เราต้องคิดแล้วค่ะ "จะเลือกมองใกล้หรือมองไกล"
  • P  คุณหมอวัลลภคะ...
  • ถ้าอย่างนั้นแล้วประเทศไทยได้รับอิทธิพลมาจากไหนหรือคะ
  • คนไทยมีความโอบอ้อมอารีย์  ชอบช่วยเหลือคนอื่น    ตามสบาย..คือไทยแท้  เห็นแก่พวกพ้อง   ซึ่งบางครั้งก็นำมาให้คนไทยขาดความกระตือรือร้น   แม้ทำอะไรผิดพลาดก็มักได้รับการให้อภัยหรือช่วยโอบอุ้มจากพรรคพวก
  • ที่เขียนมานั้นไม่ได้หมายถึงคนไทยทั้งหมดหรอกนะคะ  เพียงแต่มองภาพรวมๆ
  • ฝากบันทึกมาให้คิดกันค่ะ  ว่าพวกเราจะช่วยเรื่องนี้อย่างไรกันดี

ขอบคุณมากครับสำหรับความรู้ แต่ผมคิดว่า เศรษฐกิจของเวียดนามตอนนี้มันดูแล้วไม่ต่างอะไรกับประเทศไทยเมื่อปี 25 - 38 นะครับ

ใช่แล้วค่ะ เพราะฉะนั้นจึงมีคนเตือนเวียดนามว่าระวังฟองสบู่จะแตกแบบประเทศไทย เพราะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามไปเร็วมาก ตรงนี้ก็อยู่ที่เวียดนามว่าเขาจะรับมือเหตุการณ์นี้อย่างไร ขอบคุณนะคะที่แวะมาเยี่ยมบล็อก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท