การจัดการความรู้ ช่วยพัฒนาองค์กรได้


“ การทำ KM นั้น ต้องสนุก ”

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา ทางคณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศ ได้จัดบรรยายเรื่อง “การจัดการความรู้ มิติใหม่ในการจัดการองค์กร”  ขึ้น โดยวิทยากรคือ ดร. จิตรลดา บูรพรัตน์ จากวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ผู้เข้าร่วมฟังบรรยายนอกจากจะเป็นบุคลากรจากหน่วยงานในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีหน่วยงานภายนอกที่สนใจเข้าร่วมฟังหลากหลาย อาทิ  สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล องค์การบริการส่วนตำบล   ตำรวจ ฯ  แสดงให้เห็นว่า แนวคิด “ การจัดการความรู้ ”  หรือ KM นั้น ประชาชนทุกคน ทุกสาขาอาชีพก็ให้ความสนใจ  ไม่ใช่แต่เฉพาะวงวิชาการในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น
            ทฤษฎีทางวิชาการ ส่วนใหญ่คงมีคนพูดบ่อยๆ และมีคนรู้มากมาย แต่ในความเข้าใจแท้จริง คิดว่ายังมีคนต้องการความเข้าใจอยู่พอสมควร  ส่วนตัวดิฉันได้ยินได้ฟังจากการบรรยายก็หลายครั้ง ทั้งอ่านผ่านตาจากบทความ และจากข่าวสารต่างๆ  คิดว่าประเด็นที่ตัวเองสนใจ ก็คือ การจะนำ KM มาใช้ในการพัฒนาองค์กรได้อย่างไร และที่สำคัญ .. เริ่มจากอะไรก่อน  และเริ่มจากใครก่อนดี
            ดร. จิตรลดา ได้กล่าวว่า การจัดการความรู้ จะต้องประกอบไปด้วย  1. IT  2. คน และ 3. การเรียนรู้ในทีม    และแต่ละองค์กรสามารถเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ ซึ่งแผนผังที่น่าสนใจที่ดิฉันสำเนาจากเอกสาร  present ของวิทยากร  จะเห็นได้ว่าการจัดการความรู้ สามารถบูรณาการกับศาสตร์แขนงอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศ  พฤฒิกรรมศาสตร์ การศึกษา บรรณารักษศาสตร์ ปัญญาประดิษฐ์  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ฯ   


            ระหว่างการบรรยาย ดิฉันได้ฟังความคิดดีๆจากผู้เข้าฟังท่านหนึ่งมาจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)  ที่ท่านบอกว่า “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา พระองค์ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่การจัดการความรู้ เพราะท่านคิดค้นความรู้ใหม่ๆมาช่วยเราคนไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีใหม่ การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ”  ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า เราไม่จำเป็นต้องตามก้นฝรั่ง ถึงแม้ความรู้ สิ่งประดิษฐ์หลายอย่างที่ทันสมัย มาจากต่างชาติที่เขาพัฒนามาแล้ว แต่บางครั้งก็ไม่เสมอไป  ความรู้ที่ได้จากชุมชน และการสั่งสมความรู้เดิมที่มีอยู่ในชุมชนมาแต่ครั้งโบราณ บอกเล่าต่อๆกันมา สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆได้ เช่น ภูมิปัญญาชาวบ้านของเราเอง
            สำหรับองค์กรเอง ดร จิตรลดา ได้กล่าวแง่คิดที่ดีว่า “ การบูรณาการทางความรู้ ไม่ใช่คนๆเดียว มีความรู้เพียงคนเดียว แต่หลายๆคน สามารถทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ได้ ” และ “ การทำงานเป็นทีม ช่วยให้องค์กรพัฒนาตนเองได้ “


            “  คนแต่ละคน มีความรู้อยู่ในตัวเอง มีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน  สิ่งเหล่านี้ พัฒนาอยู่ในตัวเรา ซึ่งเราควรดึงออกมาดู และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกในทีม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและส่วนรวม
         
          อย่างไรก็ตาม วิทยากรยังระบุว่า ในองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อ ของ KM นั้น “ คน  เป็นศาสตร์ที่พัฒนาช้าที่สุด “  เพราะถ้าเราไม่สามารถดึงเอาความรู้ที่มีอยู่ในคนออกมาได้ ก็จะทำให้การพัฒนาองค์ความรู้ไปได้ช้า  อย่างเช่น บางคนมีอีโก้สูง ก็เป็นอุปสรรคแล้ว
            ในหน่วยงานก็เช่นกัน เราจะเห็นว่ามีบุคลากรที่มีความรู้ มีความสามารถมากมายหลายคน แต่หากไม่สามารถร่วมกันทำงานเป็นทีมได้ ย่อมทำให้หน่วยงานไม่สามารถพัฒนาได้ดีเท่าที่ควร  หรือบางคนเราจะเห็นว่า มีความรู้ ความสามารถ แต่ไม่ชอบทำงานกับผู้อื่น กลับชอบทำงานคนเดียว บางคนมีความรู้สั่งสมในตัว อาจจากประสบการณ์หรือจากการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่ไม่ชอบถ่ายทอด หรือไม่มีทักษะในการนำเสนอ หรือมีความรู้ ความสามารถ แต่ไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถ เป็นต้น   ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะดึงความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละคนออกมาช่วยองค์กรได้    การทำงานเป็นทีมอาจเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเริ่มต้นได้   และ   “ การทำงานเป็นทีม เป็นสะพานที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้ “  
            สำหรับวิธีการที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้นั้น สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่  การประชุม ปรึกษาหารือกัน ทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ  การนำเสนอ  presentation   การบอกเล่าเรื่อง   การสนทนา พูดคุยระหว่างทีม   การสัมภาษณ์   การสื่อสารระหว่างเครือข่าย   การรวมตัวแบบ Informal ( Community of Practice COP )    การแข่งขัน ประกวด หรือการค้นหาผู้เชียวชาญ ( วิทยากรใช้คำว่า Find Local champion )   การมี  Chief Knowledge Officer ( CKO )    


          อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ ระบบสนับสนุนและเครื่องมือ ICT ที่ช่วยในการสร้างความรู้
ไม่ว่าจะเป็น Blog ( มหาวิทยาลัยก็กำลังทำอยู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทีเดียวค่ะ)   การทำ file Sharing ก็ถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง  การทำ Mindmap  ที่หากใครสนใจ มีโปรแกรมทำ Mindmap ชื่อ Mindmanager  ดร จิตรลดา ได้แนะนำไว้ว่า search จาก google ดูก็ได้ค่ะ  หรือโปรแกรม Visio ก็ช่วยในการทำ Mindmap ได้ เพราะ Mindmap อาจใช้วิธีวาดหรือเป็น diagram ก็ได้เหมือนกัน


            ส่วนระบบสนับสนุนในการทำ KM  ที่หลายหน่วยงานทำอยู่แล้ว ก็อย่างเช่น การทำ QA การทำ Balance Scorecard (BSC)  Benchmarking   การทำ Human Resources Development  หรือกระทั่งการทำ Strategic Planning เป็นต้น


            แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า การจัดการองค์ความรู้ จะสามารถบูรณาการศาสตร์แขนงต่างๆได้มากมายจริงๆ  และมีหลายอย่างที่น่าสนใจ น่าเรียนรู้อีกมาก  ดังคำที่วิทยากรกล่าวว่า  “  การทำ KM นั้น ต้องสนุก ”   เพราะถ้าทำเพราะถูกบังคับ แต่ไม่เข้าใจ ก็ไม่มีประโยชน์ จริงไหมคะ ....
           
            ขอขอบพระคุณ ดร. จิตรลดา บูรพรัตน์ วิทยากรที่ให้ความรู้ด้วยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 13840เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท