รายงานการติดตามสถานการณ์ทางสังคมไทย:การปรับปรุงการมัธยมศึกษา โดย DR. LUIS BENVENISTE(ตอนที่ 3)


4.ประสิทธิภาพของระบบการศึกษาของไทย
4.ประสิทธิภาพของระบบการศึกษาของไทย         
    
รัฐบาลไทยจัดสรรงบประมาณกว่าหนึ่งในห้าของบประมาณรวมของชาติให้กับการศึกษา ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 4 ถึง 5  ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  ระดับการจัดสรรนี้ยังคงที่แม้ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2540 งบประมาณทางการศึกษามากกว่าสองในสามส่วนมีการจัดสรรให้กับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  โดยระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษาได้รับงบประมาณเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ในปี พ.ศ. 2546  รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณให้การศึกษาระดับมัธยมศึกษาประมาณร้อยละ 28  ของงบประมาณทางการศึกษาทั้งหมด หรือ ร้อยละ 1.13 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าประเทศที่มีภาคการมัธยมศึกษาที่เข้มแข็งใช้จ่ายกันโดยทั่วไป โดยเฉลี่ยแล้วประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นต่ำจะจัดสรรงบประมาณร้อยละ 40 ของงบประมาณทางการศึกษาทั้งหมด หรือร้อยละ 1.86 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศให้กับระดับมัธยมศึกษา สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือค่าใช้จ่ายต่อหน่วยสำหรับการมัธยมศึกษาในประเทศไทยต่ำกว่าค่าใช้จ่ายต่อหน่วยสำหรับการประถมศึกษา นอกจากการได้รับทรัพยากรที่จำกัดจากภาครัฐแล้ว  การมัธยมศึกษายังได้รับทรัพยากรจากภาคเอกชนในสัดส่วนสนับสนุนการศึกษาเพียงร้อยละ 0.06  ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  หรือเท่ากับร้อยละ 5 ของการเงินภาครัฐเท่านั้น           
      
ส่วนการปกครองท้องถิ่นต้องพึ่งพาเงินอุดมหนุนจากหน่วยงานกลางในการอุดหนุนการศึกษา รัฐบาลไทยมีการส่งเสริมการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการการการศึกษาเพื่อปรับปรุงการมีส่วนร่วมและการเป็นเจ้าของในระดับท้องถิ่น  การกระจายอำนาจยังครอบคลุมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนของทรัพยากรของส่วนการปกครองท้องถิ่นที่ใช้จ่ายในด้านการศึกษา  อย่างไรก็ดี ทรัพยากรจากส่วนการปกครองท้องถิ่นเป็นเพียงร้อยละ 20
30 ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเท่านั้น           
      
ในขณะที่การศึกษาได้รับงบประมาณเป็นสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคส่วนอื่น ๆ ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าทรัพยากรเหล่านั้นมีการกระจายอย่างเท่าเทียมและอย่างมีประสิทธิภาพสู่กลุ่มคนที่มีรายได้แตกต่างกันหรือไม่ ประชากรยากจนที่สุดร้อยละ 40 ได้รับงบประมาณร้อยละ 56  ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการจัดสรรทรัพยากรที่คำนึงถึงประชากรที่ยากจนก่อนกลุ่มอื่น อย่างไรก็ดีการกระจายทรัพยากรสำหรับระดับการมัธยมศึกษาในประชากรกลุ่มรายได้ทั้งห้ากลุ่มค่อนข้างเท่าเทียมกัน  ในขณะที่งบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการอุดมศึกษาเห็นได้ชัดเจนว่าตรงกันข้าม  ประชากรกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ได้รับการจัดสรรทรัพยากรถึงร้อยละ 53  ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
           
      
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติระบุวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่าสำหรับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี นอกจากนั้นพระราชบัญญัติฯยังเสนอเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับการให้บริการทางการศึกษา ซึ่งรวมถึงการปรับสัดส่วนนักเรียนต่อครูเป็น 25 ต่อ 1 โครงสร้างการให้ค่าตอบแทนครูแบบใหม่ การเพิ่มและการบูรณาการในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  และการเพิ่มแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น  เป้าหมายเหล่านี้ล้วนมีค่า แต่ปณิธานเหล่านี้ต้องการเงินสนับสนุนล่วงหน้าทั้งจากภาครัฐเองหรือจากภาคเอกชน  เงินค่าใช้จ่ายในการมัธยมศึกษาปัจจุบันไม่เพียงพอในการบรรลุพันธกิจเหล่านี้ การเพิ่มประสิทธิผลค่าใช้จ่ายและผลสำเร็จของภาคการศึกษาจำเป็นต้องมีการส่งเสริมผลลัพธ์สุดท้ายและควบคุมค่าใช้จ่าย หากไม่มีการพิจารณามาตรการประสิทธิภาพอย่างจริงจัง พันธกิจที่ตราไว้ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติก็ไม่อาจจะบรรลุได้(โปรดติดตามตอนสุดท้าย)
หมายเลขบันทึก: 137175เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2007 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท