หมอบ้านนอกไปนอก(26): ผู้มีพระคุณ


ผมเชื่อว่าความรู้สึกของผมและชาวโรงพยาบาลบ้านตาก ท่านเปรียบเหมือนแม่คนที่สองของพวกเรา ท่านเป็นคนที่ใจดี เปี่ยมไปด้วยเมตตา เป็นกันเอง มีชีวิตเรียบง่าย ทำงานตลอดเวลา

การเรียนที่แอนท์เวิปในระดับปริญญาโทในหลักสูตรที่ผมเรียน ถ้าพอมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องจากการทำงานจริงด้วยก็จะไม่หนักมากนัก อ่านเอกสารประกอบการเรียนและบทความวิจัยประกอบก็สามารถอภิปรายออกความคิดเห็นในกลุ่มได้ง่าย ถ้ามีพื้นฐานการพูดหรือฟังภาษาอังกฤษได้ดีก็จะยิ่งสบายมากขึ้น แต่ก็อาจต้องปรับตัวตามสำเนียงของเพื่อนๆในกลุ่มที่มาจากหลากหลายพื้นที่ ผมเองยังมีจุดอ่อนเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้ต้องปรับตัวมาก ติดตามการอภิปรายและการบรรยายได้ช้า อ่านเอกสารได้ช้า ต้องพึ่งดิกชันนารี่อยู่

วันนี้วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม เป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์แรกของเดือน ช่วงเช้าครึ่งแรกเรียนเรื่องการบริการของโรงพยาบาล โดยอาจารย์ฌอง ปิแอร์ อังเกอร์ ในหัวข้อการตรวจสอบทางการแพทย์ (Medical audit) เป็นการตรวจประเมินคุณภาพบริการของโรงพยาบาล ที่เน้นการตรวจแบบพูดคุยกันมากกว่าตรวจจากเอกสารเวชระเบียนอย่างเดียว ดูจากกระบวนการดูแลผู้ป่วย หัตถการหลักๆและการตามรอย มีหัวข้อที่ควรตรวจประเมินเป็นภาพรวมของผลการรักษา คุณภาพบริการ การดูแลแบบผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง การทำงานเป็นทีม การตัดสินใจทางคลินิก ทางเลือกของการรักษา การพยาบาล การรับผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล และเวชระเบียน

เมื่อเปรียบเทียบกับตอนทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตาก จะไปเน้นเรื่องความสมบูรณ์ของเวชระเบียนเป็นหลัก ส่วนการตรวจสอบอื่นๆทางการแพทย์ก็เป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยง แกรนด์ราวน์ ตามรอย สัมมนาผู้ป่วยและการประเมินตามแนวทาง 3CTHER + HELP ซึ่งเป็นกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล โดยเฉพาะของ HA (Hospital Accreditation)

ช่วงที่สองเป็นการนำเสนอวิชาระบบบริการด่านแรก (FLHS) ที่ให้กลุ่มวิเคราะห์และให้ข้อเสนอแนะเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community participation) จากการนำเสนอทำให้เห็นว่ามีมุมมองที่แตกต่างกันสองด้านคือการมีส่วนร่วมในการจัดบริการ (Technical) กับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ (Managerial) เช่น ถ้ามีกรรมการมาช่วยแนะนำหรือร่วมกำหนดนโยบาย แผนงานโครงการก็เป็นเชิงบริหาร แต่ถ้าเข้ามาร่วมในการทำกิจกรรมในด้านต่างๆทั้งส่งเสริม ป้องกันรักษาหรือสาธารณสุขมูลฐาน แบบ อสม. ก็เป็นเชิงเทคนิค

ช่วงบ่ายเป็นการเรียนแนวคิดทฤษฎีในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่มีแนวคิดมุมมองที่แตกต่างกันหลากหลาย การที่จะวัดการมีส่วนร่วมในชุมชนในทางปฏิบัตินั้นใช้หลักแผนผังใยแมงมุม (The spider diagram)  ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบคือ ภาวะผู้นำ (Leadership) การจัดตั้งคณะกรรมการ (Organization) การเคลื่อนย้ายทรัพยากร (Resource mobilization) การจัดการ (Management) และการประเมินความจำเป็น (Needs assessment) ส่วนการมีส่วนร่วมระดับบุคคล (Individual participation) ในบริการสาธารณสุขก็ดูจากการดูแลแบบผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ของเมืองไทยเคยเข้าไปอ่านของสำนักงาน กพร. กำหนดระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนไว้ประเมินหน่วยงานราชการมี 5 ระดับ

การทำงานที่โรงพยาบาลบ้านตาก ก็ได้พยายามนำแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนมาใช้ พยายามผลักดันจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาล และคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขอำเภอบ้านตากให้มีตัวแทนกลุ่มต่างๆมาร่วมเป็นกรรมการในการช่วยบริหารจัดการ และกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมทางด้านสุขภาพ แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าก็เป็นการมีส่วนร่วมเหมือนกันคือการบริจาคเงินหรือสิ่งของให้แก่หน่วยงานสาธารณสุขหรือกิจกรรมทางด้านสุขภาพของชุมชน ในช่วง 10 ปีที่บ้านตาก โรงพยาบาลพัฒนาไปด้วยการมีส่วนร่วมบริจาคเงินให้โดยไม่รวมงบประมาณจากองค์กรต่างๆ

เงินบริจาคที่ได้มาทั้งหมด จะจัดทำบัญชี ลงรายการรับจ่ายไว้เหมือนเงินบำรุงโรงพยาบาล บัญชีเป็นไปตามความต้องการของผู้บริจาคเช่น บริจาคสร้างอาคารก็เปิดบัญชีเป็นบัญชีสร้างอาคาร มีผู้ลงนามคือผู้บริจาคกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นหลัก เงินทุกบาททุกสตางค์จึงไม่มีการรั่วไหล การที่ใครจะบริจาคให้นั้น เขาจะดูสองเรื่องสำคัญคือประโยชน์ที่ได้จากการบริจาคและความโปร่งใสของการนำเงินบริจาคไปใช้ ถ้ามีสองข้อนี้แล้ว ผู้บริจาคจะเกิดความศรัทธาและช่วยบริจาคให้โดยที่เราไม่ต้องไปขอ เพียงแต่แจ้งให้ทราบว่าหน่วยงานจะทำอะไรบ้าง อย่างไร เพื่อใคร โดยใคร ได้ประโยชน์อะไร ผู้ที่แสดงความจำนงมาบริจาคเอง มักจะทำด้วยจิตศรัทธา ไม่ต้องการอะไรตอบแทนจากโรงพยาบาล เป็นความสุขใจที่ได้ทำบุญ

มีผู้บริจาคจำนวนมากที่โรงพยาบาลบ้านตาก ตั้งแต่สมัยคุณหมออนุเวช วงษ์มีเกียรติเป็นผู้อำนวยการอยู่ มีรายชื่อผู้บริจาคหลายท่าน มาสมัยผมก็มีหลายคนทั้งบริจาคมากน้อยแตกต่างกันไป ห้องพิเศษทุกห้อง ทางเชื่อมอาคาร รั้วหลังโรงพยาบาล เตียงนอนในตึกชาย เครื่องมือแพทย์ รถพยาบาล เป็นต้น มีผู้ที่บริจาคเป็นหลักล้านได้แก่ครูบาพานหรือพระครูพิทักษ์บรมธาตุ เจ้าคณะอำเภอบ้านตาก สร้างอาคารหอผู้ป่วยชาย คุณอุดร คุณรักษ์ ตันติสุนทรและครอบครัว บริจาคปรับปรุงห้องพิเศษและบริจาคจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตากประมาณ 3 ล้าน 5 แสนบาท ทั้งสองท่านเป็นนักการเมืองของจังหวัดตาก เคยเป็น  สส. สว.และรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองที่ดีมาก ไม่เคยก้าวก่ายงานของโรงพยาบาล ตอนที่ท่านให้ผมไปรับเงินบริจาคที่บ้านท่าน คุณอุดรได้พูดกับผมว่า การที่บริจาคเพราะเห็นว่าคุณหมอกับทีมงานโรงพยาบาลทำงานเพื่อชาวบ้านจริง เงินไม่รั่วไหลและท่านบอกอีกว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด (Action speaks loundly than words)

อีกท่านคืออาจารย์ทัศนีย์ เทียนทอง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอนุบาลไผทวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ได้บริจาคเงิน 7 ล้านบาทสร้างอาคารผู้ป่วยนอก “อาคารไชยกุล ไผทฉันท์” บริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์และรถพยาบาลอีก 2 ล้านบาท บริจาคตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตาก 5 แสนบาท ผมรู้จักท่านเมื่อปี 2542 ผ่านทางพี่อาทร ขาวอุไร อดีตที่ดินอำเภอบ้านตาก ที่รู้จักสนิทสนมกับท่านเพราะพี่อัจฉรา เป็นผู้ช่วยอาจารย์ทัศนีย์อยู่ ได้เป็นผู้แนะนำให้และใช้โทรศัพท์คุยกันในครั้งแรก หลังจากนั้นก็ได้ไปพบอาจารย์ทัศนีย์ที่นครปฐม มีท่านนายอำเภอพงษ์ศักดิ์ วังเสมอไปด้วย (ปัจจุบันท่านเป็นรองผู้ว่าพิษณุโลก)

มีครั้งหนึ่งอาจารย์ทัศนีย์ไปเที่ยวแม่สอดกับคุณสุนทร เทียนทองแล้วรถมีปัญหาผมกับพี่คำก็ได้ไปช่วยดูแลท่านและท่านก็มาเยี่ยมเยียนติดตามการก่อสร้างอาคารตลอดแต่ก็ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายการก่อสร้างแต่อย่างใด รวมทั้งการก่อสร้างก็อยู่ในความดูแลของท่านผู้ว่าฮึกหาญ โตมรศักดิ์ ตลอด ท่านผู้ว่าจะติดตามงานผ่านทางผม หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปหาอาจารย์ทัศนีย์ที่นครปฐมหรือไม่ก็อาจารย์มาเยี่ยมพวกเราที่บ้านตากทุกปี อาจารย์ทัศนีย์กับคุณลุงสุนทรได้ปลูกต้นทองหลาง ซึ่งถือเป็นไม้มงคลไว้ที่ด้านหน้าอาคารไชยกุล ไผทฉันท์ คนละต้น ตอนนี้ก็ออกดอกงอกงามดี

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้จัดพิธีรับเครื่องราชฯให้อาจารย์ทัศนีย์และอาจารย์ก็ได้อยู่ร่วมงานเลี้ยงแสดงความยินดีที่ชาวโรงพยาบาลบ้านตากจัดให้ผมพร้อมทั้งให้เกียรติขึ้นไปกล่าวความรู้สึกในงานด้วย เมื่อวันที่ 4 กันยายน ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อไปสนามบินสุวรรณภูมิก็ได้แวะไปหาและลาอาจารย์ก่อนเดินทางด้วย ผมเชื่อว่าความรู้สึกของผมและชาวโรงพยาบาลบ้านตาก ท่านเปรียบเหมือนแม่คนที่สองของพวกเรา ท่านเป็นคนที่ใจดี เปี่ยมไปด้วยเมตตา เป็นกันเอง มีชีวิตเรียบง่าย ทำงานตลอดเวลา

วันพรุ่งนี้ 6 ตุลาคม (วันนี้ในเวลาเมืองไทย) เป็นวันครบรอบวันเกิด 81 ปี ของอาจารย์ทัศนีย์ ปีที่แล้วตอนครบรอบ 80 ปี ทางลูกศิษย์และผู้ที่อาจารย์ได้ช่วยบริจาคได้จัดงานให้ท่าน ในงานทำบุญได้นิมนต์พระภิกษุสมณศักดิ์ชั้นราชขึ้นไปมาในงานและพระพรหมคุณาภรณ์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) ได้มาเทศนาธรรม ผมก็ไดไปร่วมงานและร่วมฟังธรรมพร้อมกับได้ใกล้ชิดหลวงพ่อปัญญาฯท่านด้วย ปีนี้อยู่ไกลก็ขอส่งความรู้สึกดีๆ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย ช่วยดลบันดาลให้อาจารย์ทัศนีย์ เทียนทอง มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ตลอดไปครับ

ทางโรงพยาบาลบ้านตากโดยเอ้ (สุภาภรณ์ บัญญัติ) กับบอล (สุริยา เพลินทรัพย์)ได้เขียนกลอนร่วมอวยพรท่านลงในเว็บไซต์ของโรงพยาบาลบ้านตากไว้ ผมขอนำมาเสนอในที่นี้ด้วย

 

ปีมงคลครบรอบแปดสิบเอ็ด

ขอเทเวศอำนวยพรสุขสดศรี

พระตรัยรัตน์ดลผองภัยอย่าให้มี

สุขภาพดีสุขสดชื่นสมบูรณ์เทอญ"

               และสำหรับผมก็มีบทกลอนที่มอบให้ท่านในวันสำคัญนี้ด้วยและถือโอกาสจบบันทึกนี้เลยครับ ราตรีสวัสดิ์

 

“เปรียบดังแม่ ใจดี มีแต่ให้

เปี่ยมน้ำใจ มากล้น มหาศาล

แม้อยู่ไกล ชายแดน เมืองกันดาร

ทัศนีย์ท่าน ได้มา เมตตาทาน

บริจาคเงิน สร้างอาคาร ช่วยคนไข้

พ้นโรคภัย ได้ดูแล ผสมผสาน

ครบรอบปี แปดสิบเอ็ด ของอาจารย์

ขอให้ท่าน สุขภาพดี มีสุขเอย"

พิเชฐ บัญญัติ

Verbond straat 52

2000 Antwerp, Belgium

ตุลาคม 2550

22.45 น. ( 03.45 น.เมืองไทย ) 
หมายเลขบันทึก: 135414เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2007 03:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณน้าหมอ

              สบายดีหรือเปล่าค่ะ....หนูกำลังจะไปสอบเก็บหน่อยกิตที่ ม.รามคำแหง (มีเปลวให้คอยให้แสงอยู่ คิคิ) ก็เลยแวะมาเยี่ยมคุณน้าหมอก่อน เจ้าค่ะ

         เป็นกำลังใจให้นะเจ้าค่ะ ---------> น้องจิ ^_^

สวัสดีน้องจิ

น้าหมอตามไปส่งกำลงัใจให้ไปสอบในwww.nongji.gotoknow.org คงได้รับแล้วนะ สอบเป็นยังไงบ้าง ขอส่งกำลังใจและอวยพรให้เยาวชนคนเก่งคนนี้ประสบความสำเร็จครับ

สวัสดีคะพี่หมอที่เมืองไทย ช่วงนี้ฝนตกหนักเลยคะ ทางเหนือน้ำท่วมคะ

เมื่อเดือนตุลาคม 2549 ผมได้มีโอกาสกราบท่านหลวงพ่อปัญญาฯที่โรงเรียนอนุบาลผไทฉันท์ในงานวันทำบุญครบรอบ 80 ปีของอาจารย์ทัศนีย์ ได้ประคองหลวงพ่อท่านขึ้นรถ เป็นโอกาสอันดียิ่งของชีวิตและเป็นครั้งเดียวที่ได้ใกล้ชิดท่าน

เดือนตุลาคม 2550 ประเทศไทยและพุทธศาสนิกชนทั่วโลกได้สูญเสียพระสมณสงฆ์ผู้ทรงปัญญาแห่งพุทธศาสนาไป ผมขอร่วมไว้อาลัยและระลึกถึงคุณความดีของท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท