เรื่องดีๆ ที่ มวล. : โซตัสเชิงวิชาการ


รุ่นพี่มีเกร็ดดีๆ จากประสบการณ์ของตนเองมาแนะนำรุ่นน้อง
 

เมื่อวานนี้มีโอกาสได้คุยกับ รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร เรื่องโครงการ “พี่ช่วยน้อง” ที่เคยเอ่ยถึงในที่ประชุมสภาวิชาการ (ที่นี่)

การเรียนกลุ่มวิชาด้านคณิตศาสตร์เป็นปัญหาใหญ่ ทำให้เด็กวิศวะและทรัพยากรปี ๑ ต้อง retire จำนวนมากและอีกหลายคนก็ไม่สามารถเข้าหลักสูตรได้เพราะเรียนรายวิชายังไม่ครบ

การเรียนรายวิชาด้านนี้นักศึกษาต้องทำโจทย์/แบบฝึกหัดบ่อยๆ การแก้ปัญหาในปีที่ผ่านๆ มาโดยให้อาจารย์หรือผู้ช่วยสอนติวยังได้ผลไม่ดีนัก เพราะวัยไม่อำนวยและไม่มีเวลามากพอที่จะทำแบบฝึกหัดร่วมกับนักศึกษาได้ตลอด  

 รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี

 

อาจารย์วัฒนพงศ์ได้ริเริ่มโครงการ “พี่ช่วยน้อง” ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ โดยได้ไอเดียมาจากปีที่ผ่านมาที่เมื่อมีกิจกรรมคณบดีพบนักศึกษา พบว่านักศึกษาใหม่เข้ากันครบทุกคนเพราะมีรุ่นพี่คุม เข้าลักษณะของโซตัส ประเพณีที่รุ่นพี่ต้องดูแลรุ่นน้อง (SOTUS, S = seniority, O = order, T = tradition, U = unity, S = spirit)

ก่อนเริ่มโครงการอาจารย์วัฒนพงศ์เข้าระบบรายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย ไปดูผลการเรียนของนักศึกษาวิศวะและทรัพยากร ตั้งแต่ปี ๒ ขึ้นไป ดู GPAX, GPA วิชากลุ่มคณิตศาสตร์ ดึงรายชื่อนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี และเกรดรายวิชาด้านคณิตศาสตร์ดีมาได้เกือบ ๒๐ คน เมื่อเรียกพบรุ่นพี่ก็มีการชักชวนกันมาอีก บางคนเกรดไม่ถึงกับดีมาก แต่เป็นคนพูดรู้เรื่องและรุ่นน้องเกรงใจก็เอา ในที่สุดได้รุ่นพี่วิศวะมาจำนวนหนึ่ง

รุ่นพี่เหล่านี้จะช่วยติวรุ่นน้อง ทำโจทย์ด้วยกัน มีอาจารย์รุ่นเยาว์ ๒ คนทำหน้าที่ช่วยประสานงาน ช่วยจองห้อง อำนวยความสะดวก และดูแลตรวจรายชื่อนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้แก่รุ่นพี่

อาจารย์วัฒนพงศ์สังเกตว่ารุ่นพี่มีเกร็ดดีๆ จากประสบการณ์ของตนเองมาแนะนำรุ่นน้อง เช่น การเรียนกับอาจารย์แต่ละคนต้องทำตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจารย์จะไม่รู้

รุ่นพี่ที่ทำงานนี้มีความภาคภูมิใจมากที่รุ่นน้องสอบผ่านเยอะขึ้น ช่วง midterm มีตกประมาณ ๑๐% มีนักศึกษาได้เกรดเกิน ๒ จำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ต่อไปอาจจะขยายกิจกรรมไปยังวิชาอื่นๆ อีกและได้รู้มาว่ารุ่นพี่เหล่านี้มีการเดินสายไปติวให้กับนักศึกษาของสำนักวิชาอื่นด้วย

ดิฉันรอโอกาสที่จะได้พูดคุยกับนักศึกษาที่ทำงานกลุ่มนี้ ได้ความอย่างไรจะเอามาเล่าต่อ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 134582เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2007 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท