สอนคุณธรรมชาวคริสต์อย่างไรให้ธำรงสามัคคี 5


ประธานอนุกรรมาธิการคุณธรรมและจริยธรรม

สอนคุณธรรมชาวคริสต์อย่างไรให้ธำรงสามัคคี 5

 

กระบวนการของมโนธรรม

ชาวคริสต์ถือว่ามโนธรรมเป็นเสียงของพระเจ้า (The Voice of God) ที่ตรัสภายในให้จิตใจที่บริสุทธ์ิผุดผ่องได้ยินชัดเจนตลอดเวลา จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญอันขาดมิได้ เพราะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้พฤติกรรมกลายเป็นความประพฤติ รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อันเป็นเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ตัดสินใจด้วยเจตจำนงเสรีเฉพาะตัวว่า จะทำดีหรือทำชั่ว ในเมื่อมีสิทธิเลือกตัดสินใจ ความรับผิดชอบต่อการเลือกของตนก็ตามมาเป็นของคู่กัน และนี่คือศักด์ิศรีและความยิ่งใหญ่ของมนุษย์เหนือสัตว์โลกทั้งหลาย คือมีความสามารถเลือกและรับผิดชอบทำให้ความดีมีค่าสมควรยกย่อง และความชั่วทำให้เสื่อมเสีย สมควรประณามว่ากล่าว

ดังนั้นคริสตชนจึงควรรู้จักวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ถึงความตื้นลึกหนาบางของมโนธรรมเพื่อให้ตระหนักในคุณค่าของคุณธรรม และมีกำลังใจที่จะมุ่งมั่นทำดีหนีชั่วจนเป็นคุณธรรม ดังกลไกมโนธรรมต่อไปนี้

 

 

 

มนุษย์ทำอะไรย่อมมีเป้าหมายของตนเอง

มนุษย์เรามีส่วนเหมือนสัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายตรงที่ว่า ทำอะไรมีเป้าหมายที่มาจากสัญชาตญาณ คือไม่ได้คิดเอง แต่ธรรมชาติผลักดันให้ทำเพราะมีเป้าหมายตามสัญชาตญาณ เพื่อเอาตัวรอดและการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ เช่น การกิน อยู่ หลับนอน สืบพันธุ์ เป็นต้น

นอกเหนือไปจากนั้น มนุษย์ยังมีเป้าหมายจากใจของตนเองซึ่งจะแตกต่างกันไปตามบุคคล เมื่อมนุษย์รู้เป้าหมายแล้วไม่ว่าจะมาจากสัญชาตญาณหรือจากใจของตนเอง มนุษย์เรามีเสรีภาพตัดสินใจเลือกว่าจะเดินตามหรือไม่ก็ได้ ซึ่งสัตว์เดียรัจฉานไม่สามารถกระทำได้ ความสำนึกอย่างนี้เรียกว่ามีมโนธรรม

นักศึกษามานั่งในห้องบรรยายเพราะสัญชาตญาณผลักดันให้มาใช่ไหม เพราะสนุกและให้ความพอใจมากที่สุดจึงพากันมานั่งในห้องนี้ใช่ไหม ถ้าไม่ใช่ก็ขอให้คิดดูว่ามานั่งในห้องนี้เพื่ออะไร เพื่อสอบผ่านใช่ไหม ถ้าเช่นนั้นการสอบผ่านก็เป็นเป้ าหมาย (end) ของการมานั่งในห้องนี้และการนั่งในห้องนี้ก็คือวิถี (means) ไปสู่เป้าหมายของมัน ถามต่อไปว่าจะสอบผ่านไปทำไม ยังตอบได้ว่าเพื่อได้หน่วยกิต ดังนั้นการสอบผ่านจึงเป็นเพียงเป้าหมายเฉพาะกิจ นั่นคือ เป็นเป้าหมายของวิถีที่ต่ำกว่า และในขณะเดียวกันก็เป็นวิถีสู่เป้าหมายที่สูงกว่า

ถามต่อไปได้ว่าได้หน่วยกิตเพื่ออะไร เพื่อได้ปริญญา เพื่อได้งานทำดีๆ เพื่อได้เงินมากๆ เพื่อหาความสะดวกสบายในชีวิต เหล่านี้ล้วนเป็นเป้ าหมายเฉพาะกิจทั้งสิ้นครั้นถามว่าอยากได้ความสะดวกสบายในชีวิตไปทำไม บางคนตอบต่อไปไม่ได้แล้วเพราะนั่นเป็นเป้าหมายสุดท้ายของเขา (final end) แต่บางคนยังตอบต่อไปได้ เช่น เพื่อมีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อบรรลุสวรรค์ ถ้าจะถามต่อไปว่าอยากไปสวรรค์เพื่ออะไร ก็จะตอบต่อไปไม่ได้แล้ว มันเป็นเป้ าหมายสุดท้ายของผู้มีความเชื่อ ความวางใจ และความรักอยู่ในใจ

จึงเห็นได้ว่า เป้าหมายสุดท้ายของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนก็จบลงแค่ความสะดวกสบายในโลกนี้ อยากกินอะไรได้กิน อยากทำอะไรได้ทำ อยากเที่ยวที่ไหนได้เที่ยว นอกจากนั้นไม่สนใจ เรากำหนดคนประเภทนี้ว่าในใจห้องขวาของเขามีอภิปรัชญาแบบสสารนิยม (Materialism) หรือธรรมชาตินิยม (Naturalism) นั่นคือไม่เชื่อว่ามีชีวิตเหนือธรรมชาติ หรือชีวิตหลังความตาย

ธรรมชาตินิยมต่างกับสสารนิยมตรงที่เชื่อว่ามีจิตซึ่งเป็นองค์ประกอบของมนุษย์ สัตว์และพืช แต่จิตไม่ใช่วิญญาณอมตะ จิตแบบนี้จะสลายตัวไปพร้อมกับความตาย ส่วนสสารนิยมเชื่อว่าจิตไม่มี ที่เรียกว่าจิตนั้นคือ พลังของสสารซึ่งผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทึกทักเอาว่าเป็นจิตหรือวิญญาณ

 

ธรรมาภิบาล หรือ การบริหารงานที่ดี (Good Governance)

ต้องมีเป้าหมายชัดเจนและมีนโยบายบริหารทรัพยากรทุกอย่างที่มีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด ใช้เวลาน้อยที่สุด และใช้จ่ายน้อยที่สุด

ทรัพยากรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรทรัพย์สิน ที่สำคัญคือ

ทรัพทยากรมนุษย์

เพราะเป็นฝ่ายใช้ทรัพยากรทรัพย์สินตามความรู้ ความสามารถ อุดมการณ์ และการตัดสินใจของแต่ละคน

การบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงต้องยืดหยุ่นภายใน 3 เกณฑ์ คือ เกณฑ์จำเป็น เกณฑ์เสริมและเกณฑ์ส่งเสริม

 

การบริหารงานที่ดีของรัฐบาล (Good Governance for a Good Government)

รัฐบาลที่ดีต้องใช้ทั้ง 3 เกณฑ์โดยผสมผสานกันอย่างเหมาะสมด้วยคุณธรรมความพอเพียง

คือ

1. เกณฑ์จำเป็น

ต้องออกกฎหมายที่กระตุ้นให้พลเมืองขยันขันแข็งทำงาน โดยมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เพื่อเศรษฐกิจมั่งคั่งและความมั่นคงปลอดภัยของชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมอย่างพอเพียงมิให้ความขยันขันแข็งของใครมีผลกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้อื่นโดยเขาไม่ยินยอมเบื้องหลังของกฎหมายก็คือ สมมุติว่าสมาชิกทุกคนเห็นแก่ตัว ผู้รับผิดชอบด้านกฎหมายทุกฝ่าย คือ ผู้ออกกฎหมาย ผู้รักษากฎหมาย และผู้ชี้ขาดกฎหมาย ในหน้าที่ของแต่ละฝ่ายต้องสมมุติว่าทุกคนเห็นแก่ตัว จึงต้องใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเห็นแก่ตัวของทุกคนโดยไม่ไว้หน้า โดยถือว่าใครก็อยากใช้ช่องโหว่เพื่อเอาเปรียบผู้อื่นได้ทั้งสิ้น ถ้ากฎหมายมีช่องโหว่ กฎหมายก็อ่อนแอและขาดความศักด์ิสิทธ์ิ แต่ถ้ากฎหมายเคร่งครัดเกินจำเป็นก็จะละเมิดสิทธิของประชาชน

2. เกณฑ์เสริม

รัฐบาลที่ดีจะต้องเสริมกฎหมายด้วยศาสนา ไม่ใช่เพียงแต่ส่งเสริม โดยถือว่าคำสอนของศาสนาเป็นส่วนเสริมที่จำเป็นสำหรับคุณภาพชีวิตของพลเมือง ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติ ในสมัยก่อนหลายรัฐบาลจึงเอาคำสอนศาสนามาเป็นเกณฑ์จำเป็น คือ เอาศีลธรรมของศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือออกเป็นกฎหมายของชาติเสียเลย แต่ในปัจจุบันไม่นิยมทำกัน เพราะมักจะมีปัญหากับชนกลุ่มน้อยที่มีศาสนาของตนเอง จึงนิยมใช้เป็นเกณฑ์เสริม คือไม่เพียงแต่ส่งเสริม แต่ออกกฎหมายเสริมเพื่อคุ้มครอง และช่วยศาสนาที่รัฐบาลรับรู้ให้สามารถใช้ศักยภาพของแต่ละศาสนาให้เต็มที่ในการอบรมสั่งสอนตามคติของแต่ละศาสนาในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีนโยบายให้ศาสนาต่างๆ ได้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ อย่างไรก็ตามเนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ประกาศตัวไม่นับถือศาสนาใดเลย หรือนับถือศาสนาเป็นส่วนตัว ไม่เข้ากลุ่มศาสนาใดทั้งสิ้น จึงต้องมีเกณฑ์ที่ 3 เบื้องหลังของนโยบายศาสนาก็คือคนส่วนมากเชื่อและหวังชีวิตที่ดีในโลกหน้าเรียกว่าศรัทธา เมื่อศรัทธาแล้วก็พร้อมที่จะเสียสละตามระดับของศรัทธาถึงขนาดชีวิตก็ยอมพลีได้โดยง่าย

3. เกณฑ์ส่งเสริม

ถ้ามีเพียงกฎหมายและศาสนาเท่านั้น ก็ยังอาจจะมีจุดอ่อนในสังคมอีกมากที่อาจจะส่งเสริมได้โดยส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสมาคมอิสระที่มีอุดมคติ จะทำอะไรก็ได้ที่กฎหมายบ้านเมืองและองค์การศาสนาของชาติครอบคลุมไม่ถึง หรือถึงแต่ควรฝึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ สมาคมอาจจะมีอุดมคติสนับสนุนบางแง่ของกฎหมายหรือของศาสนาก็ได้ แต่จะต้องไม่ขัดแย้งกฎหมายและศาสนาของชาติ สมาคมอาจจะรวมถึงองค์การศาสนาที่ยังไม่ได้รับการรับรู้จากรัฐบาลก็ได้ รัฐบาลมีหน้าที่ออกกฎหมายคุ้มครองให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและไม่ละเมิดประเพณีอันดีงาม ตลอดจนให้ความคุ้มครองให้ทำงานตามอุดมคติได้โดยสะดวก และส่งเสริมให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ควรเป็นภาระด้านการเงินแก่รัฐบาลโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้ตั้งสมาคมเป็นฉากบังหน้าหาผลประโยชน์แทนเสียสละเพื่ออุดมคติ เบื้องหลังของนโยบายนี้ก็คือ บางคนอาจจะมีศรัทธาต่อศาสนาใดแล้ว หรือยังไม่มีศาสนาใดในใจเลยก็ตาม ก็อาจจะมีจิตสำนึกด้วยเหตุผลส่วนตัว เรียกว่าจิตสำนึกในหน้าที่ (Duty Call) คือ รู้สึกว่าเกิดมาเป็นคนทั้งที่มีหน้าที่ต้องทำอะไรฝากไว้ในประวัติศาสตร์ให้คนสรรเสริญ แม้ตัวตายไปแล้วนี่เป็นเพียงตัวอย่างการบริหารงานที่ดี ทุกระดับและทุกด้านพึงหาความพอเพียงและพอดีระหว่าง 3 เกณฑ์อย่างเหมาะสม

สามัคคีธรรมก็จะเกิดขึ้นและธำรงอยู่โดยอัตโนมัติ

หมายเลขบันทึก: 134221เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท