ภาษาไทยมีความประณีตจริงไหม?


เราคนไทยคงไม่พูดเข้าข้างตัว แต่ต้องหันมาพิจารณาภาษาของเราว่า จริงไหม

 

 

 

 

ภาษาไทยมีความประณีตจริงไหม?

                    นักศึกษาจีน ญี่ปุ่น มักชื่นชมภาษาไทยว่า  ภาษาไทยนั้นมีความละเอียดประณีต  และไพเราะมาก   นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาชอบเรียนภาษาไทย 

                  เราคนไทยคงไม่พูดเข้าข้างตัว  แต่ต้องหันมาพิจารณาภาษาของเราเองว่า  จริงไหม? 

                  ในข้อเท็จจริง  ชนชาติใดอาศัยในภูมิประเทศใด มีสภาพแวดล้อมใด ย่อมสร้างภาษาขึ้นมาใช้เรียกสรรพสิ่งที่แวดล้อม การสร้างสรรค์วัฒนธรรม ขนบประเพณีหรือธรรมเนียมของตนอย่างไร ก็สร้างภาษามารองรับสิ่งสร้างสรรค์เหล่านั้น  ภาษาจึงเกิดพร้อมกับวัฒนธรรม    เช่น  ชาวเอสกิโม อยู่แถบขั้วโลก เขาอยู่กับหิมะมาโดยตลอด เขาจึงมีคำใช้เรียก หิมะ หลากหลายลักษณะ  ในขณะที่ไทยเราอยู่เขตร้อน ไม่มีหิมะ เราใช้คำนี้โดยการยืมคำเขามาใช้ และก็รู้จำกัดอยู่แค่คำเดียว 

                แต่สำหรับในวัฒนธรรมหรือวิถึชีวิตของเราแล้ว เราก็คิดคำขึ้นมาใช้เรียกในบางเรื่องละเอียด ประณีตเช่นกัน  ซึ่งบางเรื่องแทบไม่น่าเชื่อว่าเราจะมีคำใช้มากมาย และมีความหมายใกล้เคียงกันมาก แต่ไม่เหมือน  ลองค้นหาคำจากพจนานุกรมดูสักกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความหมายว่า  "ทำให้สิ่งหนึ่ง แยก แตก บิ ออก"    บางทีเราจะเห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับคำนั้นๆ

 1 เชือด       -   ใช้มีดทำให้บางส่วนแยก ขาด ออกโดยเร็วและแรง

2 เฉือน       -    ใช้มีดทำในลักษณะเดียวกับเชือด แต่อาจทำหลายครั้งจึงจะขาด

3 ตัด           -    ใช้ของมีคมทำให้ขาดออกทันที

4 หั่น          -    ตัด  แต่ต้องมีที่รองรับ อาจหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หั่นเป็นฝอย  หั่นหนา  หั่นบาง หั่นเฉียงยาวๆ หั่นเป็นชิ้นใหญ่ เป็นต้น

5 แล่           -   ใช้มีดตัดในแนวนอนทำให้ขาดเป็นชิ้นบางๆ เช่น แล่เนื้อ 

6 เฉาะ         -   ใช้ของมีคม เช่น มีด ขวาน ฟันลงไป แล้วงัดออกมา เช่น เฉาะฝรั่ง 

7 สับ           -  ฟันโดยแรง และเร็ว อาจทำให้ขาดในทีดียวหรือค่อยๆ สับถี่ๆ อย่าง สับมะละกอ ก็ได้   

8 หัก            -   จับงอให้แยกออกจากกัน เช่น หักไม้  หักคอ (กระดูกข้างในลำคอแยก)

9 บั่น            -  ลักษณะเดียวกับตัด  แต่ใช้เฉพาะ  บั่นคอ

10  ผ่า         -  ใช้มีด ขวาน ทำให้แยกออกตามยาว เช่น ผ่าแตงโม ผ่าฟืน

11  ซอย      - ลักษณะคล้าย หั่น  แต่ส่วนมากใช้กับผัก  เช่น ซอยพริก ซอยหอม ซอยกระเทียม

12  ฉีก        -  ใช้มือบิดทำให้ขาด  เช่น ฉีกเนื้อ ฉีกทุเรียน

13  กัด        -  ใช้ฟันทำให้ขาด

14  เลาะ     -   ใช้มีด ของมีคม ค่อยๆ แกะแยกออกทีละน้อย

15  เซาะ     -  ใช้ปลายมีดทิ่มลงแล้วค่อยๆ ทำให้บางส่วนหลุดออก

16  บิ          -  ใช้มือทำให้สิ่งที่อ่อนแตก แยกออกมาบางส่วน

17  ฝน       -  ใช้สิ่งนั้นถูกับบางสิ่ง อาจใช้ของมีคม ถูให้ออกทีละน้อย

18  เด็ด      -  ใช้นิ้วทำให้ขาด เช่น เด็ดยอดผักชี เด็ดหัวกุ้ง

19  กะเทาะ  -  ทำให้ล่อนออกมโดยใช้แรงกระทบ

20 เจียน      -  เฉือนริมให้ได้รูปตามที่ต้องการ เช่น  เจียนหมาก

21 จัก          - ใช้มีดทำให้เป็นเส้นบางๆ เปนหยัก หรือฟันเลื่อย เช่น จักตอก

22 สอย      -  ใช้ปลายของมีคมเล็กๆ ทำให้ขาด เช่น สอยพุงปลาย

23 ชำแหละ - ใช้มีดตัด เฉือน แยกออกเป็นส่วนๆ เช่น ชำแหละสุกร

24 สกัด       - ทำให้ของแข็งแตก แยก  เช่น สกัดหิน สกัดปูน

25 เกี่ยว      - ทำให้ขาดด้วยเคียว  เช่น เกี่ยวข้าว เกี่ยวหญ้า เกี่ยวแฝก

26 ทอน      - ตัดให้เป็นท่อน เช่น ทอนฟืน หรือทำให้ต่ำลง เช่น ทอนต้นไม้

27 รอน      - คล้ายตัด ใช้กับฟืน

28 ลิด        -  ทำให้ส่วนที่เกะกะหลุดออกไปโดยใช้มีด

29 จำเริญ  -  ตัดงาช้าง

30 ราน      -  ตัดกิ่งไม้

31 ห้ำ       -  ตัดเร็วๆ สั้นๆ เช่น ห้ำผม

                  คำเหล่านี้มีให้เลือกใช้มากมายน่าทึ่ง  นี่ยังไม่รวมคำในภาษาถิ่นต่างๆ อีก ซึ่งอาจจะมีรวมกันทุกภาคน่าจะเกือบร้อยคำก็ได้ แต่ถ้าเราไปดูในคำภาษาอื่น เช่นภาษาอังกฤษ  ไม่แน่ใจว่า นอกจาก cut    แล้วจะมีคำอื่นอีกมากน้อยแค่ไหน 

                น่าภูมิใจไหมครับ  ว่างๆ ลองหากลุ่มคำที่มีความหมายอื่นๆ ดูบ้างก็ได้ หรือจะลองหาคำที่นำหน้าด้วย  "ใจ"   เช่น  ใจเบา ใจสั่น หรือตามด้วย "ใจ" เช่น  ตามใจ  ลองใจ  จะเห็นว่า

                ภาษาไทยนั้น ละเอียด ประณีต จริงๆ ครับ 

 

หมายเลขบันทึก: 131771เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2007 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
P

นายกรเพชร

ตามที่อาจารย์ว่ามานั้น เห็นด้วย ...

เสริมอีกนิดว่า แค่นี้ยังไม่พอ กล่าวคือ สามารถเอาคำเหล่านี้มาประสมกันได้อีกด้วย เช่น เชือดเฉือน บั่นทอน ริดรอน หักราน ฯลฯ และคำเหล่านี้ก็นำไปใช้กับความหมายได้หลากหลาย เฉพาะ การพูด หรือการสนทนา ก็อาจให้ความหมายทำนองว่า....

  • เชือดเฉือน คือ ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเจ็บใจ
  • บั่นทอน คือ ถ้อยคำที่โต้แย้งให้คำพูดของคู่สนทนาน่าเชื่อถือน้อยลง
  • ริดรอน คือ ถ้อยคำที่ทำให้คำพูดของคู่สนทนาค่อยๆ ไร้น้ำหนัก
  • หักราน คือ ถ้อยทำที่ทำที่โต้แย้งคู่สนทนาโดยตรง

สรุปว่า ภาษาไทยยากที่สุดในโลก

เจริญพร

อ่านเรื่องนี้แล้วนึกถึงตอนที่หนูตอบคำถามอาจารย์ด้วยความเข้าใจผิด คิดว่าหาความหมายที่แยกออกจากันได้ คิดว่าอาจคล้ายเช่นเดียวกับวิชาภาษาศาสตร์ต้องหาคำที่มีความหมายแล้วแยกกันเป็นคำ ๆ ได้ จึงทำให้ท่านอาจารย์เมื่อได้ฟังคำตอบต้องผงากับคำตอบของหนู

วันนี้หนูกระจ่างแล้วค่ะว่าคำถามที่ถามคืออะไร

ภาษาไทยที่จริงไม่ยากแต่ต้องพยายามทำความเข้าใจ

ชั้นหนึ่งค่ะบันทึกนี้ คือ...เป็นเรื่องที่หนูเคยคุยกันกับน้องชายหลายครั้ง ว่าภาษาไทยนี่มีคำให้เลือกใช้หลากหลายจริงๆ และแต่ละคำก็บอกอาการเฉพาะได้ด้วยตัวมันเองเหมือนตัวอย่างที่อาจารย์ยกไว้ในบันทึก  

คนต่างชาติที่เรียนภาษาไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่าภาษาไทยนี่ยากมาก เป็นภาษาที่ดิ้นได้ ไม่ค่อยมีหลักตายตัวในการใช้ สามารถพลิกแพลงได้สารพัดรูปแบบค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้าP

           ดีใจมากครับที่พระคุณเจ้าเข้ามาแสดงความเห็นเพิ่มเติม  ถูกต้องและเห็นด้วยครับ  การรู้คำ ความหมาย เท่านั้นไม่พอ  ต้องรู้จักนำไปใช้ด้วย  ผมจะขอแสดงเรื่องนี้ยาวๆ ในบันทึกใหม่ก็แล้วกันครับ เพราะพระคุณเจ้าได้กรุณาชี้แนะมาแล้ว   ส่วนที่พระคุณเจ้าสรุปไว้ท้ายว่า  ภาษาไทยยากที่สุดในโลกนั้น  ก็น่าจะเข้าเค้าครับ   เพราะตอนนี้  แม้แต่คนไทยนี่แหละ  ที่อ่อนภาษาไทย  เรียนภาษาไทย ก็ได้คะแนนน้อย สอบตก กันเป็นแถว 

         เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม  ทำอย่างไรดีครับ  ท่าน รมต. 

หนูP

          แตกฉานภาษาไทยต้องมีปัจจัยมาก  แม้ตัวอาจารย์เองก็ต้องเรียนรู้ไม่มีวันจบ  เรียนภาษา สามารถเรียนได้ตลอด  อย่างวันนี้อ่านหนังสือพิมพ์เจอภาษาแชทของรุ่นหนูเข้า อาจารย์ก็มึนเหมือนกัน  อะไรล่ะ   ICU   ไม่ใช่ห้องโคม่านะ  แต่เป็น  I see you  หรือ  see you  ก็เขียน  CU  อย่างนี้ก็มึนเหมือนกัน ต้องเรียนรู้ไป จะได้เท่าทันธรรมชาติการใช้ภาษาของสังคม

คุณP

          ใช่แล้วครับ  ดิ้นอย่างชนิดที่ว่าถ้าตามไม่ทันเราก็จะเข้าใจแต่เพียงผิว  เช่น  เชือด เชือดเฉือน  เชือดคอ   เชื่อดไก่ให้ลิงดู   เชือดนิ่มๆ   ห้องเชือด  เชือดสาว   คำประสม หรือคำขยาย ที่บอกมานี้ จะมีความหมายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  ต้องอ่านจากบริบทความจึงจะเข้าใจครับ  เช่น

              วัยรุ่นแค้นสาวที่ใช้วาจา"เชือดเฉือน"ตนให้เจ็บใจ จึงวางแผนลากสาวเข้า"ห้องเชือด"  รุมโทรมเป็นการ "เชือดนิ่มๆ" คือไม่ทำร้าย  แต่ตอนหลังสาวไปแจ้งความตำรวจ  วัยรุ่นถูกจับรับสารภาพหลังจาก "เชือดสาว" สำราญใจแล้ว  แต่ไม่วายเจ็บใจ รู้งี้จับ "เชือดคอ" ให้ดับดิ้นไปตอนนั้นเสียรู้แล้วรู้รอด  ตำรวจฟังถึงกับส่ายหน้าต้องรวบรวมหลักฐานเสนออัยการฟ้องศาลลงโทษให้หนักที่สุด เป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" เสียที  

            เห็นไหมครับ ภาษาไทยไฉนถึงใช้ได้กว้างขวางแบบนี้

P
 sasinanda
สวัสดีค่ะอาจารย์
ดิฉันถึงได้ภูมิใจที่ป็นคนไทยไงคะ
ภาษาประจำชาติ เป็นวัฒนธรรมที่สำคํญมากค่ะ
ภาษาอังกฤษก็สำคัญ แต่ เพื่อการสื่อสาร และเพื่อการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ไม่ได้ภูมิใจอะไรค่ะ

คุณP

        ดีใจครับ คนรุ่นเรานั้นภูมิใจ และรู้ซึ้งคุณค่าภาษาไทย   ปีนี้เป็นปีแห่งภาษาไทยครับ แต่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม แสดงบทบาทรณรงค์ กระตุ้นเตือนคนไทยน้อยไป น่าผิดหวังนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ มาขอแสดงความภาคภูมิใจในภาษาของชาติด้วยคนคะ

เข้ามาอ่านแล้ว

  ได้ความรู้ตั้งเยอะเลยครับ

  จะเข้ามาอ่านบ่อยๆ   ครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท