หมอบ้านนอกไปนอก(16): บทบาททางวิชาการ


การเรียนรู้จากประสบการณ์ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดของการจัดการความรู้และสังคมฐานความรู้ที่ไม่เน้นเฉพาะความรู้ในตำรา (Explicit Knowledge) แต่ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของความรู้ในตัวคน (Tacit Knowledge) ที่เป็นทักษะ ประสบการณ์ สามัญสำนึกและพรสวรรค์ด้วย

                      อากาศที่เมืองแอนท์เวิปค่อนข้างเย็น ถือได้ว่าหนาวสำหรับผมเพราะอยู่ในพื้นที่ร้อนและชอบร้อนมากกว่าหนาว โดยเฉพาะอำเภอบ้านตาก จังหวัดตากที่ถือได้ว่าร้อนที่สุดในประเทศไทย หน้าร้อนอาจถึง 43 องศาเซลเซียสเลย ผมคุยกับชาวเบลเยียมเขาบอกว่าช่วงนี้อากาศสบายดี ออกไปทางร้อนด้วย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีแดด ลมแรงพอควร ท้องฟ้าครึ้ม ช่วงแรกๆที่ผมมาอยู่จะมีฝนปรอยๆด้วย คุณเฟียน่า เจ้าหน้าที่ดูแลนักเรียนบอกว่า วันที่ 21 กันยายน เป็นวันแรกของฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) แดดไม่ค่อยมี อากาศเย็น ถนนหนทางสะดวก มืดช้ามาก กว่าจะมืดก็ประมาณ 2 ทุ่มถึง 2 ทุ่มครึ่ง ทำให้เราสามารถเดินเที่ยวในเมืองได้นานๆและไกลๆโดยไม่เหนื่อย ถนนทุกสายมีรถวิ่งไม่มากนัก ส่วนหนึ่งใช้จักรยาน ตามแยกต่างๆจะมีทางม้าลายและส่วนใหญ่จะมีสัญญาณไฟจราจรสำหรับคนเดินข้ามด้วย รถยนต์ขับไม่เร็วนักเพราะต้องระวังคนเดินข้ามถนน ไม่มีตำรวจจราจรคอยยืนเฝ้าตามแยกต่างๆ ไม่มีวัยรุ่นขับขี่มอเตอร์ไซด์ซิ่ง เสียงดัง แทบไม่มีมอเตอร์ไซด์ให้เห็นเลย มีรสบัสและรถรางไฟฟ้าคอยบริการผู้โดยสาร ช่วงเย็นหลังเลิกงานหนุ่มสาว สามีภรรยาจะเดินจูงกันบนถนนสายต่างๆ บางทีก็ให้ลูกนั่งรถเข็นเด็กเข็นไปตามท้องถนน หรือคนที่ไม่มีคู่ก็จูงสุนัขเดินเล่นโดยเฉพาะผู้สูงอายุมักจะเลี้ยงสุนัขและจูงมันออกมาเดินเล่นกันเป็นกลุ่มๆ

                   วันนี้วันจันทร์เป็นวันแรกของสัปดาห์ วันที่ 24 กันยายน ของทุกปี เป็นวันมหิดล ตอนที่อยู่โรงพยาบาลบ้านตาก เราจะจัดงานทำบุญวันมหิดลและทำบุญโรงพยาบาลทุกปี ปีนี้ก็คงจะจัดเหมือนเดิม แม่กับแฟนบอกว่าเตรียมของไปทำบุญด้วย พอดีเมื่อวันอาทิตย์ไม่ได้ไปวัดกันเพราะวันจันทร์ โรงพยาบาลจะจัดทำบุญอยู่แล้ว เมื่อคืนผมฝันถึงพ่อกับตา ฝันว่าได้นั่งคุยกัน เหมือนสมัยที่พ่อกับตายังอยู่ ก็เป็นฝันที่ดีสำหรับผมอีกคืนหนึ่ง

                   เมื่อเช้าเรียนเกี่ยวกับการบริการของโรงพยาบาลสอนโดยอาจารย์ฌอง ปิแอร์ เริ่มต้นเรียนโดยการบอกกรอบทั้งหมดของเนื้อหาและรายละเอียดในแต่ละส่วนแล้วก็เริ่มนำสู่บทเรียนด้วยคำถามสี่ข้อให้นักเรียนช่วยกันตอบ ผมก็ฟังไม่ค่อยได้มากนัก อาจะเป็นเพราะหยุดเรียนไปสองวัน พอชั่วโมงหลังเริ่มคุ้นสำเนียงและฟังได้มากขึ้น ถัดจากนั้นก็มีกิจกรรมกลุ่มเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพด่านแรกแบ่งกลุ่มเล็กและอาจารย์คัดเลือกเรื่องของคิอูล่า จากแทนซาเนีย มาให้กลุ่มศึกษา กลุ่มผมมีผม แพทริซ เลมม่า คิอูล่า โรติมี่และเกรซ การทำกลุ่มครั้งนี้เป็นอะไรที่ผมเครียดมาก สมาชิกกลุ่มจะพูดกันเยอะมาก จนผมฟังไม่ทันและรู้สึกเสียเวลามาก เขาจะเถียงกันและพูดเร็ว ผมฟังเขาไม่ค่อยรู้เรื่อง อยากจะถามบ้างพูดได้สองสามคำ เขาคุยจบไปสองสามประโยคแล้ว คุยไม่ทันเลย แต่ผมก็สามารถสรุปการอภิปรายของกลุ่มไว้ได้ ก็แปลกดี ฟังไม่รู้เรื่อง แต่รู้เรื่อง

                      ผมเสนอแนวทางให้คิอูล่า สรุปภาพรวมของระบบสุขภาพของแทนซาเนียก่อน แต่ประธานกลุ่มไม่เห็นด้วย ให้ถามกันเอง แต่สุดท้ายก็คุยกันไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปคนละเรื่อง คิอูล่าก็ต้องมาเขียนผังให้ดูอยู่ดี กว่าจะเข้าใจกันได้ พอหมดเวลาทำกลุ่มผมก็บอกเกรซซึ่งเป็นเลขากลุ่มว่าเก่งจังเลยที่ฟังเพื่อนๆคุยกันรู้เรื่องเพราะเขาคุยกันเร็วมากและเกรซก็สามารถจดได้ เกรซบอกว่าฉันก็ฟังไม่ค่อยทันหรอก ฉันก็จดไปตามที่ฉันคิดนั่นแหละ ผมงี้หัวเราะเลย เสร็จแล้วก็รีบกลับบ้านพักมาคุยกับทางบ้านทางสไกป์ดีกว่า

                       การเรียนหลักสูตรนี้ อาจารย์ได้แจ้งไว้ตั้งแต่ต้นว่าเป็นการเรียนแบบมืออาชีพ (Professional) ที่ใช้การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เป็นหลักมากกว่าการเรียนจากตำราและให้เป็นการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ (Adult learning) รุ่นผมนี้เป็นรุ่นที่ปรับหลักสูตรใหม่จากHealth Development มาเป็น Health system management and Policy เรียกย่อๆว่า HSMP เริ่มปรับตั้งแต่ปีที่แล้วแต่เรียนภาษาฝรั่งเศส (เป็นหลักสูตรที่เรียนสลับกันระหว่างภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศส คนละปี) การเรียนรู้จากประสบการณ์ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดของการจัดการความรู้และสังคมฐานความรู้ที่ไม่เน้นเฉพาะความรู้ในตำรา (Explicit Knowledge) แต่ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของความรู้ในตัวคน (Tacit Knowledge) ที่เป็นทักษะ ประสบการณ์ สามัญสำนึกและพรสวรรค์ด้วย เป็นการเริ่มจากความรู้ภาคปฏิบัติ (Practical based) ไม่ใช่ความรู้ภาคทฤษฎี (Theoritical-based) โดยอาจารย์ให้เน้นเชื่อมโยงสองภาคส่วนของการเรียนรู้เข้าด้วยกันคือภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี

                     การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่ต้องแยกผู้เรียนออกจากสถานที่ปฏิบัติงานนานเกินไปจะดีมาก ควรเป็น In service training หรือ On the job training โดยมีการอบรมเพิ่มเติมความรู้ช่วงสั้นๆเป็นระยะๆ อาจารย์ฌองบอกว่า อย่าฆ่างานสาธารณสุขโดยการปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานไปตลอดเวลาโดยไม่ได้ฝึกอบรมเขาเพิ่มเติม ตอนที่แพทย์สาขาเวชปฏิบัติครอบครัวยังเป็นเวชปฏิบัติทั่วไปนั้น มีการให้ทำงานในที่ทำงานแบบไม่แบ่งแผนก (โรงพยาบาลชุมชน) เฉพาะทางเท่ากับจำนวนปีของการฝึกอบรมในโรงเรียนแพทย์คือสามปี ร่วมกับการฝึกอบรมทางเวชปฏิบัติทั่วไปที่ทางสมาคมฯจัดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ร่วมกับการจัดทำผลงานการทำเวชปฏิบัติที่ทำย้อนหลังสามปี ร่วมกับทำผลงานทางวิชาการในสี่สาขาหลักคือสูติ-นรีเวช ศัลย์หรือออร์โธหรือวิสัญญี อายุรกรรม และกุมารเวชกรรม สาขาละ 1 เรื่อง อาจทำเป็นบทความฟื้นวิชา วิจัย หรือกรณีศึกษาก็ได้ รวบรวมให้คณะกรรมการสอบพิจารณา ถ้าผ่านก็สามารถสอบวุฒิบัตรได้ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นเวชปฏิบัติครอบครัวก็ยกเลิกไปให้ใช้เป็นประสบการณ์ 5 ปี สอบอนุมัติบัตรได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นการทำ In service training หรือ On the job training ที่ดีเลย เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานจริงร่วมกับการอ่านตำราด้วยตัวเอง ตอนที่ผมสอบบอร์ดเวชปฏิบัติทั่วไปนั้นคนที่ได้ที่หนึ่งเป็นพี่ที่สอบอนุมัติบัตร ไม่ใช่แพทย์ประจำบ้านที่เรียนจบจากโรงเรียนแพทย์

                  เรื่องการให้ความสำคัญกับประสบการณ์การทำงานนี้ ยังไม่มีให้เห็นจริงในระบบการศึกษาของไทย ผมได้พยายามเสนอความคิดเรื่องการเทียบโอนประสบการณ์ในหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยชุมชนตาก เจ้าหน้าที่เขาบอกว่ามีหลักการระบุไว้ แต่ยังไม่มีใครทำ ผมก็เลยบอกว่าเราก็ทำนำร่องสิ เรามีแต่เทียบโอนผลการเรียนหรือเทียบยกเว้นรายวิชาที่เรียนจากสถาบันการศึกษา แต่ยังไม่เทียบโอนประสบการณ์ชีวิตที่เขามีมา เช่น ช่างเครื่องยนต์ที่ไม่จบช่างแต่ประกอบอาชีพในอู่ซ่อมรถมานาน แทนที่จะให้เขามาเข้าเรียนวิชาช่างยนต์ เราก็น่าจะออกระเบียบ แนวทางการเทียบยกเว้นประสบการณ์ กำหนดวิธีการประเมิน แล้วก็ให้ผ่านในวิชานั้นเลยได้ คิดว่ากลับจากเบลเยียมคงจะไปสานเรื่องนี้ต่อ ถ้าเขายังให้ช่วยงานอยู่

                  พอคุยถึงเรื่องนี้ ก็อดนึกไปถึงบทบาทที่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางวิชาการไม่ได้ บทบาททางด้านวิชาการของผมก็เข้าไปเกี่ยวในเรื่องการเป็นวิทยากร การเขียนบทความ การเป็นอาจารย์พิเศษและการเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานในสถานศึกษา ซึ่งอาศัยประสบการณ์ในการทำงานมากกว่าความรู้จากการเล่าเรียนมาโดยตรง เคยมีคนบอกว่าช่วงแรกเราจะอยากลงมือปฏิบัติงาน แล้วก็อยากเปลี่ยนสู่การบริหารและก็จะเปลี่ยนไปชอบงานวิชาการ

                  การเป็นวิทยากร บรรยายแก่หน่วยงานและบุคคลภายนอก ก็เน้นเรื่องที่ผมได้ลงมือทำเอง มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ ผมจึงจะรับบรรยาย ถ้าอ่านตำราไปบรรยายโดยไม่เคยทำ ผมรู้สึกว่าพูดไม่มัน หาตัวอย่างประกอบที่ชัดๆได้ยาก (เป็นความรู้สึกส่วนตัวของผมเองครับ) เช่น เรื่องเส้นทางสู่โรงพยาบาลคุณภาพ ,5   รากฐานของการพัฒนาคุณภาพ, ศูนย์สุขภาพชุมชนทีมีประสิทธิภาพ, การวางแผนกลยุทธ์, ESB เพื่อการพัฒนาคุณภาพบริการ, กลยุทธ์ 10 ขั้นตอนสู่โรงพยาบาลคุณภาพHA/HPH, การประกันคุณภาพบริการสาธารณสุข, การเชื่อมโยงกิจกรรมคุณภาพสู่มาตรฐานบริการสาธารณสุข, เส้นทางสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ, การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์, การจัดการความรู้, การพัฒนาคุณภาพสำหรับผู้บริหาร, การบริหารภาครัฐแนวใหม่ เป็นต้น

                   ตอนแรกผมก็บรรยายไม่เป็นเลย แต่พอมีคนมาดูงาน เราได้พูดบ่อยๆ รวมทั้งอาจารย์หมออนุวัฒน์ให้ไปนำเสนอในที่ประชุม HA Forum ก็เลยกล้ามากขึ้น ต่อมาอาจารย์หมอวิจารณ์ ได้ให้ไปบรรยาย (น่าจะเรียกว่าเล่าให้ฟัง) เกี่ยวกับการจัดการความรู้ ก็เลยกลายเป็นวิทยากรการจัดการความรู้ไปด้วย ก็ต้องขอบพระคุณอาจารย์หมออนุวัฒน์ ศุภชุติกุลกับอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช ที่ให้โอกาส ทำให้ผมเป็นวิทยากรได้

                     การเขียนบทความ ผมเขียนลงในวารสาร หนังสือพิมพ์และบทความประกอบการบรรยาย เช่นภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง, แก้วิกฤติสังคมไทย แก้ไขภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง, การสร้างเสริมสุขภาพประชาชนเป็นศูนย์กลาง, การจัดการความรู้สู่องค์กรคุณภาพ, ถ้าจะจัดการความรู้ต้องรู้ที่จะจัดการ, การจัดการความรู้แบบบูรณาการ เป็นต้น แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้เขียนแล้ว มัวแต่มาเขียนบันทึกแทน ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องการจัดการความรู้เป็นหนังสือเล่ม เขียนมาได้ครึ่งเรื่องก็หยุดไป สงสัยกว่าจะเขียนเสร็จ เขาอาจจะเลิกทำKMกันแล้ว เคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์สามสีฉบับและลงในวารสารคลินิก แต่ตอนหลังไม่ได้ส่งไปเลย ไม่ค่อยมีเวลาเขียน

                 เรื่องงานวิจัยเป็นสิ่งที่ควรทำมาก แต่ผมก็ทำได้น้อย ด้วยข้ออ้างที่แสนจะคลาสสิกคือไม่มีเวลา น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่มองว่างานวิจัยเป็นเรื่องยาก ขั้นตอนซับซ้อน ยุ่งยาก ตอนเรียนโทกว่าจะจบงานวิจัยกันได้เหนื่อยมาก อาจทำให้เกิดความรู้สึกลึกๆที่ไม่ดีกับงานวิจัย คนทำงานจึงทำงานวิจัยกันน้อย รวมทั้งตัวผมเองด้วย สมัยอยู่แม่พริก ผมเขียนงานวิจัยสองเรื่องคือปัจจัยที่ส่งผลต่อการติดพยาธิใบไม้ตับในเขตพื้นที่บ้านแม่ตั๋ง ตำบลพระบาทวังตวง อำเภอแม่พริก ปี 2540 และเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะทุพโภชนาการในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง ปี 2540 ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้ส่งตีพิมพ์ ใช้ส่งผลงานประกอบการสอบบอร์ดเวชปฏิบัติทั่วไป พอมาอยู่บ้านตาก ทำวิจัยร่วมกับเพื่อนๆที่เรียนนิด้าเรื่อง ศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดตาก ปี 2547 ทำเป็นวิทยานิพนธ์หรือเป็นการศึกษาอิสระตามหลักสูตร ผมกับเพื่อนๆได้ส่งงานวิจัยนี้ให้ทางจังหวัดตากด้วย

                 ผมรู้สึกว่าการทำวิจัยที่ต้องเขียนโครงร่างวิจัย ออกไปเก็บข้อมูลข้างนอกเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องใช้เงิน ใช้เวลา ใช้คนเยอะ ผมก็หันมามองงานประจำที่ทำแล้วมีการบันทึกข้อมูล รวบรวม เรียบเรียง ออกมาเป็นงานวิจัย ตอนหลังได้ทราบจากอาจารย์หมอวิจารณ์ว่าแบบนี้เขาเรียกการพัฒนางานวิจัยจากงานประจำหรือ Routine to Research หรือ R2R เป็นสิ่งที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะทำให้ผู้ปฏิบัติหน้างานสามารถทำงานวิจัยจากงานที่ตนเองทำได้เอง เห็นอะไรน่าสนใจ เห็นปัญหาของงานหรือเห็นความสำเร็จของงานที่ทำ ก็รวบรวมข้อมูล มาวิเคราะห์ ประมวลผล เรียบเรียงตามรูปแบบของงานวิจัย ก็เกิดเป็นงานวิจัยจากงานประจำขึ้นมาได้

                 ผมร่วมกับภรรยาช่วยกันเขียนงานประจำเป็นงานวิจัย 2 เรื่องส่งประกวดในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข คือการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลบ้านตาก : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ กับเรื่องปัจจัยสู่ความสำเร็จของการพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตากเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่นประเภทOral presentationและ Poster presentation &Exhibitionจากการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขครั้งที่ 13 ปี 2548 และ 14 ปี 2549 ขณะนี้กำลังตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสาธารณสุข แต่กว่าจะได้ตีพิมพ์ได้ก็มีการปรับแก้ไขกันหลายรอบ

              อย่างเรื่องแรกพอได้รับเอกสารให้แก้ไขจากสำนักวิชาการสาธารณสุข เห็นแล้วโอ้โฮ แก้ไขบานเบอะเลย ถอดใจไปเลย ไม่แก้ไข รอไป 6 เดือน เอามาอ่านใหม่ ก็เห็นความเป็นจริงและได้เรียนรู้อย่างมากจากทีมบรรณาธิการ ก็ปรับแก้ไปใหม่ พอมาคิดอีกทีการที่เขาอ่านและแนะแนวทางแก้ไขให้นั้น มีคุณค่าอย่างมากในการพัฒนาวิธีการเขียนบทความเชิงวิชาการของเรา เป็นการเรียนจากการปฏิบัติจริงเลย (Learning by Doing) เพราะฉะนั้น เวลาส่งผลงานตีพิมพ์แล้วถูกตีกลับ ถูกปรับแก้ ก็อย่าเสียกำลังใจให้ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเรา

                  ตอนอยู่ที่ สสจ.ตาก ก็ได้ร่วมกับคุณกิตติพัทธ์ เอี่ยมรอด เขียนเรียบเรียงงานวิจัยจากการทำโครงการIOM ในชาวต่างด้าวในจังหวัดตาก เรื่อง ความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคติดต่อที่สำคัญในกลุ่มประชากรต่างด้าวในเขตจังหวัดตากปี 2546-2549 ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสาธารณสุขเขต 12 และได้เขียนงานวิจัยเรื่อง การจัดการความรู้สู่องค์การแห่งการเรียนรู้: โรงพยาบาลบ้านตาก ร่วมกับภรรยา ส่งไปตีพิมพ์ที่วารสารวิชาการสาธารณสุข ก็เพิ่งได้รับเอกสารส่งกลับมาให้แก้ไขก็เรียกว่าแก้ไขค่อนข้างเยอะมาก ผมก็กำลังพยายามแก้ไขอยู่ ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง และมีอีกเรื่องหนึ่งที่เขียนร่วมกับน้อย (วราพร คุ้มอรุณรัตนกุล) งานการพยาบาลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลบ้านตาก เรื่อง ประสิทธิผลการใช้โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพผู้สูงอายุโรงพยาบาลบ้านตาก ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี

                  นอกจากนี้ ผมได้รับเกียรติให้เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย เช่นเป็นอาจารย์พิเศษของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สอนวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ของนิสิตแพทย์ปี 4 กับ เวชศาสตร์ชุมชนของนิสิตแพทย์ปี 5 ของศูนย์แพทย์แพร่ พิจิตร ตาก และได้รับการโหวตจากนิสิตแพทย์เมื่อปี 2548 ให้ได้รับรางวัลครูแพทย์ในดวงใจนิสิต  เป็นอาจารย์พิเศษของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สอนนิสิตปริญญาโทเรื่อง Health care reform เป็นอาจารย์พิเศษของคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรสอนนิสิตรังสีเทคนิคและกายภาพบำบัดที่มาฝึกงานในโรงพยาบาลบ้านตาก เป็นอาจารย์พิเศษของสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชโดยเขียนเอกสารทางวิชาการร่วมกับอาจารย์บุญทิพย์และเป็นที่ปรึกษาร่วมในการทำวิจัยของนิสิตปริญญาโทสาขาพยาบาลศาสตร์ 3 คน รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษของวิทยาลัยชุมชนตากสอนวิชาชีวเคมี ให้โปรแกรมวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์

                    ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาเช่นเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนรอดบำรุง รองประธานสภาวิชาการวิทยาลัยชุมชนตาก กรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนตาก ผู้ทรงคุณวุฒิวิพากษ์หลักสูตรของคณะสหเวชศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพภายนอกของสหเวชศาสตร์ ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งดีๆมากมายจากการทำงานร่วมกับสถานศึกษาเหล่านี้ คิดว่าผมได้รับสิ่งดีๆมากกว่าที่ผมให้ซะอีก

                   เนื่องจากวันนี้เป็นวันมหิดล เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก องค์พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย ผมขอน้อมนำพระราชดำรัสขอพระองค์ท่าน ไว้ในบันทึกนี้ด้วย ดังนี้ครับ

“ฉันไม่ต้องการให้เธอเป็นหมออย่างเดียว แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย”

True success exists not in learning, but in its application to the benefit of mankind

“ความสำเร็จที่แท้จริงมิได้อยู่ที่การเรียนรู้ หากแต่อยู่ที่การนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อคุณประโยชน์แก่มนุษยชาติ”

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52

2000 Antwerp, Belgium

24 กันยายน 2550

22.10 น. ( 03.10 น.เมืองไทย )
หมายเลขบันทึก: 131759เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2007 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท