บ้าน วัด โรงเรียน:ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม..วงจรการพัฒนาคนที่ยั่งยืน


                                หากย้อนรอยเรียงภาพการเปลี่ยนแปลงการบริหารการพัฒนาคน ของการศึกษาไทยเป็นลำดับมา  การเรียนรู้พื้นฐานชีวิตเกิดจากบ้านคือคนในครอบครัว  ในชุมชน ท้องถิ่น  จากวัด คือพระสงฆ์    ๒ กลุ่มนี้เป็นภูมิปัญญาอาชีพ ให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น อ่านออก เขียนได้ สร้างมโนสำนึกความดีงาม จรรยามารยาท พัฒนาการเป็นไปตามวัย  สามารถอยู่ในสังคม และประกอบสัมมาชีพ อย่างเป็นสุขยั่งยืน  สืบทอดยาวนาน การศึกษายุคนั้นจึงสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน    การเปลี่ยนแปลงการศึกษาเป็นไปตามยุคสมัย       โลกที่มองว่ากว้างใหญ่ การติดต่อสัมพันธภาพระหว่างเชื้อชาติ   ศาสนา  ที่ว่าเกิดขึ้นยากระหว่างกันของนานาประเทศ อันเนื่องการสื่อสารด้านภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่าง  กลายเป็นฟ้ามิอาจกั้น.. ระบบโรงเรียนจึงเกิดขึ้นตามแนวทฤษฎีการบริหารการศึกษาแบบตะวันตก   โรงเรียนกลายเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาให้กับชุมชนแทนวัด และบ้าน   วัด - บ้านกลายเป็นสถาบันการเรียนรู้ที่ทำหน้าที่แตกต่างจากที่เคยเป็น

                                การแบ่งบทบาทหน้าที่ทางสังคมของ    สถาบันหลัก ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงนวัตกรรมชีวิตคนไทยเปลี่ยนไป  สัมพันธภาพระหว่างบ้าน  วัด  โรงเรียน กลายเป็นโลกที่กว้างใหญ่  การเกื้อกูล  เอื้ออาทรระหว่างกันดูเหมือนจะขาดหาย เกิดวิกฤติชีวิตของคนในสังคม      เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เลวร้าย... นักบริหารการศึกษา และนักวิชาการการศึกษาไทย ต่างรวมตัวกันเพื่อสร้างกรอบคิดใหม่ในการจัดการศึกษา คือ การให้ชุมชน ท้องถิ่น และทุกส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยถือว่า โรงเรียนเป็นหน่วยงานหนึ่งของสังคม  สร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม   สร้างวงจรการบริหารการพัฒนาคน ให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยมีความเชื่อว่า บ้านและวัด เป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญเช่นเดียวกับโรงเรียนที่มุ่งพัฒนาคน  การพัฒนาคนของบ้านกับวัดนั้น เน้นการปฏิบัติในเรื่อง  ความเป็นคนไทย   คุณธรรมนำความรู้   เสริมจากที่โรงเรียนสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ในภาคทฤษฎี  แต่ใช่ว่าโรงเรียนจะยกภาระทั้งหลายให้กับบ้านและวัด เสียทั้งหมด  โรงเรียนยังคงเป็นหลัก เพราะกระบวนการการพัฒนาคนอย่างมีรูปแบบอยู่ที่โรงเรียนเป็นสำคัญ   แนวคิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนดังกล่าวข้างต้น จะปรากฏที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ ( พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔)  เป็นต้น

                                การมีส่วนร่วมในการพัฒนา....นักการศึกษา  นักวิจัย ทั้งหลาย ค้นพบ แนวคิด ทฤษฎีและหลักการที่เกี่ยวข้องไว้จำนวนมาก เป็นที่เชื่อได้ว่า  การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของความสำเร็จในการนำองค์การไปสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best  Practice) ดังเช่น  น.พ.ประเวศ วะสี  ชี้ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ให้คุณค่าแก่ชีวิตจะต้องนำเสาหลัก    ประการของสังคมไว้ทั้งหมด  ได้แก่ ๑) จิตใจที่มีธรรมะ  ๒) แบบแผนทางความคิด  ๓) ความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ๔) การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ  และ ๕) ชีวิตชุมชน(ความเป็นชุมชน)   ทั้ง ๕ ประการนี้จะต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน ต้องเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบโดยไม่ให้เกิดผลเสียกับด้านใดด้านหนึ่ง เป็นการพัฒนาแบบองค์รวม ที่เน้น๑) พัฒนาคนเพื่อให้คนสามารถกำหนด การดำเนินการพัฒนาตนเอง ครอบครัว  ชุมชน และประเทศชาติ  ๒) พัฒนาในทุกเรื่องพร้อมกันไปทั้งคน สังคมและสิ่งแวดล้อม   ๓) มีกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องร่วมกันทั้งในชุมชนและระหว่างชุมชน  ๔) ภาคีการพัฒนาต่างๆ ทุกระดับมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการพัฒนาชุมชน และ ๕) มีวิธีคิดและสำนึกว่าการพัฒนาของชุมชนมีความหลากหลาย มีพลวัตและมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นสมดุลพอดีกับธรรมชาติ   การมีส่วนร่วมในการพัฒนาคน ของ ๓ สถาบันหลัก คือ บ้าน  วัด โรงเรียน นั้น  ในที่นี้จะใช้คำว่า  ชุมชน แทนบ้าน และวัด    การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนเป็นฐานของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโรงเรียนและชุมชนที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะ ๑) โรงเรียนเป็นแหล่งคัดเลือกคนให้ชุมชน  ๒) โรงเรียนเป็นแหล่งพัฒนาคนให้ชุมชน ๓) โรงเรียนเป็นแหล่งรวมวิชาสาขาต่างๆ ๔) โรงเรียนเป็นแหล่งถ่ายทอดวัฒนธรรม  ๕) โรงเรียนเป็นศูนย์รวมของชุมชน  ๖) โรงเรียนชุมชนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน จึงเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนเป็นพลวัตสังคมที่ไม่มีวันเสื่อมสลาย
                                การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมเป็นองค์ความรู้ที่มีอยู่ในสังคม เพียงแต่เราหยิบใช้เมื่อไหร่ก็ได้  ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอาจทำให้เราละที่จะนำมาปฏิบัติ  แม้ว่าเวลาจะผ่านไปยาวนานเท่าใด ทฤษฎีนี้ก็ยังมีคุณค่าสำหรับผู้นำมาใช้ ...  บ้าน   วัด   โรงเรียน    สถาบันหลักในสังคมจะยังคงมีส่วนร่วมสูงสุด (Maximum Participation) ในการพัฒนาคนต่อไป  ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดที่จะทำให้ ๓ สถาบันหลักนี้ต้องล่มสลายเช่นกองทรายบนชายหาด หากแต่เป็นประดุจดังสำนึกรักแผ่นดินเกิดของคนไทย.

หมายเลขบันทึก: 131651เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2007 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
หาก บ้าน วัด โรงเรียน ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ข่าวไม่ดีต่างๆของเยาวชน คงไม่เกิดและเลวร้ายขึ้นทุกวัน

บทความข้างต้น

ดีมากเลยครับ

ไม่ทราบว่า

มีแหล่งที่มาไหมครับ

บ้านวักโรงเรียนมีส่วนสำคัญมากค่ะต้องพัฒนาที่เยาวชนคนรุ่นใหม่โดยการปลูกฝั่งเรื่องนี้ลงไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท