ทำไมต้องปฏิรูปกฏหมาย


ปฏิรูปพระราชบัญญัติการประมง ๒๔๙๐
ที่มาที่ไป
           สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและทะเล มีความเห็นร่วมกันว่า พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในเขตชายฝั่ง และการดูแลรักษาทะเล ไม่สามารถดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายของการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืน จึงได้ริเริ่มให้มีการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทะเล การประมวลประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติขององค์กรชุมชน และปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมายเพื่อนำข้อความรู้มาสังเคราะห์เป็นร่างพระราชบัญญัติการประมง ที่เกื้อหนุนกับจัดการทะเลอย่างยั่งยืน
           การศึกษากฎหมายและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทะเล ดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๔๒ - มกราคม ๒๕๔๓ จากนั้นได้จัดการสัมมนาในระดับชุมชนและเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านใน ๑๓ จังหวัดภาคใต้ รวม ๑๔ ครั้ง เพื่อประมวลประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติขององค์กรชุมชน ปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมาย และจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายประมงจากองค์ความรู้ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งคลอบคลุมพื้นที่ ๓ ทะเลของภาคใต้ประกอบด้วยทะเลด้านอ่าวไทย ทะเลสาบสงขลา ทะเลอันดามัน ตลอดจนพื้นที่อ่าวและคลองที่เชื่อมต่อกับทะเล เช่น อ่าวปัตตานี อ่าวพังงา คลองปะเหลียน เป็นต้นในช่วงปี ๒๕๔๓ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนทะเล และนักวิชาการได้ร่วมกันจัดสัมมนาสังเคราะห์ข้อสรุปจากงานศึกษาและการสัมมนาทั้ง ๑๔ ครั้ง และจัดทำเป็นเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติการประมงฉบับประชาชน กล่าวได้ว่า ร่างเนื้อหาพระราชบัญญัติการประมงฉบับชาวประมงพื้นบ้าน จัดทำขึ้นจากประสบการณ์ตรงของคนทะเล ผู้ซึ่งมองปัญหาและเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาด้วยสำนึกของการปกป้องมาตุภูมิ
ทำไมต้องปฎิรูปพระราชบัญญัติการประมง ๒๔๙๐
         ปัญหาสำคัญของทะเลไทยและชาวประมงพื้นบ้านคือ การลดลงอย่างรวดเร็วของสัตว์น้ำ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง และเครื่องมือประมงพื้นบ้านถูกทำลายโดยเรือประมงซึ่งใช้เครื่องมือผิดกฎหมายเข้าไปทำการประมงในเขตหวงห้าม ปัญหาทั้ง ๓ มีอาการของปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่หรือจังหวัด เช่น อวนรุนที่ปัตตานีเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายสัตว์น้ำและเครื่องมือทำการประมง นครศรีธรรมราชกับสุราษฎร์ธานีมีทั้งอวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟจับปลากระตักและน้ำเสียจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง สงขลานอกจากเครื่องมือการประมงเช่น อวนรุน เรือปั่นไฟปลากะตัก ชาวประมงพื้นบ้านยังเผชิญกับปัญหาการสร้างเขื่อนทะเลสาบสงขลา การพัฒนาอุตสาหกรรมและเมืองซึ่งปล่อยน้ำเสียลงทะเลสาบ
          จังหวัดชายฝั่งอันดามันมีการทำลายป่าชายเลนเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง การสัมปทานทำถ่าน การทำประมงผิดกฎหมายเช่น อวนรุน อวนลาก ระเบิดปลา เมื่อคลื่นลมสงบกองเรือปั่นไฟปลากระตักเดินทางจากฝั่งอ่าวไทยเข้าร่วมกวาดจับสัตว์น้ำ และปัญหาได้รุกคืบไปสู่การประมงผิดกฎหมายในคลองและแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับทะเลปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานานโดยทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ เป็นต้นมา การแก้ไขปัญหาสามารถดำเนินการได้ในระดับการแก้ไขเฉพาะพื้นที่และเป็นการชั่วคราว เนื่องจากกระบวนการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่กำหนดไว้โดย พ.ร.บ.การประมง ๒๔๙๐ ซึ่งบัญญัติให้ฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำเป็นเจ้าของปัญหาและ เป็นผู้มีอำนาจอย่างเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้จังหวัดที่บังเอิญได้พนักงานเจ้าหน้าที่ดี กฎหมายก็ถูกเลือกใช้ไปในทางที่ดี

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13149เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท