Proceedings มหกรรมจัดการความรู้ ครั้งที่ ๒ (๑๔)


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้ ครั้งที่ ๒ (๑๔)

การจัดการความรู้ของโรงพยาบาลบ้านตาก  จ.ตาก (๑)
ผู้ดำเนินรายการ  คุณไพฑูรย์  ช่วงฉ่ำ
ผู้อภิปราย  คุณเกศราภรณ์  ภักดีวงศ์
   คุณสุภาภรณ์ บัญญัติ
   คุณเกษร  คล้ายคลึง
   คุณทิภาภรณ์  โมราราช
วัน/เวลา   วันพฤหัสบดีที่  1  ธันวาคม  2548  เวลา  13.00-14.30  น.

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
โรงพยาบาลบ้านตากเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่างสิบเจ็ดโรงพยาบาล ได้รับการสนับสนุนจาก สคส. โดยมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศูนย์กลาง ในการนำเสนอครั้งนี้มีวิทยากรอยู่ 4 ท่าน ดังนี้
1.  คุณเกศราภรณ์  ภักดีวงศ์ เป็น “คุณเอื้อ” ที่หมุนเกลียวความรู้ในโรงพยาบาล
2.  คุณสุภาภรณ์  บัญญัติ    เป็น “คุณอำนวย” ในส่วนของการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในโรงพยาบาล
3.  คุณเกษร  คล้ายคลึง เป็น “คุณกิจ” ในส่วนของชุมชน
4.  คุณทิภาภรณ์  โมราราช เป็น “คุณกิจ” ในส่วนของการปฏิบัติกิจกรรมการจัดการความรู้ขยะมูลฝอยในโรงพยาบาล
ต่อไปนี้ของเชิญคุณเกศราภรณ์  ภักดีวงศ์ มาเล่าเรื่องการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลบ้านตาก

คุณเกศราภรณ์   ภักดีวงศ์ :
โรงพยาบาลบ้านตาก  อยู่ในเขตอำเภอบ้านตาก  เป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง  สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีบุคลากร 155 คน ตัวดิฉันเองเป็นหนึ่งในคุณเอื้อจากทั้งหมด 16 ชีวิต ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการจัดการความรู้ในโรงพยาบาล โดยเริ่มจาก สคส. ได้ไปร่วมจัดการความรู้กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งตอนนั้นโรงพยาบาลบ้านตากได้ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาล (hospital accreditation: HA) แล้ว และได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจากการพูดคุยร่วมกันในโรงพยาบาล  จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ  โดยบรรยากาศแรกๆ ทาง สคส.ได้ให้แต่ละโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการเตรียมโครงการเข้าไป 3 โครงการ ซึ่งพบว่าได้มีปัญหาในด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะ  แต่ละโรงพยาบาลจะเตรียมกันไปคนละเรื่อง จึงต้องตกลงกันใหม่ว่าในเขตภาคเหนือตอนล่างเราจะทำอะไรกัน    จึงได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าเราจะพัฒนาการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาในเรื่องฐานความรู้ขององค์กร
ดังนั้น เมื่อได้เป้าหมายการพัฒนาแล้ว คุณเอื้อทั้ง 16 ชีวิตจึงมาคุยกันว่า สิ่งที่เราเคยทำกันไว้แล้ว เช่น HA หรือ 5 ส. ถ้าจะทำการจัดการความรู้อีกโครงการหนึ่ง จะทำอย่างไรให้ง่าย ให้คนของเราไม่บ่น ซึ่งก็จะต้องมี KV โดยโรงพยาบาลมี KV ดังนี้
1. ประชาชนในอำเภอบ้านตากต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี
2. เจ้าหน้าที่ที่ทำการจัดการความรู้จะต้องไม่ทุกข์ ต้องมีความสุขในการทำ
3. องค์กรต้องอยู่รอด ถ้าในโอกาสต่อไปทางประชาชนสามารถมีสิทธิเลือกสถานบริการตามโครงการ 30 บาทอย่างเสรี องค์กรเราจะต้องอยู่รอด  เพราะถ้าประชาชนไม่เลือกเรา ก็จะกระทบกับการจ้างงาน ดังนั้น โรงพยาบาลต้องพัฒนาให้ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่าที่อื่น
4. ในปี พ.ศ.2549 โรงพยาบาลบ้านตากประกาศชัดว่าจะใช้หลัก “สร้างนำซ่อม” เข้ามาใช้ในการจัดการความรู้
คุณเอื้อโรงพยาบาลบ้านตาก ต้องจัดการความรู้ ซึ่งมี 5 ขั้นตอน (LKASA) คือ
1. การจัดการให้เกิดการเรียนรู้  (learning)
2. การจัดการให้เกิดองค์ความรู้  (knowledge)
3. การจัดการให้เกิดการใช้ความรู้ (knowledge acting)
4. การจัดการให้เกิดการแบ่งปันความรู้  (knowledge sharing)
5. การจัดการให้เกิดการจัดเก็บความรู้  (knowledge asset)
วิธีการเรียนรู้ของโรงพยาบาลบ้านตากมี 4 วิธี คือ
1. การศึกษาดูงาน (learning by seeing) จากโรงพยาบาลที่ทำมาก่อนและใกล้จะประเมินคุณภาพ เพื่อดูว่าเขาทำอย่างไร เห็นความเป็นรูปธรรมของการปฏิบัติชัดเจน แต่ต้องดูสิ่งที่เขาคิดด้วยอย่าดูแต่สิ่งที่ เขาทำ
2. การฝึกอบรม (learning by training) การส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะได้ทราบทั้งแนวคิดและตัวอย่างการปฏิบัติ แต่จะมีปัญหาคือเวลาส่งไปอบรมหลายคนแล้วเอาแนวคิดความเข้าใจมาไม่เท่ากันพอมาถึงโรงพยาบาลก็มักเชื่อมกันไม่ติด  ที่สำคัญอย่ายึดติดทฤษฎีหรือสิ่งที่ครูสอนมากเกินไป  ฟังแต่ไม่ทำทั้งหมด เราจะใช้ข้อนี้น้อย เพราะโรงพยาบาลไม่มีเงินพอที่จะส่งคนไปฝึกอบรม
3. การอ่าน (learning by reading) ซึ่งข้อนี้ค่อนข้างถูก เราจะมอบหมายให้คนไปอ่านในเรื่องที่สนใจ แล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง เรียนรู้ร่วมกัน เราใช้ข้อนี้มากเพราะเหมาะสมกับบริบทของเรา ปี 2546 มีนวัตกรรมเกิดขึ้น 30-40 เรื่อง แม้กระทั่งคนงานก็มีนวัตกรรมได้เอง
4. การทำ (learning by doing) มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันร่วมกับการปฏิบัติงานประจำตามปกติ ในอดีตตั้งแต่ปี 2539 เราได้ไปศึกษาดูงาน หรือได้รับการฝึกอบรมต่าง ๆ แต่สิ่งที่ได้มาบางครั้งไม่เหมาะสมกับโรงพยาบาล จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง
เรามีตัวแบบบ้านคุณภาพสร้างสุข ดังนี้


มีตั้งทีมพัฒนาการจัดการความรู้ โดยใช้ทีมงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเดิม ซึ่งมี 3 คณะ คือ
1. คณะกรรมการอำนวยการพัฒนาคุณภาพ (นำฝัน) เป็น “คุณเอื้อ”
2. คณะกรรมการประสานงานและสนับสนุน (ทอฝัน) เป็น “คุณอำนวย” มีทั้งหมด 9 คน
3. คณะกรรมการดำเนินการพัฒนาคุณภาพ (สานฝัน) จะเป็น “คุณกิจ”


หลักการ คือ ลูกค้าคือประชาชน เราจะทำการจัดการความรู้อย่างไรให้เขาถูกใจ ประทับใจ ให้เขาเลือกเราไม่เลือกโรงพยาบาลอื่น นี่คือ สิ่งที่เรามุ่งหวังในการจัดการความรู้ เราจะต้องสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ คือ
1. การมีส่วนร่วม (participation) ในงานที่รับผิดชอบ ซึ่งต้องเอื้อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เช่น ในการประชุมโรงพยาบาล ใครอยากจะเข้ามาฟังก็ได้ ไม่อยากฟังก็ได้
2.  การสร้างพลัง (empowerment)   จะเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเอง คิดเอง
3.  การเปิดใจ (open mind)  เปิดใจให้กว้าง  ให้โอกาสได้เสนอความคิดเห็นโดยไม่ถูกขัดขวางหรือโจมตีแม้ว่าจะดูไร้สาระก็ตามเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนรู้จักคิด กล้าเสนอความคิดเห็น เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้
คลังความรู้ของโรงพยาบาลบ้านตาก มี 7 ประเภท คือ quality manual, quality procedure, work instruction, quality plan, supportive document, temporary document และเก็บเรื่องเล่า ซึ่งไม่ขอลงในรายละเอียด เราจะเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นวัฒนธรรมของเรา
ประเภทขุมทรัพย์ความรู้ มี 3 ประเภท คือ นวัตกรรมเชิงระบบประเภทบริการ นวัตกรรมเชิงระบบประเภทบริหาร และนวัตกรรมเชิงสิ่งประดิษฐ์
ในการจัดการความรู้ในองค์กร จะมีทีมเข้าไปประเมินคลังความรู้ การทำงาน และคุณภาพงานใน งาน/แผนกของเขา นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดการความรู้นอกองค์กร โดยไปทำกันที่เชียงใหม่ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการส่งผ่านความรู้ไปยังโรงพยาบาลอื่นในจังหวัด ในปี 2548 มีคณะศึกษาดูงาน จำนวน 67 คณะ ซึ่งตอนแรกเราให้เขามาเอาความรู้จากเราไป แต่ตอนหลังเราได้ให้เขามาแลก เปลี่ยนกับเรา ซึ่งเราจะได้ความรู้จากเขามาก
ในเรื่องการจัดการความรู้ในชุมชน มีแนวคิดจะใช้เตียงชาวบ้านเป็นเตียงโรงพยาบาล ใช้แนวคิด “สร้างนำซ่อม” โดยมีการจัดการความรู้เรื่อง “โรคเบาหวาน” กับผู้ป่วยเบาหวานที่ศูนย์สุขภาพชุมชน โดยในขณะที่เขารอก็ให้เขาทำการจัดการความรู้ ให้ผู้ป่วยมาคุยกัน ซึ่งมีการตรวจน้ำตาลในเลือดก่อนทำการจัดการความรู้ ซึ่งหลังจากที่ทำการจัดการความรู้ไปหลายๆ ครั้ง ปรากฏว่าผู้ป่วยมีน้ำตาลในเลือดลดลง

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
เห็นหรือยังว่าได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายร่วมกัน เครื่องมือทุกอย่างได้นำมาหล่อหลอมรวมกัน เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เจ้าหน้าที่ที่ทำต้องมีความสุขในการทำ องค์กรต้องอยู่รอด มีการสร้างและแบ่งปันความรู้ สร้างวัฒนธรรม ซึ่งก่อให้เกิดการจัดการความรู้ในองค์กร ต่อไปนี้จะเป็นบทบาทของคุณอำนวย ขอเชิญคุณสุภาภรณ์ บัญญัติ

คุณสุภาภรณ์   บัญญัติ : 
ในบทบาทหน้าที่ของคุณอำนวย ก็จะมีในเรื่องของการกระตุ้นให้เกิด
1.  learn กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ อยากเรียน ใฝ่รู้ร่วมกัน
2.  care กระตุ้นให้เกิดการดูแลซึ่งกันและกัน
3.  share กระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันความรู้ให้แก่กัน
4.  shine กระตุ้นให้เกิดความภูมิใจ ให้การยกย่องเชิดชูกัน
โดยมีเทคนิคสำคัญที่ใช้ คือ
1.  active learning การเรียนรู้โดยการปฏิบัติ ซึ่งสำคัญมาก ทำแล้วให้พูดคุยกัน
2.  benchmarking มีการเปรียบเทียบผลงานทีทำกับมาตรฐาน
3.  coaching การสอนงาน
4.  mentoring การเป็นพี่เลี้ยง
5.  portfolio แฟ้มงานเพื่อการพัฒนา โดยดึงคนที่รู้มาก ๆ มาหาเรา ดึงคนที่อยู่ข้างนอกมาหาเรา นำคนแต่ละระดับมาคุยกัน เช่น ผู้อำนวยการกับคนงานมานั่งคุยกัน เป็นต้น
เราจะเรียนรู้จากการศึกษาดูงาน เราใช้ “เรียนรู้” ไม่ใช่ “เลียนรู้” เพราะบางครั้งของคนอื่นก็ไม่เหมาะสมกับเรา   ส่วนการฝึกอบรม จะเน้นการใช้วิทยากรภายใน   การอ่านก็เป็นสิ่งสำคัญ  และจะต้องมีการคิดอย่างสร้างสรรค์ ถ้าเรียนรู้แล้วปรับใช้ไม่ได้ก็คงไม่เกิดอะไรขึ้น
สร้างบรรยากาศให้คนทำงานมีความสุข มีความสนุกกับงานที่ทำ โดยใช้ระบบของเราที่มีอยู่ เช่น  บอร์ด  เสียงตามสาย  แผ่นพับ  ระบบสารสนเทศ web page ในระบบ intranet   ของโรงพยาบาล เป็นต้น
มีการประชุมการช่วยเหลือทีม เราจะมีคุณอำนวยพี่เลี้ยง เพื่อดูว่ามีประเด็นอะไรที่เราจะเข้าไปขุดคุ้ยความรู้ได้บ้าง เราจัดเวทีเชื่อมสายสัมพันธ์ เช่น วอล์คแรลลี่ เป็นต้น
ใส่หลักคิดง่ายๆ คือ สิ่งที่จะทำนั้นต้องไม่แปลกแยกจากงานประจำ ดังนั้น ต้องให้เขาคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้งานประจำมีประสิทธิภาพ   ให้ขยันทบทวนและเชื่อมโยงเป้าหมายของโรงพยาบาล
ในส่วนของการทำให้เกิดการใช้ความรู้นั้น  จะต้องเริ่มจากการค้นหาปัญหา  ทบทวนความเสี่ยงในงาน/กลุ่มงานว่าปัญหามีอะไร เกิดอะไร เกิดได้อย่างไร จะทำอย่างไร จัดการแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อได้แก้ ปัญหาแล้ว ความรู้ที่ได้นั้นได้รับการรับรองหรือไม่ว่ามีคุณภาพ ถ้าได้รับรองก็จะจัดทำเป็นเอกสาร ถ้าไม่ดีก็จะให้นำไปทบทวนใหม่
ต้องมีการเปิดใจให้กว้าง รับฟังซึ่งกันและกัน โดยวัฒนธรรมการเรียนรู้จะไม่เกิด   ถ้าเราไปปิดกั้นความคิดว่าอย่างนั้นไม่ถูก อย่างนั้นไม่ดี นอกจากนั้นต้องจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วย จัดเวที จัดเทคนิคแปลกๆ มาให้เรียนรู้ เช่น เสียงตามสาย สัมมนา เป็นต้น และต้องมีการเปรียบเทียบกันด้วย
เรามีรายการรับฟังข้อคิดเห็นระหว่างชุมชน เช่น ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เราจะมีบุคคลที่จะเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้
มีการจัดทำมาตรฐานเปรียบเทียบ โดยคุณอำนวยต้องเอาผลงานมาเปรียบเทียบ เพื่อให้องค์กรมีการขยับเขยื้อนอยู่ตลอดเวลา เช่น เทียบกับโรงพยาบาลใกล้เคียงในจังหวัดและต่างจังหวัด เป็นต้น นอกจากนั้น ต้องรู้จักประเมินผลการจัดการความรู้ในองค์กร ซึ่งเราได้ใช้ตัวชี้วัด 4 มิติใน balance score card (BSC) เข้ามาจับ

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
ลองสะท้อนความคิดว่า ในองค์กรของท่านมีนกเหยี่ยวหรือปล่า ใครเป็นนกกระจิบ นกกระจอก ใครเป็นนกคุ้ม เทคนิคนั้นสำคัญที่คุณอำนวย บทบาทของคุณอำนวย คือ กระตุ้นให้เกิด learn care share shine ช่วยเชื่อมสานฝันสู่การปฏิบัติ
 ในบทบาทคุณกิจ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคที่ผู้ป่วยบางท่านท้อแท้ คือ เบาหวาน ลองดูว่าคุณกิจเขาไปทำการจัดการความรู้อย่างไร

คุณเกษร   คล้ายคลึง : 
จากปี 2547 เรารับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลมา  52 คน  และในปี 2548  มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 88 คน ซึ่งคิดว่านี่น่าจะเป็นปัญหา เพราะจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จึงได้จัดทำโครงการดูแลพัฒนาสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยเริ่มทำเมื่อ 19 สิงหาคม 2548 มีผู้ป่วยเข้าร่วม 22 คน จากทั้งหมด 88 คน  เริ่มจากการเจาะเลือด ให้แพทย์ตรวจ รับยา แล้วแยกห้องไปอยู่ชั้นบนในห้องประชุม แจกอาหารเพื่อให้ผู้ป่วยกินร่วมกัน ในลักษณะคุยกันไป กินกันไป แล้วเราจะชวนคุยในเรื่องของสุขภาพ โดยตั้งประเด็นคำถาม  เช่น  รู้ไหมว่ากินแป้งหรือน้ำตาลเข้าไปแล้ว จะไปอยู่ส่วนไหนของร่างกาย  และทำให้เกิดผลอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยก็จะตอบออกมา และเมื่อพูดไปเรื่อยๆก็จะมีคำถามจากผู้ป่วยขึ้นมา เช่น เบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งผู้ป่วยก็จะช่วยกันตอบ เช่น เกิดจากกรรมพันธุ์ เป็นต้น หลังจากนั้นเราก็จะสรุป แนะนำ และเสริมรายละเอียดต่างๆ ลงไปให้เขาเข้าใจ
พอคุยกันเสร็จแล้ว จะให้เขาคัดเลือกประธานกลุ่ม โดยมีหลักเกณฑ์ คือ ให้เลือกจากคนที่มีน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 และมีสุขภาพดี หลังจากนั้นจะเป็นการออกกำลังกาย โดยมีตัวแทนชมรมในหมู่บ้านนำออกกำลังกาย ก่อนกลับบ้าน   จะให้ผู้ป่วยได้ร่วมสัญญากันว่าตรวจครั้งหน้าขอให้น้ำตาลไม่เกิน 100
เมื่อผู้ป่วยกลับไปแล้ว เราก็มานั่งคุยกันว่าเดือนต่อไปเราจะนัดคนไข้ในหมู่บ้าน ต่อไปจะให้เขาเจาะเลือดกันเอง  ถ้าเขาดูแลตัวเองได้ งานของเราก็จะลดลง  กลุ่มเสี่ยงก็จะน้อยลง  ซึ่งหลังจากทำการจัดการความรู้ได้เดือนเศษ ก็มาสรุปผล ปรากฏว่าในผู้ป่วย 88 คน คุมน้ำตาลได้ 51 คน สรุป คือ ผลจากการทำการจัดการความรู้ ผู้ป่วยมีน้ำตาลในเลือดลงลง ดังนั้น คนไข้รายใหม่น่าจะลดลง และโรคแทรกในผู้ป่วยเบาหวานน่าจะลดลง

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
นกคุ้มดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ปัญหาเดิมคือ ผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตาม ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้โดยขบวนการจัดการความรู้ โดยการที่เจ้าหน้าที่ต้องทราบ และสร้างความสัมพันธ์  เป็นกันเองกับผู้ป่วย ใช้คำถามกระตุ้น  เราต้องให้เขาสะท้อนความคิด หลังจากนั้น นกคุ้มจะเอาผู้ป่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งในสภาพปัญหาคล้ายกัน การเข้าใจ การเห็นอกเห็นใจกันก็จะเกิดขึ้น
เราลองมาฟังนกคุ้มที่ 2 ที่จะมาเล่าการจัดการความรู้ในการดูแลกำจัดขยะที่เป็นปัญหาในโรงพยาบาล ให้ฟัง

คุณทิภาภรณ์   โมราราช : 
วันนี้มาเล่าเรื่องเกี่ยวกับหน่วยกำจัดขยะ ในเรื่องขยะติดเชื้อ ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าสิ่งที่โรงพยาบาลให้หน่วยของเราตอบสนองมีอะไรบ้าง โดยเราต้องมานั่งคุยกันว่า โรงพยาบาลต้องการอะไรจากเราบ้าง โดยดูที่วิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรา เมื่อได้แล้วก็ดูที่เป้าหมายที่โรงพยาบาลที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งหน่วยเราจะสอดคล้องกับเป้าหมายข้อที่ 6 ที่ว่า “มีสิ่งแวดล้อมในชุมชนและโรงพยาบาลที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี” ซึ่งเป้าหมายนี้ทางโรงพยาบาลก็มีกลยุทธ์อยู่แล้ว คือ “การจัดการให้ดีและปลอดภัย” ซึ่งเราก็มีแผนด้านสุขาภิบาลอยู่แล้ว ดังนั้น เราก็ใช้ตัวนี้มาพัฒนา
เรามองว่าสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลต้องมีคุณภาพ หน่วยกำจัดขยะของเราก็ต้องพยายามที่จะทำตรงนี้ เราก็เลยตั้งเป้าหมายว่า จะกำจัดขยะอย่างมีคุณภาพ ไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
หลังจากนั้น เราก็ถอดบทเรียนของหน่วยกำจัดขยะ ดังนี้
เรามุ่งประเด็นไปที่ขยะติดเชื้อว่าจะจัดการอย่างไร โดยร่วมคิดร่วมทำกันทุกคนในหน่วยของเราตั้งแต่หัวหน้างานไปจนถึงลูกจ้าง ซึ่งเราคิดว่าเรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้อง คือ จุดกำเนิดของขยะต้องแยกขยะให้เรา เราจึงเชิญทีมบริหารสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลมาคุยด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะกำจัดขยะได้ทั้งหมดทั้งโรงพยาบาล โดยเริ่มคุยประเด็นว่า ปัจจุบันสภาพปัญหาของเรามีอะไรบ้าง ความเสี่ยงคืออะไร ซึ่งเราพบว่าปัญหานี้มีผู้เกี่ยวข้องอีก คือ ทีมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วจะเป็น 3 ภาคี เราก็มานั่งคุยกันทั้งหมด ได้ข้อสรุปว่า ปัญหาของเรา คือ การเผาขยะติดเชื้อที่มีกลิ่น และควันดำ ซึ่งเตาเผาจะอยู่ใกล้หอผู้ป่วย เมื่อเวลาเผาบางวันควันก็ลอยขึ้นข้างบน บางวันก็เข้าไปในหอผู้ป่วย ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ทำงานและผู้ป่วย เราจึงมานั่งคิดกันทั้ง 3 ภาคีว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
ขั้นแรก เราถามเขาก่อนว่า ทำไมเผาขยะจึงมีกลิ่นและควันดำ เขาตอบว่า เพราะขยะมีมากและใส่ปนกันไปหมด เช่น น้ำ พลาสติก ทำให้เผาไม่สมบูรณ์ เกิดควันและกลิ่น
ขั้นที่สอง เราถามอีกว่า แล้วทำไมมันถึงปนกันอย่างนี้ เขาตอบว่า เราไม่มีการแยกขยะที่ชัดเจน ซึ่งเราก็คิดว่านี่คือ รากของปัญหา เราก็เลยสรุปว่า ปัญหาของเรา คือ ปัญหาการไม่ได้แยกขยะให้เป็นสัดส่วน และหน่วยงานต้นกำเนิดของขยะก็ไม่ทราบว่าจะต้องแยกอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาแก้ 2 อย่าง คือ จะทำอย่างไรถึงจะแยกขยะ ซึ่งแต่เดิมเราก็มีการแยกขยะติดเชื้ออยู่แล้วคือ เป็นขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ ขยะอันตราย ขยะที่นำมาใช้ใหม่ รอบๆ อาคารเราก็มีถังขยะเปียกและแห้ง แต่มีปัญหาที่ขยะติดเชื้อที่เราไม่ได้แยก ถ้าเราแยกแล้วเราจะไปทำอะไรต่อ เราบอกไม่ได้    ดังนั้น อย่างที่สอง เราก็เลยหาหน่วยที่จะเรียนรู้การแก้ไขปัญหาจากข้างนอก โดยติดต่อขอไปดูงานในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่าเรา หลังจากดูงานเราก็มาคุยกันต่อว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะมีคุณภาพ จึงได้สร้างตัวชี้วัดเพื่อวัดความสำเร็จของงาน ในเรื่องของข้อร้อง เรียนของผู้รับบริการเรื่องขยะ และอัตราการทิ้งขยะที่ถูกประเภททั้ง 6 ประเภท โดยจะมีคนตรวจสอบว่ามีการทิ้งขยะได้ถูกต้องตามถังหรือไม่
หลังจากนั้นได้ถอดบทเรียนเป็นคลังความรู้ ได้ความรู้เรื่องขยะติดเชื้อว่าจะแยกอย่างไร แยกแล้วจะไปทำอะไร  โดยได้แยกขยะติดเชื้อออกเป็น  ขยะเผาง่าย  เช่น สำลี, ขยะเผายากปานกลาง เช่น เศษเนื้อ เข็ม และขยะเผายาก เช่น ถุงมือ สายยาง เป็นต้น เรามีถังขยะ 3 ถังตามความยากง่ายของการเผา มีรูปและข้อความเพื่อสื่อถึงขยะที่จะทิ้งลงถังติดไว้ที่ข้างถังขยะ นอกจากนั้นเราได้ความรู้เรื่องเส้นทางเดินขยะว่าไม่ควร วกไปวกมา ต้องเป็นทางเดียว (one-way) และรถขยะเราก็มีฝาปิดที่มิดชิด
ประเด็นการเรียนรู้ คือ การแยกขยะและการเผา เวลาเผาเราก็จะเรียงขยะที่เผาง่ายอยู่ใกล้หัวเผา ซึ่งจะทำให้ขยะอื่นแห้งและเผาง่ายขึ้น และจะเผาตอนช่วงบ่าย เพราะอากาศโปร่ง เผาแล้วไม่กระทบกับผู้ป่วยมาก  เราทำได้ 2-3 ปีแล้ว ตอนนี้ข้อร้องเรียนไม่มี แต่ยังการทิ้งขยะยังไม่ถูกต้องอีกร้อยละ 1 ซึ่งเป็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ยังทิ้งขยะผิดที่อยู่
ตอนนี้เราขยายผลไปที่สถานีอนามัย มีการส่งขยะติดเชื้อมาเผาที่เรา กรณีที่ผู้ป่วยฉีดยาเอง เช่น ฉีดยาเบาหวาน เราก็จะให้ผู้ป่วยเอามาทิ้งที่สถานีอนามัย แล้วสถานีอนามัยก็ส่งมาเผาที่เรา

มีต่อ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13147เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อ่านแล้วทำให้นึกบรรยากาศของงานออกเลยครับ ที่สำคัญผมยิ่งมั่นใจในศักยภาพของทีมงานของโรงพยาบาลมากขึ้น ขอบคุณมากครับที่อาจารย์นำมาเขียนเล่าครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท