CVA & Urine Specific Gravity


          ระหว่างรอขึ้นเครื่องบินไปหาดใหญ่ TG235 เพื่อไปฟังการนำเสนอผลงานที่ HACC ภาคใต้ (ซึ่งเลื่อนมาจากปลายเดือนธันวาคม ปีที่แล้วเนื่องจากน้ำท่วม)  ผมได้พบกับคุณกรรณิการ์ พยาบาลที่ รพ.หาดใหญ่ ซึ่งมาประชุมเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง stroke

          เครือข่ายนี้ที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า TCEN หรือ Toward Clinical Excellence Network มีวัตถุประสงค์ที่จะขุดค้นหาความรู้ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งในกลุ่มนี้คือผู้ป่วย stroke มีคุณหมอชำนิ จิตตรีประเสริฐ กรมการแพทย์ เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย  โดย พรพ.สนับสนุนการทำงานของเครือข่ายนี้

          ผมได้ถามคุณกรรณิการ์ถึงความก้าวหน้าของเครือข่าย ได้รับทราบว่ากำลังอยู่ในช่วงของการทดลองเก็บตัวชี้วัดในแนวทางเดียวกัน ซึ่งเครือข่ายร่วมกันคัดเลือกตัวชี้วัดที่คาดว่าน่าจะมีประโยชน์มาจำนวนหนึ่ง  ในไม่ช้าคงจะได้บทเรียนว่าตัวชี้วัดใดที่จะมีประโยชน์ในการสะท้อนคุณภาพและจุดประกายการพัฒนาคุณภาพ

          เราได้คุยกันต่อถึงเรื่องการแลกเปลี่ยน best practice ซึ่งผมบอกว่าไม่ค่อยอยากจะใช้คำนี้เท่าไรนัก  เพราะเดี๋ยวจะมีปัญหาการตีความว่าอะไรคือ best  แต่อยากให้ช่วยกันค้นหาศิลปะของการทำงานกับผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ได้  ซึ่งตรงนี้คุณกรรณิการ์ได้สะท้อนให้ฟังว่าทางพยาบาลพยายามที่จะนำความรู้จาก evidence ต่างๆ มาทดลองปฏิบัติ แต่บางท่านจะกระตุ้นให้พยาบาลมองภาพที่เป็นระบบใหญ่มากขึ้น

          ผมให้ความเห็นว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ได้ ขอให้เราได้บทเรียนจากเรื่องนั้น  เป็นบทเรียนที่อาจจะหาไม่ได้จากตำรา  แต่เกิดจากการสังเกตและการทดลองปฏิบัติของเรา  พร้อมทั้งขอให้คุณกรรณิการ์ลองเล่าเรื่องเล็กๆ ที่ทำลงไปให้ฟัง

          คุณกรรณิการ์เล่าว่าได้ทบทวนข้อมูลวิชาการ และพบเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการใช้ urine specific gravity เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเพียงพอของน้ำที่ผู้ป่วย CVA ได้รับ  เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้บางครั้งจะได้รับน้ำน้อยเกินไปโดยที่เราไม่ได้สังเกตพบ  จากการนำไปใช้พบว่าได้ผลดีเพราะทำให้เราทราบถึงภาวะ dehydration ของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น 

          เมื่อผมถามว่าจะต้องวัด urine specific gravity บ่อยแค่ไหน  คุณกรรณิการ์บอกว่าในช่วงวันแรกๆ อาจจะต้องวัดทุกครั้งที่มีการ void  ผมถามว่าแล้วทำอย่างไรจึงจะมีการวัดทุกครั้งได้ตามที่ต้องการ  คุณกรรณิการ์ตอบว่าต้องให้ญาติของผู้ป่วยมีส่วนร่วม  เมื่อผู้ป่วย void ญาติก็จะนำปัสสาวะมาให้พยาบาลตรวจ  ผมถามว่าเราวัดได้ทุกครั้งที่ต้องการหรือไม่  คำตอบก็คือวัดได้เฉพาะในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนไม่ได้วัด (ก็น่าจะเป็นปกติของคนเราที่กลางคืนไม่ค่อยได้ปัสสาวะเท่าไร)

          ผมถามต่อไปอีกว่าการบันทึกและนำเสนอข้อมูลจากการวัดเราทำอย่างไรให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำที่ได้รับกับสภาวะ hydration ของผู้ป่วยที่เปลี่ยนแปลงไป  คุณกรรณิการ์ตอบว่ามีการบันทึกในตาราง  ที่ผมถามตรงนี้เพราะนึกถึงการบันทึก vital sign ของผู้ป่วยที่สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย  ถ้าข้อมูลตรงนี้มีความหมาย มีความสำคัญ และอยู่ในรูปที่แปลความหมายได้ง่าย ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

          ผมถามต่อไปว่าญาติผู้ป่วยจะเข้าใจหรือไม่ว่าการตรวจปัสสาวะมีความหมายอย่างไร  แม้ว่าจะเข้าใจ แต่ถ้ากลับไปบ้านแล้วเขาจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร  คุณกรรณิการ์ตอบว่าจะแนะนำให้ญาติสังเกตสีของปัสสาวะ ซึ่งถ้าผู้ป่วย dehydrate มาก ปัสสาวะก็จะมีสีเข้ม  ผมก็เลยถามต่อไปว่าเราพอจะหาความสัมพันธ์ระหว่างสีของปัสสาวะที่สังเกตเห็นกับระดับของ urine specific gravity เพื่อที่จะนำมาสอนให้ญาติเขาสังเกตเมื่อกลับไปบ้านได้หรือไม่  (ท่านที่เคยดูโฆษณาในโทรทัศน์ คงจะเคยเห็นโฆษณาวิธีการวัดความเปลี่ยนแปลงของสีผิวของใบหน้าว่าผิวคล้ำเข้มลดลงสองระดับ โดยใช้กระดาษสีมาเทียบเคียง)  คุณกรรณิการ์บอกว่าน่าสนใจที่จะไปลองศึกษาดู

          เป็นโอกาสดีที่ผมได้พบปะกับผู้คนในสาขาต่างๆ ที่มีความสนใจในการพัฒนาคุณภาพ  และยินดีบอกเล่าให้ผมฟังถึงเรื่องราวดีๆ ทั้งหลายที่ทีมงานกำลังพยายามทำกันอยู่  ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าจะประยุกต์หลักการต่างๆ สู่ภาคปฏิบัติได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็จุดประกายความคิดให้แก่ท่านเหล่านั้นเป็นการตอบแทน  ผมก็หวังว่าเราจะสามารถนำความรู้ฝังลึกมาแบ่งปันและมาต่อยอดกันได้มากขึ้น  ซึ่งการจะเกิดความรู้ฝังลึกเหล่านี้ได้ พวกเราจะต้องเป็นนักตั้งคำถาม เป็นนักสังเกต เป็นนักบอกเล่าเรื่องราว เป็นนักเก็บประเด็น และสุดท้ายคือเป็นนักเขียน

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13100เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2006 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
กำลังเริ่มค่ะ ขอเริ่มจากการฟังและจับประเด็นก่อนนะคะ แล้วอย่างอื่นจะพัฒนาให้ตามมาค่ะ
     "ต้องฟังอย่างตั้งใจ" เป็นสิ่งที่อาจารย์ได้พร่ำสอนมาตลอดเช่นกันค่ะ สักวันหนูคงเก่งเหมือนอาจารย์บ้างนะคะ

อยากถามเหลือเกินค่ะว่าการสังเกต urine นั้นและการวัดค่าurine  specific  gravity ค่าระดับใดที่แสดงว่าผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นและจะตรวจเองได้หรือไม่และหากมีอาการที่แย่ลงค่าดังกว่าจะเป็นเช่นใด  ขอความกระจ่างด้วยนะคะ  ขอบคุณค่ะ

อยากให้พยาบาลทุกคนได้นั่งคุยกับอาจารย์ค่ะ

ตอบคำถามคุณนก ถ้า urine สีเหลืองฟาง หรือใส ค่า specific gravity จะอยู๋ในระดับปกติ นั่นหมายความว่า ปริมาณน้ำที่ผู้ป่วยได้รับพอดี แต่ถ้า urine สีใสมาก ๆ หรือสีขาวคล้ายน้ำ ค่า specific gravity จะต่ำกว่าปกติแสดงว่าผู้ป่วยได้รับน้ำมากเกินไป แต่ถ้าurine ืำสีเหลืองเข้มค่าspecific gravity จะสูงแสดง่าผู้ป่วยได้รับน้ำน้อ ย ค่า specific gravity ต่ำหรือสูงเกินไปไม่ดีต่อผู้ป่วย CVA ทั้งนั้นค่ะแต่อาการแตกต่างกัน

ขอบคุณที่ช่วยตอบคำถามให้ครับ

เช่นเดียวกันครับ อยากได้มีโอกาสคุยกับผู้ที่ทำงานคุณภาพ ได้สัมภาษณ์เจาะลึกจนสามารถนำความรู้ฝังลึกออกมาถ่ายทอดสู่กันได้ ยินดีรับฟังเรื่องเล่าผ่านทาง e-mail ก็ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท