วันรับปริญญา มน. ปี 49


บุคลากรที่มีคุณภาพ สำคัญยิ่งกว่าทรัพยากรเกื้อหนุนใดใด

วันนี้ : วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2549 นับเป็นวันแห่งความชื่นชมยินดีอีกวันหนึ่งที่ต้องบันทึก  เนื่องด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ประจำปีการศึกษา 2547 ณ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  อำเภอเมืองพิษณุโลก  จังหวัดพิษณุโลก

ในปีนี้ ผู้ที่ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มีจำนวน 2 ท่าน คือ

ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ :

  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม   วัฒนชัย

ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ :

  • แพทย์หญิง  คุณหญิงพรทิพย์  โรจนสุนันท์

และผู้ทำคุณประโยชน์ทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณศาสตราจารย์ (พิเศษ) จำนวน 2 ท่าน คือ

  1. รองศาสตราจารย์กาญจนา   เงารังษี
  2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทญ.ดร.วิสาขะ  ลิ่มวงศ์

จำนวนผู้สำเร็จการศึกษา

  1. ระดับปริญญาเอกและโท  2,809 ราย
  2. ระดับปริญญาตรี  3,208  ราย

สำหรับคณะสหเวชศาสตร์ มน. ดิฉันขอแสดงความยินดีกับบุคลากรของคณะ 2 ท่าน คือ

  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรทัย   ตั้งวรสิทธิชัย  เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต  ทำให้คณะของเรามี ดร.ในสาขาเทคนิคการแพทย์ เพิ่มขึ้นอีก 1 ท่าน (รวมเป็น 4 ท่าน ในปี 49 นี้)
  2. คุณเสาวภาคย์  รุ่งเรือง  นักวิชาการเงินและบัญชี เข้ารับพระราชทานปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต ทำให้คณะเรามีบุคลากรสายสนับสนุนที่มีวุฒิระดับปริญญาโท เพิ่มขึ้นอีก 1 ท่าน (รวมเป็น 4 ท่านเช่นกัน ในปี 49 นี้)

น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรของคณะสหเวชศาสตร์ ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน ล้วนเป็นผู้มีความใฝ่รู้ และมุ่งมั่นพัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ ก็ยังมีบุคลากรของคณะฯ กำลังศึกษาต่อกันอยู่อีกหลายท่าน ซึ่งทางคณะ ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะบุคลากรที่มีคุณภาพ สำคัญยิ่งกว่าทรัพยากรเกื้อหนุนใดใด  นอกจากความรู้ที่พัฒนาสูงขึ้นแล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วย  ดังพระราโชวาทของสมเด็จพระเทพฯ ที่พระราชทานแก่มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ในวันนี้ ซึ่งดิฉันขออัญเชิญใจความสำคัญ มาเก็บไว้เตือนใจใน Blog  ดังนี้

บัณฑิตในที่นี้คงจะได้มีหน้าที่การงานทำแล้วเป็นส่วนใหญ่  และคงจะได้รับความรู้ด้วยตนเองแล้วว่า  การทำงานร่วมกันกับคนหมู่มากนั้น  มีความยากลำบากและสลับซับซ้อนยิ่งกว่าการเรียนหลายเท่า  ทุกคนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เหตุและปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้การทำงานร่วมกันประสบความสำเร็จเสียก่อน  เบื้องต้น  แต่ละคนจะต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า คนเราแม้จะเฉลียวฉลาดเพียงใด  ถ้าทำงานเพียงลำพังตน  ก็คงได้งานจำกัดเท่าที่ความสามารถของคนๆหนึ่งจะกระทำได้  ยิ่งเป็นงานใหญ่งานยาก  ก็ยิ่งต้องอาศัยความรู้ความสามารถของแต่ละคนอย่างเหมาะสม  มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันอย่างกว้างขวาง  และมีการทำงานที่ประสานสอดคล้องกัน  การทำงานในลักษณะร่วมกันคิดร่วมกันทำเช่นนี้  ย่อมจะทำให้งานที่ทำดำเนินไปอย่างราบรื่นมีประสิทธิภาพ  และสำเร็จผลสมบูรณ์ดังที่ประสงค์  เป็นประโยชน์เป็นความดีความชอบของทุกคนทุกฝ่าย  ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นผลดีแก่ประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย

 

คำสำคัญ (Tags): #พระราโชวาท
หมายเลขบันทึก: 13097เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2006 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 01:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท