ผมอยากให้โรงพยาบาลของผม....


ผมอยู่ที่นี่มานาน นานจนผมรักที่นี่แทบจะไม่เคยคิดย้ายไปไหน ผมก็อยากเห็นบ้านที่ผมรักว่าควรมีอะไรบ้าง

ผมอยากให้โรงพยาบาลของผม....

            หากใครถามว่า ผมรักที่จะทำงานที่ใดมากที่สุด คำตอบก็คือ ม.อ. คณะแพทยศาสตร์ ที่ผมเล่าเรียนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 นู่น หากใครถามว่า ผมอยากเห็นการพัฒนาที่ไหนและส่วนใดมากที่สุด คำตอบก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการเรียนการสอนในคณะของผม การสร้างนักศึกษาแพทย์และแพทย์เฉพาะทางให้ดีที่สุดด้วยกำลังของครูบาอาจารย์ในนี้ คำว่าครูบาอาจารย์ในที่นี้ผมหมายถึงอาจารย์แพทย์ พยาบาล เพื่อนร่วมงานและคนไข้ของเราครับ นี่มองในแง่ที่เขาทั้ง 2 กลุ่มเป็นลูกค้าหลักของคณะแพทย์ เราขายวิชาไม่ใช่หรือ แต่หากมองในแง่ของการให้บริการ ลูกค้าหลักของเราก็คงหนีไม่พ้นคนไข้ ดังนั้นการพัฒนาที่อยากเห็นมากที่สุดอีกอย่างก็คือด้านการดูแลคนไข้ของเรา

                เรื่องการพัฒนาการดูแลคนไข้ที่เป็นโรคไม่ต้องพูดถึง เพราะมีคนพูดกันมามากว่า เราเก่ง เราดี เราทำได้ ยิ่งในช่วงวิกฤตปัญหาไฟใต้ยิ่งช่วยบอกสังคมได้อย่างดีว่าเราพร้อมเพียงใด มาถึงเรื่องการดูแลจิตใจ บ้านเราก็ทำได้ดีจนที่อื่นต้องอ้างถึง เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือ palliative care นั่นประไร

                แล้วผมเขียนมาทำไมกันนี่

                ก็ผมอยากให้โรงพยาบาลของผมมีอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก 2 อย่างน่ะสิ

ผมอยากเห็นห้องสมุดในโรงพยาบาล

                ฝันเฟื่องไปแล้ว จะมีได้อย่างไรกัน ที่คณะของเราก็มีแล้ว ใหญ่โตเสียด้วย ระบบการยืมคืนค้นด้วยระบบ on line ก็ทันสมัยเหลือเกิน แต่นั่นเพื่อคนของเราไม่ใช่หรือครับ คนของเราก็ยังจำกัดแคบเข้ามาอีกเหลือเฉพาะหมอและลูกศิษย์หมอเท่านั้น แต่ผมกำลังหมายถึงห้องสมุดประชาชนคนไข้และญาติต่างหากเล่า ลองคิดดูสิครับ  ว่าคนที่ต้องมานอนโรงพยาบาลนั้นเขารู้สึกเบื่อแค่ไหน เว้นเสียแต่บางคนอาจจะชอบนอนโรงพยาบาลเพราะหมอเจ้าของไข้หน้าตาดีก็ได้หนา ใครจะรู้ (ฮา) แต่บางคนเพียงแค่นอน 2 คืนก็แทบคลั่งแล้ว ถ้าเป็นคนที่นอนนานเป็นสัปดาห์ล่ะจะเป็นยังไง คนไข้โรคเรื้อรังเขาน่าสงสารมากครับ เขาไม่มีทางเลือก ไม่ได้นอนบ้านนานครั้งละเป็นสัปดาห์ บางคนเป็นเดือน แล้วห้องสมุดช่วยเขาได้อย่างไรล่ะ

                คำตอบนี้สรรหามาตอบได้ไม่ยากเลยครับ คนไข้หรือญาติหลายคนเป็นนักอ่าน เขาสามารถอ่านหนังสือคลายความเบื่อได้ ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มเด็กๆ หากได้อ่านหนังสือหรือมีคนมาอ่านให้ฟัง น่าจะช่วยสนับสนุนความรู้และการพัฒนาทางสมองเขาได้บาง ลองหลับตานึกถึงเด็กที่นอนแต่ในโรงพยาบาลโดยไม่ค่อยได้ไปโรงเรียนดูสิครับ นึกถึงเด็กกลุ่มนี้แล้ว ผมยังอยากจะให้นักศึกษาแพทย์ นักศึกษา นักเรียน หรืออาสาสมัครที่ไหนก็ได้ มาอ่านหนังสือหรือมาสอนให้เด็กอ่านหนังสือ มันก็ได้ประโยชน์ต่อทั้งผู้ให้และผู้รับ คิดแล้วตัวพองด้วยความปีติครับ เด็กที่ไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อ ผู้ใหญ่ที่เดินไหว ก็ลงมานั่งอ่านหนังสือกัน มีหนังสือให้มาก ให้หลายชนิด นิยายน้ำเน่าก็มีคนอ่าน หนังสือเด็ก หนังสือแฟชั่นก็มีคนอ่าน คนไข้ผู้ชายแก่ๆอาจจะอยากดูรูปสาวๆเฉพาะหน้าปกกับหน้ากลางก็ได้ (อันนี้เป็นมาตรฐานส่วนตัวของผมครับ..ฮา) อาจจะมีคนแย้งว่า เรามีหนังสือแจกให้อ่านตามห้องพิเศษแล้ว อันนี้คงต้องแย้งเสียงเขียวว่า หนังสือนั้นเป็นมาตรฐานของเราครับ เราคิดว่าอ่านได้ อ่านดี มีประโยชน์ โธ่.. ชาวบ้านเขาต้องการเหมือนเราหรือ ชีวิตที่ไม่มีสาระนั้นสนุกกว่าเห็นๆ เราต้องการให้เขาลืมเรื่องเจ็บป่วยนี่นา  

                คำถามต่อมาก็คือ แล้วจะบริหารจัดการอย่างไรล่ะ เรื่องนี้ตอบไม่ได้ เพราะผมเป็นหมอ คิดและฝันอย่างเดียว เพียงแค่ตะโกนออกมาว่าอยากให้มีก็เท่านั้นเอง ถ้าผมทำเองไม่ได้ก็ให้คนอื่นเขามาทำสิ คนเก่งๆในสังคมบ้านเรามีมากจะตายไป เราหาไม่เจอเท่านั้นเอง ระบบการยืม การคืน การเช่า การซื้อ ก็ค่อยมาว่ากันหากเราอยากทำจริงๆ หนังสือที่คนของเราเขียน (อ.เต็มศักดิ์เป็นตัวอย่างหนึ่ง) หรือใครอยากเขียนหรือเขียนแล้วแต่ไม่กล้าส่งสำนักพิมพ์หรือสำนักพิมพ์เด้งมาให้น้ำตาไหล ก็เอามาวางในห้องสมุดซะ เกิดประโยชน์ต่อทั้งคนเขียนและคนอ่าน บางคนชอบอ่านหนังสือทำมือก็มี เด็กๆโรคเรื้อรังเขาชอบวาดรูป ก็ให้เขาวาด ให้เขาแต่ง แล้วเราเย็บเล่มให้เขา โอโฮ ผมตื้นตันอีกแล้ว

ผมอยากให้มีโรงนวดในโรงพยาบาล

                อันนี้เรื่องใหญ่เพราะฟังดูแล้วมันขัดแย้งกับหลักการสถาบันเราซะเหลือเกิน ที่นี่เป็นโรงพยาบาลไม่ใช่โรงนวด ที่นี่เป็นโรงเรียนแพทย์ไม่ใช่สถานเริงรมย์ แต่ผมกำลังหมายถึงการนวดเพื่อบำบัด ไม่ใช่การนวดพร้อมอาบ เดี๋ยวนี้ใครๆก็รู้ว่าการนวดช่วยส่งเสริมการรักษาโรค การรักษาความเครียดทั้งทางกายและใจ เราเห็นตัวอย่างจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมากมายที่จัดให้มีการนวดเพื่อการบำบัด เขาส่งเสริม เขาโฆษณา เขาให้บริการกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือคนอื่น หรือกับคนในโรงพยาบาลด้วยกันเอง รัฐบาลยังส่งเสริมโดยสามารถให้เบิกเป็นค่ารักษาด้วยยังไงเล่า

                ประโยชน์จากการมีโรงนวดในโรงพยาบาลให้ประโยชน์ได้หลายอย่างเลยครับ

                คนไข้ที่ถูกนวดเป็นคนแรกที่ได้รับประโยชน์นั้นโดยตรง คนไข้บางกลุ่มอาจจะชอบการนวดแบบพื้นบ้านมากกว่าการเข้าไปในหน่วยกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลซะอีก การนวดพื้นบ้านอาจจะใช้น้ำมัน ยาหม่อง ลูกประคบ ซึ่งเป็นกลิ่นคุ้นเคยมาตั้งแต่เขาเกิด สุขกาย สุขจมูก สุขใจ และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ฝรั่งเขากำลังเฝ้ามองเราอยู่เช่นกันนะครับ

                คนไม่เจ็บไข้ แต่เบื่อจากการรอคิวตรวจ เมื่อยล้าจากการเดินทาง (บางคนมาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ตี 3 ผมก็เคยเห็น นั่นหมายความว่าเขาออกจากบ้านมาตั้งแต่กี่โมงล่ะ) การนวดช่วยลดความตึงเครียดของเขาได้ดี อาจจะลดการบ่นเรื่องการรอคิวได้ซะอีก และเมื่อเขาสบายกาย เขาก็จะสบายใจ ลดความเมื่อยล้า มีแรงเดินทางกลับบ้านได้ด้วยความสุข

                คนไม่เจ็บไข้แต่มารับบริการอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือบุคลากรพวกเรากันเองนี่แหละ ลองคิดดูสิครับว่าพวกเราทำงานหนักแค่ไหน พยาบาลอดนอนทั้งคืน เดินไปเดินมาจนน่องปูด เส้นเลือดขอดจนระบม ลงเวรมาแล้วไปเข้าโรงนวด หลับไปซัก 1 ชั่วโมง โอ้โฮ สวรรค์หลังเลิกงานลงเวรเลยครับ

                คนที่ได้ประโยชน์กลุ่มที่ 3 ก็คือนักนวดมืออาชีพ คนแก่ๆ คนเก่งๆที่ไม่ได้ทำงานอื่น หรือนวดเป็นงานอดิเรก นวดเป็นอาชีพ หรือคนที่อยากจะมาฝึกนวด ไม่แน่นะ เราอาจจะเป็นสถานที่ให้เขาเหล่านั้นมาฝึกนวด (อาจจะเก็บเงินคนมารับบริการในราคาถูก ซึ่งเหมาะสำหรับคนจนจริงๆ) ก่อนที่เขาจะได้รับใบประกาศ เห็นไหมได้ประโยชน์มากมาย รายได้ก็เพิ่มขึ้นมา (หลังจากถูกหักค่าต๋งแล้ว)

                กลุ่มที่ 4 ซึ่งดูเหมือนจะเสียประโยชน์ เพราะเขาจะถูกลดงานลงไป ก็คือนักกายภาพบำบัด แต่ผมกลับมองเห็นว่านั่นคือโอกาส โอกาสที่เขาจะได้ไปดูแลคนไข้ที่มีปัญหาแท้จริง เป็นต้นว่า เด็กพัฒนาการช้า กลุ่มคนไข้ที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษเข้าช่วย นี่คิดเอาเองตามความเห็นส่วนตัวนะครับ หากไม่เห็นด้วยโปรดอภัย

                แล้วใครจะเป็นคนทำ ทำที่ไหน นั่นก็ไม่ใช่เรื่องของผมอีกเช่นเดียวกัน ฝันอย่างเดียว ผมอยู่ที่นี่มานาน นานจนผมรักที่นี่แทบจะไม่เคยคิดย้ายไปไหน ผมก็อยากเห็นบ้านที่ผมรักว่าควรมีอะไรบ้าง จัดห้องรับแขกยังไงดี บริการน้ำดื่มให้แขกแบบไหนน่าจะถูกใจเขาก็เท่านั้น ใครไม่เห็นด้วยก็กรุณาดับความร้อนของอารมณ์เสีย แล้วไปทำงานของท่านต่อ ใครเห็นด้วยก็ช่วยๆกันบ่น ช่วยๆกันเสนอแนะ เพราะที่นี่เป็นบ้านของเราครับ

หมายเลขบันทึก: 129723เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2007 20:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์ธนพันธ์
  • เดี๋ยวนี้ แถวบ้านป้าแดง มีโรงนวดทุกโรงบาลเลยค่ะ
  • ห้องสมุดให้คนไข้ก็มีค่ะ
  • ---
  • แต่เรื่องที่ป้าแดง อยากให้เป็นตอนนี้ คือเรื่องที่อาจารย์แนะไว้ในกลุ่มที่ 4 อ่ะค่ะ  การดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขาวิชาชีพ คนไข้น่าจะได้ประโยชน์มาก
  • ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันที่ดีๆค่ะ

สวัสดีครับพี่แดง P

ขอบคุณครับ

วันนี้เดินไปทำงานตอนเช้า อารมณ์ดี สดชื่นสดใจ ใจก็คิดเรื่อยไปแบบนี้แหละครับ ต้องรีบเขียนก่อนที่จะลืมมัน

ผมลองส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือ ข่าวคณะแพทย์ โรงพยาบาลของผมครับ ไม่รู้ว่าจะถูกเด้งรึเปล่า

  • น่าสนใจทั้งห้องสมุดและโรงนวดเป็นแบบแผนโบราณ
  • ฝรั่งติดใจมากถึงขนาดจ้างคนเก่งๆๆไปนวดถึงต่างประเทศเลยครับ
  • ขอให้ความฝันเป็นจริง
  • ใครจะไปทราบในอนาคตได้ครับ

ขอบคุณอาจารย์ขจิต P ที่ช่วยสนับสนุนครับ

อย่างน้อยก็มี 2 เสียงแล้ว

ว่าแต่ว่ายังหาโอกาสเปิดรับหมอฟัน (เด็ก) ให้เข้ามาเป็นคนนวดไม่ได้ แต่ถ้ามาช่วยอ่านหนังสือให้เด็กฟัง หรือมาสอนภาษาอังกฤษแล้วล่ะก็ จะโทรเชิญครับ ครับ

สุจริต ส่วนไพโรจน์

สวัสดีครับ

ผมเห็นความตั้งใจที่ดีของคุณหมอที่ถ่ายทอดความคิดความห่วงใยต่อผู้ป่วยและญาติ  ผมรู้สึกดีใจและชื่นชมในความคิดดังกล่าว แต่อย่างไรก็สภาพจริงที่น่าจะได้รับการปรับปรุงในด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมของ รพ. สงขลานครินทร์ของเราน่าจะได้รับการปรับปรุงไปพร้อมกันด้วย อาทิเช่น สวนหย่อมภายในโรงพยาบาล พรรณไม้ สีเขียวสดชื่นในอาคาร อะควาเรียมเล็กๆ ตามมุมตึก ตลอดจนการจัดที่นั่งให้เพียงพอต่อคนไข้และญาติผู้ป่วย โดยเฉพาะในบริเวณคลินิกที่มีผู้ป่วยมากๆ ในขณะเดียวกันการให้บริการผู้ป่วยและญาติ ปัจจุบันการให้บริการ ความสะดวกอยู่ในระดับที่ดีและเป็นที่ยอมรับ หากเพิ่มความเอื้ออาทรเสมือนญาติมิตร จะช่วยเพิ่มควาประทับใจแก่ผู้ใช้บริการไม่รู้ลืม นอกจากนี้หากจัดมุมสงบ ให้ความรู้สุขศึกษา หรือ มุมที่นั่งสงบ นั่งสมาธิ มุมที่สบายๆ มีดนตรีเบา ผ่อนคลาย ช่วยบำบัด ความร้อนใจ จะช่วยให้คนไข้และญาติรอคอยการรับบริการอย่างสบายๆ ไม่ร้อนร้น เท่านี้ รพ. สงขลานครินทร์ของเราจะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เป็นที่พึ่งของชุมชน สังคมภาคใต้อย่างภาคภูมิ

ชื่นชมความสำเร็จของ รพ.สงขลานครินทร์

  

สวัสดีครับคุณสุรจิต ส่วนไพโรจน์

หลายครั้งเราต้องช่วยกันนำเสนอครับ ช่วยกันชม ช่วยกันติ คนที่ถูกติยอมรับฟังและแก้ไข น่าจะช่วยทำให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้น

ขอบคุณครับ

  • ผมเคยไปใช้บริการนวดเพื่อบำบัดมาแล้ว
  • ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ หน้าโรงเรียนของผม
  • ได้ผลดีจริงๆ
  • บริการเยี่ยม
  • เห็นด้วยกับคุณหมอธนพันธ์ครับ

สวัสดีครับอาจารย์พิสูจน์ P

ขอบคุณครับที่ช่วยเข้ามายืนยัน

อาจารย์ทราบไหมว่า blog อาจารย์ทำให้ผมคือถึงเรื่องราวเก่าๆกับครูภาษาไทย เมื่อตอนเป็นเด็ก

ทุกวันนี้ยังท่องบางกลอนอยู่เลยครับ แต่ท่องไม่จบเลย

สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ่งยามสาย นั่นอย่างหนึ่ง

สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย อีกอย่างหนึ่ง

มัสหมั่นแกงแก้วตา ก็อีกอย่างหนึ่ง

ขอบคุณนะครับอาจารย์

เพิ่งมีโอกาสเข้ามาเยี่ยม มีโอกาสได้พบเห็นหลายท่านที่พิษณุโลก และดีใจที่ได้มีโอกาสได้พบหลายๆโดยเฉพาะท่านอาจารย์ JJ อีกครั้ง (จากศิษย์ RT KKU ต่อเนื่องรุ่น 4)ขอเป็นกำลังใจให้คนที่คิดดี ทำดี แค่เพียงคิดว่าทำได้..เราต้องทำได้ เพราะหากคิดว่าทำไม่ได้ เราก็จะทำไม่ได้ตลอดไป..

สวัสดีครับคุณ baibua

ขอบคุณที่มาเยี่ยมครับ

 

ที่ นครฯ  หมายถึงนครสวรรค์ นะค้าบ ผมเดินไปร้านหนังสือเจอคุณป้าท่านหนึ่ง แกซื้อหนังสือเยอะมากเลยถามว่าซื้อไปอ่านเองหรือครับ (ยุ่งเรื่องของคนอื่นจริงๆเลยเรา) คุณป้าใจดีก็ตอบกลับมาว่า ป้าซื้อเอาไปแจกที่ โรงพยาบาลน่ะจ่ะพ่อหนุ่ม เพราะป้าเคยป่วยแล้วต้องนอนที่โรงพยาบาลนานๆ แล้วมันรู้สึกเหงาๆ ก็เลยคิดว่าถ้ามีหนังสือดีๆ อ่านก็คงหายเหงาได้

พอหายป่วยแล้วก็ยังอยากให้คนป่วยคนอื่นๆที่อาจรู้สึกแบบป้า ได้มีหนังสือดีๆอ่านบ้างป้าเลยมาซื้อไปฝากหมอพยาบาล ให้เอาไว้ให้คนไข้มาหยิบไปอ่านน่ะจ่ะ 

คนใจดีก็ยังมีแฮะ ถ้ามีผู้ใหญ่ใจดีแบบ คุณหมอและคุณป้าเยอะๆ ผมว่าเยี่ยมไปเลยครับ

เรื่องโรงนวดนี่ก็ไอเดียดีมากๆครับ ขอให้เกิดขึ้นโดยเร็วสมดังหวังนะครับ

ขอบคุณครับ P

ขอบคุณที่สนับสนุน ผมส่งบทความนี้ลงวารสารของโรงพยาบาล บุคลากรอ่านมากมาย ต่างก็แสดงความรู้สึกเห็นด้วยมากมายเช่นเดียวกัน แต่ที่ยังเงียบอยู่ก็คือ คนที่จะทำให้หรือให้ทำครับ

ถ้าคุณจำเป็นต้องทำแท้ง มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 9 สัปดาห์ ติดต่อ [email protected]

“ถ้าคุณจำเป็นต้องทำแท้ง มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 9 สัปดาห์ ติดต่อ [email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท