ซ่อมเรือเตรียมไว้...น้ำท่วมแน่ปีนี้


นอกจากอาศัยดูลางบอกเหตุจากสัตว์ ฝนที่ตกลงมาบ่อยๆ ตกทีก็แบบถล่มทลาย ทำให้นอนใจไม่ได้ ต้องเตรียมคิด เตรียมตัวว่า ...น้ำท่วมแน่ปีนี้ ที่ว่าท่วมหมายความว่าท่วมชั้นล่างแบบมิดศีรษะเลยนะ ไม่ใช่ท่วมแค่ท่าน้ำ

ปีนี้ทั่วโลกมีเหตุการณ์ธรรมชาติที่วิปริตอันมาจากสาเหตุโลกร้อน ใครๆก็พูดถึง คนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติจะมีโอกาสสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงมากกว่าคนเมือง

เมื่อต้นเดือนคนงานเล่าว่าที่ต่างอำเภอไม่ไกลจากบ้านเราปูนาหลายร้อยตัวอาจเป็นพันขึ้นมาจากนา(สงสัยจะถูกนำไปทำปูเค็มแล้ว) ที่บ้านเราต้องระวังงูมากขึ้น คนงานเห็นงูตัวใหญ่ ยาว ที่รั้วด้านนอกสองสามครั้งไม่ใช่ตัวเดียวกันด้วย ป้านวลถางหญ้า ตัดพุ่มและกิ่งไม้รก จัดข้าวของในห้องเก็บอุปกรณ์ทำสวน ดูไม่ให้เป็นที่ซ่อนตัวได้ สงสัยงูจะหนีน้ำมา และฝนที่ตกมาก ชื้นแฉะงูก็ชอบออกมาหากินตอนเย็น ปกติเราจะไม่เคยเห็นเช่นนี้

นอกจากอาศัยดูลางบอกเหตุจากสัตว์ ฝนที่ตกลงมาบ่อยๆ ตกทีก็แบบถล่มทลาย ทำให้นอนใจไม่ได้ ต้องเตรียมคิด เตรียมตัวว่า ...น้ำท่วมแน่ปีนี้ ที่ว่าท่วมหมายความว่าท่วมชั้นล่างแบบมิดศีรษะเลยนะ ไม่ใช่ท่วมแค่ท่าน้ำ

โชคดีประการเดียวคือ น้ำที่ท่วมมาไม่ใช่น้ำป่าหลาก แต่จะเป็นน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นึกถึงชาวบ้านที่โดนน้ำป่าพัดมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวแล้วสงสารมาก

ต้องเตรียมเรือให้พร้อมใช้งาน

เรือที่เคยเห็นผูกที่ท่าน้ำก็ต้องยกขึ้นมาทำให้ดี จอดลอยไว้นานๆใช้ที ก็ทรุดโทรม ได้ลุงโชติ กับลุงเป้ มาช่วยซ่อม และยังช่วยซ่อมอีกหลายลำ เลยได้โอกาสเก็บภาพการซ่อมเรือแบบใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และความชำนาญของผู้อาวุโส

 

ลุงโชติเล่าว่าชำนาญการซ่อมเรือเพราะเคยมีชีวิตตอนหนุ่มๆล่องไปกับเรือ แม่น้ำสายหลักๆน่ะไปมาหมดแล้ว

 

 

 

ลุงเป้คือผู้ช่วย กำลังโชว์เครื่องมือคือเหล็กขูดเรือ ปลายด้านบนกว้างแบน อีกปลายเรียวแหลมให้เซาะลงร่องได้

ที่จริงทั้งสองลุงเป็นช่างไม้ เหลาเสาเรือนไทยได้กลมกลึงทีเดียว แต่งานสร้างเรือนไทย งานไม้เป็นงานหนัก อายุมากแล้วยกของหนักๆไม่ดี คนข้างกายมักมีมักมีงานที่เหมาะกับผู้สูงอายุให้มาทำกับเราอยู่เนืองๆ

ลุงเป้บอกว่าเมื่อก่อนก็ซ่อมเรือไม่เป็นหรอก อาศัยเป็นบัดดี้กับลุงโชติ ไปไหนไปกัน ก็ได้เรียนรู้จากลุงโชติ แบบไม่มีการหวงวิชา

 

ก่อนจะยาเรือต้องเตรียมวัสดุที่จะใช้ยา คือ ปูนแดงแบบที่กินกับหมาก น้ำมันยาง และด้ายดิบ เอามาใส่กะลาคนให้เหนียวเป็นเนื้อเดียวกัน

 

 

แล้วก็เอาปะลงบนพื้นผิวที่เป็นรอยต่อที่ขูดทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว

 

 

ลุงโชติบอกว่าต้องอัดส่วนผสมนี้ลงไปในช่องให้แน่น แล้วขูดปูนส่วนเกินออก

 จากนั้นจึงถึงขั้นตอนลงชันยาทับที่ลงปูนแดงไว้

 

ชันนั้นคือยางไม้ชนิดหนึ่งเขาจะเก็บยางไม้มาบดเป็นผง แต่เดี๋ยวนี้มีขายที่บดเสร็จแล้ว

 

ส่วนผสมปูนแดงในขั้นต้นจะถูกนำมาผสมกับผงชัน เติมน้ำมันยางพอเหมาะคนให้เหนียวอย่างนี้ แล้วใช้เหล็กแบนๆ เรียกเหล็กยาเรือ ลุงโชติบอกว่าไม่ได้มีชื่อพิเศษเรียก การลงชันเขาก็จะทาให้กว้างอย่างที่เห็น

โปรดสังเกตว่าภาชนะที่ใช้ใส่ส่วนผสมคือกะลามะพร้าว ผู้เขียนพูดว่าใช้กะลาประหยัดดีนะ ลุงโชติบอกว่าไม่ได้ประหยัด แต่ต้องใช้กะลาเพราะมันทำให้การคน กวนส่วนผสมทำได้ดี หากไปใช้พวกโลหะหรือพลาสติกมันจะลื่นเกินไป

ลุงโชติและลุงเป้ต้องซ่อมเรืออย่างนัอยอีกห้าหกลำ หากสงสัยอะไร จะได้ไปถามต่อให้ค่ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 128103เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2007 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (46)
  • ตามมาดูครับพี่นุช
  • ซ่อมเสร็จแล้ว
  • อีกกี่วันจะเอาลงน้ำได้
  • ต้องผึ่งแดดหรือไว้ในที่ร่ม
  • ไม่ได้เห็นการซ่อมเรือนาน
  • ตอนเด็กๆๆพายเรือไม่เป็นเรือเป็นวงกลมเลย
  • ขอบคุณครับ
  • ตามมาบอกพี่นุชว่าก็
  • copy ธรรมดา
  • แล้วางได้เลย
  • เช่นรูปลุงโชติครับ

สวัสดีครับคุณนายดอกเตอร์

  • เคยแต่ได้ยินเขาพูดว่าชันเรือ ,อุดเรือ,ซ่อมเรือ
  • แต่ไม่รู้รายละเอียด ดังเช่นนี้เลย
  • อธิบายวิธีการ ภูมิปัญญาชาวบ้านได้เข้าใจดีมากๆเลยครับ
  • ส่วนเรือที่ซ่อมเสร็จแล้ว ใช้ไม้พายเอาหรือว่าใส่เครื่องยนต์ครับ

ขอบคุณครับ

น่าเห็นใจชาวบ้านแถบนันมากครับ

เมื่อครั้งไปบางเจ้าฉ่า ก็ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่นั่น พวกเขาก็ทุกข์เรื่องน้ำท่วมนี่หละ แต่ละปีต้องเตรียมการณ์ ที่สำคัญคือพืชผักที่ปลูกไว้เสียหาย เป็นหนี้ ธกส.ซ้ำซากจนไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้

ควรจะทำยังไงดี นอกจากการต่อเรือไว้เตรียมพร้อม...

 

นึกไม่ออกเลยนะครับ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

      มาอ่านบันทึกของอาจารย์ได้ความรู้กลับไปทุกครั้งเลยค่ะ  เห็นภาพ เรือ นึกถึงครั้งยังเป็นเด็กค่ะจะพายเรือไปกับตานำเอา  ข่าย  หรือ  มอง   ไปดักปลาค่ะพอขากลับก็จะเก็บสายบัวกลับมาฝากเพื่อนบ้านด้วยค่ะ  บรรยากาศก็ดี๊ดีค่ะสดชื่น

      สำหรับ ปูนแดง เคยเห็นคนแก่เวลาเคี้ยวหมากจะนำปูนแดงป้ายที่ใบพลูแล้วก็ม้วน  ๆ  แล้วก็เคี้ยวค่ะอ่อมีมีเป็นไม้ ๆ ด้วยค่ะ

       

มาอีก รอบค่ะ  พอดีเห็นคุณข้างบนนึกขึ้นมาได้ค่ะ

สำหรับคำว่า  มอง คืออุปกรณ์ชนิดเดียวกันที่คุณPเคยเขียนบันทึกเอาไว้เรื่อง  มอง  ค่ะ

  • ได้ความรู้ดีมากคะ...เคยแต่พายเรือเล่นคะ
  • แต่พายไปพายมากลายเป็นวนอยู่ในอ่างคะ
  • เวลาไปบ้านเพื่อนที่อยู่ริมแม่น้ำชอบมากคะ
  • ก็ได้แต่ภาวนาคะ..ว่าให้ภาครัฐเตรียมรับมือ...
  • หาช่องทางระบายน้ำลงแม่น้ำให้เร็ว
  • ไม่ใช่ระบายไปลงไร่นาท่วมพืชผลชาวบ้าน...ที่ไม่มีฝนเลยแบบนั้น
  • คนที่ประสบชะตากรรมเมื่อปีที่แล้ว ป่านนี้ยังไม่ฟื้นตัวเลยนะคะ
P
สวัสดีค่ะ
แต่ก่อนเคยมีบ้านตากอากาศที่ใกล้แม่น้ำบางปะกง ที่บ้านอยู่ติดคลอง น้ำไหลไปลงแม่น้ำ
คุณพ่อก็มีเรืออย่างนี้ค่ะ มีคนดูแลชื่อนายบุญชู เคยเห็นเขาซ่อมแบบนี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้สนใจว่า ใช้อะไรผสมบ้าง
ตอนนี้ทราบแล้วค่ะ คิดว่า ใกล้เคียงกันค่ะ เผื่อใครจะซ่อมเรือได้มาขอวิชาไปบอกต่อนะคะ
ขแบคุณค่ะ
วันนี้ต้องดูรายการทีวีที่ตั้งใจไว้ค่ะ
  • สวัสดีค่ะ  พี่นุช..
 

ตอนต้อมเป็นเด็กตัวน้อย ๆ เคยนั่งเรือแบบนี้ด้วย   ท่ามกลางสายน้ำปิงที่เชี่ยว  ก็จินตนาการไปว่าถ้ามีโครตไอ้เคี่ยมโผล่ขึ้นมางับจะทำยังไงเนี่ย?   สะดุ้งเฮือกเมื่อได้ยินเสียงลุงร้องบอกให้วิดน้ำ  ฮือ ๆ ๆ หนูอยากกลับบ้าน  ต่อไปนี้จะไม่มาเที่ยวบ้านลุงอีกแล้ว  โฮ ๆ ๆ

 บ้านยายต้อมก็ไม่ใกล้น้ำปิงนัก  แต่จะมีพนัง  หรือทางถนนกั้นอยู่    คืนไหนที่ฝนตกหนักมากก็จะต้องไปรับยายออกมาบ้านต้อมที่อยู่คนละหมู่บ้านเพราะกลัวถนนที่ว่านั้นขาด    ชาวบ้านก็จะคอยระวังกัน    เตรียมเรือ  เตรียมขนของ   แต่ไหง พอโตขึ้น..เหตุการณ์เหล่านี้ก็ไม่มีอีกแล้ว  และที่สำคัญ  เรือหายไปค่ะ   คงเพราะปัจจุบัน..การเดินทางคมนาคมสะดวกขึ้น   เรือเลยไม่จำเป็นอีกต่อไป  TT_TT  วิถีชีวิตบางอย่างก็เลยพลอยสูญไปด้วย 

นี่ ถ้าไม่ได้เข้ามาอ่านบันทึกพี่นุช   ต้อมก็นึกไม่ออกค่ะว่าเคยนั่งเรือแบบที่เห็นในรูปนี้ด้วย    ^_^   ขอบคุณนะคะ

ปูนแดงน่าเหมือนกับสีโป๊วแดงเลยค่ะ ที่ไว้โป๊วปะรถน่ะค่ะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นนี่ดีจัง

อยู่บ้านริมน้ำต้องคอยระวังเรื่องน้ำท่วมค่ะ หนูก็เตือนคนสนิทใกล้ตัว (อิ อิ ขอยืมคำมาใช้ค่ะ) ว่าอย่าต่อเติมชั้นล่างของบ้าน ปล่อยไว้ยกพื้นสูงแบบเดิมน่ะดีแล้ว แต่ดื้อไม่เชื่อ ปีที่แล้วก็โดนไปเต็มๆ ต้องลำบากแม่ขนของจ้าละหวั่น ตัวเองก็อยู่กรุงเทพฯ กว่าจะกลับไปช่วยได้เอาเรื่องเหมือนกัน โบราณเขาลองกันมานักต่อนักแล้ว เพราะอยุธยาเวลาถึงเวลาน้ำหลากสมัยก่อนก็เป็นแบบนี้ เขาเลยทำเรือนยกสูง บ้านก็ปลอดภัยจากน้ำท่วม สมัยนี้มีเขื่อนก็ใช่ว่าจะปลอดภัย

หนูเสียดายบ้านเก่าสวยๆ ชอบไปต่อเติม ตอนนี้เขาก็ว่าจะต่อเพิ่มออกไปทำโฮมสเตย์อีก ไม่เห็นด้วยเลยค่ะ ค้านตั้งแต่ได้ยินโครงการครั้งแรก คือหนูไม่ชอบรับแขกที่ไม่รู้จักเข้ามาอยู่ในบ้าน ที่สำคัญแม่เขาอายุมากแล้วแถมกลางวันก็อยู่คนเดียว กลางคืนถึงจะมีลูกชายคนเล็กกลับมา มันอันตรายค่ะสมัยนี้ รู้หน้าไม่รู้ใจ

สวัสดีค่ะพี่นุช

แวะมาเก็บเกี่ยวความรู้กับบรรยากาศสบายๆ เช่นเคยค่ะ ^ ^

เรื่องซ่อมเรือเนี่ยไม่เคยรู้เลยค่ะ ได้ความรู้เรื่องนี้ที่นี่ครั้งแรกเลยค่ะ

ส่วนเรื่องสัตว์มีสัญชาติญาณเตือนภัยนั้นเห็นด้วยเลยค่ะ วันไหนถ้าเห็นมดขึ้นมาจากดินในสนามหญ้านะคะ..อีกพักฝนตกเลยค่ะ ^ ^

ขอบคุณนะคะ ^ ^ 

สวัสดีครับ

บ้านผมที่อยุธยาอยู่ริมคลองข้าวเม่าครับ คุณยายของผมท่านก็ยาเรือเป็นครับ และสรุปให้ฟังสั้นๆว่า "ยาเรือเขายาข้างนอก ยาขัน ยาจอกนั้นยาข้างใน"

ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่ส่งสัญญาณให้พวกเราเตรียมตัวและเตรียมพร้อม

เคยทราบว่าที่ประเทศจีนก็มีการติดตามพฤติกรรมของสัตว์บางชนิดและใช้เชื่อมโยง เพื่อเป็นสัญญาณเตือนภัยธรรมชาติครับ

 

สวัสดีค่ะพี่คุณนายด็อกเตอร์

ที่บางพระมีอู่ต่อเรือนายเสริม แกต่อเรืออยู่ทุกวัน ใช้ไม้มะขามเทศ ไม้สน จะอยู่ในน้ำเค็ม ไม่ผุ แต่น้ำจืดจะผุ บ้านพี่ใช้ไม้อะไรต่อเรือคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิตP ก่อนอื่นขอขอบคุณที่สอนวิธีแปะภาพในข้อคิดเห็น แต่ทำไมบางทีมันก็ไม่ยอมให้copy เมื่อคลิก บางภาพก็ทำได้ ภาพที่ต้องการมักทำไม่ได้ แย่จัง

เรือที่ลงชันอุดรอยแยกรอยรั่วเสร็จแล้ว เขาจะนำน้ำมันยางทาให้ทั่ว ผึ่งแดด หรือลมก็ได้แต่ไม่ให้เปียกน้ำ ซักสามสี่วันก็ใช้ได้ค่ะ

พี่ก็ยังพายไม่เก่งหรอกค่ะ ไม่กล้าพายไปไกลๆเอง ตอนน้ำท่วมก็พายอยู่ในบริเวณด้านใน กลัวคนข้างกายดีใจ หากน้ำพัดไป อิ อิ

สวัสดีค่ะคุณสะ-มะ-นี-กะP ดีใจที่มีส่วนส่งผ่านความรู้ให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นค่ะ

เรือที่เรามี เราใช้พายค่ะ ไม่นำมาติดเครื่องยนต์เลยซักลำ คนข้างกายนี่เป็นคนอยุธยาแท้ๆ ขนาดซ่อมก็ยังไม่ยอมให้ขัดให้ดูใหม่ ชอบให้ดูมีคราบที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน ตัวเองดูไปๆเลยชักชอบร่องรอยประวัติศาสตร์ในทุกสิ่ง ของงามไม่จำเป็นต้องเอี่ยมอ่อง

ไปคุยกับลุงโชติมาได้ความรู้ที่น่าสนใจมาอีกเดี๋ยวจะเขียนเล่านะคะ

สวัสดีค่ะคุณเอกP ปกติชาวบ้านที่ยังคงมีความเป็นชาวบ้านจริงๆอยู่ คือยังไม่ลืมการใช้ชีวิตด้วยความรู้ที่เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเข้าใจภูมิประเทศถิ่นที่อยู่ เขาก็จะอยู่แบบเตรียมตัว ว่าหน้าที่มีน้ำหลากมาจากทางเหนือ เขาเรียก"หน้าน้ำ" เป็นสิ่งที่ต้องเกิด ไม่ใช่มองเป็นอุทกภัย บ้านช่อง การทำอยู่ ทำกินก็จะปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล

ปัจจุบันคิดว่าปัญหาที่เกิดมาจากสองทาง ทั้งภายในและภายนอก

ทางแรกคือ ชาวบ้านลืมความรู้ที่จะอยู่ในที่ราบลุ่ม ไปใช้ชีวิตที่แปลกแยกจากภูมิประเทศที่ตนอาศัย เช่น ปลูกบ้านชั้นเดียว หรือทำนากันทั้งปี ปลูกพืชอย่างเดียวที่หากโดนน้ำท่วมก็หมดตัว ขาดภูมิคุ้มกัน ยังไม่ได้หาทางใช้ความรู้ให้สมดุลย์พอกับการที่ถิ่นของตนเป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศใหญ่ที่ล้อมรอบ

อีกทางคือ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเช่นการทำลายป่าไม้ ภาวะโลกร้อนที่ทำให้ฝนมากผิดปกติ น้ำหลากแรง อันตราย หรือการที่ช่วยเป็นที่รับน้ำไม่ให้น้ำท่วมส่วนที่เป็นเมือง ยอมให้พืชผลชาวบ้านเสียหาย พอพ้นน้ำท่วม คนเมืองสบายแล้วแต่ชาวบ้านยังอยู่กับความเสียหายอีกยาวนาน นี่อยู่เหนือการควบคุมของชาวบ้าน

หากชาวบ้านและนักพัฒนายังไม่เข้าใจปัญหาทั้งสองส่วนดี ชาวบ้านคงต้องก้มหน้าต่อเรือหนีน้ำ และใช้หนี้ไปจนตาย

นึกถึงเนเธอร์แลนด์จริงๆ

สวัสดีค่ะคุณปริญากรณ์P นึกถึงวัยเด็กที่มีโอกาสสัมผัสชีวิตเช่นนั้นก็มีความสุขนะคะ ยังพายเรือได้อยู่มั้ยคะ ว่างๆมาพายเรือเล่นที่แม่น้ำป่าสักตรงโค้งนี้กัน ปกติไม่ค่อยมีการสัญจรเท่าไร ปลอดภัยค่ะ

ปูนแดงที่กินกับหมากเป็นสิ่งที่คุ้นเคย เพราะตอนเป็นเด็กชอบช่วยคุณยาย เอาปูนป้ายใบพลู ใส่เครื่องอื่นๆเช่นหมาก กานพลู แล้วตำๆ ให้แหลก ในครกตำหมากที่เป็นกระบอกทองเหลือง

การเรียกข่าย ว่ามองนั้นเป็นเฉพาะถิ่นหรือเปล่านะคะ ไม่เคยได้ยินคนอยุธยาแถวนี้เรียกกัน

ขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันค่ะ

สวัสดีค่ะคุณnaree suwanP นึกถึงและเป็นห่วงชาวบ้านที่จะต้องโดนภัยน้ำท่วมอีกเช่นกันค่ะ เป็นเรื่องซ้ำซาก พี่ว่านอกจากเร่งเรื่องดูแลช่องทางการระบายน้ำแล้ว ชาวบ้านเองต้องปรับตัวโดยการใช้ความรู้ที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ใช้ภูมิปัญญาที่หายไปหรือลืมเลือนไป ภูมิปัญญานี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคนิค แต่เป็นเรื่องของวิธีคิดด้วย ต้องหันมาทบทวนตัวเองกันใหม่โดยด่วนค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์ ได้ดูทีวีเช่นกันและไปเขียนตอบคุณพี่ไว้ในเรื่องที่ชวนดูรายการค่ะ

การซ่อมเรือดูแล้วเหมือนง่ายๆนะคะ ส่วนผสมก็ไม่ได้ซับซ้อน แต่ไม่ง่ายเลยเพราะต้องใช้ความชำนาญจริง ไปคุยกับลุงโชติพบว่าแกมีtacit knowledge อยู่มากมาย คุยด้วยแล้วสนุก

เรืออย่างที่เห็นเรียกว่าเรือม้าค่ะ เดี๋ยวจะเขียนเล่า น่าสนใจมาก เพราะปัจจุบันไม่มีใครทำแล้ว ที่เห็นทุกวันนี้เป็นเรือเก่าทั้งหมดค่ะ

สวัสดีค่ะคุณต้อม P ชีวิตแบบสมัยใหม่ที่สะดวกสบายขึ้น ก็มาทดแทน สิ่งที่เคยเป็นความยากลำบาก แต่เมื่อหมดความยากลำบากแบบนั้น เราก็ได้เจอความยากลำบากแบบใหม่ เดี๋ยวนี่เชียงใหม่น้ำท่วมอย่างเหลือเชื่อ ประการหนึ่งเพราะการสร้างหมู่บ้านจัดสรรมากมาย

เรือก็หายไป ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนก็หายไป ความรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ กิน เลี้ยงชีพในภูมิประเทศที่น้ำท่วมก็หายไป

คนข้างกายพี่เขากำลังสานฝันในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอยุธยาขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่รอ ไม่เกี่ยวข้องกับราชการ ทำเล็กๆ แต่ชัดเจน ส่วนหนึ่งคือการซื้อเรือเก่าๆ ที่ชาวบ้านเลิกใช้ หาช่างพื้นบ้านมาซ่อม และจะนำไปใช้จริงๆ ไม่ใช่ทำพิพิธภัณฑ์

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านเช่นกันค่ะ

สวัสดีค่ะคุณLittle Jazz P ใช่ค่ะคนโบราณแถวอยุธยาเขาปลูกบ้านใต้ถุนสูง ชั้นล่างปล่อยโล่ง เอาเรือ เอาพายขึ้นคานไว้ที่ใต้ถุน น้ำมาก็หยิบใช้ได้ทันการ

พี่มาปลูกบ้านหลังนี้ แล้วทำชั้นล่างแบบใช้ประโยชน์ได้แบบบ้านทั่วไป ครัวกับห้องทานอาหารก็อยู่ที่ชั้นล่าง เพราะไปเชื่อมั่นเทคโนโลยีเกินไปว่ามีเขื่อนแล้วเราคงไม่โดนน้ำท่วม แต่คิดผิด

ตอนน้ำท่วมไปทำครัวที่นอกชานชั้นบนบรรยากาศแสนวิเศษ อิ อิ เลยอ้อนว่าเราทำเรือนครัวใหม่กันเถอะให้ครัวอยู่ชั้นบนซะเลย

ความต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ได้เงิน ให้ชาวบ้านมีรายได้ โดยการทำโฮมสเตย์นั้นพี่ก็ไม่อยากมองเลยค่ะ มองแล้วจิตตก ไม่ได้ต่อต้านเรื่องการให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม แต่คนที่เข้าไปส่งเสริมเองไม่มีความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรม เรื่องท้องถิ่น เรื่องของสุนทรียศาสตร์ โฮมสเตย์หลายแห่งที่คุยนักหนาว่าได้รางวัลเห็นแล้วพูดไม่ออก คนที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของตนเองอย่างแท้จริง จะไปแบ่งปันถ่ายทอดวัฒนธรรมอันละเมียดละไมให้คนต่างถิ่นได้อย่างไร

ประเด็นเรื่องความปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกันค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์กมลวัลย์P เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยได้ใช้เรือกันแล้ว ของที่ไม่ได้ใช้ย่อมสูญหายถดถอยไปจากสายตาและความทรงจำ

ที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลุงๆเขามาซ่อมเรือกัน ครั้งก่อนซ่อมเป็นหลายสิบลำ ก่อนที่จะมาเขียนบล็อก หลังจากนั้นได้อ่านเรื่องที่พี่บางทรายเล่าเรื่องการใช้ชัน การซ่อมเรือ คิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจน่าจะเป็นโอกาสที่ตัวเองจะได้เรียนรู้ ครั้งนี้จึงตั้งใจไปคุย ไปถ่ายรูป เพื่อนำมาเล่า นี่ล่ะข้อดีของการเขียนบล็อกค่ะ

รอต้อนรับอาจารย์ให้มาพายเรือเล่นนะคะ

สวัสดีค่ะคุณข้ามสีทันดรP เก่งจังที่ยังจำคำคุณยายได้....

"ยาเรือเขายาข้างนอก ยาขัน ยาจอกนั้นยาข้างใน"...

คนสมัยก่อนมักใช้คำคล้องจองให้จำง่าย เคยได้ยินเขาพูดถึงวิธีการใช้เรือว่า "เรือขุดใช้ถ่อ เรือต่อใช้พาย" ได้คุยกับลุงโชติจึงเพิ่งทราบว่าทำไม

เรื่องการสังเกตพฤติกรรมสัตว์ และการปรากฏของพืชบางชนิดในการทำนายดินฟ้าอากาศนั้นมีอยู่ในทุกวัฒนธรรมนะคะ วัฒนธรรมสมัยใหม่เขาใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ภูมิปัญญาเขาใช้ตัวเองสังเกตสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

สวัสดีค่ะคุณตันติราพันธ์P เรือที่บางพระเขาต่อแบบนำไปติดเครื่องออกทะเลใช่มั้ยคะ

เรือที่บ้านพี่เป็นเรือเก่าทั้งหมด เท่าที่ทราบ พวกเรือต่อเขามักใช้ไม้สัก ไม้แดง เรือที่โบราณคือเรือขุด เขาจะใช้ไม้ตะเคียนค่ะ

สวัสดีค่ะพี่บางทรายP อยากบอกว่าที่เขียนเรื่องนี้ก็จากแรงบันดาลใจในการอ่านเรื่อง ..เรื่องเล่าจากดงหลวง 100 ขึ้นดอย ตอน ขี้ซี ขี้สูด ชิ้นส่วนของวิถีชีวิต ของพี่นั่นแหละค่ะ

เรือที่เรามีลุงโชติบอกว่าเดี๋ยวนี้แทบไม่มีใครใช้แล้ว เพราะเป็นเรือเก่า ไม่ค่อยมีคนรู้วิธีซ่อม หรืออาจเห็นว่าเรือไม้พวกนี้สภาพดีๆก็จะแพงมาก เลยไปใช้เรือไฟเบอร์กลาสกันหมด มันเบากว่าและไม่ล่มก็จริงแต่เบา พายยากนะคะ

คิดถึงบ้าน กลับมาเยี่ยมบ้านเมื่อไหร่ แวะอยุธยาด้วยนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์

ยิ่งอ่านบันทึกของอาจารย์ ยิ่งรู้สึกถึงการใช้ชีวิตที่ดีกับธรรมชาติ จริง ๆ ครับ สมกับชื่อ blog จริง ๆ

สวัสดีค่ะคุณหมอจิ้น อ่านบล็อกของดร.วัลลาที่ไปทำกิจกรรมที่อุบลฯ รู้สึกถึงความตั้งใจของทุกฝ่าย แม้จะเหนื่อยกันพอดูแต่ก็เชื่อว่ามีความสุขที่จะได้นำความรู้ไปใช้กับงานกับคนไข้ได้จริงๆ

เห็นคนทำงานเพื่อแผ่นดินมีความเหน็ดเหนื่อยกันอย่างยิ่ง มองตนเองทำให้รู้สึกว่าโชคดีที่ชีวิตหันเหให้มาทำประโยชน์ทางอ้อม และเสวยสุขมากทีเดียว อะไรดีๆที่พบจึงอยากแบ่งปันค่ะ

หัดเขียนหนังสือส่งเสริมการอ่านให้เด็กๆ เรื่องบ้านกลางน้ำ ค่ะ (เอาลงบล็อก - บ้านกลางน้ำ ด้วยค่ะ) ได้ข้อมูลจากอาจารย์มาช่วยอธิบายวิธีการยาเรือในเรื่อง แถมลูกทำลิงค์ให้เข้าถึงข้อมูลของอาจารย์ด้วยค่ะ ถ้าเด็กอ่านแล้วไม่เข้าใจ เขาจะได้เห็นภาพจากบล็อกของอาจารย์ค่ะ ขอบคุณที่มีเรื่องดีๆ แถมได้ความรู้ มาให้อ่านเสมอๆ ค่ะ

บันทึกนี้มีคุณค่ายิ่ง  เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่มีน้ำเป็นวิถีชีวิต  ต้องขอบพระคุณท่านมากๆที่บันทึกไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ศึกษาต่อไป

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ประจักษ์Pที่ให้กำลังใจและเห็นคุณค่าของบันทึกนี้ ได้กลับมาย้อนอ่านนึกถึงลุงทั้งสอง ลุงเป้นั้นเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว

ภูมิปัญญาไทยของเราก็หากไม่คิดเรียนรู้ ฝึกหัดไว้ พอหมดคนรุ่นนี้ไปแล้วก็เป็นอันหมดกันนะคะ เหลือแต่วิชาต่อเรือ ซ่อมเรือแบบฝรั่ง

หลานม่อนท่าทางเจริญอาหารนะคะ^__^

สุดยอดเลยครับ ผมกำลังหาวิธีการซ่อมเรืออยู่เลย เรือไม้ที่บ้านยาย ไม่ได้ซ่อมมานาน เนื่องจากยายและป้าที่ทำเป็นได้จากพวกเราไปแล้ว แต่ผมก็อยากสานต่อวิธีการแบบดั้งเดิมไว้

ดีใจจังค่ะที่คุณMaiZ ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ ซ่อมเรือให้สนุกนะคะ

ขอโทษนะคับ ผมอยากรบกวนถามว่าน้ำมันยางหาซื้อได้ที่ไหนคับ คือต้องการใช้ผสมกับชาดผงคับ ช่วยกรุณาบอกด้วยนะคับ ขอบคุณคับ

ได้ถามคนงานเขาบอกว่าก็ต้องหาซื้อตามตลาดแถวที่ยังมีการใช้เรือไม้ ซ่อมเรือไม้ อย่างที่อยุธยามีขายที่ตลาดหัวรอซึ่งเป็นตลาดริมแม่น้ำค่ะ

อันนี้ขอแลกเปลี่ยนนะครับ จริง ๆ ริมฝั่งแม่น้ำป่าสักนี่ น้ำท่วมเป็นเรื่องธรรมดา มาก ๆ เพราะน้ำท่วมมันก็หมายถึงการออกจับสัตว์น้ำปูปลากู้งหอย ข้าวในนาสมัยก่อน ก็รีบพุ่งกอหนีน้ำเองได้ภายในหนึ่งสัปดาห์อย่างน่าอัศจรรย์ ตะกอนหน้าดินที่พัดพามาก็มาทับถมหลายเป็นหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ ยิ่งพ้นช่วงฝนกระหน่ำ เข้าเดือนพฤศจิกายน ลมหนาวเริ่มโชย ที่พวกเราเรียกว่าลมออก น้ำที่ขึ้นสูงก็จะเริ่มถอยลงแต่ยังไม่ถึงระดับปกติ บรรดากอหญ้าพงหนามที่เริ่มย่อยสลายส่งกลิ่นรัญจวนจมูก เป็นเครื่องบอกว่าต้องออกล่ากุ้งฝอย โดยเอาตะแกรงที่สานด้วยไม้ไผ่กว้าน ๆๆๆๆๆ ไปตามกอหญ้าพงหนามที่เหม็นเน่า ได้กุ้งที่เป็นถัง ๆ เอามาทำน้ำพริกกุ้งสด ทำกุ้งชุบแป้งทอดเป็นแพๆ และทำข้าวเหนียวหน้ากุ้ง ทั้งกินเอง แบ่งให้เพื่อนบ้าน

อย่างว่าละครับเมื่อก่อนบรรพบุรุษก็ตั้งบ้านแปงเมืองบนภูมิประเทศตามธรรมชาติ ก็ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยเฉพาะภูมิปัญญาไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากปัญญาล้วน ๆ แต่เป็นเรื่องของพลังแห่งการสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เมื่อคนมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ กับสิ่งแวดล้อมก็สามารถที่จะดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกลมกลืน

แต่การพัฒนาประเทศห้าสิบปีที่ผ่านมาของเราต่างหากที่ทำให้คนไทยหลงลืมภูมิปัญญาบรรพบุรุษ เพราะมีของสำเร็จรูปมาให้ใช้ แถมระบบการศึกษาไทยก็ลดทอนพลังแห่งการสร้างสรรค์ในตัวมนุษย์จนเกือบหมดสิ้น

ขอบคุณอีกครั้งครับที่ทำให้ผมได้เห็นการ "ยาเรือ" อีกครั้งหลังจากที่คนแถวบ้านหันมาใช้เรือพลาสติกสำเร็จรูปกันหมดแล้ว

ป.ล. ครับ ป้านวลที่ถางหญ้านั่น เป็นน้า ลูกพี่ลูกน้องกับแม่ผมเองครับ

คุณโชคดีมากเลยค่ะคุณชัย เสรีชน ที่ยังทันได้สัมผัสชีวิตที่อุดม ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ผู้คนมีสติ และ ปัญญาในการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

การใช้เรือพายนี่นับวันก็จะเหลือน้อยลงทุกที ช่วงสายน้ำป่าสักบริเวณนี้ยังมีให้เห็นไม่ขาด ตอนเช้าราวๆเจ็ดโมงพี่จะเห็นคุณตาคนหนึ่งพายเรือส่งหลานสามคนไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดแค ดูแล้วมีความสุขกับความเรียบง่าย พึ่งพาตนเองด้วยพลังธรรมชาติจากกายและสายน้ำ

ลุงเป้ ผู้ช่วยยาเรือลุงโชติ เสียชีวิตไปสองสามปีแล้ว ชาวบ้านที่ทำเกษตรสมัยใหม่สัมผัสสารเคมีมากๆมานานอายุไม่ยืนเลยค่ะ

วันไหนว่างๆพายเรือมาแวะทานข้าวด้วยกันซีคะ เราน่าจะคุยกันได้สนุก พี่คงได้เรียนรู้จากคุณเยอะ พี่เป็นแค่คนต่างถิ่นที่มาอยู่ตรงนี้แต่อยู่แล้วก็ชอบมากในการที่ได้ทำงานอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ไม่ต้องออกจากบ้านทุกวันค่ะ

ยินดีที่ได้รู้จักคุณพี่เหมือนกัน ที่จริงผมเองหลังจากเรียนจบมัธยมปลายจากนครหลวงอุดมรัชต์ ก็มาอยู่กรุงเทพ และกลับไปหาแม่ เฉพาะวันหยุดยาว ๆ คุณพี่เสียอีกต่างหากที่เป็นคนจากที่อื่นมาปักหลักที่ตะเคียนด้วน-อรัญญิก บ้านผม ได้ถ่ายทอดวิถีชิวิตชนบทออกมาอย่างน่าสนใจและน่าติดตาม อ่ะครับ บ้านผมทำขนมบะบิ่นน่ะครับ วันหลังจะเอาไปแลกข้าวเย็นกินซักมื้อนะครับ จะได้ถือโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณพี่น่ะครับ

ขนมบะบิ่นบ้านคุณชัย เสรีชน คงเป็นเจ้าที่ป้านวลนำมาให้ชิมและพี่สาวพี่ซึ่งอยู่เชียงใหม่ชอบมาก เวลามาบ้านพี่ครั้งใดหากโอกาสเหมาะก็จะสั่งขนมบะบิ่นแสนอร่อยนี้ไปฝากเพื่อนที่เมืองเหนือเสมอค่ะ

กลับบ้านวันหยุดยาวครั้งหน้าคงได้พบกันนะคะ

 

ครับ โทรไปคุยกะแม่มาแล้ว แม่ผมก็บอกว่าพี่สาวของคุณพี่ชอบขนมของที่บ้าน ข้อมูลตรงกันครับ

ยิ่งเข้ามาอ่านบล๊อก แล้วผมคงต้องหาโอกาสรบกวนขอคำชี้แนะในหลายเรื่องราวจากคุณพี่ละครับ

ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง สำหรับการแบ่งปันความรู้ครั้งนี้

ขอบคุณค่ะที่ให้ความสนใจมาเยี่ยมอ่านและเห็นว่าเรื่องนี้มีคุณค่า นับวันช่างพื้นบ้านด้านต่างๆก็เรี่ยวแรงถดถอย เดี๋ยวนี้หาช่างยาเรือเก่งๆได้ยากมากค่ะ

แวะมาอ่านบันทึกนี้มีประโยชน์มากค่ะ กับวิกฤตน้ำท่วมอยุธยา

แวะมาอ่านบันทึกนี้มีประโยชน์มากค่ะ กับวิกฤตน้ำท่วมอยุธยา

ขอบคุณค่ะคุณเก๋ พระนครศรีอยุธยา ที่มาแวะเยี่ยม อยู่อำเภออะไรคะ

ดีใจที่ได้พบกันที่นี่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท