ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (20): โรงเรียนระดับมัธยมของเมืองเพิร์ธ


ต่อเนื่องมาจากเรื่องราวย้อนรอย PhDฯ ที่ลงในวารสารสายใยพยา-ธิของภาควิชาฯ กำลังเล่าเรื่องโรงเรียนเด็กๆเลยไม่อยากให้ห่างกันนักค่ะ ความจริงวันนี้มีเรื่องวันนำเสนอโครงการ Patho OTOP3 ที่อยากเขียนถึง แต่เอาไว้รวมกับพรุ่งนี้ทีเดียวเลยดีกว่า เลยเอาบันทึกย้อนรอยฯมาฝากต่อก่อนนะคะ


โรงเรียนระดับมัธยม

คราวนี้ได้เล่าเรื่องโรงเรียนมัธยมบ้าง เพราะพี่วั้นกับพี่เหน่นนั้น ได้เรียนที่เพิร์ธมาตั้งแต่ Year 3 และ Year 2 ในโรงเรียนประถมแถวๆบ้านคือ Nedlands Primary School อย่างที่เล่าไปตอนที่แล้ว พอจบชั้นสูงสุดคือ Year 7 ก็ถึงเวลาต้องไปต่อโรงเรียนมัธยมซึ่งมีจำนวนน้อยลงกว่าชั้นประถมและอยู่ไกลขึ้น เขตสำหรับการรับนักเรียนของโรงเรียนมัธยมก็เลยกว้างกว่าโรงเรียนประถม แต่ก็ยังคงเหมือนระดับประถมที่ไม่มีการสอบเข้าค่ะ เพียงแต่สมัครโรงเรียนในเขตที่เราอาศัยอยู่เท่านั้นเอง แถมโรงเรียนมัธยมแต่ละโรงยังมีการส่งคุณครูหัวหน้าช่วงชั้น Year 8 มาพร้อมกับนักเรียนที่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนประถมนั้นๆมาที่โรงเรียนในเทอมสุดท้ายของปีเพื่อมาแนะนำโรงเรียนให้รุ่นน้อง โรงเรียนที่พี่วั้นและพี่เหน่นไปเรียน Year 8 ชื่อโรงเรียน  Shenton College จากที่เคยเดินไปโรงเรียน คราวนี้ต้องไปไกลขึ้น แต่ที่นั่นเค้าจัดบริการรถเมล์ตามรายทางที่มีคนใช้บ่อย ซึ่งสะดวกมากเพราะตรงที่เราอยู่เป็นบริเวณมหาวิทยาลัย เป็นที่รวมศูนย์ของรถเมล์อยู่แล้ว พี่วั้นเป็นคนบุกเบิกก่อน เพราะย้ายไปเรียน Year 8 ก่อนปีนึง ขณะที่พี่เหน่นยังอยู่โรงเรียน Nedlands Primary School ใน Year 7 กับน้องฟุงที่อยู่ Year 2

การย้ายไปเรียนโรงเรียนใหม่ไม่มีปัญหาอะไรเลยกับพี่ทั้ง 2 คน ก่อนที่พี่เหน่นจะกลับบ้านเราก็เป็นปีที่อยู่ Year 8 และได้เป็นตัวแทนโรงเรียนกลับไปเล่าและตอบคำถามให้น้องๆเกี่ยวกับโรงเรียนของตัวเองเสียด้วย  สำหรับ Year 8 ขึ้นไปนั้น ค่อนข้างเป็นเด็กโต ที่เรียนหนัก มีหลากหลายวิชา แต่ดูๆแล้ววิธีการเรียนเขาเหมือนเด็กมหาวิทยาลัยเรามากกว่าเด็กมัธยม เพราะเขาจะให้เด็กคิดค้นคว้า มากกว่าการอ่าน และท่องจำตำรา พี่วั้นเองก็บอกว่า เรียนที่โน่นสนุกกว่า ได้ทำอะไรๆนอกห้องเรียน ได้เห็นของจริง เรื่องจริง ชีวิตจริงมากกว่าการเรียนที่เมืองไทย ตอนนี้ทั้งพี่วั้น พี่เหน่นก็ยังคงติดต่อพูดคุยกับเพื่อนๆที่เคยเรียนด้วยกันที่โน่น ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นว่า บ้านเราเรียนวิชาการเยอะกว่าที่โน่นมาก

ทำให้นึกได้ว่า เคยพบกับนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งซึ่งเขาเรียนต่อ Master ทางแล็บ เขาเคยเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนมาเรียนแพทย์กับนักเรียนแพทย์ปี 4 ที่ม.เชียงใหม่อยู่ช่วงหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า เขาประทับใจนักเรียนแพทย์บ้านเรามาก เพราะเรียนรู้ทุกอย่างลึกซึ้งกว่าที่เขาเรียนรู้ที่นี่มากมาย ขนาดว่าเขาเป็นนักเรียนที่ชอบอ่านเขียนท่องจำมากกว่านักเรียนแพทย์ออสซี่คนอื่นๆแล้ว ยังไม่ได้ครึ่งนักศึกษาแพทย์ไทยทั่วๆไปที่เขาเจอเลย แต่เขาก็เห็นว่านักศึกษาแพทย์บ้านเราเครียดกว่าพวกเขาเยอะมากๆ ฟังแล้วไม่รู้ว่าจะดีใจหรือเสียใจดีนะคะ


หมายเลขบันทึก: 127899เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2007 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถาม: ฟังแล้วไม่รู้ว่าจะดีใจหรือเสียใจดีนะคะ

ตอบ: มีทั้งดีใจและเสียใจครับ

          ดีใจที่ฟังแล้งดูเหมือนเราเรียนได้เข้มข้นกว่า

          เสียใจที่เราเรียนแล้วมีความสุขน้อยกว่า และที่สำคัญ ของเราคิดก้าวหน้าไม่เป็นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท