พระอาจารย์มั่น : ตอน จริยาวัตรและศิษย์ผู้เป็นอาจารย์ยกย่อง


พระอาจารย์มั่นได้เข้าถึงแก่นพระธรรมอันวิเศษนั้น

www.dhammathai.com.

ตอน  จริยาวัตรของพระอาจารย์มั่น

 เมื่อพระอาจารย์มั่น มีความศรัทธาในความเพียร วิปัสนาสมาธิด้วยการบริกรรมภาวนาบท พุทโธ  แล้ว   ท่านก็บำเพ็ญตามแนวศรัทธานั้นเรื่อยมา  และกอปรจริยาเป็นกิจวัตร  ๗ ประการ ถือมั่นเช่นนั้นโดยตลอดจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งสังขาร

        จริยาวัตร ๗ ประการนั้นได้แก่  

        ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรกำหนด ไม่รับผ้า ที่เขาถวายด้วยมือ       

        รับภัตตาหารเฉพาะที่เขาถวายในบาตรเท่านั้น ไม่รับภัตตาหารที่เขาถวายส่งมาให้ภายหลัง 

         ฉันภัตตาหารเพียงมื้อเดียวเท่านั้น       

        ฉันภัตตาหารในบาตรที่มีอยู่เพียงภาชนะเดียว       

        มีอัธยาศัยแสวงหาความวิเวก อยู่ในร่มไม้แนวไพร     หุบเขา ถ้ำผา       

         ถือผ้าไตรจีวร ๓ ผืน อันมี สบง  จีวร  และสังฆาฏิ

           บิณฑบาตเป็นวัตรประจำวันสม่ำเสมอ เว้นวันใดไม่ฉันก็งดเสีย

        สำหรับจริยาวัตรอื่นๆ ยึดถือปฏิบัติบ้าง ไม่ปฏิบัติบ้าง ท่านก็สมาทานปฏิบัติตามสมควรแก่กาลสมัย  

      พระอาจารย์มั่น  บำเพ็ญเพียรจิตให้เป็นสมาธิกล้าแข็งขึ้นเป็นลำดับ และสามารถทบทวนพิจารณาปฐมสุบินนิมิตแจ้งชัดว่า  การที่ท่านสุบินออกจากหมู่บ้านไปสู่ป่ารกชัฏ และทุ่งกว้างอันเวิ้งว้างนั้น ก็คือ การที่ท่านสละเพศฆราวาสออกบวช หนีจากโลกอันเป็นที่รวมแห่งสรรพทุกข์  และสามารถฝ่าฟันอุปสรรคคือภัยทั้งปวงจนหลุดพ้นสบายใจ  อีกทั้งยังได้ปฏิบัติด้วยความเพียร คือ ม้าสีขาวบริสุทธิ์ที่นำท่านไปสู่ธรรมอันวิเศษ ที่อยู่ในตู้พระไตรปิฎกอันงามวิจิตร  แต่ด้วยวาสนาบารมียังไม่พอเพียง  จึงได้แต่ชื่นชมอยู่ภายนอก  มิได้ดื่มด่ำรสธรรมอันลึกซึ้งที่อยู่ภายในนั้นได้  

                 ถึงแม้ว่าท่านจะกล่าวถึงปริศนาธรรมอันปรากฏเป็นสุบินนิมิตในเชิงถ่อมตนถึงเพียงนี้ แต่บรรดาผู้ได้พบเห็นปฏิปทาของท่าน  ได้ฟังพระธรรมเทศนาแต่ละบทตอนของท่านแล้ว  ย่อมได้ความซาบซึ้ง ไพเราะจับใจแจ้งชัดว่า  พระอาจารย์มั่น  ได้เข้าถึงแก่นพระธรรมอันวิเศษนั้น  บันดาลให้เกิดปัญญารอบรู้  ฉลาดในอุบายสั่งสอนได้อย่าลึกซึ้ง แก่บรรดามนุษย์และเทวดาทุกหมู่ชั้น ยากที่จะหาพระภิกษุรูปใดในปัจจุบันจะชาญฉลาดเทียบท่านนั้นไม่มี

          ความอันเป็นข้อคิดพิจารณาในตอนนี้  แสดงให้ท่านทั้งหลายพึงตริตรองด้วยปัญญาเถิดว่า 

 การถ่อมตน  เป็นคุณสมบัติที่พึงมีอยู่ในนิสัยการกระทำด้วยกิจอันใด ด้วยใจบริสุทธิ์ กอปรด้วยคุณธรรมย่อมสำคัญกว่าคำพูดโอ้อวดตน   แลบุคคลทั้งปวงย่อมแลเห็นจักกล่าวสรรเสริญยกย่องท่านทั้งหลายเองว่าคือ อริยบุคคลอันควรแก่การเคารพ  

ตอน  พระอาจารย์มั่น  ศิษย์ที่ผู้เป็นอาจารย์ยกย่อง

           พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  ปวารณาตัวเป็นศิษย์ของ พระอาจารย์เสาร์  กันตสีโล ตั้งแต่แรกอุปสมบท  และปฏิบัติธรรมอยู่ ณ วัดเลียบนั้น 

           พระอาจารย์เสาร์  กันตสีโล เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีความเพียรเป็นเลิศ  กิริยามารยาทอ่อนน้อม สุขุม เยือกเย็น  มีจิตเมตตายิ่งดุจธารน้ำใสสะอาด  ที่รินหลั่งไม่เลือกหน้า  พระอาจารย์เสาร์ มีความไว้วางใจในตัวพระอาจารย์มั่นเป็นอย่างยิ่ง  ท่านมอบหมายให้พระอาจารย์มั่น เป็นผู้วางระเบียบการอบรม  วางแผนเผยแผ่พระธรรมแก่อุบาสก อุบาสิกา แต่เพียงผู้เดียว

           พระอาจารย์เสาร์ ถือวัตรปฏิบัติในไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา มั่นคงนัก  ท่านจึงเป็นที่เคารพยกย่องในหมู่ศิษย์ทั้งปวง  โดยเฉพาะพระอาจารย์มั่น ซึ่งนอกเหนือจากให้ความเคารพพระอาจารย์เสาร์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว  ท่านยังมีความกตัญญูกตเวที มีความมั่นคง ยึดถือวัตรปรนนิบัติวัฏฐากพระอาจารย์เสาร์ ในฐานะเป็นศิษย์อันพึงกระทำต่ออาจารย์  แม้ว่าพระอาจารย์มั่นจะอุปสมบทได้พรรษา ๒๖ แล้ว  ท่านก็ยังประพฤติปฏิบัติต่ออาจารย์ดุจพระอุปสมบทใหม่  ด้วยการล้างบาตร  ซักจีวร  ปูที่นอน  ตักน้ำถวายสรง ถูหลัง ให้พระอาจารย์เสาร์มาโดยตลอด  แม้พระอาจารย์เสาร์จะห้ามปรามเท่าใด ท่านก็ไม่ยอม  ด้วยท่านยึดถือกตัญญูกตเวทีเป็นที่ตั้ง

          อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้พระอาจารย์เสาร์จะอยู่ในฐานะเป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น  แต่ด้วยธรรมปฏิบัติ และจริยาวัตรอันงดงามของพระอาจารย์มั่น  พระอาจารย์เสาร์จึงให้การยกย่องแก่ท่านด้วยใจบริสุทธิ์  สิ่งใดที่พระอาจารย์มั่นกล่าวเป็นภาษิต  พระอาจารย์เสาร์ก็รับฟังด้วยใจอันปราศจากทิฏฐิ มิได้ถือตน 

         ปฏิปทาจริยาวัตรอันงดงามของพระบุรพาจารย์ทั้งสองท่านนี้ เป็นที่สรรเสริญยกย่องว่า  เป็นแบบอย่างอันดีที่พึงปฏิบัติตาม  พระอาจารย์มั่น จึงเป็นศิษย์เอกที่พระอาจารย์เสาร์รัก และยกย่องมากที่สุด

        ความอันเป็นข้อคิดพิจารณาในตอนนี้  แสดงให้ท่านทั้งหลายพึงตริตรองด้วยปัญญาเถิดว่า ในฐานะเป็นศิษย์ เราควรประพฤติต่ออาจารย์อย่างไร

บ้าง

        พระพุทธองค์ทรงเทศนาเรื่องนี้ไว้ว่า  ศิษย์พึงปฏิบัติต่อครูอาจารย์ ๕ ประการ คือ

        ๑ ต้อนรับขับสู้ท่าน

        ๒ คอยรับใช้ท่าน

        ๓ เชื่อฟังคำสอนท่าน

        ๔ ปรนนิบัติท่าน

        ๕ เล่าเรียนด้วยความเคารพท่าน

       ผู้ประพฤติปฏิบัติได้เช่นนี้ ย่อมเป็นที่สรรเสริญยกย่องแก่คนทั้งปวงว่า  เป็นอริยบุคคลที่มีความกตัญญูกตเวทียากที่จะหาได้ในยุคปัจจุบัน

       ท่านพุทธทาสภิกขุ  ปรมาจารย์แห่งยุค ได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการกตัญญูรู้คุณครูอาจารย์ไว้ตอนหนึ่งว่า

       " ความระลึกถึงบุญคุณของอาจารย์  มีแต่จะให้อยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนสืบไปไม่มีที่สิ้นสุด  เพื่อรักษาเกียรติแห่งสำนักของอาจารย์  และอุทิศส่วนกุศลแก่อาจารย์พร้อมกันไปในตัว"

(ติดตามตอนต่อไป)

           <p> </p>

หมายเลขบันทึก: 127585เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2007 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท