การสอนครั้งที่ 6 ตรงกับวันพุธที่ 13 ก.ค. 48 ในช่วงเริ่มต้นผมให้นศ.กลุ่มที่ตกค้างในการนำเสนอ Business Model เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวสร้างประสบการณ์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ออกมารายงานปรากฎว่า นศ.ได้นำเสนอธุรกิจของฟาร์มโชคชัยเป็นหลัก โดยเล่าให้ฟังว่า มีกิจกรรมอะไรบ้าง ประกอบกับรูปภาพสวย ๆ ดูเพลิดเพลินดี แต่สิ่งที่ขาดไปคือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในขั้นตอนนี้ คือ Business Model ผมจึง Comment ให้นศ.ปรับปรุงในจุดดังกล่าว เพื่อความสมบูรณ์ของการทำแผนธุรกิจ (Business Plan) ในลำดับต่อไป
ต่อจากนั้น นศ.ทั้ง 5 กลุ่ม ได้ทำการนำเสนอ SWOT-Analysis ภายใต้โจทย์ที่ผมกำหนดไว้ว่าให้เลือกธุรกิจเพียงกิจการเดียว ตั้งชื่อธุรกิจ คิด SWOT ออกมาภายใต้พื้นฐานของตัวเราที่เป็นนักศึกษากำลังจะเรียนจบออกไปสร้างกิจการของตนเอง มีการนำเสนอโดยใช้สื่อ PowerPoint 5 กิจการ ดังนี้
การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงวัวสายพันธุ์ดี เพื่อจำหน่ายลูกวัวและน้ำเชื้อ การทำฟาร์มสุกร การทำฟาร์มแพะโดยเน้นหนักธุรกิจนมแพะ โรงพยาบาลสัตว์ขนาดใหญ่ บริการครบวงจร ธุรกิจ “ฟาร์มโชคชัย”
เมื่อเสร็จสิ้นการนำเสนอในแต่ละกลุ่ม ผมได้เชื้อเชิญให้นศ.ตั้งคำถามและร่วมกันอภิปราย โดยผมจะทบทวน SWOT ทุกประเด็น และออกความเห็นตัดสินกันตรงนั้นว่า ใช่หรือไม่, ควรจะไปปรับ Wording อย่างไร ฯลฯ ข้อจำกัดประการหนึ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงสำหรับการเรียนการสอนในลักษณะนี้ คือ นศ.ขาด Baseline Data เพื่อนำมาใช้ประกอบการกำหนด SWOT เนื่องจากเป็นการวางแผนธุรกิจในกระดาษ อีกทั้งข้อมูลที่แท้จริงซึ่งเป็นกรณีศึกษา Business Plan ของธุรกิจทางด้านสัตวศาสตร์ ยังหาไม่ได้ สภาพตอนนี้ผมจึงเปรียบเทียบว่า “เหมือนกับเปิดประตู-หน้าต่าง เห็นก้อนเมฆ เห็นท้องฟ้า เห็นดวงดาว ก็ไปคว้าจับมากำหนดเป็น SWOT” คือมันค่อนข้างเลื่อนลอย ต้องอาศัยวิจารณญาณของกลุ่มในการสร้างความชัดเจนให้กับแต่ละประเด็น แต่ก็มีข้อดี คือ นศ.ในฐานะผู้ประกอบการหน้าใหม่จะได้ตระหนักถึงแนวทางในการสร้างและบริหารธุรกิจโดยเห็นความสำคัญของการสร้างระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านตัวชี้วัดที่สำคัญ (KPI : Key Performance Indicator) ควบคู่กันไป เพราะสมัยนี้เราเชื่อมั่นกับสิ่งที่เรียกว่า “No Measurement No Management”
นศ.กลุ่มที่ 4 ซึ่งนำเสนอเรื่อง “โรงพยาบาลสัตว์ขนาดใหญ่ บริการครบวงจร” เป็นกลุ่มที่สร้างความประหลาดใจให้กับผมมากที่สุด นั่นเพราะว่า ในครั้งที่ผ่านมาเมื่อตอนเสนอ Business Model ผมให้คะแนนกลุ่มนี้มากที่สุด 8.5 เต็ม 10 มาวันนี้ นศ.นำเสนอนอกเหนือไปจากที่ผมได้ตั้งโจทย์เอาไว้ คือมีทั้ง วิสัยทัศน์, ภารกิจ, เป้าหมายธุรกิจ, การกำหนดกลยุทธ์, ปัจจัยแห่งความสำเร็จ แล้วจึงตามมาด้วย SWOT-Analysis
ผมนั่งฟัง ไตร่ตรองและยับยั้งชั่งใจ เมื่อ นศ.นำเสนอเสร็จแล้ว ผมจึง Comment ออกไปตรง ๆ ในสิ่งที่ผมคิดว่า นศ.คงจะไปค้นคว้าเจอ Business Plan ของธุรกิจดังกล่าวและคัดลอกมา การนำเสนอในประเด็นเบื้องต้นจึงดูดี หรูหรา อลังการ แต่พอถึงตอนออกมาเป็น SWOT ผมใช้คำว่า ค่อนข้าง “หน่อมแน้ม” ไปหน่อย เพราะสิ่งที่ไปคัดลอกมามันไม่มี สรุปว่า “ผมรับไม่ได้” เมื่อแสดงท่าทีออกไปแบบนี้ สังเกตดูว่า เกิดความเครียดเล็ก ๆ ขึ้นมาในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้น เราจึง Clear ทำความเข้าใจกัน
นศ.บอกผมว่า พวกเขาเริ่มต้นทำงานโดยแกะรอยจาก PowerPoint ที่ผมเคยนำเสนอแผนธุรกิจของดาราสาวคนหนึ่งในการสอนครั้งที่ 2 โดยรูปแบบของแผนธุรกิจ มีการเขียนรายงานเพื่อนำเสนอแบงค์ หรือนักลงทุนไปตามลำดับหัวข้อ คือ วิสัยทัศน์, ภารกิจ, เป้าหมายธุรกิจ, การกำหนดกลยุทธ์, ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ฯลฯ ผมเริ่มถึงบางอ้อ เพราะ นศ.ใช้วิธีการ Copy & Development จากภาพใหญ่ไปหาภาพเล็ก ซึ่งผิดกับขั้นตอนที่เป็นธรรมชาติของการแสวงหาทิศทางในการสร้างธุรกิจ
ผมจึงยกตัวอย่าง การเจริญเติบโตของต้นไม้ใหญ่ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงธุรกิจของตนเอง โดยอธิบายว่า เราคงจะตั้งหลักที่ต้นไม้ใหญ่แล้วย้อนกลับไปดูการเจริญเติบโตของต้นไม้ต้นนั้น ทีละขั้น ๆ จนย้อนกลับไปถึงการงอกออกจากเมล็ดคงจะไม่ได้ เพราะปัจจุบัน ต้นไม้ใหญ่ยังไม่มีอยู่จริง ที่สำคัญก็คือ ในทุกขั้นตอนของการเจริญเติบโต เราต้องอยู่กับปัจจุบัน ศึกษาอนาคตธุรกิจที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีแบบแผน แต่เข้าขั้น “แปรปรวน”
กลยุทธ์ที่เราเลือกใช้ในทางธุรกิจ จำเป็นที่จะต้องตัดสินใจรวดเร็ว และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างสอดคล้อง เปรียบเสมือนการเลือกแผนการเล่นในเกมส์อเมริกันบอล ก่อนจะขว้างลูกเพื่อเปิดเกมส์บุกทุกครั้งจะต้องมา “สุมหัว” กันเพื่อเลือกแผนงานที่ได้ประสานงานติดต่อกับโค๊ชข้างสนาม และอยู่บนพื้นฐานการตัดสินใจของควอเตอร์แบค
นศ.ในกลุ่มดังกล่าวอาจจะยังงง ๆ อยู่ แต่ถ้าได้มีการทบทวนอย่างจริงจัง ผ่านทาง Blog เป็นการติดต่อแบบ Blog-to-Blog : B2B หรือซักถามพูดคุยเมื่อเจอหน้า (Face-to-Face : F2F) ก็คงจะเข้าใจกันได้ไม่ช้า และพัฒนาต่อไปได้เพราะผมเชื่อมั่นในความเข้มแข็งทางความคิด สติปัญญาของ นศ.
อีกกลุ่มหนึ่งที่ผม Comment ค่อนข้างหนัก คือ กลุ่มที่ทำการศึกษาธุรกิจ “ฟาร์มโชคชัย” ผมเห็นด้วยกับการกำหนดประเด็นที่จะสร้างธุรกิจการท่องเที่ยวสร้างประสบการณ์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แต่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับยึดเอา “ฟาร์มโชคชัย” มาเป็นประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียว เพราะ นศ.จะได้ข้อมูลจากสื่อมวลชนทั้งในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ และ Internet เป็นหลัก นศ.จะต้องเข้าใจว่า Content เหล่านี้ถูก Built ขึ้นมาโดยมี Hidden Agenda บางประการซ่อนอยู่ สิ่งที่เราอ่านจึงอาจจะ ทุกข์เกินไป, สุขเกินไป, ล้มเหลวเกินไป, เก่งเกินไป ฯลฯ เบื้องหลังที่แท้จริงเราแทบไม่มีโอกาสจะรู้ได้เลย
เริ่มต้นที่พื้นฐาน โดยวิเคราะห์ SWOT ของตัวเราเองน่าจะดีกว่า คือสิ่งที่ผมแนะนำ.