อะไรคือ “ทิศทางอุดมศึกษาไทย” ที่ท้าทายต่อโจทย์ของชาวบ้านจริง?


ในทรรศนะผม ภารกิจพื้นฐานหรือโจทย์หลักของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนในบ้านเมืองเรา ได้มีการเรียนรู้ มีสติปัญญา คิดเป็น และมีอาชีพ ที่จะดำรงชีวิตอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกิน

หน้าการศึกษาของ นสพ.มติชนฉบับศุกร์ที่ ๗ ก.ย.๕๐ มีรายงานเรื่อง นานาทรรศนะทิศทางอุดมศึกษาไทย: จุดเปลี่ยนที่ท้าทาย

รายงานนี้มาจากการประชุมสัมมนาทางวิชาการของที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ ๖ ก.ย.๕๐

 

มติชนสรุปสาระสำคัญของบุคคลสำคัญ ๓ คน ที่ไปพูดในงานนั้นคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมต.ศึกษาฯ ปาฐกถาเรื่อง ความท้าทายอุดมศึกษาไทยในอนาคต และ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ว่าที่เลขาธิการอาเซียน บรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทการศึกษาไทยในกลุ่มอาเซียนในทศวรรษหน้า

 

พลเอกเปรมพูดในประเด็นว่าในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคม ทำอย่างไรให้อุดมศึกษาสร้างความรู้คู่คุณธรรม สร้างความสมานฉันท์ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีภูมิคุ้มกันให้แก่สังคม ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คำพูดหนึ่งของพลเอกเปรมที่ผม(สุรเชษฐ)ชอบมากคือ ผมพูดกับอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายๆ ครั้งว่า หากเราไม่เป็นอาจารย์ด้วยจิตวิญญาณแล้ว เราคงจะขาดสิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นอาจารย์ที่ดี ผมเคยเขียนเรื่องทำนองนี้ในบันทึกเรื่อง จงทำตามที่ครูสอนแต่อย่าเอาอย่างครู และคุณลักษณะหนึ่งของครูคือความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะครูไม่ได้รู้ทุกเรื่อง

 

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ บอกว่า เราไม่ควรผลิตคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมไทยเท่านั้น แต่เพื่อผลิตบุคลากรโลกด้วยได้หรือไม่ คือทำให้ไทยเป็น hub (ศูนย์กลาง) ด้านการศึกษาของโลกด้วย ท่านบอกว่าอันนี้จะเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่จะขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ไปแข่งกับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ พร้อมยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่สิงคโปร์มีนักศึกษาต่างชาติไปเรียนอยู่ราว 5 หมื่นกว่าคน

ผมเปิดดูข้อมูลของกระทรวงศึกษาฯ สิงคโปร์ พบว่า คนสิงคโปร์เองที่จบมัธยมแล้วเรียนต่อมีเพียง 28,901 คน (ข้อมูลปี 2549) นั่นคือ เขาประสบความสำเร็จในการขาย การศึกษา ให้คนต่างชาติ เมื่อค้นดูในเว็บไซต์ยังพบว่า รายได้จากธุรกิจการศึกษาของเขาขณะนี้ตกปีละพันล้านเหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพี เขาตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2558 จะเพิ่มตรงนี้เป็นร้อยละ 5 และเขาก็มุ่งมั่นทุ่มเททรัพยากรลงไปตรงนั้นมาก ตั้งหน่วยประสานงานเรื่องนี้ขึ้นจาก 5 หน่วยงานเลย รวมทั้งการท่องเที่ยวด้วย

เมื่อนำความคิดคุณสุรินทร์มาเชื่อมโยงกับข้อมูลดังกล่าว ผมก็เลยเกิดคำถามขึ้นในใจว่า โจทย์ ทิศทางอุดมศึกษา ที่ท่านกล่าวถึงคืออะไรกันแน่

ตามข้อมูลข้างต้น โจทย์ของสิงค์โปร์คือจะเอาการศึกษามาเป็นสินค้าและบริการอีกตัวหนึ่งที่จะนำรายได้เข้าประเทศในสัดส่วนที่สูงขึ้นได้อย่างไร เพราะรายได้หลักของประเทศเขามาจากการค้าและบริการ เขาไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกหรือพื้นที่สำหรับทำอะไรมาก เขามีคนเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุด และประชากรเขามากกว่าครึ่งประเทศก็จบอุดมศึกษา (ประชากรไทยจบอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 12)

ผมว่าโจทย์ของบ้านเราน่าจะเป็นคนละอย่างกับสิงคโปร์

 

ผมว่าเราไม่ควรไปทุ่มเทเวลา ปัญญา และทรัพยากร ไปกับการกำหนดทิศทางอุดมศึกษาไทยให้เป็นธุรกิจการศึกษาที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศ ไม่ต้องกำหนดยุทธวิธีพัฒนาการอุดมศึกษาไทยด้วยการแข่งกับสิงคโปร์หรือประเทศไหนในอาเซียน

 

อย่างไรก็ตาม หากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดจะทำเช่นนั้นก็เป็นเรื่องของเขา เพราะเขาต้องแข่งขันต้องอยู่รอดด้วยตัวเขาเอง แต่กระทรวงศึกษาไทยไม่ควรไปเล่นเกมนั้นกับเขา

 

ยิ่งถ้าเข้าใจที่พลเอกเปรมปาฐกถานำเกี่ยวกับภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องมีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสังคมให้มีคุณค่าต่อการสร้างความรู้คู่คุณธรรม สร้างความสมานฉันท์ รวมทั้งเรื่องสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการมีภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว กระทรวงศึกษาธิการไทยและหน่วยงานการศึกษาของรัฐที่ใช้เงินภาษีประชาชนยิ่งไม่ควรไปทำเรื่องดังกล่าว

 

อีกคนหนึ่ง คือ นายวิจิตร ศรีสะอ้าน รมต.ศึกษา ดูเหมือนท่านทำท่าจะตีโจทย์แตกเมื่อท่านพูดว่า สิ่งที่ท้าทายอุดมศึกษาไทยคือการนำสังคมไทยสู่สังคมฐานความรู้ แต่พอขยายความลงไปในรายละเอียด ผมอ่านแล้วงง เพราะเนื้อหาที่ตามมา ผมไม่พบคำตอบว่าท่านจะทำอย่างไรในการนำสังคมไทยสู่สังคมฐานความรู้ ท่านพูดเรื่องงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็เกี่ยวข้องอยู่บ้างแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด แล้วก็ไปลงในรายละเอียดเรื่องเส้นทางความก้าวหน้าของบุคลากรสายผู้สอนสายวิชาการ ที่ท่านจะเสนอ กพอ.ให้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะให้สองกลุ่มเติบโตข้ามสายได้ ฯลฯ  แล้วก็มีเรื่องมหาวิทยาลัยต้องให้บริการวิชาการและการผลิตบัณฑิตที่ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของผู้ลงทุน (ใครคือผู้ลงทุน???)

แต่ก็รู้สึกดีขึ้นมาหน่อยตรงที่ท่านพูดว่า มหาวิทยาลัยไม่ควรลอยตัวเหนือชุมชน ต้องเข้าไปดูแลและเชื่อมต่อชุมชนและท้องถิ่น แต่ก็ไม่เห็นมีการอธิบายขยายความอะไรตรงนี้ (เขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่ผมทำอยู่ นั่นคือการร่วมกับมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งเข้าไปเชื่อมต่อชุมชนท้องถิ่นตามที่ท่านว่า ทำมาสองปีแล้ว แต่ผมไม่เห็นความพยายามอย่างเพียงพอของท่านในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นสามารถทำอย่างที่ท่านว่าได้อย่างสะดวก ทั้งในด้านหลักสูตรและด้านทุนกู้ยืมเรียน)

กลับมาเรื่องปาฐกถาของท่าน โดยสรุปคือผมอ่านแล้วไม่สามารถโยงส่วนที่เป็น body of message ที่ท่านเสนอ กับส่วน intro ที่ดูดี(และน่าตื่นเต้นมาก)ของท่านไม่ติด หรือว่าบางทีการทำงานบริหารที่อยู่กับรายละเอียดมากมายหลายเรื่องพร้อมๆ กัน ก็เลยทำให้พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จนบดบังทรรศนะหลักเรื่อง ทิศทางอุดมศึกษาไทยที่จะนำพาสังคมไทยสู่สังคมฐานความรู้ (อาจเป็นไปได้ว่าท่านพูดตรงนั้นแล้วก็ได้ แต่มติชนไม่ได้เอาตรงนั้นมาสรุปรายงานด้วย)

 

ที่ผมอยากฟังหรืออยากเรียนรู้จากท่านก็คือ ท่านจะมีวิธีผลักดันอุดมศึกษาไทยไปสู่ตรงนั้นอย่างไร เพราะคำตอบ how สำหรับเรื่องนี้คงต้องผ่านการใช้พลังความคิดและกระบวนการคิดมากทีเดียว

 

ในทรรศนะผม ภารกิจพื้นฐานหรือโจทย์หลักของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนในบ้านเมืองเรา (เอาบ้านเมืองเราก่อน ยังไม่ต้องพูดถึงบ้านเมืองอื่น) ได้มีการเรียนรู้ มีสติปัญญา คิดเป็น และมีอาชีพ ที่จะดำรงชีวิตอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกิน (คำพูด ดร.เสรี พงศ์พิศ) โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ซึ่งตามความเข้าใจผมไม่ใช่การมุ่งแข่งกับคนอื่น แต่แข่งกับตัวเอง แข่งกับความไม่พอเพียงของตัวเอง กับกิเลสของตัวเองก่อน แต่ละคนสามารถประเมินว่าแค่ไหนคือ พอประมาณ สำหรับตัวเอง อย่างไรจึงเรียกว่า "มีเหตุมีผล" และจะสร้าง "ภูมิคุ้มกัน" สร้างความยั่งยืนให้ตัวเองอย่างไร

จะทำการศึกษาอย่างไรให้คนมีความมั่นใจในตัวเอง ไม่เอาชะตากรรมของตัวเอง ของครอบครัว ของชุมชนไปฝากไปตั้งความหวังไว้กับคนอื่น กับธนาคารกับนายทุนเงินกู้หรือกองทุนเงินกู้กองทุนฟื้นฟู กับผู้แทน (หรือแม้แต่กับรัฐบาล) 

จะทำการศึกษาอย่างไรให้คนใช้ความรู้เป็นฐานในการคิดการตัดสินใจ รู้จัก-สามารถแสวงหา-และใช้ข้อมูล-ข่าวสาร-ความรู้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ใช้ มั๊งศาสตร์ (คำของคุณหมอประเวศ วะสี หรือลุงประยงค์ รณรงค์ จำไม่ได้) ที่ทำบนฐานการ เข้าใจว่า เชื่อว่า คิดว่า สรุปคือบนฐานความไม่รู้ ที่คิด-เชื่อ-และทำอะไรโดยไม่ใช้ข้อมูล ไม่มีความรู้ (หรือทำตามคนอื่นบอก คนอื่นหลอก)

 

เคยได้ยินผู้บริหารบางคนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาพูดถึงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่าต้องครอบคลุมถึงผู้ใหญ่ในสังคมที่ทำงานแล้ว ที่ขาดโอกาสที่จะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือการศึกษาระดับอุดมศึกษานอกระบบ นั่นคือท่านสามารถมองการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้เลยออกไปจากการศึกษาที่จำกัดอยู่แต่ผู้ใหญ่วัยต้น (young adult) ซี่งเป็นเรื่องน่ายินดี

 

ปัญหาก็คือ how อีกนั่นแหละ ฟังคล้ายๆ กับว่าให้วิทยาลัยชุมชนเป็นกลไกสำคัญ

 

โดยหน้าที่การงานของผมทำให้ผมได้รู้ว่ามีประชาชนจำนวนมากมายมหาศาลที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วแผ่นดินนี้ ที่ต้องการโอกาสในการศึกษา แต่ไม่มีหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาอุดมศึกษาผู้ใหญ่ในบ้านเรา (หลักสูตรทางไกลแบบให้ผู้ใหญ่ท่องหนังสือไปสอบไม่ใช่คำตอบ)

 

ผมกำลังพูดถึงการศึกษาระดับ อุดมศึกษา ที่เรียนเพื่อ รู้คิด ได้ทั้งปริญญาชีวิตทั้งปริญญาวิชาการด้วย ไม่ใช่หลักสูตรฝึกอาชีพ

 

ประสบการณ์ที่ทำโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นสิบกว่าแห่งกับศูนย์เรียนรู้ของท้องถิ่นที่ประชาคมในท้องถิ่นเป็นเจ้าของเอง(ไม่ใช่ สาขา ของมหาวิทยาลัยหรือของหน่วยงานผม) ยิ่งทำก็ยิ่งเชื่อว่า การอุดมศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ตามแนวทางที่ทำอยู่นี้เป็น ทิศทางที่ท้าทาย จริงๆ

เป็นการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่พยายามตอบโจทย์ว่าการเรียนการสอนแบบไหนที่เอาชีวิตของผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่เป็นตัวตั้ง

  

เป็นการเรียนรู้ที่เอาปัญหาในชีวิตในชุมชนเป็นตัวตั้ง

เป็นการจัดการเรียนรู้จากการปฏิบัติกับปัญหาเหล่านั้นจริง (ไม่ใช่ท่องหนังสือสอบ) 

และเมื่อเรียนแล้วชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว ดีขึ้นระหว่างเรียนเลย ไม่ต้องรอให้เรียนจบได้ใบปริญญาก่อนแล้วค่อยเอาความรู้ไปใช้

สุดท้ายขณะเรียน(ในกลุ่มรายวิชาการจัดการชุมชนหลายวิชา)ก็สามารถฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนไปในขณะเรียนเลย (เป็นเนื้อเดียวกันเลย) 

สำหรับผมแล้ว นี่คือ ทิศทางอุดมศึกษาไทยที่ท้าทายต่อโจทย์ของชาวบ้านจริง

 

ผมยังจำคำพูดคุณหมอประเวศ วะสี เมื่อปลายปีที่แล้วว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำนี้เป็นการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริงในรอบร้อยปีเลยทีเดียว!

 
หมายเลขบันทึก: 126930เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2007 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ศูนย์เรียนรู้จัตุรัส ชัยภูมิ
ความคิดของคนยังยึดติดกับสถาบัน แม้สถาบันเดียวกันยังดูถูกคณะ บอกใครว่าเรียนมหาวิทยาลัยชีวิตแม้แต่ราชภัฎด้วยกันยังดูถูกว่ากระจอก ทำไมไม่คิดว่าการที่คุณจะเรียนอะไรสิ่งที่คุณได้แน่ๆคือความรู้ ทำไมมัวแต่พะวงถึงตัวหนังสือที่ปรากฎบนกระดาษแผ่นเดียว
เข้ามาเก็บความรู้เอาไปคิดต่อครับ

อาจารย์ครับ ผมต้องการให้อาจารย์รับรู้เช่นกันว่าการมาศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตเป็นเรื่อง

ที่ท้าทาย มากๆเพราะการมาเรียนในสาขาแบบนี้ได้เกิดคำถามในชุมชนของผมว่า นักศึกษาที่จบโครงการนี้จะมีความรู้ มีคุณธรรม จริงหรือไม่ แล้วการจบโครงการนี้จะสามารถหางานทำได้หรือไม่ ผมได้ตอบคนอื่นไปว่าที่มาเรียนหลักสูตรนี้ไม่ได้ต้องการเอาไปสมัครงานที่ไหน แต่เรียนเพื่อให้มีความรู้และสามารถจัดการกับชีวิตตนเองได้ คือใช้จริงๆได้ โดยส่วนตัวผมแล้วผมมีความเชื่อว่าโครงการนี้กำลังพานักศึกษาไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้วครับ ผมมีข้อเสนอที่ต้องการให้อาจารย์รับทราบนะครับว่า หากต้องการให้นักศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตสามารถลงไปพัฒนาชุมชนได้ หรือมีบทบาทสามารถช่วยเหลือประสานงานในชุมชนของตนเองได้ ต้องมีการปรับแผนการเรียนบางวิชาให้ตรงมากกว่านี้ครับ โดยอาจารย์ผู้สอนต้องสามารถแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆได้จริง และสามารถให้นักศึกษามีส่วนในการแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยครับ จะเป็นการดีมากๆที่นักศึกษามีโอกาสได้ทดลองทำด้วยตนเองอย่างแท้จริง ตอนนี้บางวิชายังสอนแบบท้องจำอยู่ครับ(ส่วนน้อย) ผมฝากอนาคตไว้ที่อาจารย์แล้ว อาจารย์โปรดนำทางที่ดีมาสู่พวกเราด้วยนะครับ

นักศึกษาโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ศูนย์เรียนรู้พญาแล จังหวัดชัยภูมิ

 

ขอบคุณคูณปิยะราชย์ มากครับสำหรับความเห็นและข้อเสนอ ขอตอบดังนี้ครับ

๑.นักศึกษาจบโครงการนี้แล้วจะมีความรู้ มีคุณธรรมจริงหรือไม่?

ตอบ ต้องมีความรู้แน่นอนครับ และไม่ใช่มีเมื่อ "จบ" แล้ว แต่มีตั้งแต่ก่อนสมัครมาเป็นนักศึกษาแล้ว และระหว่างเรียนก็ได้จัดระบบความรู้ และสังเคราะห์(สร้าง)ความรู้ด้วยตัวเองเพิ่มขึ้นอีก โครงการนี้ไม่เน้นการให้นักศึกษาท่องจำความรู้ไม่ว่าจากหนังสือหรือจากผู้สอนอยู่แล้ว แต่ต้องรับรู้เพื่อนำมาพิจารณาเป็นข้อคิด เป็นแนวทางที่จะสร้างความรู้ของตัวเองขึ้นด้วยตัวนักศึกษาเอง โดยผ่านการปฏิบัติจากโจทย์ในชีวิตจริงของนักศึกษาแต่ละคนแต่ละกลุ่มเอง (เรียนแบบรุก) ส่วนคุณธรรมนั้นผมเชื่อว่าต้องมีเช่นกัน เราคาดหวังเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียนร่วมกกันเป็นกลุ่มแต่การเกิดการเรียนรู้ของแต่บุคคลอาจไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน เพราะการ "เรียนรู้" ถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

จบแล้วจะสามารถหางานทำได้หรือไม่?

ตอบ โครงการนี้ที่ทำกับทุกมหาวิทยาลัยกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าศึกษาว่า "ต้องเป็นผู้ทำงานแล้ว" หากมีคนยังไม่ทำงานเล็ดลอดเข้ามาเรียนบ้าง ก็ต้องหาวิธีให้เขาได้ทำงานตั้งแต่เรียนเลย เพราะจริงๆ แล้วการทำงานคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด มีหลายวิชาในปี ๒ ปี ๓ ที่หากได้ทำงานจะทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่ได้หากเป็นคนที่ไม่ได้ทำงาน สรุปคือต้องหางานหรือสร้างงานทันทีระหว่างเรียน  หากสังเกตรายวิชาในหลักสูตรนี้จะไม่มีการสอน "วิชาชีพ" อะไร (เพราะผู้เรียนมีวิชาชีพแล้ว) แต่เน้นที่การจัดระบบการคิด การจัดระบบระเบียบชีวิตตัวเอง และการจัดระบบชุมชน ที่สำคัญคือ มุ่งให้ผู้เรียนเรียนแล้วทำมาหากินอยู่ในท้องถิ่นต่อไป ตามสโลแกน "อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกิน ช่วยตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้" อย่างไรก็ตาม หากใครจบแล้ว ต้องการใช้ใบปริญญาไปหางานอื่นทำ หรือปรับวุฒิก็ไม่ว่ากัน แต่หากผู้ที่จบแล้วพากันทิ้งถิ่นไปหางานทำในเมืองหรือกรุงเทพฯ กันเป็นจำนวนมาก ก็ถือว่าโครงการล้มเหลว จะต้องเลิกโครงการไปในที่สุด (เพราะไม่ต่างกับอุดมศึกษากระแสหลักที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำกันอยู่ ไม่รู้จะทำไปทำไมอีก)

ขอบคุณครับที่ช่วยประเมิน ต้องยอมรับว่าที่ทำอยู่การติดตามประเมินการเรียนการสอนของโครงการเองยังไม่เข้มข้นพอ ยังมีอาจารย์ในบางรายวิชาศึกษาทั่วไปที่ถนัดบรรยายและประเมินโดยออกข้อสอบแบบท่องจำอยู่(บ้าง) ซึ่งก็ต้องปรับครับ ส่วนในวิชาเฉพาะอาจมีอยู่บ้าง แต่น่าจะน้อยกว่า

เชี่ยวชาญ ก่องนอก

การเข้ามาศึกษาในโครงการม.ชีวิตนี้ เป็นหลักสูตรที่พัฒนาคนและเป็นหลักสูตรที่สามารถนำไปพัฒนาชุมชนเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งทำให้เกิดการกลับมามองตัวเองตามสภาพความเป็นอยู่เพราะสังคมโลกทุกวันนี้ ไม่เหมือนแต่ก่อนทำให้คนหลงกระแสจนทำให้บ้าบริโภคตามสื่อ จริงๆแล้วคนทุกวันนี้เป็นหนี้ เป็นสินกันทั่วทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เพราะเหมือนไม่รู้จักพอ นับว่าม.ชีวิต สถาบันนี้จึงเป็นสถาบันเดียวที่จะสามารถพัฒนาคนได้จริง ผมจริงขอเป็นกำลังใจเพราะว่าอาจารย์นั้นก็ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจไว้มาก.........................ชาลี  ไร่ผักหวาน(เกษตรอินทรีย์)

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
ขอบคุณครับที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท