Foot care ในประเทศลาว


การทำงานด้านดูแลเท้าผู้ป่วยเท้าชาโดยเริ่มจากสภาวะที่ติดลบ
           เมื่อวันที่ 17-21 สิงหาคม 2550 ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูแลเท้าผู้ป่วยเท้าชา ที่ หมู่บ้านหลักสามสิบ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว โดยเป็นความร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงสาธารสุขประเทศลาว  สถาบันราชประชาสมาสัย และ Yumemoto dental service group ประเทศญี่ปุ่น     เป็นการดูแลแบบองค์รวม คล้ายๆกับ PCU บ้านเรานั่นเองครับ
        ตอนที่เริ่มโครงการใหม่ๆเราเข้าไปที่นี่ทุก 3 เดือน ประมาณ 2 ปี ก็เข้าเฟส 2 ซึ่งจะลดความช่วยเหลือจากภายนอก เหลือปีละครั้ง ระหว่างนั้นให้อยู่ในการดูแลทีมประเทศลาวในการดูแลผู้ป่วย
        ครั้งนี้ตอนแรกผมกังวลมากเพราะ อ.สมเกียรติ มหาอุดมพร หัวหน้าทีมชาวไทย และ ศจ.ยูมิโมโต หัวหน้าทีมญี่ปุ่นไม่ได้มาด้วย ปล่อยให้เด็กๆ ทำงานกันเอง จะรอดหรือปล่าวก็ไม่รู้
       
                             สภาพแวดล้อมโดยรวมของหมู่บ้าน
      ที่นี่มีคนไข้ Neuropathy foot ประมาณ 200 คน เริ่มแรกเราจะ screening เท้าชา ไม่ชา ก่อนหากมีแผลก็จะทำการบันทึก ตำแหน่งและขนาดเอาไว้ ครั้งนี้ ดีใจมาก โดยรวมแล้วสุขภาพเท้าคนไข้ดีขึ้นมาก จากหนึ่งปีที่ผ่านมา ทั้ง calluses และแผลน้อยลงกันทั่วหน้า
          
        
       เมื่อ screening เรียบร้อยจะนำมาเข้ากลุ่มสัมพันธ์เพื่อ Empowerment ในการดูแลตนเอง เพราะเราเจอเค้าแค่ปีละครั้ง แต่เค้าต้องเป็นคนที่อยู่กับเท้าเค้าตลอดเวลา เราต้องทำให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นว่าเค้าสามารถรักษาแผลที่เท้าเค้าได้ด้วยตนเอง
      โดยคุณ ฮารุโยะ อาเบ้ พยาบาลอาสาสมัครชาวญี่ปุ่น เป็นผู้นำในการเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ (คุณอาเบ้ พูดลาวได้พอสมควรครับ)   คุณอาเบ้บอกว่าเราต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ เป็นผู้ช่วยให้เค้าเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหา+วิธีแก้ไข เพราะคนไข้คนที่สำคัญที่สุดของทีมเรา หายไม่หายก็ขึ้นกับเค้าด้วยเช่นกัน
 คุณอาเบ้กำลัง Empowerment ผู้ป่วย ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างกันเลย
  การแช่เท้าหมู่
        จากนั้น หากใครที่มีหนังแข็ง(Calluses) จะมาแช่เท้าในน้ำสะอาด พร้อมกัน (ดังรูป) กะละมังซื้อจากห้างแถวอุบลนี่เองครับ
        แล้วคุณอาเบ้จะสาธิตการใช้หินขัดหนังแข็งที่เท้า ที่น่ารักคือเค้าให้ผู้ป่วยเอาหินมาเอง เก็บจากข้างถนนบ้าง ลำธารบ้าง เพราะเราอยากให้ ใช้อุปกรณ์ที่หาง่ายๆ ไม่ต้องซื้อ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะของประชาชนในชุมชนที่ รายได้ไม่ถึง 1000 บาทต่อปีหรือกล่าวอีกอย่างคือไม่ถึง 25,400 กีบต่อปี
                 
   พี่เอ นักกายภาพบำบัดจาก ร.พ.องครักษ์กำลังตั้งใจ trim callus ในเคสที่หนามากๆ อย่างขมักเขม้น
       หากใครมีแผลเราจะสอนวิธีการเดินไม่ให้ลงน้ำหนักที่แผล การสังเกตุ Infection การช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นเกี่ยวกับการ Off Loading ง่ายๆ เช่น หาไม้แถวนั้นมาทำไม้ค้ำยันรักแร้ แล้วเดินแบบ non weight baring สนุกไปอีกแบบครับ
                       
       กลุ่มเสี่ยง เท้าชาและมีเท้าผิดรูป(deformities) มีแผลอยู่หรือเคยมีแผล เราจะตัดรองเท้าให้ทุกราย       โดยอาจมีการออกแบบบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแรงกดที่แผลหรือจุดอ่อนต่างๆ
       รองเท้าของเราใช้โฟมธรรมดาซื้อจากวงเวียนใหญ่ หนังหน้าใช้ยางในรถยนต์ (ขอบอกว่าทนทานมาก) ประกอบ แล้วตีเป๊กใส่สายรัดส้น เท่านี้เอง ได้รองเท้าเบาหวาน 1 คู่แล้ว ครบตามทฤษฏีด้วย
                       รองเท้าผู้ป่วย Neuropathy foot
            1. พื้นในส่วนสัมผัสเท้านุ่ม พื้นนอกแข็งกันของแหลมแทง
            2.หนังหน้าปรับได้ ตามขนาดเท้า
            3.มีสายรัดส้นกันหลุด
             
                  Shop รองเท้า (รูปเก่าเมื่อปีที่แล้ว)
     ส่วน Shop รองเท้า ก็ง่ายๆ มีโต๊ะตัวนึง กาว กรรไกร เครื่องฝน(Grinder)ติดเครื่องดูด 1 ตัว ก็ทำงานได้แล้ว เราเน้น manual ล้วนๆครับ สนุกดี อุปสรรคก็มีครับ เช่น เราไปช่วงหน้าฝน มีพายุเข้าพอดี ทากาวแห้งช้ามากครับ เพราะความชื้นสัมพัทธ์สูง ก็เลยเสียเวลาไปพอสมควร 
                 
      อย่างที่บอกตอนนี้เป็นเฟสสอง ก่อนสละเรือให้เจ้าภาพเราได้หาผู้กล้าในชุมชน(เสื้อสีขาว) ซึ่งเป็นผู้ป่วยเองมาร่วมกันตัดรองเท้าออกแบบการ off loading ง่ายๆโดยหวังให้เค้าเป็นตัวหลักหลังจากที่ไม่มีพวกเราแล้ว
               
    ครั้งนี้น้องเพียว นักกายภาพบำบัดน้องใหม่จากรั้วจามจุรี ประเดิมงานแรกที่ลาว ก็เจอของแข็งเลย Very high risk foot
     สี่วัน เราตรวจเท้าผู้ป่วยไป150ราย ทำแผล ขูดหนังแข็ง ไปกว่า 200 จุด ตัดรองเท้าไปกว่า 100 คู่ ก็ทุบสถิติของทุกครั้ง ไม่รู้เหมือนกันว่าได้แต่ปริมาณรึปล่าว  คราวหน้าต้องมาประเมินอีกครั้งว่าได้เรื่องคุณภาพด้วยหรือไม่
    ไม่ใช่ทุกรายที่เราสามารถช่วยเหลือได้มาครั้งนี้มีผู้ป่วยสองราย ที่เป็นแผลเรื้อรังแล้วเปลี่ยนเป็นมะเร็ง(Squarmous cell carcinona:SCC) คงต้องให้แพทย์ในท้องถิ่นตัดอวัยวะที่เป็นมะเร็งออก แต่มีหนึ่งรายที่ไม่จำเป็นต้องตัดถึงขาระดับล่าง(BK amputation) เพราะสามารถตัดแค่เท้าส่วนหน้าออกเท่านั้น ก็ยังดียังพอเหลือเท้าให้เดินอยู่บ้าง

                       

    ขอขอบคุณเพื่อนๆทุกคนทุกเชื้อชาติ ที่ช่วยทำให้งานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปครับ
           ที่แรกตั้งใจแค่มีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นภาระใครก็ดีแล้ว แต่ตอนนี้มนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราๆ มีชีวิตที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง  ได้แค่นี้ก็เกินตั้งใจมาตั้งเยอะแล้วครับ
คำสำคัญ (Tags): #เท้า เบาหวาน
หมายเลขบันทึก: 126805เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2007 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • โห  สุดยอดเลยครับ
  • เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก
  • ผมชอบไปเที่ยวลาวมาก
  • จะตามอ่านนะครับ

โครงการแบบนี้จะมีที่บ้านนอกเมืองไทยหรือเปล่า..อยากจะให้มาบ้านเราบ้าง..ติดต่อได้อย่างไร

มีวิจัย การศึกษาเปรียบเทียบผลการใช้ใยบวบกับหินทรายแม่น้ำ(มะหินจาเป็นภาษาพื้นเมือง) ในการลด Callus ในผู้ป่วยเบาหวานศูนย์สุขภาพชุมชนแม่หล่าย อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ยินดีแลกเปลี่ยนค่ะและดีใจที่มีผู้สนใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท