แนวคิดการจัดศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ
สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการเรียนรู้ที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่เริ่มมีพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
ดังนั้นคณะผู้บริหารและคณะกรรมการสถานศึกษาจึงได้พร้อมใจกันจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมาบนเนื้อที่
16 ไร่ ที่บริเวณตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ให้ชื่อว่า
"ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติสนองแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง"
ภายในศูนย์ได้จัดแบ่งพื้นที่ส่วนต่างๆออกเป็นพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นหลากหลายชนิด พืชแต่ละชนิดจะมีป้ายชื่อและสรรพคุณซึ่งทำขึ้นตามหลักเกณฑ์วิธีการของสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนปลูกผักสวนครัวในแปลงเกษตร ขุดบ่อเลี้ยงปลา มีเล้าหมู และบ้านพักพร้อมทั้งศาลาเรือนไทยกลางน้ำสำหรับเป็นที่จัดกิจกรรมต่างๆ จุคนได้ประมาณ 200-300 คน
กิจกรรมการเรียนรู้ลักษณะบูรณาการ
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ใช้ศูนย์แห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ลักษณะบูรณาการ
ตามหลักสูตรสถานศึกษา "บริบทอยุธยา"
ซึ่งนักเรียนทุกคนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.3
ได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้ตามตารางเรียนที่กำหนดไว้
ประมาณสัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างต่ำ
แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นไปตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้มาร่วมกันจัดทำ "แผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ" โดยมีการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ เป้าหมายและธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละระดับ ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3)เข้าไปศึกษาตามฐานการเรียนรู้ภายในศูนย์ แบ่งออกเป็นฐานต่างๆ เช่น ฐานพฤกษาพาเพลิน พฤกษาสารพัดประโยชน์ ฯลฯ เมื่อนักเรียนได้ทำกิจกรรมแต่ละฐานตามใบงานหรือใบสร้างความรู้ที่ครูกับนักเรียนได้ร่วมกันกำหนดไว้แล้ว ครูผู้สอนสามารถจะวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามสภาพจริง โดยการสังเกต สอบถาม และตรวจผลงานของนักเรียน กระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆเหล่านี้เป็นไปตาม"รูปแบบการสอนของจิระศาสตร์ หรือ JIRASART Teaching's Model" (ดูรายละเอียดจาก www.jirasart.com)
ผลงานความสำเร็จและความภาคภูมิใจ
จากความมุ่งมั่นพยายามในการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนโดยใช้รูปแบบการสอนของจิระศาสตร์
เป็นไปตามปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า...จิระศาสตร์ต้อง
"ฉลาดและมีคุณธรรม" สอดประสานกับเจตนารมณ์ของ
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
ที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนไทยมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ กล่าวคือ
"เป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุข"
จากสังเกตและสอบถามนักเรียนประกอบกับคำบอกเล่าของท่านผู้ปกครองนักเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่าผลจาการที่บุตรหลานได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ทำให้มีผลสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างน้อย 3 ประการ คือ
ประการแรก นักเรียนได้เรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมตามสภาพจริง เช่น ปลูกผัก ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และนำไปขยายผลที่บ้านของนักเรียน นักเรียนบางคนไม่มีพื้นที่เพาะปลูกก็มีการประยุกต์ใช้ความรู้โดยการปลูกผักลอยฟ้า เป็นต้น
ประการที่สอง นักเรียนมีความสุขที่ได้ออกไปเรียนรู้ตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆนอกห้องเรียน รู้จักการสังเกต สอบถาม ทำงานเป็นทีม รู้จักการจดบันทึกและนำเสนอรายงานหรือผลงานเป็นต้น
ประการสุดท้าย ครูนักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ "ศิษย์กับครูเรียนรู้พร้อมๆกัน" นับเป็นบรรยากาศของ"การจัดการความรู้"ที่เป็นประโยชน์ มีความหมาย และท้าทายอย่างยิ่ง