Dialogue ตอนที่ 3 : ความหมายที่ไหลเลื่อน (Meaning Flow)


เป็นการปล่อยให้ความหมายไหลไปได้โดยอิสระ โดยไม่มีอะไรๆ มาขวางกั้น ไม่มีอะไรมาดึงให้มันไปทางใดทางหนึ่ง

       จากที่ผมเล่าไว้ในบันทึกที่แล้ว จะเห็นได้ว่า Dialogue เน้นไปที่การรับเข้า (ฟัง) มากกว่าการส่งออกหรือพูดออกไป แต่ก่อนแต่ไรเราอาจจะ  ไม่รู้ตัว ว่าเราเอาแต่ตั้งใจส่งออก ตั้งใจจะพูด โดยไม่ค่อยได้สนใจการรับเข้าเท่าใดนัก ช่วงแรกๆ ของการฝึก Dialogue ถือเป็นเรื่องปกติที่อาจรู้สึกฝืนๆ ไม่กล้าพูด เอาแต่เงียบ (แต่ภายในอาจจะไม่เงียบ)

      เรามักจะพบว่าวง Dialogue มักมีความเงียบแทรกตัวเข้ามาเป็นระยะๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าไม่มีอะไรจะพูดก็ไม่ต้องไป บังคับ ให้ตัวเองต้องสื่อสารออกไป ประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่ามีหลายคนที่มักจะรู้สึก อึดอัด กับความเงียบ จนในที่สุดรู้สึกว่าเป็น หน้าที่ ของตนที่ต้องยื่นมือ (วาจา) เข้ามา ทำลาย ความเงียบนั้น

      ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งในเรื่อง Dialogue นอกจากจะเป็นเรื่องทักษะการฟังอย่างมีสมาธิของคนในวงแล้ว สภาพสิ่งแวดล้อมถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากสถานที่ที่นั่งคุยกันนั้นมีเสียงรบกวนมาก ทำให้เสียสมาธิได้ง่ายก็จะเป็นอันตรายกับวง Dialogue นอกจากนั้นยังพบว่าถ้าจะให้ดีในวงที่พูดคุยในลักษณะนี้ ไม่ควรจะมีโต๊ะหรืออะไรมาขวางกั้นระหว่างกันด้วย

      ผมเคยสงสัยเวลาที่มีใครบอกว่าการทำ Dialogue นั้นไม่ควรมีเป้าหมายว่าต้องการบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง . . . ผมถามตัวเองว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว . . . ทำ Dialogue ไปทำไม?  แต่ในที่สุดก็ได้คำตอบจากอาจารย์มนต์ชัยว่า การทำ Dialogue นั้นเปรียบได้กับการ พรวนดิน เป็นการเตรียมดิน ที่ต้องทำไปๆ จนเกิดเป็นความเคยชิน โดยไม่ต้องไปสนใจว่าทำไปแล้วจะได้อะไร เพียงแค่อาศัยความเชื่อที่ว่า ถ้า ดินดี ถ้าปัจจัยอื่นๆ ดี ดอกและผล ที่ดีก็จะตามมาเอง

       ถ้าคนในหน่วยงานมีทักษะ Dialogue (บวกกับปัจจัยที่จำเป็นอื่นๆ) ดอกและผล ก็จะตามมาเอง แต่การที่บอกว่าไม่ต้องมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือต้องการคำตอบใดๆ นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการพูดคุยแบบลอยๆ โดยที่ไม่มีประเด็นใดๆ เพราะเราอาจจะหยิบยกอะไรขึ้นมาเป็นประเด็นเริ่มต้นก็ได้ หากเป็นวงที่ฝึกใหม่อาจารย์มนต์ชัยมักจะแนะนำให้เริ่มจากประเด็นที่กว้างๆ ก่อน ต่อเมื่อชำนาญแล้วจึงสามารถตั้งประเด็นที่แคบลงหรือเฉพาะเจาะจงได้

ผมเข้าใจเอาเองว่าที่ให้เริ่ม Dialogue โดยที่ไม่ต้องกำหนดวัตถุประสงค์หรือสิ่งที่ต้องการ ก็เพื่อที่จะให้วง Dialogue นี้เลื่อนไหลไปได้อย่างเป็นอิสระ คำว่า Dialogue แปลว่า Meaning flow เป็นการเลื่อนไหลไปของ ความหมาย (อันได้แก่ ความคิด ความเข้าใจ ความรู้สึก) เป็นการปล่อยให้ความหมายไหลไปได้โดยอิสระ โดยไม่มีอะไรๆ มาขวางกั้น ไม่มีอะไรมาดึงให้มันไปทางใดทางหนึ่ง 

การฟังจะต้องไม่มีการ ตีตรา ว่าถูกหรือผิด . . . การพูดก็ไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ ไม่ต้องพดยายามพูด ต่อยอด กัน เพราะมันจะทำให้สิ่งที่สื่อออกมานั้นไม่เป็นธรรมชาติ หรือในบางวงก็พบว่าบรรยากาศอาจออกมาในลักษณะ เฮฮา ที่มากจนเกินไป ซึ่งก็เป็น KPI (ตัวชี้วัด) ที่ชี้ให้เห็นว่าคนในวงสนทนากำลัง หลง หรือ ลืมตัว ไปแล้ว แต่ในทางกลับกันก็ต้องไม่ใช่การสนทนาที่เกร็งหรือ เคร่งเครียด จนเกินไปด้วย

      สรุปได้ว่าต้องไม่ใช่ทั้งวงสนทนาที่ครื้นเครง และไม่ใช่วงสนทนาที่ไร้อารมณ์ หากแต่ว่าเป็นสภาวะที่อยู่ตรงกลางซึ่งสร้างได้โดยอาศัยการรู้ตัวทั่วพร้อมเท่านั้น . . . ไปๆ มาๆ จึงกลายเป็นว่าวงนี้เป็นวงที่ทำให้เราได้เข้าถึงธรรมะไปโดยปริยาย เพราะมันเป็นการไหลของความหมายที่เกิดขึ้นได้จากความรู้สึกตัว 

หมายเลขบันทึก: 125788เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2007 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 03:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ..อาจารย์ประพนธ์

เป็นสภาวะที่มี "ใจ"  สงบ กระเพื่อมต่อสิ่งกระทบนั้นน้อย...

เมื่อใดที่จะสงบแล้ว... เจตนาที่ผลุดขึ้นในใจนั้นก็จะเป็นในไปในแนวที่เป็น "กุศลจิต".... แล้ววาจาที่เปล่งออกมา...ก็ Meaning Flow...น้อมนำไปสู่..."สุนทรียะสนทนา"... อันมาจากปัญญา...ที่ปรากฏขึ้น ณ ขณะนั้น...

นั่น...หมายรวมได้ว่า...การสนทนานี้อยู่ภายใต้แห่งการมี... "ศีล สมาธิ และปัญญา"

ศีล...คือ ความละเว้นออกจาก "จิต"ที่ชั่ว...จิตที่ไม่ดี

ข้อหนึ่งนั้นไม่เพียงแค่ไม่ฆ่าสัตว์ หากแต่รวมไปถึงได้ทั้งในการไม่โกรธ อาฆาต พยาบาท เกลียด ชิงชัง ไม่พอใจ...

ข้อสอง...ไม่เพียงแค่ขโมย แต่หากรวมได้ไปถึงไม่อยากได้สิ่งใดใดของใครทั้งสิ้น หากเจ้าของไม่อนุญาต...แม้แต่คำชื่นชมหรือตำหนิก็ตามเราก็ไม่ควรไปอยาก ได้หรือไม่อยากได้..ขึ้นอยู่กับว่าผู้ให้นั้นปรารถนาที่จะให้เราเอง

ข้อสาม...ไม่ไปช่วงชิงของรักของหวงในสิ่งใดใดทั้งสิ้น...

ข้อสี่...ไม่มุสา โกหกพกลม แม้แต่การหลอกลวงตนเอง 

ข้อห้า...ไม่ประมาท..ทั้งสิ้นทั้งปวง...

เพียงศีลห้าข้อนี้...เราน้อมนำมาใช้ในทุกขณะจิตของการกระทำต่อชีวิต แล้ว...ประกอบกับเป็นผู้รู้ตัว (สติ) อย่างต่อเนื่องและจดจ่อต่อสิ่งนั้น ต่อเนื่องยาวนาน (สมาธิ)...แล้ว...ปัญญาที่มีก็ปรากฏขึ้นได้ ณ ทุกขณะเช่นเดียวกัน(วิปัสนากรรมฐาน)

แม้แต่คุยเรื่องงาน เรื่องชีวิต หรือเรื่องทั่วไป...แนวทางดั่งนี้ที่อาจารย์ได้นำมาชี้นำนี้กะปุ๋มเชื่อว่า...สังคมนี้งดงามแน่นอนค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ธรรมะสวัสดี..ก่อนนอนนะคะอาจารย์

(^_____^)

กะปุ๋ม

 

เรียน อ.ประพนธ์ค่ะ

  • อ่านบันทึกอาจารย์แล้วคล้ายกับเป็นการรู้จักยั้งในการพูดไหมคะ...คือคิดซะก่อนพูด   จะได้กลั่นออกมาจากสมองที่ได้คิดมิใช่อารมณ์ที่ไร้การควบคุม..
  • ขอบคุณสำหรับอีกหนึ่งเครื่องมือที่อาจารย์พยายามนำมาให้พวกเราหยิบใช้ในการทำคุณภาพต่างๆค่ะ....แล้วจะเอาออกใช้เมื่อจังหวะดีๆมาถึงค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

อ่านแล้วทำให้รู้จักพูดและฟังมากขึ้นค่ะ    แต่จะเริ่มนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอย่างไรก็ยังเริ่มไม่ค่อยถูกค่ะ

มี สติ รู้เท่าทัน ความคิด

พิจารณา จิต กับ ความคิด  ไม่ให้ทำงานร่วมกัน

เอาสติ ไปคิด  เอาสติไปพูด

มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร

สวัสดีครับ อาจารย์ และทุกคน 

เพิ่งมีโอกาสเข้ามา ครั้งแรกตามคำแนะนำของอาจารย์ประพนธ์

ดีมากเลยครับ ที่มีโอกาสได้เล่าเรื่อง เกี่ยวกับ Dialogue จริงๆแล้วอาจารย์ อธิบายได้ชัดเจนมากครับ  ผมมีเรื่องเล่าต่อยอดครับ เรียกว่า 30 นาทีแรก

ผมได้ไปบรรยาย เรื่อง Dialogue ให้กับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ 24-27 กันยายน ที่ผ่านมา (จริงแล้วบทบาทผมเป็นผู้ชี้แนะมากกว่า) ประทับใจตรงที่ี่ผู้เข้าสัมมนาทำได้อย่างดีตั้งแต่วันแรกครับ และเห็นพัฒนาการอย่างเร็วในวันถัดมา

อันนี้ทำให้ได้อธิบายความรู้ละเอียดอันหนึ่ง เป็น 2 สภาวะที่เกิดขึ้นก่อนจะเข้าสู่การเป็น Dialogue  ทีนี้ เมื่อสังเกตโดยละเอียด เราจะพบ 2 สภาวะที่ก่อนเป็น Dialogue คือ

-         Deep Listening เป็นบรรยากาศที่สมาชิกทั้งหมดมีการฟังอย่างตั้งใจเต็มเปี่ยม แต่ Flow ของความคิดยังเป็นลักษณะของการ ยิงพลุอยู่

-         Induction= (when electrical power goes from one object to another without the objects touching-Cambridge Advanced Learner’s Dictionary) : เหนี่ยวนำสภาวะของการดึงเข้ามาของสมาชิก ในการพูดคุยในเรื่องเดียวกัน อย่างกลมกลืนกัน และเริ่มต้นของการดึงสมาชิกบางคนให้เข้ามา อิน อยู่ในเนื้อหา

นั่นคือหมายความว่า หากเราดำรงสภาวะนี้ต่ออีกสักระยะ (ประมาณ 30 นาที) ก็จะเห็น Meaning Flow เกิดขึ้น อันเป็นสภาวะที่เป็นเรียกว่า Dialogue’  ครับ

Dialogue เริ่มมาจาก การฟังอย่างตั้งใจ อันเป็นการฟังอย่างทั้งตัว ทั้งใจ เรียกว่า สมาธิเรื่องอื่นของเราไม่มี เรามีแต่การฟังคนที่พูดอยู่เท่านั้น และเป็นการฟังเพื่อให้ได้ยินเสียงที่ไม่ได้เอ่ยออกมาด้วย (พูดอย่างนี้ อาจดูเป็นนามธรรมหน่อย แต่ท่านอย่าเพิ่งปฏิเสธ (ตัดสิน) ขอให้วางสมมติฐานและค่อยๆคิด ครับ)

Dialogue ก็จะค่อยๆเผยตัวอย่างช้าๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท