ความเป็นผู้นำของคน ลักษณ์ 6 (นักปุจฉา)


สำหรับผู้นำลักษณ์ 6 โดยบุคลิกภาพภายนอก อาจจะไม่มีอะไรให้สังเกตมากนัก คือธรรมดาๆ เหมือนๆ คนอื่น แต่คนใกล้ชิดอาจจะสัมผัสได้ถึงความรอบคอบในเรื่องของความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และการดำเนินชีวิต
 

เรื่อง ความเป็นผู้นำของคน 9 ลักษณ์ ได้เดินทางมาถึงผู้นำกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มคนศูนย์หัว ตามทฤษฏีนพลักษณ์แบ่งคนออกตามความถนัดหลัก 3 กลุ่มคือ กลุ่มศูนย์หัว (ลักษณ์ 5 ลักษณ์ 6  และลักษณ์ 7) กลุ่มศูนย์ท้อง (ลักษณ์ 8  ลักษณ์ 9 และ ลักษณ์ 1)  และกลุ่มศูนย์ใจ (ลักษณ์ 2   ลักษณ์ 3 และลักษณ์ 4) 

 

ลักษณะเด่นของคนกลุ่มศูนย์หัว คือ จะใช้พลังทางความคิดมาก และเร็วกว่าคนอีก 2 กลุ่ม  โดยพลังทางความคิดอาจจะเป็นลักษณะของการใช้เหตุ ใช้ผล ใช้จินตนาการ ใช้ตรรกะ หรือเป็นความลังเลสงสัย ความกังวล

 

สำหรับผู้นำลักษณ์ 6 โดยบุคลิกภาพภายนอก อาจจะไม่มีอะไรให้สังเกตมากนัก คือธรรมดาๆ เหมือนๆ คนอื่น แต่คนใกล้ชิดอาจจะสัมผัสได้ถึงความรอบคอบในเรื่องของความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และการดำเนินชีวิต

 

โดยปกติแล้วคนลักษณ์ 6 เมื่อทำงานมาระดับหนึ่ง ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารสนับสนุนให้ทำงานฝ่ายบริหาร คนลักษณ์ 6 ที่ยังมีการสังเกตตัวเองไม่ชัดเจนนัก มักจะปฏิเสธที่จะรับภาระหน้าที่ที่สูงขึ้น เพราะมีความกลัวความไม่ปลอดภัยเป็นฐานคิด มีความระแวงไม่ไว้วางใจในคนที่มีอำนาจสูงกว่าตน จนไม่มั่นใจในสถานภาพใหม่ที่ได้รับ

 

แต่เมื่อใดที่คนลักษณ์ 6 เรียนรู้ตัวเอง รู้จักว่าตัวเองมีความกลัวอยู่ในใจ แม้ว่าจะไม่ได้ศึกษานพลักษณ์ แต่หากเป็นคนที่รู้จักสังเกตตนเอง ตระหนักรู้ในจุดแข็ง จุดอ่อน หรือ ศักยภาพของตนเอง (ในภาษาของ Peter M. Senge เรียกว่า Mental Model ก็จะสามารถก้าวข้ามภาวะความกลัวนั้นได้  ซึ่งเรามักจะพบว่าสิ่งที่ทำให้คนลักษณ์ 6 ก้าวข้ามได้ คือ การใช้ ศรัทธา เมื่อนั้นเขา/เธอ จะได้รู้จักกลไกการทำงานทางจิตของตนเอง และสามารถนำพาไปสู่เป้าหมายของชีวิต และการทำงานร่วมกับคนอื่นได้ (ในภาษาของ Peter M. Senge เรียกว่า Personal Mastery)

จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า ศาสตร์นพลักษณ์ เป็นเครื่องมือที่เอื้อต่อแนวคิด Learning Organization ของ Peter M. Senge เป็นอย่างมาก ในการช่วยวิเคราะห์ให้บุคคลบรรลุ 2 ใน 5 วินัยขององค์การแห่งการเรียนรู้ คือ Mental Model  และ Personal Mastery หากนำมาอบรมในองค์กร  ร่วมกับวิธี สุนทรียสนทนา หรือ Dialogue ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ Senge แนะนำให้ใช้ในวินัย (Discipline) เรื่อง Team Building จะพบว่าสามารถสร้างภาวะ Synergy ในองค์กรให้เกิดขึ้นได้

 

กลับมาเข้าเรื่องดีกว่า

 

ผู้นำคนลักษณ์ 6 หรือนักปุจฉา มักถือเป็นภาระหน้าที่ในการทำเพื่อคนเสียเปรียบ อุทิศตนให้กับเป้าหมายหรืออุดมการณ์ที่สร้างสรรค์ สามารถเสียสละตนเองเพื่อหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อผู้อื่น สามารถทำงานที่ไม่ต้องมีการยอมรับจากสังคม เพราะไม่ค่อยยึดติดกับความต้องการความสำเร็จที่เห็นผลทันที

 

จุดแข็งโดยสรุปของผู้นำลักษณ์ 6 คือ เป็นผู้ที่จงรักภักดีกับองค์กร บอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองเป็นที่ไว้วางใจได้ทั้งกับเพื่อนร่วมงานและองค์กร มีความคิดที่ฉับไว และรอบคอบปิดจุดอ่อนในทุกโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงในการทำงาน

 

มักมีเรื่องเล่าตลกๆ ในแวดวงนพลักษณ์ ว่า คนลักษณ์ 6 มองเห็นปัญหา อุปสรรค์ ในทุกทางเลือก หรือ มีปัญหา ในทุกทางออก เนื่องเพราะการทำงานของกลไกทางจิตของคนลักษณ์ 6 พลังงานทางสมอง ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัว และความกังวลต่อความไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ความคิดที่เร็วและไว จึงพุ่งตรงไปเฉพาะในส่วนที่เป็นปัญหาได้ก่อนคนอื่นเสมอ ในกรณีของผู้นำลักษณ์ 6 ที่ไม่ค่อยรู้ตัว (มองเห็นการทำงานทางจิตตัวนี้ของตัวเองไม่ออก) จึงถูกมองจากคนลักษณ์อื่นว่าเป็นคนที่ขี้กลัว ลังเลสงสัยในเรื่องราวต่างๆ ไว้วางใจคนอื่นยาก

 แต่ผู้นำลักษณ์ 6 ที่รู้ตัวเอง คือ มี Personal Mastery จะมีสติรู้ความกลัวของตัวเอง และปรับการมองปัญหาอุปสรรค ให้เป็นการคาดการณ์ที่แม่นยำถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น กลายเป็นคนรอบคอบในทุกสถานการณ์

 

 คนลักษณ์ 6 เหมือนมีกรรม เนื่องจากแยกไม่ออกระหว่างเรื่องราวที่หวาดระแวงต่อผู้คน ต่อเรื่องราวต่างๆ อันเนื่องจากความคิดของตัวเอง กับเรื่องราวที่เป็นจริง บางครั้งจึงหันไปพึ่งพิงความมั่นคงภายนอก (ตัวเองไม่มีความมั่นคงภายใน)

มีผู้บริหารงานด้านบุคคลของส่วนราชการแห่งหนึ่งเล่าว่า ในวัยสาวของเธอทำงานในโรงงาน ไต่เต้าจนได้เป็นผู้บริหารด้านงานบุคคล ดูแลคนงานเกือบสองพันคน ด้วยวัยเพียงยี่สิบเก้าย่างสามสิบ และได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของโรงงานโดยตรง แต่พอเจ้าของโรงงานคิดว่าเธอยังเด็กไป เลยมอบหมายญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งให้มาดูแลเธออีกชั้นหนึ่งในฐานะรองประธาน เธอขอลาออกด้วยเหตุผลลึกๆ ส่วนตัวที่ว่า เธอไม่ศรัทธาในอาแปะแก่ๆ คนหนึ่งว่าจะเก่งกว่าเธอ ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพการงานอีกต่อไป จึงเบนเข็มชีวิตมารับราชการ ทั้งๆ ที่เงินเดือนน้อยกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้ แต่ทุกวันนี้เธอทำงานหนัก รักองค์กร ทุ่มเททำงานกลับบ้านค่ำมืดทุกวัน แต่เธอบอกว่าเธอมีความสุข เพราะศรัทธาในผู้บริหารระดับสูงขององค์กรว่าเก่งกว่าเธอ และเธอมีอะไรที่จะเรียนรู้จากเขาได้มากมาย ดังนั้นงานหนักเท่าใดเธอก็ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา

 
           ปมประเด็นที่คนลักษณ์ 6 จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้คือ ทำอย่างไรจึงบริหารจัดการผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าตนเองได้ ทำอย่างไรจึงจะรู้สึกว่าพึ่งพิงตัวเองได้
           บางครั้งผู้นำลักษณ์ 6 ที่วิ่งไปใช้บุคลิกภาพของลักษณ์ 3 จะผูกตนเองไว้กับภาพลักษณ์ และขับเคลื่อนชีวิตการทำงานไปบนภาพที่ตัวเองสร้างแต่ในใจเต็มไปด้วยความกังวล ฟุ้งซ่าน ความรู้สึกไม่ไว้วางใจ จนมีเพื่อนสนิทคือ อาการปวดหัวบ่อยๆ

ข้อแนะนำก็คือ ผู้นำลักษณ์ 6 ควรที่จะบอกตัวเองว่า ความเข้มแข็ง ความเด็ดขาด ความสงบเย็นในจิตใจ เป็นสิ่งที่ทำได้ โลกนี้มีสิ่งสวยงาม ปลอดภัย และสามารถไว้วางใจอยู่ เพียงแต่เรามองไม่เห็น หรือไม่พยายามมอง เมื่อฝึกมองบ่อยๆ ก็จะพบเอง

 

ในด้านสัมพันธภาพ ผู้นำลักษณ์ 6 จะกังวลว่าตนจะเสียสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง จึงมีบุคลิกภาพที่แคร์ และสร้างความรู้สึกอบอุ่นกับคนใกล้ชิด ไม่พูดจาที่จะทำร้าย หรือชี้ปม หรือประเด็นความขัดแย้ง

 

เราจะพบภาวะผู้นำลักษณ์ 6 อีกประเภทหนึ่งที่ ความกลัวภายในกดดันให้ตัวเองกลายเป็นคนกล้า บ้าบิ่น ซึ่งหากพิจารณาภายนอกแล้ว อาจจะมีบุคลิกภาพคล้ายผู้นำลักษณ์ 8 อยู่มาก จะสู้หัวชนฝา มีลักษณะเป็นวีรบุรุษ ต่อสู้เพื่อปกป้องคนอื่นเต็มกำลัง

 ท่านผู้อ่านลองวิเคราะห์ดูสิคะว่า อะไรเป็นแรงขับดันภายในของพฤติกรรม หรือบุคลิกภาพเช่นนั้น หากคิดไม่ออก ลองหันกลับไปอ่านบทความ ความเป็นผู้นำของคนลักษณ์ 2 ดูจะเห็นแบบแผนการวิเคราะห์โดยใช้นพลักษณ์ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 125329เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2007 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ตามมาเลือกอ่านก่อนเลยคะ

มองเห็นภาพรวมของผู้นำลักษณ์หกได้ดีคะ

ประเด็นสำคัญเมื่อก้าวถึงจุดที่ต้องเป็นผู้นำคือ การที่เหมือนเรากลัวความสำเร็จ

ตอนนั้นไม่รู้ทำไมจริงๆ เคยก้าวพรวดพราด ขึ้นสู่จะที่เป็นผู้นำ มีคนที่อยู่ในความดูแล ยี่สิบกว่าคน เพียงอายุ ๒๖ ยอมรับว่ากดดันและเหนื่อยแบบแปลกๆ (ไม่รู้ตัว)

แต่ก็ทำให้ดีที่สุดไปเท่านั้น)จนทนไม่ไหวแพ้ภัยตัวเอง ออกสะเฉยๆเมื่อจะถูกดันให้ขึ้นอีก ๆๆ เพราะคนข้างนอกมองเห็นเราขยัน รอบคอบ ทำงานแบบพยายามอุดรูรั่วจริงๆ และรักทีม แต่ยอดเหนื่อยใจเลย (ไม่รู้ตัวเมื่อก่อน)

เขียนมาอีกนะคะ

จะได้ตามอ่าน

แปลกใจค่ะ

ว่าทำไมน้อง peung-anchana มาอ่านเรื่องผู้นำที่นี่

เพราะในเว็บไซด์ของสมาคมก็มี แถมมีตารางสรุปให้ด้วย

ที่นี่พี่นุชใส่ตารางไม่เป็นค่ะ ก๊อปมาแปะแล้วมันไม่เป็นตาราง ก็เลยขี้เกียจใส่

แต่อย่างไรก็ขอบคุณนะคะ ที่เข้ามาอ่าน และทิ้งร่องรอยไว้

บล๊อกนี้ไม่เคลื่อนไหวมานานแล้วค่ะ

ทำให้คิดว่า

สงสัยเราต้องหาเรื่องมาเขียนเพื่มเติมเสียแล้วกระมัง เดี๋ยวมิตรรักแฟนเพลงไม่มีอะไรอ่าน 555

อยากอ่านเรื่องอะไร เขียนมาคุยกันได้นะคะ

ตอนนี้ในใจมี ซีรี่ส์ เรื่องนพลักษณืในเด็กอยู่ แต่กำลังหาเวทีทดลองทำกับเด็กอยู่ค่ะ ไม่มีข้อมูลจริง เขียนไม่ออก 555 กิเลสลักษณ์ 5 ทำงานเต็มที่เลยค่ะ

ที่เขียนซีรี่ส์ภาวะผู้นำได้นี่ ก็ต้องขอบคุณ ผู้บริหาร สวทช. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล กรมชลประทาน และผู้เข้ารับการอบรมทุกท่าน ที่เป็นข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตรงนี้

ส่วนตัวไม่ชอบอ่าน enneagram จากฝรั่ง รู้สึกว่ามันมีความเป็นนมเนยมากไป ความรู้สึกนึกคิดแม้จะมีกลไกเดียวกัน แต่มันให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันมาก

อ่านจากหนังสือ มันให้ความรู้สึกไม่เท่ากับได้ฟังคนไทยจริงๆ ตัวจริง เสียงจริง บอกเล่าให้เราฟังหรอกค่ะ

อ้าวเหรอคะ

ผึ้งไม่ค่อยได้ไปอ่านที่ไหน แบบว่า low tech ไม่ค่อยค้น

เคยแวะไปที่ไหน เดิมๆก็ไปอยู่ที่เดียวไรงี้

มันยุ่งๆด้วยคะ

ต้องชี้ จี้ ไรงี้ อะคะ 555555

แวบไปแวบมา อ่านที่นี่โน่น

คิดถึงนะคะ

เขียนเพิ่มดิคะ

แล้วแวะมาอ่านใหม่คะ

อยากให้เขียนเกี่ยวกับลักษณ์ เเต่เเยกประเด็นออกมาระหว่างลักษณ์ย่อยคะ เพราะลักษณ์เดียวกัน เเต่ลักษณ์ย่อยต่างกัน อะไรๆ ก็เลยต่างกันออกไปอีกคะ

ขอบคุณที่เสนอแนะค่ะ

แต่การศึกษาเรื่องลักษณ์ย่อย ควรเป็นคนที่รู้ลักษณ์ตนเองแล้ว และสังเกตตนเองดีพอสมควร จะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งขึ้น และเห็นความแตกต่างระหว่างคนลักษณ์เดียวกัน ว่าทำไมมีรายละเอียดในชีวิตที่แตกต่างกันไป

หากคนที่ยังไม่รู้ลักษณ์แล้วมาศึกษาลักษณ์ย่อย จะเกิดอาการงง และสับสนค่ะ ไม่เกิดประโยชน์

ทางสมาคมจึงนำเรื่องลักษณ์ย่อยมาจัดอบรมในระดับขั้นกลางค่ะ

ดิฉันอยากเขียนนะคะ แต่อาจจะต้องเผยแพร่เฉพาะกลุ่มภายในเท่านั้นค่ะ ด้วยเหตุผลข้างต้นค่ะ

หากคุณมีความประสงค์จะแลกเปลี่ยน ดิฉันยินดีนะคะ เมล์มาคุยกันได้ค่ะ มิต้องเกรงใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท