ให้คำปรึกษาแก่ทีมพยาบาล รพ.บ้านโพธิ์


ความมุ่งมั่นตั้งใจของทีมพยาบาล

เช้าวันนี้ดิฉันและคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน เดินทางไปเยี่ยม รพ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีคุณธัญญลักษณ์ เกียรติชื่น Bussiness Manager ของ Johnson & Johnson รับอาสาขับรถพาไป-พากลับ เราออกเดินทางจาก รพ.เทพธารินทร์ประมาณ ๐๗.๐๐ น.ขาไปเดินทางเกือบ ๒ ชม.เพราะใช้เวลาขับรถวนอยู่บนทางด่วนและไม่คุ้นทาง ขากลับรู้ทางมากขึ้นใช้เวลาไม่ถึง ๑ ชม.ก็เดินทางถึงกรุงเทพแล้ว

เหตุที่เราไปเยี่ยม รพ.บ้านโพธิ์ ครั้งนี้ เพราะคุณแสงเดือน บุญเจริญ พยาบาลวิชาชีพที่รับผิดชอบงานวิชาการของ รพ. ติดต่อมาตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๘ ว่าต้องการขอเชิญทีมวิทยากรของเทพธารินทร์ไปอบรมผู้ป่วยเบาหวานและญาติ จำนวน ๓ รุ่นๆ ละประมาณ ๕๐ คน เมื่อพูดคุยกันทางโทรศัพท์พอรู้เรื่องบ้างแล้ว ดิฉันจึงขอไปเยี่ยมเยียนเพื่อทำความรู้จัก ไปดูลักษณะการบริการที่เป็นอยู่ สิ่งที่ รพ.ต้องการพัฒนา ความมุ่งมั่นตั้งใจของทีมงาน เพื่อนำมาพิจารณาว่าเราจะให้การสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง

ในเช้าวันนี้ที่ รพ. มีคลินิกเบาหวาน ตอนที่เราไปถึงที่ OPD ผู้ป่วยไม่คับคั่งมากนัก บางส่วนเข้าห้องที่มีการสอนสุขศึกษา หลังจากดูสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปแล้ว เราไปนั่งหารือเรื่องงานที่ห้องสมุดซึ่งอยู่ที่ชั้น ๔ ของ รพ.โดยมีคุณวิภา เจริญสินรุ่งเรือง พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้า OPD มาร่วมคุยด้วย (นพ.กสิวัฒน์ ศรีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการ รพ.มาร่วมคุยด้วยชั่วครู่)

รพ.บ้านโพธิ์ เป็น รพ.ขนาด ๓๐ เตียง มี สอ.๑๖ แห่ง PCU ๗ แห่ง (ให้บริการผู้ป่วยเบาหวาน ๓ แห่ง) ในเขตอำเภอบ้านโพธิ์ พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากเป็นอันดับสองรองจากความดันโลหิตสูง มีผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด ๑,๑๔๘ คน มารับบริการจาก รพ.๖๙๒ คน รับบริการจาก PCU ประมาณ ๓๔๗ คน ที่เหลือไปรับการรักษาที่อื่น คุณแสงเดือนเล่าว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังควบคุมเบาหวานไม่ได้ดี ในปีนี้จึงจะทำโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ โดยได้งบประมาณจาก สปสช.กลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ ๖๐ คนและผู้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ๖๐ คน และตัวแทนสถานีอนามัยตำบลละ ๑ คน ในโครงการจะมีการเจาะเลือดผู้ป่วยตรวจ HbA1C, BUN, Creatinine, Cholesterol, Triglyceride ก่อนเข้าอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ๑ วัน หลังจากนั้นอีก ๓ เดือนเจาะเลือดดู HbA1C ซ้ำ

ขณะนี้ทาง OPD ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้แบบกลุ่มแก่ผู้ป่วย ๘ เรื่อง (สันทนาการ คลายเครียด การออกกำลังกาย อาหาร ยา โรคแทรกซ้อน ดูแลเท้า ความรู้ทั่วไป) โดยมีพยาบาลจากส่วนงานต่างๆ และเภสัชกรมาช่วยกันสอน คุณแสงเดือนและคุณวิภาบอกว่าบุคลากรของ รพ.ยังไม่มีความรู้มากพอในบางเรื่อง เช่น เรื่องอาหาร เรื่องการดูแลเท้า จึงต้องการวิทยากรจากที่อื่นมาช่วย

ดิฉันได้เล่าเรื่องเครือข่ายของเราให้คุณแสงเดือนและคุณวิภาทราบ ยกตัวอย่างการบริการและกิจกรรมดีๆ ของสมาชิกหลายแห่งที่ได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในตลาดนัดความรู้และแลกเปลี่ยนผ่านบล็อก (ถือโอกาสประชาสัมพันธ์ชุมชนบล็อกของเครือข่ายด้วย) เช่น การจัดกลุ่มให้เรียนรู้จากผู้ป่วยด้วยกันเอง ซึ่งผู้ป่วยจะชอบและสนุกมากกว่า คุณวิภาเลยบอกว่าการสอนสุขศึกษาที่ทำอยู่นั้น ต้องขอความร่วมมือให้ผู้ป่วยซึ่งยากเหมือนกัน และก็แอบได้ยินเวลาที่ผู้ป่วยนั่งรอตรวจเขามักจะคุยและแนะนำกันเองอยู่แล้ว

ข้อเสนอและคำแนะนำที่ดิฉันให้ในวันนี้คือ

๑. ให้โควตาทีมของ รพ.บ้านโพธิ์ ๑ คน มาร่วมแจมในกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" เรื่อง
    การดูแลเท้าระหว่างทีมจาก อ.ครบุรีและทีมเทพธารินทร์ ในวันที่ ๓๐-๓๑ มกราคม ๒๕๔๙ 
    โดยให้จัดทำข้อมูลเล่าถึงการดูแลเท้าผู้ป่วยที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันส่งให้ดิฉันล่วงหน้า
๒. ให้โควตาทีมของ รพ.บ้านโพธิ์ ๑-๒ คน เข้าร่วมในการอบรมพยาบาลจาก อ.ครบุรี เรื่อง 
     การกำหนดอาหาร
๓. น่าจะปรับรูปแบบการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ให้เน้นการเรียนรู้จากผู้ป่วยด้วยกันเอง (เป็นกลุ่ม)
    โดยมีเจ้าหน้าที่เป็น facilitator นอกจากนี้อาจจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นแบบ one day
    workshop ก็ได้ คุณแสงเดือนจะพิจารณาปรับกิจกรรมในโครงการที่ได้ทุนมาแล้ว
    ดิฉันจะช่วยร่างกิจกรรมใน workshop ให้
๔. มีหลายฝ่ายของ รพ.ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเบาหวาน เช่น เวชกรรมสังคม ฝ่ายผู้ป่วยใน  
    ควรมารวมตัวทำงานร่วมกัน และมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยให้การ
    ทำงานครอบคลุมไปจนถึงการป้องกันโรคเบาหวาน

ดิฉันประทับใจที่เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของทีมพยาบาล รพ.บ้านโพธิ์ ในการพัฒนาการบริการสำหรับผู้ป่วย ซึ่งคุณวิภาบอกว่าไม่เพียงแต่จะพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวานเท่านั้น แต่จะพัฒนาการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รวมทั้งผู้สูงอายุด้วย

ดิฉันและทีมงานจะมาช่วยให้คำปรึกษาเป็นระยะๆ พร้อมทั้งจะแนะนำแหล่งประโยชน์ที่ทีม รพ.บ้านโพธิ์จะไปขอ "เรียนลัด" เรื่องการทำงานต่างๆ ได้

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๙

 

 จากซ้าย คุณวิภา คุณแสงเดือน ดิฉันและคุณธัญญลักษณ์

หมายเลขบันทึก: 12503เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2006 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
แสงเดือน บุญเจริญ

วันรุ่งขึ้นเปิดเวบไซด์เห็นข้อความที่อาจารย์วัลลาเขียนถึงดีใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากค่ะ ที่อาจารย์อุตส่าห์ให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลเล็กๆ เช่นนี้ และวันนี้ได้รับจดหมายข่าวจากเครือข่ายจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานยิ่งรู้สึกว่าได้รับเกียรติให้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเบาหวานแล้วดีใจจัง! อาจารย์และทีมงานทำงานกันรวดเร็วสมกับยุคสื่อสารทันสมัยจริงๆค่ะ  ตัวดิฉันเองวันแรกจะเขียนตอบอาจารย์แต่กล้าๆกลัวๆ เพราะยังไม่เคยได้ทำเช่นนี้เชยไหมคะ ? ต่อไปนี้จะไม่เชยแล้ว จะส่งข่าวให้อาจารย์ทราบความคืบหน้าในการจัดทำโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานและผู้ดูแลทราบเป็นระยะๆค่ะ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงนำคำแนะนำของอาจารย์มาสังเคราะห์อยู่ที่ใช้เวลาในการสังเคราะห์นานก็เพราะตอนนี้มีงานอื่นเข้ามาคั่นอยู่เรื่อยๆ เป็นข้าราชการยุคนี้มีงานให้รับผิดชอบหลายอย่าง (แอบบ่นเล็กน้อย) ยังไงๆต้องขอขอบพระคุณอาจารย์วัลลา คุณสุภาพรรณและคุณธัญญลักษณ์อย่างมากค่ะที่กรุณาสละเวลาอันมีค่ามาให้คำปรึกษาในครั้งนี้  คำปรึกษาของอาจารย์มีค่าและให้มุมมองที่ทางเรามองข้ามไปหลายอย่าง

ขอบคุณค่ะ

ยินดีที่คุณแสงเดือนเขียนข้อคิดเห็นมาค่ะ และอย่าลืมส่งทีมมาร่วมกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนในวันที่ ๓๐-๓๑ มกราคมนะคะ
เสาวลักษณ์ ปินะการัง (กระติก)

ดีใจจังค่ะ ที่พยาบาลตัวเล็กๆ ให้ความสนใจ และใส่ใจในสุขภาพของประชาชนขนาดนี้ และภูมิใจในความเก่งของคุณแสงเดือน บุญเจริญ ที่สุดในโลก รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

คิดถึงนะคะ

กระติก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท