การวางแผนกับการทำจริง (2)


แผนพัฒนาสาธารณสุข ไม่ใช่แผนทำงานสาธารณสุ

การทำแผนกับการทำจริง (2)

ขอเล่าเรื่องที่สองต่อ คราวนี้เป็นประสบการณ์ตอนย้ายมาอยู่กรุงเทพ มาทำงานนโยบายและแผนเต็มตัว ทุกคนคงรู้จักแผนพัฒนาสาธารณสุขที่เราเคยมีทุก5 ปีที่ล้อกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ที่ตอนนี้ชีวิตร่อแร่ แม้จะมีกระบวนการทำแผน 10 อยู่ แต่ดูเหมือนนายใหญ่จะไม่ค่อยเหลียวมอง)

สิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกคนรู้จักแผน5 ปี โดยเฉพาะคนที่อยู่ส่วนกลางและต้องคอยจัดทำคำของบประมาณประจำปีก็คือ ไม่มีในแผน ห้ามของบประมาณ เพราะฉะนั้นเวลาเขียนแผนก็จะระวังกันมากว่า ไม่ให้อะไรต่อมิอะไรที่อยากทำตกหล่นไปจากแผน

แต่ความจริงก็มีว่า แผนที่ว่านี้เขาเรียกว่าแผนพัฒนาสาธารณสุข ไม่ใช่แผนทำงานสาธารณสุข พูดง่ายๆคือให้ใส่แต่แผนพัฒนา ไม่ใช่การทำงานตามปกติ

คนที่ทำงานโรงพยาบาล หรือทำงานในกองสาธารณสุขภูมิภาค และกองโรงพยาบาลภูมิภาค(ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อ และบทบาทหน้าที่ไปแล้วทั้งสองกอง) คงรู้ดีว่าในแง่งบประมาณนั้น งบสำหรับทำงานปกตินั้นมากกว่างบสำหรับดำเนินการตามแผนพัฒนามากมายนัก

แต่สำหรับคนเขียนแผน เนื้อหาและรายละเอียดของ แผนพัฒนาสาธารณสุขใช้หน้ากระดาษ และมีความหนามากมายกว่าแผนทำงานปกติหลายเท่านัก ทุก5 ปีเป็นอย่างน้อย พวกเราที่ทำแผนพัฒนาจะต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปจะเริ่มวางกรอบ และหาข้อมูล รวมทั้งจัดกระบวนการระดมสมอง และหาแนวทางพัฒนาสาธารณสุข เพื่อเอามาใส่ในแผนใหม่ตั้งแต่เกือบ 2 ปีก่อนหมดแผนที่กำลังดำเนินการอยู่

ในแง่เวลาทำงานจริงๆก็ต้องนับเป็นงานหลักที่ใช้เวลาผู้คนไปมากมาย ในช่วง2 ปีสุดท้ายของทุกระยะ5ปี

ถ้าถามว่าแล้วได้ใช้ประโยชน์ไหม ก็ต้องบอกว่าได้ใช้ อย่างน้อยก็เป็นกรอบในการจัดทำคำของบประมาณ (ซึ่งความจริงก็คือแม้จะขู่ว่าไม่มีในแผน ไม่มีงบให้ แต่ในความเป็นจริงก็ขึ้นกับว่าแผนใครเส้นใหญ่แค่ไหน เพราะเอาเข้าจริง แผนงานที่มานอกกรอบแผน 5 ปีก็มีเสมอ และงบประมาณสำหรับแผนที่ไม่มีในแผน 5 ปีก็มีได้ทุกปี ซึ่งว่าไปแล้วก็คงต้องถือว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง

ที่ไม่ถูกต้องคือไปขู่ว่าไม่มีในแผนไม่มีงบประมาณต่างหาก

แต่อย่างไรก็ตมทั้งหมดนี้ก็เป็นอดีตไปแล้ว แต่บทเรียนสำคัญสำหรับผมก็คือว่า คุณใช้เวลาและความพยายามมากมายกับการทำแผน แต่เวลาเอาเข้าจริงๆ คุณใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงานที่แทบไม่ต้องทำแผน เพราะเป็นงานที่ต้องทำซ้ำซาก ไม่ทำไม่ได้ เนื่องจากยังไงๆก็มีคนมาขอรับบริการ

หลายคนคงอยากถามเต็มทีว่า เล่ามาตั้งสองตอน บอกแต่ตัวอย่างที่ไม่ดีเกี่ยวกับแผน

ความจริงที่อยากสรุปก็คือ แผนมีประโยชน์แน่ๆ (ถ้าเป็นแผนที่ทำอย่างมีคุณภาพ) อย่างในกรณีนี้แผนพัฒนากำหนดให้เราต้องคิดวิเคราะห์ ไม่ติดอยู่กับการทำงานแบบเดิมๆ แม้ว่างานเดิมๆจะเป็นงานที่คนส่วนใหญ่มีความต้องการ และใช้เวลาส่วนใหญ่ของพวกเราในระบบบริการสาธารณสุข แถมยังเป็นตัวนำเงินงบประมาณส่วนใหญ่มาให้องค์กร

สิ่งที่น่ากลัวกว่าไม่ใช่เขียนแผนแทบตายได้ใช้นิดเดียว เพราะต้องใช้เวลาทำงานที่ไม่ได้เขียนในแผน

เพราะสิ่งที่น่ากลัวกว่าในปัจจุบันคือ ทำแต่เท่าที่เขียนในแผน ไม่เชื่อก็ลองดู KPI fever ที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้ ที่พยายามกำหนดตัวชี้วัดกันเป็นบ้าเป็นหลังด้วยหวังให้ทำงานเชิงยุทธศาสตร์ เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และให้มีการทำสัญญา พร้อมเขียนแผนดำเนินการให้ชัดเจนตาม KPI ผลก็คืองานนอก KPI ไม่มีใครสนใจ ทั้งที่เป็นแกนหลักของการดูแลสุขภาพอนามัยประชาชน

เพราะทุกคนกลัวทำงานไม่ได้ตาม KPI สนใจ KPI กับการทำงาน

ขอจบเรื่องแผนกับการทำงานจริง เพียงแค่นี้ เดิมตั้งใจจะเขียนเล่ามากกว่านี้ แต่เอาแค่สองตัวอย่างก็พอ

จะเปลี่ยนไปเล่าเรื่อง การจัดการความรู้ กับการทำงานดีกว่าใน series ใหม่ 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12452เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2006 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท