16 มกราคม 2549 ... วันครู ... เป็นวันที่ KM Team กรมอนามัย นำโดย นพ.ประเสริฐ หลุยเจริญ CKO KM กรมอนามัย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และ พญ.นันทา อ่วมกุล และคณะ รวมกว่า 10 ท่าน ได้ฤกษ์งามยามดี รวมทีมเข้าเกาะติด งาน KM ของศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อาสาเป็นต้นแบบการดำเนินงาน KM กรมอนามัย ปี 2549
ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมทีมนี้ด้วย ซึ่งจะขอคัดบทสนทนาดีๆ มาเป็นกำลังใจให้กับคณะทำงาน KM กรมอนามัย เพื่อจะได้ทราบถึงความมุ่งหวังของผู้บริหารกรมอนามัย ต่อการทำงาน KM ... ต่อชาวกรมอนามัย และ ... เพื่อกรมอนามัย
CKO กรมอนามัย ... นพ.ประเสริฐ หลุยเจริญ ได้ให้ข้อคิดต่อทีม KM ศูนย์อนามัยที่ 1 และ KM ทีมกลาง ไว้ว่า ...
“วันนี้ เราคงได้มาเรียนรู้กันในเรื่องของ KM ผมไม่อยากให้เรื่องของ KM เป็นเรื่องที่ทำให้มีความรู้สึกเป็นภาระ กับการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่อยากให้ KM เป็นส่วนที่จะมาช่วยในการทำงานของพวกเรา ... ราบรื่น สะดวกขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของเรา ในฐานะที่กรมอนามัยเป็นกรมวิชาการ เพราะในขณะนี้ เราได้เปลี่ยนจากหน่วยปฏิบัติการ เป็นหน่วยวิชาการ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมีการเตรียมความรู้ของเรา ให้เพียงพอกับการดำเนินงาน และในขณะเดียวกัน เราต้องเตรียมความรู้ของเราให้ก้าวหน้า เพื่อที่ให้เราอยู่รอดได้ในสถานการณ์ของวันนี้ คือ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานส่งเสริมสุขภาพ และการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม … เราไม่ได้เป็นหน่วยงานเดียว เป็น Unique เดียว ที่อยู่ แต่ว่าทุกวันนี้เราจะมีหน่วยงานอื่นๆ ที่มาทำงานนี้แข่งกันกับเรา อาจจะมีหน่วยงานบางอันที่เป็นภาคี แต่บางครั้งบางคราว จากการเป็นภาคี ถ้าหากว่าเราไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีศักดิ์ศรีที่จะอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับเขา ในการที่เราจะอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับเขาในเรื่องของวิชาการ ตรงนี้เราจะต้องเป็นหน่วยงานซึ่งมีความรู้ด้านวิชาการ ต้องสามารถผลิตองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าหากว่าเราต้องไป consume ความรู้มาจากตรงอื่นตลอด ก็อาจจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็อยากให้เรื่อง KM เป็นงานซึ่งทำให้เราอยู่ในเวทีของเราได้ และทำให้เราเป็นที่เชิดหน้าชูตา สามารถผลิตองค์ความรู้ออกไปเพื่อประชาชนคนไทยในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ผมคาดหวังว่า ในการมาดูงานวันนี้ของเรา จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และสิ่งไหนที่ดี ก็ขออนุญาตที่จะนำไปถ่ายทอด เผยแพร่ต่อไป”
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย เพื่อนร่วมทาง ใน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรมอนามัย
ผมต้องขออภัยที่ต้องหลบไปงานอื่นก่อน เลยต้องมาเล่าแลกเปลี่ยนกับพวกเราภายหลัง
ก่อนอื่นก็ต้องชมว่าศูนย์เขต 1 มีแผนทำ KM ที่ดี เพราะเท่าที่เห็นเป็นการทำการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ผสมผสานเข้าในการทำงานประจำ โดยใช้หลักเปลี่ยนวิธีทำงานแบบเดิมมาใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อย่างเช่นการส่งเวร การให้สุขศึกษาคนไข้ (ที่เปลี่ยนมาเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนไข้กับจนท แทน) อยากแนะนำว่าอย่าไปพยายามทำ ลปรร ถ้าคิดว่าไม่มีเรื่องจะแลก หรือรู็สึกว่าชักจะซำ้ซาก (เช่นเล่าคำชมจากผู้ป่วยหรือญาติจนชักเบื่อ - น่าอิจฉาจริงๆ) แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นแบบนั้นนะที่จะไม่มีเรื่อง ลปรร นอกจากเราทำงานแบบน่าเบื่อหน่ายซะเอง ยิ่งงานบริการผู้ป่วยน่าจะมีเรื่อง ลปรร มากมาย ไม่จำเป็นต้องเลือกแต่เรื่องที่มีคนมาชม เอาเรื่องที่เราช่วยแก้ปัญหาให้ได้ แต่คนไข้ไม่ได้ชมก็ได้ (แต่เราคิดว่าเป็นเรื่องน่าภูมิใจของเรา และน่าจะเล่าให้คนอื่นได้รู้)
ผมยังไม่มีโอกาสดูเรื่อง km ของฝ่ายที่ทำงานสนับสนุนวิชาการ (ซึ่งเป็นงานหลักของชาว กรมอในปัจจุบัน และอนาคต แตกต่างจากงานบริการผู้ป่วยที่เราถูกบอกเป็นระยะๆว่าน่าจะไม่ใช่งานของกรม อ)
การผสมผสานการ ลปรร เข้ากับการทำงานสนับสนุนวิชาการ ก็น่าจะใช้หลักการเดียวกับการให้สุขศึกษาผู้ป่วย คือเริ่มจากเปลี่ยนความคิดว่า เราต้องไปชี้แจง และบอกวิธีแก้ปัญหา หรือทำงานให้เข้าเป้า แต่ใช้วิธี ลปรร กับกลุ่มเป้าหมาย เหล่านั้นแทน (ฟังเขาด้วย พูดประสบการณ์ ความรู้ของเราสลับอย่างได้จังหวะ)
ผมจะรอไปดูที่หน่วยอื่นๆครับ เผื่อจะได้เรียนรู็เพิ่มเติมจากที่พวกเราตั้งหน้าตั้งตาคิดค้นกันอย่างคึกคัก