GotoKnow

Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๙)

Prof. Vicharn Panich
เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2549 19:43 น. ()
แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2555 14:19 น. ()
การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี (โรงเรียนชาวนา) (๓)

เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ : การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี (โรงเรียนชาวนา) (๓)

 

คุณณรงค์   อ่วมรัมย์ : 
เป็นการฝึกลูกสอนหลานในพิธีแรกนา ภาพเด็กจากโรงเรียนรุ่งอรุณที่มาเยี่ยมชมกิจกรรมของเรา เป็นสื่อเล็กๆ น้อย ๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกไปโดยมี สคส.เป็นสะพานสายรุ้งเชื่อม ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่สื่อเผยแพร่ความสัมพันธ์อยู่ที่เพื่อนจากที่ต่างๆที่มาแลกเปลี่ยนร่วมกันเป็นกัลยาณมิตรร่วมกัน จะเป็นภาพสุดท้ายครับคือ กลุ่มเครือข่ายที่เป็นพันธมิตรจากสถาบัน สคส. และ  สกว. และคำสุดท้ายที่อยากจะบอกในเรื่องของนักเรียนชาวนาที่เกิดจากการส่งเสริมของข้าวขวัญเป็นกลอนอีกเหมือนกัน 
“ศรัทธาจากปวงชน           ดั่งสายฝนรดกายใจ
สายน้ำที่หลั่งไหล              คือสายใจความศรัทธา
น้ำฟ้าหล่นลงดิน                ทั่วทั้งถิ่นมีข้าวปลา 
หล่อเลี้ยงพวกเรามา          ข้าวจากฟ้าปลาจากดิน 
งามสมคำบวร                  วัดสอนไว้ให้เห็นจริง
โรงเรียนปลูกฝังสิ่ง                        สร้างวิชาสร้างผู้คน 
หมู่เรือนผู้คนงาม             งามงานศิลป งามงานศาสตร์   
ร่วมด้วยดั่งเครือญาติ         สร้างชุมชนก่อสุขเอย”   
 
พวกเราในนามตัวแทนของมูลนิธิข้าวขวัญของนักเรียนสี่พื้นที่ของข้าวขวัญ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ร่วมรับฟัง


คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
เรื่องที่คนทำจริงเสียงจริงที่ทำกันมาก่อน ที่ถามสรุป  ณรงค์จากมูลนิธิข้าวขวัญเรียกว่าเป็น NGO  เข้าไปชักชวนชาวบ้านในการที่จะลดต้นทุนเกษตรชีวภาพตอนแรกๆ บอกว่าก็ต้องใช้เวลา กำแพงมันใหญ่เรื่องสารเคมีเรื่องความคิดเก่าๆ  ของตัวเกษตรกรเอง แต่ด้วยความพยายามโดยความมีใจกับชาวบ้าน ชาวบ้านเห็นเขาเป็นลูกเป็นหลานก็ช่วย ๆ ทำกันมา ในท้ายที่สุดก็ได้ใช้คำว่าโรงเรียนชาวนาเหมือนเปิดห้องเรียนให้เรียนรู้ ความรู้ที่จะใช้ขณะนั้น ที่ผมถามโรงเรียนที่เปิดในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพอดีเรียนในช่วงที่ต้องใช้ความรู้จริงเป็นเรื่องที่น่าสนใจหลักสูตรทั้งหลายเป็นหลักสูตรที่ชาวบ้านระบุ     ณรงค์ก็ทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยไปเชิญวิทยากร ในเรื่องราวต่างๆ ก็คงทำกันมา 3 ปี แล้วครบ 3 หลักสูตร
คุณณรงค์  อ่วมรัมย์ : 
ขอเสริมอย่างหนึ่งไม่เฉพาะข้าวขวัญมีกระบวนการคิด สรส. สคส. เพื่อนกัลยาณมิตร เพื่อนพิจิตร เพื่อนทุกอย่าง  เป็นกัลยาณมิตรของเราทั้งหมดที่เอื้ออำนวยเกิดโรงเรียนชาวนาให้เราสมเจตนาเป็นไปในทางที่คิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของชาวนา 
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
การทำตรงนี้เรื่องเครือข่าย เครือข่ายเพื่อน เครือข่ายวิทยากร    เครือข่ายผู้รู้       ทำให้การเรียนรู้ไม่หยุดนิ่งมีเพื่อนเข้ามาให้กำลังใจให้การสนับสนุนตลอดเวลา 
ขอคำถามจากที่ประชุม
คุณลุงสุรินทร์  กิจนิตย์ชีว์ :
ชาวนาภาคกลางตั้งแต่ สิงห์บุรี  อยุธยา สุพรรณ เรื่องการกลับลำ   ทำตามที่คุณอำนวยที่หมายถึงณรงค์ว่า เป็นเรื่องยากมากกลับลำการทำนาเคมีมาเป็นนาชีวภาพยากมากแต่ทีนี้ในส่วนของชาวนาสุพรรณบุรีโดยเฉพาะที่วัดดาวกลับลำได้  ถามว่าอะไรทำให้คุณกิจ คือคุณสนั่น  กลับลำอะไร ทำให้กลับคือกลับจากนาเคมีเป็นนาชีวภาพ พอกลับแล้วเกิดผลลัพธ์อะไรกับเราบ้าง ผลลัพธ์หมายถึงส่วนตัว ครอบครัว ชุมชน สิ่งแวดล้อม อะไรอย่างนี้  อยากจะขอเรียนรู้ตรงนี้หน่อยจากทัศนะมุมมองของคุณอำนวยด้วย
คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
สาเหตุคือที่กล่าวมาเกิดประสบการณ์จากตนเองจากการแพ้ยาทำให้อยากจะเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้สารเคมีที่ทำอยู่ แต่เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลว่าจะทำอย่างไรไม่มีทางไปเราก็ไปไม่ได้ 
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ลุงสนั่นบอกว่าปัญหาการใช้ยาเพราะว่ามันแพงหรือเรื่องสุขภาพ
คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
เรื่องปัญหาการใช้สารเคมีมีผลต่อเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่  เรื่องแพงหรือไม่แพงเกษตรกรไม่คำนึงขอให้ได้ผลอย่างเดียว   แต่เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่หยุดการใช้สารเคมีได้     อย่างเช่นเกษตรกรไม่มีทางออกมันต้องหาวิธีแก้ไขเมื่อทำเองไม่ได้ก็ต้องจ้างเขา
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ : 
ทีนี้ที่ลุงรินทร์ถามว่า ผลจากการเปลี่ยนเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราบ้างในหลายๆ เรื่อง
คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
พอเลิกการใช้สารเคมีทำให้สุขภาพเราดีขึ้น  โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มี  และต้นทุนก็ลดไปการใช้จ่ายเริ่มพอกิน พอใช้ ไม่มีปัญหา ครอบครัวดีขึ้น เวลาดีขึ้นก่อนนี้กังวลทำนาใช้สารเคมีกังวลมากกลัวหลายเรื่อง  เรื่องแมลงสำคัญไหน จะต้องจัดตารางการฉีดยากี่ครั้งกี่วันฉีดครั้ง เดี๋ยวนี้ยิ่งฉีดมากแมลงก็ยิ่งมามากเป็นความทุกข์ของชาวนาเป็นอย่างยิ่ง
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ : 
ตรงนี้มีคำถามเชื่อมโยงเวลาเรามาเรียนในโรงเรียนชาวนาเรามีปัญหาเรื่องเวลาการจัดสรรเวลา อุปสรรคของนักเรียนที่มาเรียนนั้นเวลาดำรงชีพมีผลกระทบในการทำงานหรือไม่
 คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
ผมว่าไม่มี ถ้าเรารู้จักการจัดการบริหารเวลาได้ถูกต้อง เช่น วันที่เราจะไปเรียน แทนที่จะจอดอยู่เปล่าๆ  เราขับรถไปเพื่อสูบน้ำขึ้นนาเอาเวลาตรงนั้นไปเข้าโรงเรียนใช้เวลาแค่ 3 ชั่วโมง ไม่มีปัญหาถ้ารู้จักการบริหารเวลา
คุณทรงพล   เจตนาวณิชย์ : 
ลุงสนั่นมีวิธีการจัดการกับแปลงรอบๆ ที่ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์และการใช้สารเคมีอย่างไร เคยท้อใจกับการทำเกษตรอินทรีย์หรือไม่  ในกลุ่มมีวิธีการให้กำลังใจอย่างไร
คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
เรื่องแปลงข้างเคียงเราไม่มีสิทธิไปห้ามปรามหรือไปว่ากล่าว ผมมีวิธีอย่างหนึ่งคือ หาโอกาสไปพูดคุยกับเขาให้เขารู้ว่าระบบการเกษตรการใช้ยามีภัยอันตรายอย่างไร        พยายามพูดให้เขารู้ให้เขาทราบทีละเล็กทีละน้อยให้ดูแปลงของเรา  เราไม่ใช้อะไรเลย   ไม่ต้องอะไรทำอะไรเลยผมก็อยู่ได้   แล้วของคุณฉีดทุกวัน ๆ  บางครั้งแมลงก็ลงไปกินให้ดูแปลงของเราเป็นตัวอย่าง
คุณทรงพล   เจตนาวณิชย์ :
ลุงสนั่นไม่ใช้สารเคมีแปลงนาข้างๆ ฉีด แมลงข้างๆ บินมาแปลงลุงสนั่นไหม
คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
ผมไม่กลัวครับ ผมอยากให้แมลงมา พอเราเรียนรู้แมลงในระบบธรรมชาติแมลงศัตรูพืชมีน้อยเพียงแต่ว่าเราไม่รู้จักเท่านั้น เราเห็นแมลงเราก็เหมาว่าเป็นตัวร้ายทั้งหมด แมลงมีมากแมลงมีประโยชน์กับเรา ธรรมชาติพร้อมที่จะช่วยเหลือพวกเราทุกเวลา เพียงแต่เราทำความรู้จักรายละเอียดให้มากขึ้นมันก็จะเป็นประโยชน์กับเรามาก
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ทีนี้แปลงข้าง ๆ เวลาใช้ยาน้ำจะไหลมาแปลงนาเราได้มันมีผลไหมถ้าข้างเคียงไม่ได้ทำ
คุณลุงสนั่น   เวียงขำ :
ผมว่าไม่มีผล ผมว่าทำนาเรื่องน้ำเขาหวงมาก เขาไม่ยอมให้เล็ดรอดออกมาต้องใช้เงินใช้น้ำมัน น้ำมันมันแพง
คุณทรงพล   เจตนาวณิชย์ :
ข้าวขวัญมีแรงจูงใจอย่างไร จึงอยากเผยแพร่ในเรื่องที่เราทำ
คุณณรงค์   อ่วมรัมย์ :
ถามข้าวขวัญหรือถามผมครับ ผมไม่สามารถตอบแทนข้าวขวัญได้
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ตอบแทนคุณอำนวย มีแรงบันดาลใจอะไรเพราะณรงค์เองไม่ใช่ลูกหลานคนในท้องถิ่น     จบการศึกษา มาจากลาดกระบัง พอจบแล้วสมัครงานที่ข้าวขวัญแล้วไปคลุกคลีตีโมงกับชาวบ้านมา 10 กว่าปี
คุณณรงค์  อ่วมรัมย์ :
จริง ๆ แล้ว แนวคิดที่ผมได้ตอนที่  สคส. ชีวิตงานการเรียนรู้  แล้วผมก็ผนวกเป็นหนึ่งอันเดียวกัน มันเป็นแรงบันดาลใจสิ่งที่ผมจะบอกต่อไปนี้ มีคนเคยถามผมว่าการเป็นคุณอำนวยยากไหม ท้อไหม ผมตอบว่า ผมเหนื่อย แต่สิ่งที่ทำให้ผมไม่ท้อเห็นชาวบ้านของผม  ลุงสนั่น อายุหกสิบสอง  หกสิบสามปี ต้องเขียนหนังสือต้องวาดรูปแมลง   ต้องมานั่งคัดพันธุ์ข้าว ต้องมาผสมพันธุ์ เพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ ถามว่าคุณอำนวยอย่างผม เด็กๆ ควรท้อหรือเพราะว่าผู้ใหญ่ที่เขาทำด้วยความตั้งใจ นี่คือสิ่งที่ผมตอบตรงอาจารย์หรือเปล่า แรงบันดาลใจผมเป็นคนอีสานมาทำงานภาคกลาง ทำอย่างไรให้เชื่อ ชอบ ช่วย ให้ได้ในการเข้าสู่ชุมชนวันนั้นอายุประมาณ 25 ปี เราเป็นเด็กเรารู้สึกว่าวัฒนธรรมความเด็กความเป็นผู้ใหญ่มันมีอยู่ในสังคมไทย
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ถามทางกลุ่มของลุงสนั่นท้อใจในการทำเกษตรอินทรีย์หรือไม่ กลุ่มให้กำลังใจซึ่งกันและกันอย่างไร
คุณณรงค์  อ่วมรัมย์ :
ถามว่าสิ่งที่เราให้กำลังใจนี่คือโปสเตอร์คนที่ 1 ใบแรกเขียนให้กำลังใจตนเองว่าคุณมาเรียน คุณรู้สึกท้อ คุณรู้สึกเบื่ออะไรก็แล้วแต่ ใบแรกคุณให้กำลังตนเอง  ใบที่ 2 คุณให้กำลังใจเพื่อนคนที่  1 ใบที่ 3 คุณให้กำลังใจคนที่ 2 ที่คุณสนิทชิดเชื้อในกลุ่มในห้องเรียนใบที่ 4 ผมบอกกับเขาว่าไม่ต้องให้กำลังใจผมหรอกในฐานะคุณอำนวยจะดุจะด่าจะว่าอย่างไรก็ได้ในฐานะลูกหลานซึ่งนี่แหละคือกำลังใจและหลังจากที่ทำโปสเตอร์ที่ไม่พูดถึงในเรื่องการจัดการความรู้ที่เขาทำผมจะส่งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว     มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งหาไม่เจอคือสมุดบันทึก ความทุกข์ ความสุข ความคาดหวัง   เหมือน SWOT  เราเอามาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับเพื่อนๆ ทุกคน  มันเป็นสมุดที่เราได้รับในเรื่องกำลังใจ พวกเราเขียนกำลังใจให้ตัวเองทุกคนเขียนกำลังให้เพื่อนไม่รู้เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ การจัดการดวงใจของคนอื่นๆ อย่างไร ผมไม่รู้แต่นี่คือกำลังใจของคนที่วัดดาว
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
นี่คือกุศโลบายในการทำกิจกรรมของการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน  ถามลุงสนั่นมีหนี้สินหรือเปล่าฐานะดีขึ้นไหม
คุณลุงสนั่น เวียงขำ :
มีหนี้สินกันทุกคนแต่จะมีมากหรือน้อยเท่านั้นเองผมเองไม่ได้เช่านาทำ หนี้สินก็เลยน้อยหน่อยคือหนี้สิน ธกส. ก่อนที่เราจะเข้าโรงเรียนเราต้องใช้ปุ๋ยประจำปุ๋ยก็ไปเอาที่ ธกส. แต่ว่าเข้าโรงเรียนชาวนาเงินมันเหลือเยอะแต่ความที่เป็นพ่อที่ใจดีลูกผม 3 คน เรียนจบหมดทุกคนเข้าใจว่าลูกเรียนจบเราสบายแล้วแต่ที่ไหนได้ลูกมันจะทำกิจการของมันเอง แต่ไม่มีอะไร มาบอกพ่อจะทำโน่นจะทำนี่รถคันหนึ่ง เพราะเรารู้นิสัยว่าลูกเราทำจริงไม่เคยมีนิสัยไม่ดี เราก็เชื่อใจลูกขอให้ทำจริงเราก็จะให้ครั้งแรกจ่ายไปแล้ว 400,000บาท พอซื้อรถมาก็ขาย ต้องเช่าห้างลูกเอาไปอีก 100,000 บาท ไม่มีแล้วต้องกู้ต่อไปขายดีต้องระดมต้นทุนซื้อข้าวของ ถามว่าต้องใช้เงินอีกเท่าไรบอกว่า 300,000 บาท ลูกมีความตั้งใจจริง ๆ จึงกู้ให้ 
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
โดยสรุปหนี้สินจากการทำนาครั้งนี้ไม่มี 
คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
แต่ว่าทำนามาได้ปี 47 ก็ได้ดีขึ้น มาปี 48 ปัจจุบันนี้พอไหว
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ชาวบ้านสุพรรณบุรีไม่รู้จักคุณเดชามาก่อน  ทำไมถึงเชื่อคุณเดชา    ไม่กลัวว่าผลผลิตจะลดลงหรือ ปีแรกทดลองทำกี่ไร่ไม่ใช้สารเคมีทั้งหมดเลยหรือว่าเป็นแปลงทดลองแล้วขยายผล
คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
ก่อนที่จะเชื่อจะต้องทดสอบความสามารถของตัวเราเองว่าเราทำได้แค่ไหน เราทำได้หรือไม่ได้เราต้องพยายามเรียนรู้ไปดูงานต่างถิ่นต่างที่ทั้ง ๆ ที่สำนักงานเองเขาก็มีแปลงทดลองเราต้องไปเห็นของจริงและทดลองด้วยตัวของตนเองด้วยเริ่มแรกเราทดลองแค่เพียง 3 ไร่ก่อน
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ทั้งหมดลุงหนั่นมีทั้งหมดกี่ไร่
คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
มี 50 ไร่  ทดลองก่อน 3 ไร่ จนเข้าใจมันเป็นไปได้แล้วค่อยขยาย ปีแรกมันไม่เห็นผลหรอก พอปีที่สองเริ่มขยายแปลงนาของเราไปเรื่องแมลงเราไม่ต้องใช้อะไรเลย   เราใช้ระบบธรรมชาติจัดการได้ทั้งหมด สารไล่แมลงไม่ต้องใช้ผมคิดว่าแมลงทุกตัวมันมีประโยชน์มากเราจะไปไล่เขาทำไมไม่ปล่อยให้เขาจัดการกันเอง อยู่อย่างสบายเลยดูซิว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นแต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นผ่านไปได้ดี
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
การที่ชุมชนคุณกิจที่วัดดาวรู้จักการทำนาโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี   รู้จักเก็บจุลินทรีย์ในป่า    รู้จักการใช้สารสะเดา เข้าใจว่าเกิดจากความรู้จากภายนอกจากนักวิชาการเป็นส่วนใหญ่ ถามว่าชุมชนที่เปลี่ยนชีวิตตัวเองโดยไม่พึ่งพาสารเคมีพึ่งตัวเองอยู่แล้วมีการริเริ่มใช้ความรู้ใหม่เกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร   ให้ณรงค์ ลุงสนั่น ช่วยกันตอบคำถามแยกแยะให้ผู้ถามชัดเจนนิดหนึ่งเพราะภาพมันคลุมเครือว่าดูเหมือนว่าการที่นักวิชาการเข้าไปค่อนข้างเยอะ  เพิ่งจะเริ่มเพราะฉะนั้นการที่เรารู้จักเก็บจุลินทรีย์ในป่า รู้จักใช้สารสะเดา เป็นความรู้จากภายนอกส่วนใหญ่ทีนี้ความรู้จากภายในค้นพบเองหรือรื้อฟื้นเอามาใช้
คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
มีครับ ในเรื่องจุลินทรีย์ก็ดีสมุนไพรก็ดีมันเป็นความรู้ที่ผ่านเข้ามา วิธีการที่ผ่านเข้ามา
คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ :  
ผ่านทางเครือข่ายชาวบ้านใช่ไหมครับ
คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :
จากมูลนิธิแต่ขึ้นอยู่กับเกษตรกรชาวนาเองมีความตั้งใจจะเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน เราต้องเรียนรู้ก็ทดลองหากเรียนรู้แล้วไม่ได้ทดลองกับมือเราเองมันไม่มีความมั่นใจหลอกครับรู้แล้วรู้เลยไม่ทดลองไม่ได้ทดลองว่าจริงหรือไม่ สิ่งทุกอย่างเมื่อมันเกิดจากความภูมิใจเมื่อทดลองสามารถที่จะทดลองเพิ่มเติมเพิ่มขีดความสามารถขึ้นไปใช้ความสามารถของเราเพิ่มเข้าไปอีก
คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ :
ในทางปฏิบัติแล้ว  เราต้องเอามาทดลองประยุกต์เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม  เข้าใจว่าสูตรจุลินทรีย์มีหลายสูตร
คุณณรงค์   อ่วมรัมย์ :
คืออย่างนี้นะครับก่อนที่นักวิชาการจากภายนอกจะเอาจุลินทรีย์ชุดนี้ไปวิเคราะห์ผลการศึกษา 
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ณรงค์บอกว่าชาวบ้านเขาทำอยู่แล้ว อาจารย์วิจารณ์ เข้าไปก็อยากให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่ชาวบ้านใช้กับความรู้จากวิชาการ เชิญ ดร.ก้าน เข้าไปจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดร.ก้าน ก็เอา สิ่งเหล่านี้ไปวิเคราะห์  ซึ่งแต่ก่อนชาวบ้านไม่ทราบว่าจุลินทรีย์มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่รู้ว่าใช้แล้วเกิดประโยชน์
คุณณรงค์   อ่วมรัมย์ :
จุลินทรีย์ไปย่อยฟางไม่ต้องเผาย่อยสลายดีทุกอย่าง สมุนไพรในท้องไร่ท้องนาเราสามารถมาใช้ประโยชน์ได้แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าประกอบด้วยตัวอะไร  จุลินทรีย์ตัวนี้จะไปทำหน้าที่อะไร  ความรู้แบบวิชาการแบบนี้ชาวบ้านยังไม่ทราบ ใช้แล้วเกิดประโยชน์อย่างนี้ใช้แล้วได้ผล จากลุงสนั่น ในห้องเรียนโรงเรียนชาวนามันมีทั้งสองภาคทฤษฎีและปฏิบัติ  ทางภาคทฤษฎีเขาสอนไปเอามาทดลองปฏิบัติกัน ทางภาคปฏิบัติเราก็มีกิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อนนั่งรถอีแต๋นไปดูทุกบ้านทุกแปลงนาในกลุ่มสมาชิกของเรา เราไปเรียนรู้จากการไปดูนาสิ่งที่เขาทำจุลินทรีย์ ฮอร์โมน น้ำหมักไปแลกเปลี่ยนกันอันไหนดีอันไหนไม่ดีเล่าสู่กันฟัง  ตรงนี้เป็นการให้กำลังใจกัน แล้วเจ้าของบ้านมาเรียนรู้ไปพูดคุยอย่างนั้นตามเพื่อนติดเพื่อนแต่ไม่ไปทำ เราใช้วิธีการเพื่อนเยี่ยมเพื่อนสัปดาห์นี้ไปไม่ทำไม่ว่า  สัปดาห์หน้าไปเสริมไปพูดคุยไปพูดให้กำลังใจมีปัญหากันอย่างไร คนอื่นเขาทำได้มีทรัพยากรให้ครั้งต่อไปด้วยสำนึกของคนเขาจะทำครั้งต่อไป เพื่อนจะมาอีกอย่างน้อยต้องรับหน้า ปัจจุบันต้องบอกว่าสิ่งที่ผมมากับลุงสนั่นผมมาสื่อแทนชุมชนของสุพรรณบุรีคือจะไปดูบ้านไหนจะเจอเรื่องแบบนี้คือพันธุ์ข้าวกล้องดูจุลินทรีย์นี่เป็นสื่อที่เรามาแทน
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
น่าเสียดายที่จริงในสไลด์ที่ณรงค์เตรียมมาสื่อในภาพจะไม่มีเฉพาะเรื่องเทคนิค  อย่างภาพเราจะเห็นพระแม่โพสพ การทำพิธีแรกนาต่างๆ ซึ่งทางพื้นที่ตรงนี้ได้รื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีขึ้นมาเป็นเรื่องเขาทำกันเอง งานเดือนสิบงานที่ชาวบ้านรื้อฟื้นสูตรอาหารเด่น ๆ ของคนในพื้น ที่จัดงานที่วัดมีกิจกรรมสนุกสนานการละเล่นพื้นบ้าน มีการเอานักเรียนเข้ามาเรียนรู้เข้ามาทำกิจกรรมเสียดายเวลาเราไม่มี การเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องเกษตร เรื่องวิถีชีวิต เรื่องวัฒนธรรมประเพณี  ซึ่งวัดดาวไปถึงจุดนั้นแล้ว  เขาไม่ได้มองเรื่องเกษตรเป็นเรื่องเกษตร แต่เกษตรเป็นวิถีชีวิตเชื่อมโยงกับหลายๆ ด้าน  คำถามสุดท้ายแต่เดิมมีมูลนิธิข้าวขวัญเข้าไปแนะนำทำนาแบบธรรมชาติอยู่แล้ว   หลังจาก สคส. เข้าไปอะไรเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมบ้างดูเหมือนว่าเราทำดีอยู่แล้ว สคส.เข้าไปเติมเต็มหรือต่อยอดอะไรทำอะไรที่เป็นรูปธรรมบ้าง    ณรงค์พอตอบได้ไหม
คุณณรงค์   อ่วมรัมย์ :
พูดแล้วไม่รู้ว่าสิ่งที่ข้าวขวัญทำโดยประสบการณ์ที่ลองผิดลองถูกกับชาวบ้านผมมา 10 ปี ก่อนหน้านี้ 15 ปี เราไม่สามารถที่จะถอดบทเรียนถอดประสบการณ์ของชาวบ้านเราไปสร้างเทคนิคผมยอมรับว่าเราสร้างเกษตรกรดีเด่นปี 38 ในสาขาการทำนาได้ เราคิดว่าคนรอบข้างจะเอาไปเป็นเยี่ยงอย่าง แต่ปรากฏว่าเราไปได้แต่เทคนิคการทำปุ๋ยหมักแต่เราไม่ได้กระบวนการกลุ่มซึ่งสามารถดึงพลังใจของแต่ละคนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พลังกลุ่มยังไม่มีพลังในการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่มีสิ่งที่ข้าวขวัญทำก่อนกลับลำทำเชิงเทคนิคเป็นหลัก ในหน่วยของการจัดการความรู้ครั้งแรกมูลนิธิข้าวขวัญมีความสับสนบ้างว่า โมเดลต่างๆ มันคืออะไรโชคดีที่ว่าผมรู้จาก สรส.  9 เดือนก่อนหน้านั้น  ผมสามารถเอาโมเดลต่างๆ มาประยุกต์ใช้ระหว่างประสบการณ์ตรงประสบการณ์จริงของผมที่ได้รับจากข้าวขวัญออกเป็นทฤษฎีและการปฏิบัติ แล้วเอาไปใช้กับชุมชน ชุมชนที่มีโอกาสทดลองความรู้ของผมคือชุมชนวัดดาว
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
คล้ายๆ ตัว สคส. เข้าไปทำให้ระบบความรู้ของตัวชาวบ้านชัดขึ้น เมื่อทางข้าวขวัญมีทุนเดิมอยู่มากโดยเฉพาะเรื่องพันธุ์ข้าวไปหนุนต่อให้จัดการความรู้ให้เข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างเครือข่ายไปยังจังหวัดพิจิตร จังหวัดนครสวรรค์ในเรื่องของพันธุ์ข้าว ส่วนเรื่องชีวภาพทาง สคส. พยายามที่จะเอาภูมิปัญญาสมัยใหม่เข้าไปเชื่อมเข้ามาอธิบายยกระดับโดยเฉพาะเรื่องของการหมักชีวภาพ ถ้าเรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์จำนวนเวลาที่ใช้หมักอาจจะสั้นลง ตอนนี้ระบบการทำปุ๋ยหมักมีมหาวิทยาลัยที่เขาทำระยะเวลาในการบ่มลดลงมาก เพราะฉะนั้นทาง สคส. เชื่อมนักวิชาการทั้งหลายเข้ามาเรียนรู้กับชาวบ้านโดยเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ผมคิดว่าตรงนี้ สคส. เข้าไปเติมเต็มชาวบ้านที่มีอยู่แล้ว
คุณลุงสุรินทร์   กิจนิตย์ชีว์ :
ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญพยายามจับหัวใจสำคัญของโรงเรียนชาวนาที่ว่าทำตามที่เอาการจัดการความรู้จริงหรือเปล่าไม่รู้ ที่ว่าการกลับลำมีการกลับลำในสองระดับ ณรงค์บอกว่ามีการกลับลำในเชิงเทคนิคที่ทำมาตลอด แต่ฐานคิดยังไม่เปลี่ยน  ฐานคิดระบบทุนแปลว่ายังไม่กลับใจ เมื่อหาเทคนิคแทนปุ๋ยชีวภาพไม่ได้ก็กลับไปหาปุ๋ยเคมีอย่างเก่าแต่ยังไม่ยั่งยืน แต่ถ้ามาตอนหลังที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เข้าระบบ สคส. เข้าไปบอกมันเป็นการให้การเรียนรู้สมบูรณ์ขึ้นครบถ้วนขึ้นไม่ได้ปฏิเสธเรื่องกลับลำทางเทคนิคต้องมี แต่ยังไม่สมบูรณ์พลังยังไม่พอ พลังอยู่ที่กลับใจเกิดการเรียนรู้ ที่คุณสนั่นพูดชัดเจนมากเกิดการกลับใจ ทางเดินถูกแล้วอาการเกิดตั้งใจเรียน พอตั้งใจเกิดการเรียนรู้ พอเรียนรู้แล้วจัดการเป็น จัดการเชิงระบบจัดการเป็นในเรื่องอะไรบ้าง  จัดการในเรื่องแมลง จัดการในเรื่องบำรุงดิน จัดการในเรื่องพันธุ์ข้าว ประถม มัธยม อุดมศึกษา จากตรงนี้ต้องใช้ความรู้ แมลงอะไรเป็นศัตรู แมลงอะไรไม่เป็น ต้องใช้ความรู้ตรงนี้เรียกว่าการจัดการความรู้ เรื่องธรรมชาติหรือเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งแต่ก่อนนี้ถามว่ามูลนิธิข้าวขวัญทำอยู่แล้วแต่พลังไม่พอ สคส. เข้าไปเสริมเรื่องการจัดการความรู้ในเชิงมิติทางวัฒนธรรม นั่นแปลว่าคิดเรื่องชุมชนเป็นตัวตั้งพ้นจากเรื่องเศรษฐกิจทุนแล้วเอาสุขภาพเอาความสุขของชุมชน มีเพื่อนมาให้กำลังใจกันแล้วใช้มิติทางวัฒนธรรม แม่โพสพ แม่พระ  คงคา แม่พระธรณี ตรงนี้เอาทั้งหมดเรียกว่าการจัดการความรู้   การจัดการความรู้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดปัญญา มองเห็นเชิงระบบว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ถ้าระบบนิเวศน์ดีชีวิตดี ระบบนิเวศน์เสียเราก็อยู่ไม่ได้เชื่อมโยงกัน การจัดการความรู้ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนสำนึก พอสำนึกเปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนและเปลี่ยนอย่างยั่งยืนนี่คือการจับประเด็น
คุณทรงพล   เจตนาวณิชย์ :
อีกสักครู่เราจะมาสรุปกันต่อ ขอบคุณลุงสนั่น และณรงค์ ขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง



ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย