Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๘)


เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ : การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ จังหวัดสุพรรณบุรี (โรงเรียนชาวนา)

เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ : การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี (โรงเรียนชาวนา) (๒)

 

คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ลุงสนั่นช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมตอนที่เราเรียนแมลงเราได้วิทยากรมาจากไหน หมายถึงคนที่มาสอนครั้งแรก


คุณลุงสนั่น เวียงขำ


คือ อาจารย์วิมล สีมาสุข ที่ดูแลด้านแมลงที่เรียนมาจาก กศน. เรื่องแมลงโดยเฉพาะ


คุณณรงค์ อ่วมรัมย์ :


ผมลืมไปตอนหนึ่งตอนที่เราสรุปบทเรียนกันว่าหัวใจที่สำคัญที่สุดของการทำนาของชาวนามันมีอะไรจากเวทีระดมใหญ่ถึงเกิดหลักสูตร 3 หลักสูตรคือ หนึ่งหัวใจสำคัญในเรื่องของเมล็ดพันธุ์  สอง การเตรียมปุ๋ยการเตรียมดิน และสามจุลินทรีย์ซึ่งเป็นที่มา สามหลักสูตรที่ข้าวขวัญกำหนดเรียน  ต่อไปนี้คือสิ่งที่เป็นพันธกิจร่วมกัน ห้า หก  ข้อที่ท่านเห็นไม่มีผลทางกฎหมาย  แต่มีผลทางเรื่องจิตใจสำหรับพวกเรา  นักเรียนชาวนาทุกท่านต้องมี แปลงการทดลองเป็นของตนเองอย่างน้อย 2 ไร่  ไม่ใช้สารเคมีไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชใดๆ ทั้งสิ้นตลอดหลักสูตร 18 สัปดาห์  โรงเรียนชาวนาของเราเปิดสัปดาห์ละ 1 วัน วันละ 3 ชั่วโมง คือเก้าโมงเช้าถึงเที่ยงกำหนดวันใดวันหนึ่งก็ได้แล้วนักเรียนชาวนาห้ามขาดติดต่อเกิน 2 ครั้ง     แต่ถ้าหากมีความจำเป็นหาตัวแทนครอบครัวมาเรียนได้  แต่ไม่ใช่เอาลูกเด็กเล็กแดงมาเรียนเอาผู้เฒ่าผู้แก่ที่สามารถทำการเกษตรได้สามารถตัดสินใจได้ การเรียนของนักเรียนชาวนาของเราจาก 18 ครั้ง ห้ามขาดเกิน 5 ครั้ง ถ้าขาดเกิน 5 ครั้ง จะไม่ได้รับวุฒิบัตรเราถือเป็นพันธะสัญญาร่วมกันแล้วสิ่งหนึ่งนี่คือความภาคภูมิใจของนักเรียนชาวนา  นักเรียนชาวนาที่เรียนต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ครั้ง มันสร้างขบวนการในการคิดไม่ใช่ว่าจะมาไม่มาเพื่อนจะถามหามันมีขบวนการดูแลกัน 43 คน มีอยู่ 9 กลุ่ม ดูแลกันเองภายในแต่ละกลุ่มซึ่งตรงนี้คือสิ่งสำคัญ


คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ :


อันนี้จะเป็นช่วงโรงเรียนเปิดฤดูการเปิด เฉพาะช่วงสี่เดือน


คุณณรงค์ อ่วมรัมย์ : 


ครับ  มีวีดีทัศน์ที่เราต้องการนำเสนอประมาณ (6 นาที)
นำเสนอวีดีทัศน์ โดยมีรายละเอียดดังนี้


“เกษตรปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์ก็คงยังมาแรงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรส่วนใหญ่ก็หันมาสนใจ กันมากขึ้น อย่างเช่นชาวบ้านชาวสุพรรณบุรีเขาสนใจกันมาก ขณะนี้เปิดโรงเรียนสอนเป็นโรงเรียนชาวนาที่ให้ความรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน วันนี้เราเครือข่ายโลกสีเขียวเก็บภาพ และรายละเอียดมาให้ชมกันครับ”


พิธีกร :


“ภายในศาลาวัดเล็กๆ แห่งนี้ คือสถานที่ที่กลุ่มชาวนาจากที่ต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรีมารวมตัวกันเพื่อมาเข้าเรียนหลักสูตรธรรมชาติของคนทำนาโดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนชาวนา โรงเรียนชาวนาเป็นหนึ่งของโครงการสถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม โดยมีการจัดการเรียนการสอนให้ชาวนารู้จักเรียนรู้ถึงระบบธรรมชาติในแปลงนาและแนวทางในการทำนาของตน โดยหวังให้หลุดพ้นจากการถูกครอบงำจากโฆษณาชวนเชื่อจากการใช้สารเคมีที่สร้างผลกระทบต่อคนและระบบนิเวศน์ ที่โรงเรียนชาวนามีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ควบคู่กันโดยมีการแบ่งกลุ่มกันเองตามสภาพพื้นที่การทำนาและมีการแลกเปลี่ยนความรู้จากการปฏิบัติจริงทุกๆ สัปดาห์”


คุณณรงค์   อ่วมรัมย์ :


กิจกรรมในโรงเรียนมี 3 หลักสูตรด้วยกัน หลักสูตรแรกหลักสูตรการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรระดับขั้นประถมของพวกเรา เพื่อจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชสามารถปลูกพืชได้เจริญงอกงาม หลักสูตรที่สองที่เรากำลังดำเนินการอยู่ก็คือ ในเรื่องหลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดิน ส่วนหลักสูตรที่สาม เป็นหลักสูตรในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวนาสูญเสียรายได้ในครัวเรือนต่อฤดูกาลเพาะปลูก  ก็คือว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ต้องซื้อมีราคาค่อนข้างแพงเป็นเงาตามตัวขึ้นไปเรื่อยๆ เราต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นกลุ่มของพวกเราภายในมีการคิดและแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลาทุกสัปดาห์ ตลอดฤดูการผลิต 18 สัปดาห์ หรือประมาณ 4 เดือน


พิธีกร :


“สิ่งสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้กลับลำหันมาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ปลดตัวเองจากการเป็นทาสสารเคมี มาเคารพ ศรัทธา ต่อจิตวิญญาณของชาวนา   ไม่ว่าจะเป็นแม่โพสพ แม่ธรณี แม่คงคา ก็คือการได้เห็นได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้ศึกษาด้วยตนเองและจากชาวนาคนอื่น ลุงสนั่น คือหนึ่งในชาวนาตัวอย่างที่รู้จักวิถีของการทำนาโดยแท้จริง โดยลุงสนั่นรู้จักการทำนาปราศจากสารเคมีซึ่งผลผลิตที่ได้นี้ต่างจากการปลูกข้าวแบบทฤษฎีเดิมอย่างสิ้นเชิง”


คุณลุงสนั่น  เวียงขำ :


พอดีมาเจอะเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิข้าวขวัญคือคุณณรงค์ มาเยี่ยมตามบ้าน มาคุยจะทำนาแบบไม่ต้องใช้สารเคมี  ถามว่าจะทำอย่างไร จะเอาอะไรมาทดแทนสารเคมี  ณรงค์บอกว่า   ขั้นแรกก็ให้ใช้สารสมุนไพรพื้นบ้านพวกสะเดาทดแทน


พิธีกร :


“จากการลองผิดลองถูกจนได้เรียนรู้การปฏิบัติจริงควบคู่กันไปทำให้ชาวนาผู้หนึ่งที่แม้จบการศึกษาเพียงแค่ชั้น ป.4 ได้รับความรู้มากมายเพียงแต่อาศัยความขยันหมั่นเพียร ปฏิบัติตามสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ผลลัพธ์ที่ได้คือต้นข้าวที่ออกรวงและให้ผลผลิตที่แสนคุ้มค่า”
คุณลุงสนั่น เวียงขำ :
อันดับแรกสุขภาพแน่นอนเลยพอเลิกจากสารเคมีแล้วไม่มี ปวดหัว ตัวร้อน อาการมึนงงต่างๆหายไปเลยไม่มีกับเราเลย  ในเรื่องของต้นทุนเราไปซื้อยาเขาเท่าไหร่ขวดละ ร้อยสองร้อย ขวดละพัน สองพันก็มี เงินที่เราซื้อยาเราเก็บไว้นั่นเป็นยอดกำไรของเราโดยตรง 


พิธีกร :


“วิถีชีวิตของชาวนาโดยอาศัยระบบธรรมชาติที่ได้ห่างหายไปนานบัดนี้ได้เริ่มกลับมีชีวิตดั่งเดิมจากโรงเรียนชาวนาแห่งนี้ที่ซึ่งปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งการเป็นชาวนาอย่างแท้จริงอีกครั้ง”
จบการนำเสนอวีดีทัศน์


คุณณรงค์ อ่วมรัมย์ : 


จุลินทรีย์ที่เราไปเอามา อาจารย์ก้านเอาไปวิเคราะห์ผลทางการศึกษาที่ซึ่งถ้าใครอยากได้ก็สำเนาซีดีไป เพราะไม่มีเวลาตีพิมพ์


คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ :


ชาวบ้านไปเอาจุลินทรีย์ที่ไหนครับ


คุณณรงค์ อ่วมรัมย์ :


จุลินทรีย์ที่เอามาจากไซเบอร์ อุทัยธานี จุลินทรีย์ที่นี่จะมีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก    แล้วจุลินทรีย์แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน นี่คือสภาพพื้นที่จริงที่เราไปเก็บในท้องป่า อุดมสมบูรณ์ 
 
ตอนที่เราเอาจุลินทรีย์มาเพาะเลี้ยง จุลินทรีย์จากป่าธรรมชาติเราไม่รู้ว่ามันมีผลทางวิทยาศาสตร์อย่างไร แต่เราเอามาใช้ในนามันเกิดผลดีข้าวของเราเมล็ดเต็มเมล็ดข้าวสารเต็มเมล็ดข้าวเปลือก  โรงสีเกิดความต้องการแล้ว  เมื่อท่านอาจารย์ก้านมา  ได้เอาจุลินทรีย์ที่เราเพาะเลี้ยงจากใบไผ่ไปวิเคราะห์  ผลปรากฏว่ามี  32 ตัว จากธรรมชาติที่มีอยู่  ผมไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนไปเก็บที่ไซเบอร์เก็บท้องถิ่นที่อยู่ใกล้บ้านเรามีความปลอดภัยจากสารเคมีมากที่สุด อยากนำเสนออย่างนี้ก่อนแล้วอีกส่วนหนึ่งนี่คือเชื้อ ไตรโคเดอร์ม่า บริสุทธิ์ที่เราไปเรียนจากคลินิกโรคพืชของ ดร. วรรณวิลัย เป็นการเรียนรู้อย่างง่ายๆ เราเอามาทำเอง

ผลการตรวจสอบเชื้อ  นี่คือประโยชน์ของเชื้อ 3-4 ตัวที่เราได้  นี่คือทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาที่จะต้องมีการทำการบ้าน สอนวันจันทร์ทุกคนก็ไปทำวันอาทิตย์ถึงวันอังคาร วันจันทร์ต้องมาสรุปวิเคราะห์ผลต่อ

เปรียบเทียบระหว่างนาที่ใช้สารเคมี นาที่เผาฟาง นาที่เกิดการใช้ปุ๋ยชีวภาพเพียงอย่างเดียว นาที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับจุลินทรีย์ ดูจากลักษณะรากข้าวเป็นหลัก 
 
มีคำถามจากพี่เมื่อกี้ คือข้าววัชพืชที่เห็นคือข้าวที่เห็นสีแดงปัจจุบันข้าววัชพืชเป็นปัญหามากซึ่งจะต้องมีรายละเอียดมากมันมีบูธของข้าวขวัญที่อยู่ข้างนอกที่ผมเตรียมสำหรับข้าวเปลือกธรรมดาและสีเป็นข้าวกล้องที่มีความปนเปื้อนอยู่ ข้าวบริสุทธิ์ที่คัดแล้วเราปลูกข้าวจากข้าวสารเราคัดข้าวสาร 
 
สิ่งที่เราลงนี่คือเมล็ดข้าวสาร    
 
นี่คือที่เราร่วมแรงร่วมใจกัน  
 
 รูปรับขวัญแม่โพสพ   ผมใช้คำว่าข้าวคือชีวิต  ชีวิตท้องทุ่งคนวัดดาวเพราะว่าผมเขียนงานเรื่องนี้อยู่ที่นั่น ผมอยากให้ทุกคนคิดว่าเป็นชาวนาหรือคนที่ไปสัมพันธ์กับชาวนาอยากจะให้ฟังชื่อบทกลอนว่า    ข้าวขวัญ เหมือนชื่อมูลนิธิ
“ข้าวมีคุณมากแท้ แม่โพสพ                         เราเคารพข้าวนั้น เราทำขวัญข้าว
พิธีกรรมตำนานอันนานยาว                         คือเรื่องราวเลือดเนื้อเหงื่อชาวนา
พระคุณแม่มากล้ำธรรมชาติ                         จนไม่อาจแทนคุณเสมอค่า
ได้แต่ขออภัยให้เมตตา                               ขวัญแม่คืนกลับมาคอยคุ้มภัย
เป็นขวัญอยู่คู่ดิน ขวัญถิ่นฐาน                      เป็นขวัญอยู่คู่บ้าน ขวัญนาไร่      
ผีละโมบโรคร้ายให้ห่างไกล                          นำขวัญ กลับคืนใจ  ให้ใกล้มา 
ข้าวขวัญความสัมพันธ์คนกับข้าว                  คือเรื่องราวตำนานการผลิต 
ขวัญพืชพันธุ์ ธัญญาหารขวัญชีวิต                แนบสนิท ในจิตใจในไร่นา”  
 
นี่คือภาพที่สะท้อนนี่คือความภูมิใจระดับเบื้องต้นที่เราบอกว่าท่านผู้ว่า  ท่านทรงพล  ทิมาศาสตร์ มอบวุฒิบัตรการจบหลักสูตรที่หนึ่งในเรื่องของโรคแมลง  ซึ่งเป็นความภูมิใจเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับนักเรียนชาวนา  นี่คือความภูมิใจของพวกเราที่มีเพื่อนอาจจะคุ้นหน้าคือคุณหมอวิจารณ์  นั่งฟังเรื่องราวการทำนาของเราที่ทำนามีประสบการณ์ตรงโดยใช้โมเดลในการจัดการความรู้เอามาใช้  ภาพลุงสนั่นนำเสนอท่านทูตญี่ปุ่น

มีต่อตอนที่ ๓

หมายเลขบันทึก: 12432เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2006 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท