Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๗)


การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี (โรงเรียนชาวนา)

เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ : การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี (โรงเรียนชาวนา) (๑)

ประเด็นนำเสนอ   เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ : การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่
  จังหวัดสุพรรณบุรี (โรงเรียนชาวนา)
ผู้ดำเนินรายการ   คุณทรงพล เจตนาวณิชย์
ผู้อภิปราย            คุณณรงค์ อ่วมรัมย์ และ คุณสนั่น  เวียงขำ
  (โรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญจังหวัดสุพรรณบุรี)
วัน/เวลา                          วันพฤหัสบดีที่  1  ธันวาคม  2548    เวลา 13.30-14.15 น.
คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ :
ช่วงบ่ายเรามีเรื่องดี ๆ มาเล่าให้ฟังกันอีก อันนี้จะเป็นพื้นที่ของสุพรรณบุรีภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี วิธีการทำงานกระบวนการทำงานแตกต่างจากที่พิจิตร เรามีวิทยากรสองท่านที่กรุณามาเล่าประสบการณ์การทำงานให้เราฟัง มีคุณณรงค์ อ่วมรัมย์ และคุณลุงสนั่น  เวียงขำ   จากโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี  คุณณรงค์  อ่วมรัมย์ ทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย ส่วนคุณลุงสนั่น  เวียงขำเป็นคุณกิจ เดี๋ยวนี่เรามีภาษาคุณอำนวย คุณกิจ คุณลิขิต  ก็ค่อย ๆ คุ้นกันไป  เราจะเริ่มที่คุณณรงค์  มูลนิธิข้าวขวัญเริ่มต้นอย่างไรที่ได้เข้าไปทำงานกับทางชุมชนที่วัดดาว  หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ช่วยกันเล่าทั้งสองคนถ้าไม่ชัดเจนผมจะซักให้ เชิญเลยครับ
คุณณรงค์ อ่วมรัมย์ :
สวัสดีครับ ขอบคุณทุกท่านที่ให้โอกาสพวกเราอย่างน้อยก็ชุมชนชาวนาวัดดาว คนที่ทำงานส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนในจังหวัดสุพรรณบุรีมาร้อยเรียงเรื่องเล่าประสบการณ์ของพวกเราที่เราค้นพบเรื่องดีๆ โดยมีสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้  สคส. เป็นตัวเชื่อมให้พวกเราได้รับรู้ แต่ก่อนอื่นผมอยากขอแนะนำตัวเองก่อนครับผมอายุยังน้อย 32 ปี  ครับ  แต่ที่นี้ว่าผมมาอยู่สุพรรณบุรีจะครบ 10 ปีอยู่แล้วแต่มีคำหนึ่งที่ประทับใจในเรื่องของคำขวัญของคนจังหวัดสุพรรณบุรี ต่อไปนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยกันในวันนี้ผมจะอ่านคำขวัญของคนสุพรรณบุรีให้ฟัง  “สุพรรณบุรีเมืองยุทธหัตถี  วรรณคดีเลื่องชื่อ   เลื่องลือพระเครื่อง  รุ่งเรืองเกษตรกรรม    สูงล้ำประวัติศาสตร์   แหล่งปราชญ์ศิลปิน   ภาษาถิ่นชวนฟัง”  ความคิดรวบยอดที่ผมพูดมาในวรรคทองที่ผ่านมานี้จะถูกร้อยเรียงจากคำพูดของลุงสนั่นครับ
คุณลุงสนั่น เวียงขำ :
ก่อนอื่นต้องขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมารับฟังในวันนี้ ก่อนอื่นผมขออนุญาตระบายความรู้สึกจากหัวใจจริงจากนักเรียนชาวนาเกษตรกรของจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นบทเพลงพื้นบ้านให้ท่านรับฟังสักนิด
“โอ งง โง งะ โอง เอย
ขอบคุณครับคุณท่านหมอวิจารณ์                ท่านเมตตาทำให้โรงเรียนชาวนาเกิดขึ้นมาได้
ตั้งแต่ผมเข้ากับโรงเรียนชาวนา                    ได้รับแต่สิ่งที่ดี ๆ ขึ้นมากมาย
ทำให้เรารู้จักเริ่ม รู้จักลอง รู้จักมองการณ์ไกล  ทำให้เรายืนกันอยู่ได้บนขาของตัวเอง (ซ้ำ)
ต่อไปเราไม่ต้องกลัวหรือว่าเกรงใคร   (ซ้ำ)    เอ ชา เอ ช้า ชา ชะ ช่า  หน่อยแม่
เราเลิกการใช้การเสียเถิดนะพวกสารเคมี        ใช้แล้วมันไม่ดีมันมีแต่อันตราย
เรามาทำนาปลอดสารกันดีเสียดีกว่า (ซ้ำ)
ทำแล้วชาวนาสุขสบาย                              เอ ชา  เอ ช้า ชา ชะ ช่า ชา หน่อยแม่
เรามาช่วยกันคิดเรามาช่วยกันทำ                 เรามาแนะนำเราช่วยกันไป
เรามีของดี ๆ ที่พวกเราทดลอง                    ที่ได้เก็บที่ได้ดองกันก็เอาไว้
เราเอามาแจกจ่ายให้ไปกับนักเรียน              เอาของดีๆ มาแลกเปลี่ยนกันไป (ซ้ำ)
เอ ชา  เอ ช้า ชา ชะ ช่า  หน่อยแม่
พวกนักเรียนหรือว่าชาวนา                         เราจับมือเราเดินหน้าต่อไปให้ได้ 
เรามาทำพันธุ์ข้าวใช้กันเอง                         ไม่ต้องไปเกรงไม่ต้องไปซื้อไคร
เรามาทำพันธุ์ข้าวของเราเสียให้ดี                 นี่คือศักดิ์ศรีชาวนาไทย (ซ้ำ) 
เอ ชา เอ ช้า ชา ชะ ช่า ชา  หน่อยแม่”
คุณณรงค์ อ่วมรัมย์ :
ในฐานะคุณอำนวยที่พูดจากใจจริงของคุณอำนวยไม่ได้คิดค้นคำพูดออกมาเอง คือว่าคำพูดต่อไปนี้เป็นการแสดงทัศนคติของท่านชูมัคเกอร์ ที่ว่าการทำงานของมนุษย์ควรมีสองสามประการด้วยกันแล้วมาสอดคล้องกับวิถีชีวิตนักเรียนชาวนาวัดดาว อำเภอบางปลาม้า 10 กว่าปีที่ผ่านมา   หนึ่ง ท่านบอกว่าผลิตสินค้าที่จำเป็นและมีประโยชน์ สอง ทำให้เราค้นพบพรสวรรค์และทักษะที่มีอยู่ในตัวของเรา  สาม เพื่อรับใช้ร่วมมือกับคนอื่นเพื่อที่จะปลดปล่อยตนเองให้ออกจากโซ่ตรวนของอัตตา นี่คือทัศนะของท่านชูมัคเกอร์
ต่อไปนี้เริ่มคุยในเรื่องการส่งเสริมภาคการเกษตรระบบเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดสุพรรณบุรีชื่อโครงการการส่งเสริมจัดการความรู้การทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  สนับสนุนโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม    บางครั้งผมต้องขออภัยเบื้องต้นว่าคำพูดของผม ระหว่าง สคส. กับ สรส. ซ้อนๆ  กันอยู่ 
นี่คือพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี มี 10 อำเภอด้วยกัน    สุพรรณบุรีครั้งแรกโบราณกาลได้ชื่อว่า เมืองอู่ข้าว อู่น้ำของประเทศไทย มูลนิธิข้าวขวัญได้เข้าร่วมทำงานกับ 4 พื้นที่  คือหนึ่งอำเภอเมืองเป็นสถานที่ตั้งของมูลนิธิข้าวขวัญ  อำเภอดอนเจดีย์พื้นที่เขตนาน้ำฝนพื้นที่ซึ่งที่นี่จะแล้งลำบากกว่าที่อื่น  ที่ข้าวขวัญทำ อำเภออู่ทองตรงนี้พื้นที่เขตชลประทานน้ำท่วมถึงปัจจุบันน้ำท่วมอยู่ อำเภอสุดท้าย อำเภอปางปลาม้า อำเภอประตูหน้าด่านของจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบเอง
จาก 4 พื้นที่ 4 อำเภอที่ข้าวขวัญร่วมทำงาน กลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนชาวนา   พบว่าอำเภอเมืองมีเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ที่ผสมผสานระหว่าง 2 วัฒนธรรมคือ ไทยกับเขมร อำเภอบางปลาม้าที่ผมทำงานร่วมอยู่ด้วยมีเชื้อชาติไทย  ลาวพวนและจีน อำเภอที่สามอู่ทองเราจะเห็นศิลปะการแต่งตัวที่สวยงามมาก ไทยทรงดำลาวโซ่งที่อพยพถิ่นฐานมาจากเพชรบุรี  อำเภอสุดท้ายที่ข้าวขวัญทำงานด้วยคืออำเภอดอนเจดีย์ มีเชื้อสายลาวเวียง เป็นพื้นที่ที่มีความทุรกันดารมากที่สุดกว่า 3 อำเภอแต่น้ำใจของแม่ๆ ทั้งหลายไม่ได้แห้งแล้งเหมือนพื้นที่
นี่คือการทำนาเมื่อครั้งอดีตครั้งที่เราระลึกถึงครั้งที่เราร่วมแรงร่วมใจกัน   เป็นเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ ภาพจากกิจกรรมครั้งนี้เป็นบทเพลงเป็นงานศิลปะอย่างเช่นลุงสนั่น  เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด เกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมใจจากการทำงาน แต่จากปัญหาของความร่วมมือในครั้งอดีต ปัจจุบันมันเกิดอะไรขึ้นกับการที่ผมไปทำงาน ผมจะเล่าประสบการณ์ชิ้นหนึ่งสำคัญที่สุดของเด็กหนุ่มวัยละอ่อนที่เข้าไปทำงานในหมู่บ้านกับคนแปลกหน้า  “ไอ้หนุ่มเป็นคนที่ไหนมาทำอะไร” เป็นคำถามจากลุงสุดใจชาวบ้านคนแรกที่ผมรู้จัก  “ผมจะมาส่งเสริมเกษตรไม่ใช้สารเคมีครับ” ผมตอบไปด้วยความนอบน้อม ก่อนที่จะแกย้อนกลับมาแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นว่า “แล้วจะไปไหวหรือ” แล้วแกก็หัวเราะ เป็นคนแรกที่มีโอกาสคุยกับผม ผมไม่มีโอกาสคุยกับหนุ่มสาวในพื้นที่วัดดาว โชคดีมีอยู่สามท่านที่ผมเข้าไปไหว้พระขอพรที่โบสถ์ วัดสังโค ที่เราจัดงานเดือนสิบด้วยกัน หนึ่งคือหลวงพ่อ  สองคือลุงสนั่น สามคือลุงสุดใจ เพราะพื้นที่ตรงนั้นที่ไปส่งเสริมเป็นกำแพงกั้นระหว่างปุ๋ยเคมีสารเคมี ร้านค้าผลิตภัณฑ์ขายสารเคมีอย่างใหญ่หลวงมันเป็นหน้าที่ของคุณอำนวยเป็นหน้าที่ของนักพัฒนาที่จะต้องไปทำงานก็เลยมาร่วมหาทางออกร่วมกันประมาณ ปี 45  เป็นเวทีตั้งโจทย์ปัญหา      พี่เดชาช่วยตั้งโจทย์กระบวนการในการดึงจิตนาภาพของคนรุ่นเก่า       การดึงส่วนร่วมของกลุ่มเกษตรกรเพื่อหาทางออกให้แก่เขา พี่อรุณสามารถที่จะสรุปปัญหาของตัวเองได้จากทุกข์ สมุทัย นิโรจ มรรค เราเป็นทุกข์จากอะไร  
นี่คือทุกข์จากการเรียนรู้ของชาวนาในวันนั้นที่เราเจอ ทุกข์ที่เกิดจากปัญหาการผลิต  ทุกข์ที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกข์ที่เกิดจากปัญหาสภาพสังคมเศรษฐกิจ      ทุกข์เรื่องสุขภาพเรื่องประเพณีวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปนี่คือคำตอบที่เราได้จากวันนั้น   ไม่ใช่เฉพาะเวทีที่วัดดาวแต่ที่นี่เราประมวลหมดจากทุก 4  พื้นที่  นี่คือทุกข์ของคนทำนา ทุกข์ของคนที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ  ถามว่าต้นทุนการผลิตของเราจากการเก็บข้อมูลชัดเจน ขอให้ท่านดู 12 รายการ  2,700 บาท ในการทำนาเมื่อปี 47 อันนี้อธิบายได้ยากหน่อยผมได้ใส่เสื้อ สรส. เข้าไปจึงโชคดีหน่อย  มีมิตรจิต มิตรใจ ใครใส่เสื้อแดงเข้าไปหมู่บ้านคือแขก ไม่มีใครต้อนรับ      
จากปัญหาคนสุพรรณบุรีจากการรวบรวมปัญหาการใช้สารเคมี    เรื่อง เอ็นโดซันแฟน  ในนาข้าว ยาฆ่าหอยเชอรี่   ปรากฏว่าเมื่อปี 47 รายได้เฉลี่ยของคนสุพรรณ เฉลี่ย 300,000 บาท
นี่คือการใช้สารเคมีภาพทุกภาพผมถ่ายเอง ภาพข้างล่างผมถ่าย เขาถามว่าถ่ายไป ทำไมผมบอกว่าผมจะไปทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งส่งอาจารย์   ภาพที่สองภาพเด็กอยู่บนกองปุ๋ยเคมี ถุงปุ๋ยเคมี  และภาพที่ 3 หลานป้าหละผสมยา นี่คือถามว่าคุณภาพชีวิตของเด็ก ไม่ต้องถามถึงคนเฒ่าคนแก่ของเรา ถามว่าเด็กรู้ประสีประสาอะไร
นี่คือปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมที่เราค้นพบเผาฟาง ภาษาบ้านเราภาษาสุพรรณเผาแบบนี้เขาเรียกว่าเผาลวกๆ เพื่อไถนาได้ง่ายขึ้น นี่คือการเป็นช่องระบายน้ำที่เขาปล่อยยาฆ่าหอยเชอร์รี่ เอ็นโดซันแฟนออกมา คือภาพข้างล่างคือหอยเชอร์รี่ที่โดนเอ็นโดซันแฟน  สิ่งที่เราพบและสะเทือนใจ คือ ปลา  เมืองสุพรรณที่ได้ชื่อว่า อู่ข้าว อู่น้ำ อู่ปลา คนสุพรรณที่เคยบอกว่า รวยข้าว รวยน้ำ รวยปลา เป็นอย่างไรครับ  จากระบบกลับสู่สภาพสิ่งแวดล้อมผลเสียทุกอย่าง
ทุกคนเห็นเรื่องระบบสุขภาพที่เราได้เสียงสะท้อนจากเวทีวันนั้นผมจะยกกรณีหนึ่ง ลุงสุทินที่ทำจุลินทรีย์ให้เราวันนี้ได้นำมาแสดง  เมื่อก่อนแกบอกว่าตอนที่แกมีชีวิตอยู่ให้ไปวัดเองอย่าให้เขาพาไปวัดหมายความว่าแกมีชีวิตอยู่ให้ทำบุญสุนทานอย่าให้เขาหามไปวัด      แต่ลุงสุทินบอกกับผมว่าขอทำงานหนัก 5 วัน  ดีกว่าฉีดสารเคมีเพียงแค่ 3 ชั่วโมง เรารู้พิษภัยของสารเคมี
นี่คือเสียงของความคาดหวังของนักเรียนชาวนา
เราต้องการวิธีแก้ไขปัญหาของระบบการผลิต ลดต้นทุนของการผลิต ลดหนี้สิน ชาวนาสามารถพัฒนาเทคนิคการปรับปรุงดินได้ พันธุ์ข้าวได้ กลับมารื้อฟื้นวัฒนธรรมของตนเอง ชาวนาต้องการสุขภาพดี ทั่วหน้า ต้องการให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข แล้วต่อไปนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะถึงลุงสนั่นจากเวทีการวิเคราะห์ระดมปัญหาทั่วไปเราค้นพบว่า เราจัดโมเดล ของ สคส. เข้าไป คือว่าเราตั้งโจทย์ปัญหาจากการระดมความคิดของเพื่อนร่วมงานใน 4 พื้นที่ความรู้เก่าของเรา เรารู้จากการกระทำจากปู่ย่าตายาย  ความรู้ใหม่จากวิทยากรภายนอกจากการศึกษาดูงาน  การตั้งเป้าหมายร่วมกัน 23 ข้อ  มีอยู่ในหนังสือแหล่งเรียนรู้ของข้าวขวัญส่วนหนึ่งมาจากข้าวขวัญ 3 หลักสูตร คือข้าวขวัญไปมีประสบการณ์จากเพื่อนเครือข่ายหลากหลายมาก  และนำมาตั้งเป็น 3 หลักสูตร  หลักสูตรการใช้สมุนไพร  หลักสูตรปรับปรุงดิน  หลักสูตรการพัฒนาพันธุ์ข้าว แล้วก็เรียนรู้จากวิทยากรทั้งหลายพอเรียนไปทำไปมาสรุปบทเรียนหลังจากที่ทำ สิ่งหนึ่งที่ข้าวขวัญมี       ปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน 4 เดือน 18 สัปดาห์ นักเรียนสี่พื้นที่จะมาเจอกันทุกวันแล้วแต่ละพื้นที่จะนัดหมายมาเจอกัน อย่างผมนัดเจอกันที่วัดบางทีเรากินข้าวก้นบาตรหลวงพ่อ      ผมพูดถึงองค์ความรู้เก่าองค์ความรู้ใหม่   พวกเราใช้แนวความคิดใหม่วัฒนธรรมความเชื่อซึ่งเป็นจุดแข็งของสุพรรณอย่างที่เกริ่นนำไปแล้วในคำขวัญของสุพรรณซึ่งจะนำเสนอต่อไป
นี่คือโรงเรียนชาวนาของเราที่หนองแจงเป็นเพิงอย่างนี้ ลุงสนั่นจะพูด
คุณลุงสนั่น เวียงขำ :

นักเรียนชาวนาของอำเภอบางปลาม้าของจังหวัดสุพรรณทั้ง 4 พื้นที่มีการจัดการเรียนรู้ 3 ระดับด้วยกัน คือระดับที่หนึ่งเราเรียนรู้จากเรื่องแมลง ความจริงเราเริ่มรู้จักคุณณรงค์ เมื่อกลางปี 2545 ซึ่งตอนนั้นยังไม่คุ้นเคยยังไม่รู้จักกันมากเท่าไรนัก  มีโอกาสได้พูดคุยกันชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมทำนาแบบลดต้นทุนทำนาแบบเกษตรกรรมยั่งยืน  คือเลิกใช้สารเคมี ผมได้ถามคุณณรงค์ว่าการที่จะเลิกใช้สารเคมีเรามีตัวไหนเข้ามาทดแทนได้  ถ้าหากไม่มีตัวอะไรทดแทนมันยากที่จะปรับเปลี่ยนให้ชาวนาเลิกใช้สารเคมีเลิกได้ยากมาก  ณรงค์บอกว่า เรามาเรียนรู้ในเรื่องสมุนไพรใช้สมุนไพรเข้ามาทดแทนตอนนั้นความรู้สึกส่วนตัวไม่มีความเชื่อเลยว่าสมุนไพรจะสามารถกำจัดพวกแมลงขับไล่แมลงได้ นึกอยู่อย่างเดียวว่า “ขนาดยา ขวดละ สามร้อย      สี่ร้อย ยังไม่สามารถกำจัดแมลงได้แล้วสมุนไพรใช้แล้วจะมีประโยชน์อย่างไร” ต่างคนก็มีความคิดอย่างเดียวกันหมด แต่สาเหตุที่นักเรียนชาวนาอยากเรียนรู้เพราะว่าประสบกับนักเรียนเองเป็นส่วนใหญ่เพราะใช้สารเคมีอย่างมากมาย แล้วประสบกับการแพ้ยาที่ประสบกับตัวเอง  คือมีความคิดอยากจะหาวิธีที่จะหาสิ่งมาทดแทนสารเคมีได้ มีความคิดอยู่ในใจแต่หาทางออกไม่ได้   พอณรงค์เข้ามาจุดประกายตรงนี้ครั้งแรกไม่เชื่อแต่ก็อยากจะทดลองก็เลยรวบรวมสมาชิกได้ตอนนั้นสิบกว่าคนได้ก็เริ่มเรียน ณรงค์ก็ช่วยด้วยหาวิทยากรมาเพิ่มในเรื่องแมลง เราจะเรียนทุกวันจันทร์อยู่ในห้องเรียนประมาณชั่วโมงหนึ่งแล้วก็ลงไปท้องนาในพื้นที่อีกชั่วโมงหนึ่งคือลงไปตรวจและจับแมลงโฉบแมลงขึ้นมาชั่วโมงหนึ่ง   เอาแมลงขึ้นมาคัดมาทำความรู้จักแมลง มีชื่ออะไรบ้าง มีประโยชน์อะไรหรือไม่มี ให้นักเรียนชาวนาทำความรู้จักตามที่เราเรียนเรื่องแมลง       ในช่วงฤดูการทำนาครั้งแรกประมาณ ร้อยสิบวัน เราเรียนกันทุกอาทิตย์แต่ไม่ใช่เรียนเฉพาะวันอาทิตย์ วันอาทิตย์เราเรียนรวมกันเรียนที่โรงเรียนหรือศาลาวัด แต่วันธรรมดาทุกวันนักเรียนจะต้องลงนาทุกวันต้องเรียนรู้ในแปลงนา   ทุกวันต้องตรวจทุกวันพอถึงวันนัดพบนักเรียน   นักเรียนจะมีปัญหาอะไรหรือพบแมลงแปลกๆ  ไม่เข้าใจ   ตัวไหนไม่เข้าใจเราจะเข้าโรงเรียนแล้วมาพูดคุยกันวิทยากรจะบอกคือตัวอะไร ตัวนี้ดีหรือไม่ดี นักเรียนจะลงแปลงนาทุกวัน  มีโอกาสเก็บแมลงที่เราไม่รู้จักมาให้วิทยากรช่วยอธิบายเพื่อเป็นความเข้าใจ  ฤดูแรก 3 เดือน 110 วันไม่ได้หยุดแค่นั้นในเรื่องแมลง ปีหนึ่งเราทำนาปีละ 2 ครั้ง ณรงค์บอกว่าเปลี่ยนเป็นอื่นบ้างไหมเรียนอื่นต่อไหม นักเรียนชาวนาบอกว่ายังไม่อยากเรียนอย่างอื่นอยากเรียนเรื่องแมลงซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แต่ฤดูกาลมันไม่เหมือนกันสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมมันจะแตกต่างกันและไม่แน่ใจว่าโรคแมลงมันจะคงเดิมหรือจะเปลี่ยนแปลงเราต้องเรียนซ้ำอีกเรียนกันเป็นปี  ปีหนึ่งพอเราเริ่มเรียนเราก็เริ่มเข้าใจระบบธรรมชาติของเรื่องแมลง  ความจริงก่อนที่เราจะเข้าเรียนเรามีความรู้ นึกคิดย้อนกลับไปว่าพวกเราเข้าใจผิดมาโดยตลอด    ก่อนที่เราจะเข้าโรงเรียนเราจะไปตรวจแปลงนาเมื่อเราไปพบแมลงในแปลงนาเราไม่รู้ว่าจะเป็นตัวที่ให้ประโยชน์หรือไม่ เราจะกำจัดทั้งหมดโดยใช้ยาฆ่าแมลงเข้ามากำจัดโดยไม่คิดทำความรู้จักเลยว่ามันมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด เราจะมุ่งเอาแต่ผลผลิตอย่างเดียวเพิ่มการใช้จ่ายโดยไม่รู้ตัวเพราะต้องการอยากได้ผลผลิตเพิ่มคือต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาเพิ่มเมื่อข้าวงามเกินขนาดแมลงก็ชอบแมลงก็ลงก็ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่ม เพิ่มต้นทุนอย่างไม่รู้ตัวเพียงมุ่งหวังผลผลิตเพิ่มอย่างเดียว

มีต่อตอนที่ ๒

หมายเลขบันทึก: 12431เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2006 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท