มองบทบาทชุมชนในเรื่องสวัสดิการ


ชุมชนสามารถมีบทบาท (และกำลังแสดงบทบาท) 4 ประการ ในเรื่องสวัสดิการ

ขอสนทนาข้าม blog กับ อ.ภีมในเรื่องสวัสดิการชุมชน

  

งานวันที่ 13  กย. ที่เราจะนำเสนอนั้นคงจะมีสองส่วน  ส่วนแรก คือ สิ่งที่รู้มา และตีความ จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการชุมชน  ส่วนที่สองจะใช้เวลาสั้นๆ คือ เราคิดอย่างไรกับสวัสดิการชุมชน

  

ในบล็อกนี้จะลองพูดส่วนที่สอง  

  

ได้ลองนั่งทำรายการว่า  จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน  คนเราต้องการสวัสดิการอะไรบ้าง (นับตั้งแต่ปัจจัยสี่ ไปจนถึงจิตใจ  สุขภาวะ และความสะดวกสบาย)   เสร็จแล้วก็ลองประเมินดูว่า   ในแต่ละเรื่องนั้น  ใครเป็นผู้ ผลิต หรือ จัด สวัสดิการ   พบว่า  ส่วนใหญ่เป็นบทบาทของรัฐ กับ ตลาด    ครอบครัวเองก็มีบทบาทบ้าง  ชุมชนนั้นยังมีบทบาทน้อยที่สุดในปัจจุบัน

  

เมื่อมองถึง สวัสดิการ ที่ชุมชนจัดกันอยู่ในปัจจุบัน    โดยส่วนตัว  คิดว่า    สิ่งที่ชุมชนทำนั้น   ส่วนใหญ่เป็นการสร้าง หลักประกัน หรือ บริการทางการเงิน บางอย่างเพื่อให้สมาชิกนำเงินนี้ไป ซื้อ สวัสดิการที่รัฐ หรือ ตลาดเป็นผู้ผลิต  เช่น  ค่าเดินทางไป รักษาพยาบาลที่รัฐเป็นผู้จัด   ทุนการศึกษาให้ลูกไปเรียนใน โรงเรียนที่รัฐเป็นผู้จัด   

    

รูปแบบสวัสดิการชุมชนที่เป็นการสร้างหลักประกันบางอย่างโดยชุมชนนั้น เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน (โดยเฉพาะเมื่อมีผลด้านสังคม และด้านพัฒนาจิตใจ)   แต่โดยส่วนตัว  คิดว่า  แต่ละชุมชนน่าจะมองบทบาทของตัวเองให้ทะลุกรอบการจัดสวัสดิการผ่านองค์กรการเงินอย่างเดียว   เพราะแท้จริงแล้ว ชุมชนสามารถมีบทบาท (และกำลังแสดงบทบาท)   4  ประการ ในเรื่องสวัสดิการ ดังนี้

  

1.    สร้างหลักประกัน หรือ บริการทางการเงิน เพื่อให้สมาชิกมีโอกาสได้เข้าถึงสวัสดิการที่รัฐและตลาดจัดได้   (อย่างที่จัดอยู่หลายกลุ่มในปัจจุบัน) 

  

2.    ผลิตสวัสดิการเองโดยชุมชนเพื่อชุมชน   ควรเลือกสวัสดิการที่มีผลกระทบต่อความเป็นตัวตน วิธีคิด และวิถีวัฒนธรรมชุมชน (เรื่องอื่นๆ ปล่อยให้รัฐกับตลาดทำไป)   ได้แก่  การจัดการศึกษา (การเรียนรู้)โดยชุมชน   การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน    การผลิตที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น   (เพื่อรักษาฐานวัฒนธรรมและฐานทรัพยากรของชุมชนไว้)  การดูแลเด็ก  คนชรา  และผู้ป่วย (เพื่อรักษาความรู้สึกเอื้ออาทรของคนในชุมชน)

  

3.     สร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อผลักดันเชิงนโยบายให้รัฐและตลาดผลิตสวัสดิการที่มีคุณภาพ   ตรงนี้น่าจะขับเคลื่อนเป็นเรื่องๆให้ชัดเจน   เช่น  เครือข่ายโรงเรียนและผู้ปกครอง เรียกร้องให้รัฐดูแลสื่อ และให้ตลาดรับผิดชอบต่อการสร้างสื่อที่ดี  เป็นต้น

  

4.   สร้างเครือข่ายการตลาด    เพราะสำคัญต่อรายได้  อาชีพ ซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของสมาชิกโดยตรง       ความจำเป็นที่ต้องสร้างเครือข่ายการตลาดเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในระบบตลาด     และการแทรกแซงตลาดของรัฐที่ผ่านมาก็ไม่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกร  แต่ใช้เกษตรกรเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เสียด้วยซ้ำไป

  

ปัญหาคือ  ในทางปฏิบัติจะขยับแต่ละขบวนกันอย่างไร  และเชื่อมขบวนที่หนึ่ง  สู่  สอง  สาม  สี่ อย่างไร    จะหาคนทำ  หาแนวร่วม   หางบสนับสนุนจากที่ไหน

  

เขียนเสร็จแล้ว  ก็รู้สึกเกรงใจนักปฏิบัติมาก !!! 

  

ตอนนี้ชุมชนพูดกันมากเรื่อง การบูรณาการกองทุน  (ก็คือ อยู่ในเรื่องที่หนึ่ง) เราไม่แน่ใจว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน  บูรณาการแล้วอะไรจะดีขึ้นขนาดไหน หน่วยงานรัฐสนใจเพราะเกรงว่า มีหลายกองทุนแล้วชาวบ้านจะหมุนหนี้  แต่ตัวเรากลับเห็นความจำเป็นในการหมุนหนี้ของชาวบ้าน 

 

เราสนใจเรื่อง  การบูรณาการกิจกรรม  มากกว่า  เพราะนั่นเกี่ยวข้องกับการจัด สวัสดิการ (ที่ไม่ใช่ตัวเงิน)  โดยตรง  อาจช่วยแก้ปัญหาและลดความจำเป็นในการหมุนหนี้ของชาวบ้านได้

 
หมายเลขบันทึก: 123909เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  •  ขอแลกเปลี่ยนความเห็นด้วยคนนะครับ
  • บ้านเรายังมีปัญหาในแนวคิด  การถ่ายโอนภารกิจ  การทำงานแบบประชาชนมีส่วนร่วม  ทำอย่างไรชุมชนจึงจะมีความเข้มแข็งสามารถจะทำอะไรเองได้ระดับหนึ่ง
  • ส่วนมากก็คิดว่าชุมชนยังไม่เข้มแข็ง  ยังทำอะไรไม่ได้เอง  ต้องช่วยคิดแทนแล้วบอกให้ทำตามที่ตัวเองคิดว่าใช่  แต่ไม่ค่อยได้ศึกษา  ไม่เข้าใจ  ไม่รู้จักชุมชนจริงๆ  ไม่สนใจสอบถามความคิดเห็นของชุมชนหรือทำงานร่วมกับชุมชนจริงๆ
  • ทางชุมชนเองก็ต้องการเวลาและโอกาสที่จะปรับตัวให้มีความพร้อมและความเข้มแข็งที่จะทำอะไรๆด้วยตัวเองบ้าง 
  • ปัญหาก็คือ  ศรัทธาในการทำงานแบบประชาชนมีส่วนร่วมจริงไหม ?  แล้วจะเริ่มต้นอย่างไรดี ?  ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ?  วิธีการควรทำอย่างไร ? 
  • คงต้องปรับวืธีคิดและแนวทางการทำงานใหม่ครับ

ตัวเองยังเชื่อว่า  กระบวนการมีส่วนร่วม การจัดการความรู้ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันมองเป้าหมายร่วมกันสำหรับทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีทางหนึ่ง

แต่ต้องจัดการความรู้กันทั้งขบวน ตั้งแต่ชาวบ้าน อบต.  ผู้กำหนดนโยบาย  คนดูแลงบประมาณ คนทำงานด้านกฎหมาย    เพราะปัญหาหรือคอขวด คงจะเกิดขึ้นได้แทบทุกจุด

อยากให้กำลังใจคนลงมือปฏิบัติค่ะ

เรียนถามอาจารย์ค่ะว่า เรื่องการจัดการปัญหาหนี้สินของชุมชน (ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของแทบทุกชุมชนขณะนี้) จะเรียกได้ว่าเป็นต้นทางของการไปสู่การจัดสวัสดิการหรือไม่ หรือว่าสามารถทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปได้เลยคะ

ไม่ได้เข้า gotoknow มานาน พอแวะเข้ามาบล็อกอาจารย์ ก็มีอะไรดีๆ รออยู่อีกเช่นเคย อ่านแล้วได้จุดประกายปิ๊งๆ ในประเด็นที่กำลังขบคิดอยู่ ขอบคุณมากค่ะ

โดยเฉพาะการผลิตสวัสดิการเองโดยชุมชนเพื่อชุมชน คล้ายๆ กับความพยายามบางอย่างที่กำลังจะเริ่มต้น เช่นการจัดการศึกษาที่จำเป็นสำหรับชีวิตชุมชนบนดอย หรือการรวมกลุ่มดูแลเด็ก เวลาพ่อแม่ไปทำงาน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการตลาดเพื่อรองรับอาชีพในชุมชน เป็นต้น

แต่ถ้าอาจารย์ไม่พูดชัดๆ อย่างนี้ ก็ไม่คิดว่าที่กำลังเดินทางอยู่นี้เป็นเรื่องเดียวกับสวัสดิการชุมชนที่พูดๆ กันอยู่ เพราะทีแรกคิดแคบๆ เพียงว่าสวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องที่มองผ่านองค์กรการเงินอย่างอาจารย์ว่าข้างต้นเท่านั้น

อาจารย์น่าจะมีตัวอย่างการจัดสวัสดิการชุมชนแบบกว้าง อย่างที่อาจารย์เสนอมาแบ่งปันให้พวกเราได้เรียนรู้บ้างนะคะ จะเป็นพระคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณดอกไม้น้อย

สวัสดิการในความหมายกว้าง คือ ความเป็นอยู่ที่ดี ชีวิตมีความผาสุข  มีความมั่นคง  ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตย่อมเกี่ยวข้องกับ "สวัสดิการ"ค่ะ

เรื่องหนี้สินเป็นปัญหาและเกี่ยวข้องโดยตรงกับสวัสดิการทั้งแง่วัตถุและจิตใจ

  แต่ดิฉันคิดว่า  "หนี้สิน" เป็นอาการของปัญหา  ที่มีสาเหตุจากหลายประการ  ไม่ว่าจะเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม (เช่น  การผลิตเชิงเดี่ยวที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการผลิตและความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร  นโยบายการศึกษาที่บั่นทอนศักยภาพของท้องถิ่น  ดูดคนออกนอกพื้นที่  และมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษานอกพื้นที่สูง (แม้จะเรียนฟรี)  ) หรือ  พฤติกรรม (เช่น การบริโภคเกินกำลัง อบายมุข)

 ดิฉันคิดว่า   ต้นทางไปสู่การจัดสวัสดิการน่าจะอยู่ที่การแก้สาเหตุของปัญหาหนี้สินค่ะ

คุณ pilgrim คะ

หวังว่าคงสบายดีนะคะ  คิดถึงคุณ pilgrim อยู่เหมือนกัน  เห็นเงียบหายไป

สิ่งที่คุณ pilgrim ทำอยู่นั้น เป็นเรื่อง "สวัสดิการ" แน่นอนค่ะ

สวัสดิการชุมชนที่พูดถึง เป็นสวัสดิการโดยชุมชน เพื่อชุมชน  จึงต่างจากสวัสดิการแบบสงเคราะห์ที่รัฐหยิบยื่นให้

เรื่องตัวอย่างสวัสดิการชุมชนนั้น จะค่อยๆทะยอย เขียนในบล็อกนะคะ  

โชคดีค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ รักษาสุขภาพนะคะ

ขอบคุณอาจารย์มากๆ ค่ะ ตอนนี้กำลังสนใจเรื่องสวัสดิการตั้งแต่เกิดตนตายอยู่ค่ะ ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์อาจารย์อีกคนนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท