ฝันที่เป็นจริงของจรัญ เทพพิทักษ์ ลูกชาวนารับจ้างไร้ที่ทำกิน


ในสังคมเรามีแต่คนพยายามเรียนหนังสือเพื่อจะได้พ้นจากการเป็นชาวนา เพื่อจะได้ "ทิ้งถิ่น" ไปหารับจ้างหรือรับราชการ แต่ขณะนี้กำลังมีปรากฏการณ์ใหม่ของการศึกษาที่ทำให้คนภูมิใจในรากเหง้าของตน สามารถอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกิน เป็นเกษตรกรที่ใช้อีเมล์ใช้อินเทอร์เน็ตสื่อสารกับโลกกว้างได้เป็นเกษตรกรที่มีทั้ง "ปัญญา" และ "ปริญญา"!!!

ผมเพิ่งไปสตึกมาเพื่อถ่ายทำสารคดีชีวิตคุณจรัญ เทพพิทักษ์ ที่ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อได้เข้าเป็นนักศึกษาโครงการ ม.ชีวิต

http://www.rulife.net/file.php/1/DSCN3518s.JPG
คุณจรัญ เทพพิทักษ์ และภรรยาขณะขายอาหารที่ตลาดสตึก

คุณจรัญจบ ม.ศ.๓ ขณะเป็นสามเณร สอบได้นักธรรมโทด้วย เมื่อจบ
ม.ศ.๕ (เทียบเท่า ม.๖ สมัยนี้) แล้วก็จากบ้านเกิดในอีสานเข้าเผชิญภัยใน กทม. รับจ้างทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยๆ จนอายุ ๔๐ กว่า ตัดสินใจกลับอีสานบ้านเฮากับภรรยาโดยมีเงินสดเหลือแค่ค่ารถประจำทาง สมบัติชิ้นสุดท้ายที่ภรรยามีอยู่คือสร้อยทอง ๑ เส้น ขายไปได้เงินมาแปดพันบาทซื้อรถเข็นคันหนึ่งพร้อมอุปกรณ์ทำสัมตำและอาหารอีสานเข็นขายไปตามถนนในตัวอำเภอสตึก โดยเช่าบ้าน(โทรมๆ)หลังหนึ่งที่หลังคารั่วเดือนละ ๘๐๐ บาท (เจ้าของให้ซ่อมหลังคาเองแลกกับการลดค่าเช่าให้๒๐๐ บาท) และได้อยู่อาศัยและเป็นที่เตรียมอาหารจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาเข็นรถไปปักหลักขายอยู่ที่ตลาดสดเทศบาลสตึก และสมัครเข้าเรียนในโครงการ ม.ชีวิต ศรร.สตึก สังกัด มรภ.สุรินทร์ การเรียนทำให้คุณจรัญเกิดการ"รู้คิด" ทบทวนชีวิตตัวเอง จากที่ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่เคยมีเงินออม เพราะตกเย็นได้เงินมาก็ใช้จ่าย ไม่ได้คิดอะไรมาก แล้วก็กินเหล้าทุกวันทั้งภรรยาก็กินด้วย บางวันก็กินที่บ้าน บางวันก็ออกไปกินที่ร้านขายเหล้า แล้วก็ตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อเตรียมอาหารสำหรับเข็นออกไปขายในวันต่อไป

เมื่อได้มาเรียนคุณจรัญเลิกกินเหล้าเริ่มทำบัญชีครัวเรือน เริ่มตั้งเป้าหมายชีวิต เริ่มวางแผนงบประมาณครอบครัว เริ่มแผนการออม ตามวิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต

คุณจรัญทำโครงงานออมทรัพย์ในวิชา สปช. (ที่เจ้าตัวบอกว่าภูมิใจมากและเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงในชีวิต) วางแผนสะสมเงินที่ได้จากกำไรและจากการลดละเลิกอบายมุขต่างๆ ทุกวันอย่างจริงจัง แม้ผ่านภาคเรียนที่ ๒/๒๕๔๙ ไปแล้วก็ยังทำอย่างต่อเนื่อง จนได้เห็น "เงินหมื่น" ครั้งแรกในชีวิต(ภรรยาคุณจรัลบอก) และต่อมาเพียงปีกว่าๆ กลายเป็นเงินแสน ยิ่งเห็นเงินออมเพิ่มพูนก็ยิ่งอยากออมมากขึ้นอีก

เมื่อคุณจรัญได้เรียนวิชาเกษตรกรรมยั่งยืน ได้ไปดูงานและเข้าอบรมเกี่ยวกับเกษตรกรรมธรรมชาติที่บ้านพ่อคำเดื่อง ภาษี (ปราชญ์ชาวบ้าน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์) รู้สึกชอบมาก และตั้งใจจะกลับสู่รากเหง้าตัวเองที่บรรพบุรุษเป็นชาวนา (พ่อแม่คุณจรัญเป็นชาวนารับจ้าง เพราะไม่ที่นาของตัวเอง)

คุณจรัญฝันที่จะมีที่ดินสักแปลงและทำเกษตรธรรมชาติอย่าง
พ่อคำเดื่อง ภาษี บัดนี้ฝันนั้นใกล้เป็นจริงเมื่อเงินที่ออมมาอย่างต่อเนื่องนับแต่เข้าเป็นนักศึกษา วันละหลายร้อยบาทจากการเข็นรถขายอาหารอิสาน (วันที่ขายดีก็ออมมาก ขายไม่ดีก็ออมน้อย) จนเมื่อเร็วๆ นี้สามารถซื้อที่นาได้แปลงหนึ่ง

นี่เป็นที่ดินแปลงแรกในชีวิตของคุณจรัญ

ทั้งคุณจรัญและภรรยาไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าวันหนึ่งจะสามารถมีที่ดินเป็นของตนเอง 

ทุกวันนี้สมองของคุณจรัลวนเวียนอยู่กับการวางแผน
จัดการที่ดินแปลงนี้ บนกระดานที่ฝาบ้านคุณจรัญได้ใช้ถ่านเขียนบรรยายแผนการของตัวเองให้ภรรยาฟังว่าจะแบ่งพื้นที่อย่างไร ตรงไหนจะปลูกบ้าน ตรงไหนจะปลูกไม้ยืนต้น ตรงไหนจะเลี้ยงปลา ตรงไหนจะปลูกผัก ตรงไหนจะทำนา ฯลฯ

http://www.rulife.net/file.php/1/JarunPlan1.jpg
คุณจรัญเขียนแผนจัดการที่ดินเกษตรกรรมธรรมชาติด้วยถ่านบนแผ่นไม้กระดาน

ผมเชื่อว่า อีกไม่ถึง ๒ ปี เราจะได้เห็นลูกชาวนาที่เป็นบัณฑิต หิ้วปริญญาไปทำนาตามฝันของเขา!!!

ในสังคมเรามีแต่คนพยายามเรียนหนังสือเพื่อจะได้พ้นจากการเป็นชาวนา เพื่อจะได้ "ทิ้งถิ่น" ไปหารับจ้างหรือรับราชการ แต่ขณะนี้กำลังมีปรากฏการณ์ใหม่ของการศึกษาที่ทำให้คนภูมิใจในรากเหง้าของตน สามารถอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกิน เป็นเกษตรกรที่ใช้อีเมล์ใช้อินเทอร์เน็ตสื่อสารกับโลกกว้างได้

เป็นเกษตรกรที่มีทั้ง "ปัญญา" และ "ปริญญา"!!! 

หมายเลขบันทึก: 123901เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

หวัดดีครับ เชษฐ์

  • มหาวิทยาลัยชีวิตจะมีบทบาทมากในกลุ่มคนที่ยกตัวอย่างมานี่ ดีจริงๆครับ
  • หากเพื่อนมีเวลาขอเชิญร่วมเฮฮาศาสตร์ 3 ดงหลวง 16-18 พ.ย. 50 นี้นะครับ ชวนอาจารย์เสรีมาด้วยก็ยิ่งดีครับ

ชีวิตนี้อยากเป็นอะไร  อย่างไร  สร้างได้ด้วยมือเรา

ขอชื่นชมค่ะ  เพราะตัวเองก็เป็นลูกชาวนา  หิ้วปริญญาไปทำนา(สอนเด็ก)จนทุกวันนี้

  • ทำอย่างไรจะติดต่อชายหนุ่มคนนี้ได้ครับอาจารย์
  • http://www.rulife.net/file.php/1/DSCN3518s.JPG
  • ขอบคุณครับผม

คุณ P  ขจิต ฝอยทอง

คุณจรัญขายอาหารอิสาน(ดังภาพ)ที่ตลาดสดเทศบาลสตึกครับ ถนนด้านหลังที่เป็นร้านขายส่งน้ำแข็ง จะขายตั้งแต่เช้ามืดตีสี่ตีห้าจนถึงประมาณ ๘-๙ โมงเช้า (หรือจนกว่าจะขายหมด)

ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ ๙ โมงเช้า คุณจรัญจะไปพบกลุ่มเรียนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ในสังกัด มรภ.สุรินทร์ ซึ่งใช้โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย (เลยสำนักงานเทศบาลสตึกไปประมาณครึ่งกิโล) ผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อ อ.ฉัตรชัย ฑีรฆวณิช เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ประจำศูนย์เรียนรู้ของโครงการที่นั่นครับ ถ้า ผอ.ฉัตรชัยไม่อยู่ ถาม อ.ไทยรัฐ ก็ได้ครับ อ.ไทยรัฐเป็นเลขาฯโครงการ

สนใจอยากแนะนำให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำงานได้เป็นนักศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตบ้าง ต้องทำอย่างไรบ้างคะ และมีรายละเอียดการเรียนการสอนอย่างไรบ้างคะ รบกวนอาจารย์แนะนำด้วยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับตัวอย่างดีๆ ของพี่จรัญ ที่อาจารย์นำมาแบ่งปัน

เรียน คุณ P pilgrim

ไม่ทราบคุณ pilgrim อยู่ภาคไหนและจังหวัดไหน หากอยู่ที่เชียงใหม่ก็ติดต่อ คุณศรีเพ็ญ ชัยฉกรรจ์ องค์การบริหารส่วนตำบลสันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ หากอยู่เชียงราย ติดต่อคุณณัฐวุฒิ นายก อบต.พญาเม็งราย อ.พญาเม็งราย

หรือดูใน www.rulife.net ก็ได้ครับ

นายสมพงษ์ เวียกไธสง

ขอดูเว็บไซต์คุณจรัญ เทพพิทักษ์

เรียนอาจารย์สุราเชษฐ ที่เคารพ

ผมอาจารย์สุพจน์ บุญศิริชัยและอาจารย์ปรีชา ศูนย์เรียนรู้บ้านนาสาร ได้ติดตามข่าวความคืบหน้าของโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตในอินเตอเน็ต ปรากฏว่าได้เข้าไปพบข้อมูลในการแต่งตั้งคณะอาจารย์ผู้สอนโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตราชภัฏชัยภูมิ ลงวันที่ 15 กุมภาพนธ์ 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งผมเองมีความสงสัยว่าในเมื่อโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตของ สสวช. ดำเนินการอยู่ มันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาติ แล้วทำไมราชภัฏชัยภูมิจึงมีคำสั่งแต่งตั้งอาจารย์ผู้สอนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตราชภัฏชัยภูมิได้ ผมรบกวนอาจารย์สุรเชษฐ ช่วยให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ผมสงสัย

ขอแสดงความนับถือ

ศูนย์เรียนรู้บ้านนาสาร

ก่อนที่ สสวช.จะยื่นขออนุมัติจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ตั้งแต่ปี 2549 สสวช.ได้ร่วมมือกับ 8 มหาวิทยาลัยเพื่อโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต (สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น) ทั้ง 8 มหาวิทยาลัย รวมทั้ง มรภ.ชัยภูมิ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งอาจารย์ที่สอนในโครงการนี้ทุกภาคการศึกษา โดย สสวช.มีนโยบายว่าจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเหล่านี้ต่อไปตราบเท่าที่เขายังยินดีร่วมมือกันอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท