กำแพงเพชร ร่วม KM สัญจร ครั้งที่ 2 ที่พิจิตร (ตอนที่ 2)


จะพยายามเรียนรู้และพัฒนากระบวนการทำงาน โดยใช้การจัดการความรู้เป็นกลไกสำคัญ ขับเคลื่อนงานซึ่งเป็นจุดเล็กๆ ขององค์กรนี้ ให้เป็นเครือข่ายการทำงานเพื่อให้สังคมของเราเป็นสังคมแห่งการใช้ปัญญาต่อไป

            กำแพงเพชร ร่วม KM สัญจร ครั้งที่ 2 ทีมเกษตรกำแพงเพชร ได้เรียนรู้....?


            หลังการเข้าร่วม KM สัญจร ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดพิจิตร (ลิงค์ รายละเอียด ตอนที่ 1) ศึกษาเครือข่ายเกษตรปลอดภัยของจังหวัดพิจิตร ทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร นำโดยคุณวิโรจน์  พ่วงกลัด หน.ฝ่ายยุทธ์ศาสตร์และสารสนเทศ  ทีมงานของเรามีทั้งนักวิชาการของสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และเกษตรกร  การร่วม KM ครั้งนี้ พอสรุปผลการเรียนรู้ที่ได้รับในครั้งนี้ ดังนี้ครับ

  • ได้รู้ว่ายังมีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้....และต้องเร่งเรียนรู้และปรับกระบวนการทำงาน เช่น เทคนิคการสร้างเครือข่าย การทำงานร่วมกับเครือข่าย เป็นต้น
  • ได้เรียนรู้ว่า มีงานอีกหลายอย่างที่เรายังไม่ได้ลงมือทำ...แต่จะต้องรีบทำ เช่น การค้นหาของดี องค์ความรู้ดีๆ ที่มีอยู่ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เป็นต้น 
  • เราได้เรียนรู้ว่า เกษตรกรหากได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการที่เหมาะสม เช่น การปฏิบัติจริง จะเกิดการยอมรับ มีความเชื่อมั่นและพัฒนาในสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นๆ ด้วยตนเอง
  • เกษตรกรก็สามารถเป็นนักวิจัยได้หากกระบวนการวิจัยนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว
  • ได้เรียนรู้ว่าเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ยังมีโลกทัศน์ชีวทัศน์(Mental Model) แบบเก่าๆ มีเลนส์มองโลกแบบเดิมๆ (ยังไม่เปลี่ยน Paradigm)
  • ได้เรียนรู้ว่า เจ้าหน้าที่ของภาครัฐมีความเข้าใจในกระบวนการทำงานแบบใหม่ (เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง) น้อยมาก ต้องเร่งทำความเข้าใจ หรือปรับกระบวนการทำงาน
  • ได้เรียนรู้ว่าการทำงานที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ (NGO) ทำงานได้ดีและมีความยืดหยุ่นสูงกว่าหน่วยงานของรัฐมาก
  • การทำงานแบบบูรณาการ ต้องลงมือทำจริงๆ ไม่ใช่เพียงการบอกว่าบูรณาการเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
  • ได้เรียนรู้ว่าการจะทำงานให้สำเร็จ ไม่ควรทำตามระบบเสมอไป คนทำงานต้องมีใจที่จะร่วมกันก่อน เรื่องกรอบของแต่ละหน่วยงานเป็นเพียงภาพสมมติเท่านั้น
  • ได้เรียนรู้วิธีการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้แก่ทีมงานอีกวิธีหนึ่ง คือวิธีการพาไปดูคนอื่นเขาจัดการความรู้นั่นเอง
  • ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานที่เรียกว่า “เครือข่าย” น่าจะสนุกกว่าการทำคนเดียว
  • ได้เห็นภาพสะท้อนว่า เกษตรกรดีเด่นสาขาต่างๆ ที่เคยได้รับรางวัลพระราชทานในวันพืชมงคล ซี่งเป็นกระบวนการคัดเลือกเพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจ โดยคนของกรมส่งเสริมการเกษตร หรือที่เรียกว่าเกษตรตำบลนั้น หากเราทำงานเพื่อพัฒนาอาชีพไม่ต่อเนื่อง  วันข้างหน้าอาจถูกตำหนิได้ นักส่งเสริมต้องทำการบ้านมากๆ หน่อย
  • มีความมั่นใจว่ากระบวนการทำงานส่งเสริมการเกษตร ควรจะพัฒนารูปแบบการทำงาน เน้นการลงไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรในพื้นที่จริงๆ ตามสถานการณ์ (เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง) ไม่ใช่การคิด/กำหนดหรือสั่งการจากเบื้องบน ให้ จนท.นำโครงการไปให้เกษตรกร

          แล้วเราจะทำอะไรต่อไป

          มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราจะต้องคิด วางแผนและปรับกระบวนการทำงานกันใหม่ ซึ่งทีมงานก็ได้ดำเนินการอยู่แล้วบางส่วนอย่างต่อเนื่อง  ตามกำลังและความสามารถ  และขอขอบพระคุณทางทีมงานของ สคส. โดยเฉพาะท่าน อาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช ที่ได้กรุณาให้โอกาสทีมงานของเกษตรกำแพงเพชรเข้าร่วม KM สัญจรครั้งที่ 2 ที่พิจิตร จะพยายามเรียนรู้และพัฒนากระบวนการทำงาน โดยใช้การจัดการความรู้เป็นกลไกสำคัญ ขับเคลื่อนงานซึ่งเป็นจุดเล็กๆ ขององค์กรนี้ ให้เป็นเครือข่ายการทำงานเพื่อให้สังคมของเรา เป็นสังคมแห่งการใช้ปัญญาต่อไป ทีมงานขอบขอบพระคุณมากครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก 14 / 01 / 49

หมายเลขบันทึก: 12348เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2006 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ สำหรับข้อคิดเห็นที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐ ผู้ว่าCEO เขาตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานแบบบูรณาการ (ตามหลักการเขาว่าอย่างนั้น)

จาการร่วมกิจกรรม KM สัญจรครั้งที่ 2 นี้คุณวีรยุทธ บอกว่า ได้เรียนว่า  การทำงานบูรณาการต้องลงมือทำจริงๆ แต่ท่านผู้ว่าฯ เขาถือว่า การทำงานบูรณาการ ลงมือพูดแล้วถือว่าทำจริงๆๆๆ สงสารข้าราชการหัวก้าวหน้าจริงๆ ค่ะ และจะเป็นกำลังใจให้คนทำงานด้วยการปฏิบัติมากกว่าพูด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท