อีกย่างก้าวของกลุ่มเถิน


การอบรมสมาชิกใหม่ เพื่อให้คนที่สมัครเกิดความเข้าใจ และต้องการสร้างให้เกิดความสมัครใจในการเข้าร่วมกลุ่มอย่างแท้จริง

            เป็นปกติก่อนเข้านอนทุกคืนที่ผู้วิจัยจะต้องนั่งคิดก่อนว่าพรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง  เมื่อคืนนี้ (ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเมื่อคืนหรือเช้าวันใหม่กันแน่ค่ะ  เพราะ  กว่าจะเข้านอนก็ตี 3 กว่าๆแล้ว) ก็เช่นกัน  ก่อนนอนลองมานั่งคิดดูว่าพรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง  มีงานที่ต้องทำเยอะเยอะเต็มไปหมด  เช่น  ตรวจข้อสอบให้ได้อย่างน้อย 20 ฉบับ , สะสางงานวิจัยที่คั่งค้างไว้อย่างหนัก (ไม่อย่างนั้นจะลืมเสียก่อน) , เตรียมสอน , ประสานงานกับคณะเรื่องวิทยากรพิเศษ , ไปงานแต่งงานเพื่อน (ตอนกลางคืน  รู้สึกยังไงก็ไม่รู้ค่ะ  นับวันเพื่อนจะหายไปทีละคนสองคน  เคยมีเพื่อนอาจารย์ด้วยกันบอกว่าเวลามีการ์ดเชิญงานแต่งไม่ค่อยอยากใส่ซองเลย  เพราะ  คิดว่างานนี้ขาดทุนแหงๆ        ไม่มีวันได้คืนแน่นอน)  และสุดท้ายที่ลืมไม่ได้  ตอนนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว  คือ  การเขียน Blog  (ไม่ได้คลั่งหรือติด Blog นะคะ  ขอยืนยัน  แต่คิดว่าเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวันที่ไม่ทำก็ได้  แต่ถ้าไม่ทำก็จะรู้สึกไม่สบายตัว  อย่างการอาบน้ำ  ล้างหน้า   แปรงฟัน  ยังไงล่ะคะ  ถ้าไม่ทำก็ไม่ตาย  แต่ไม่สบายตัว  เท่านั้นเองค่ะ) แต่จะเขียนไม่ได้  ถ้าเราไม่ได้ทำงาน  ไม่ได้คิด  เมื่อคืนก็เลยนั่งคิดๆดูว่าจะทำอะไรในวันพรุ่งนี้ (วันนี้) ตั้งใจไว้ว่าจะ list วาระการประชุมเครือข่ายฯ ประจำเดือน  พร้อมกับลงรายละเอียดเป็นตุ๊กตาเอาไว้ก่อน  เวลาคุยกับทีมงานจะได้มีข้อมูล  มีข้อเสนอ (ในการจัดการความรู้ให้ได้ประสิทธิภาพ  เราต้องทำการบ้านอยู่เสมอ)
            แต่พอตื่นเช้า (ตื่นสายมากกว่าค่ะ) ขึ้นมา  ความคิดของผู้วิจัยก็เปลี่ยนไป  เพราะ  ตัวเองดันคิดออกว่าเมื่อวานนี้เป็นวันรับสมัครสมาชิกใหม่ของกลุ่มบ้านดอนไชย (เถิน ของคุณกู้กิจ  และคุณนก)  ดังนั้น  จึงรีบโทรศัพท์ไปคุยกับพี่นก  (ความจริงโทรไปตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็นแล้วค่ะ  แต่พี่นกไม่ได้รับ)  ว่าเป็นอย่างไรบ้าง  ประกอบกับ  ข้อมูลที่ได้ทราบจากกลุ่มบ้านแม่พริกเมื่อวันที่ 7 มกราคม  ที่ผ่านมา  จึงทำให้ผู้วิจัยเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าวันนี้จะไม่คิดเรื่องการประชุมเครือข่ายฯแล้ว  ยกยอดไปก่อน (อีกตามเคย) แต่จะขอคุยและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการขยายสมาชิก  และการเกิดกลุ่มใหม่ดีกว่าค่ะ
            ในส่วนของการขยายสมาชิกของกลุ่มสวัสดิการวันละ 1 บาทบ้านดอนไชยนั้น  จากการที่ได้พูดคุยกับพี่นก  ทำให้ได้ข้อมูลว่า  เมื่อปี 2548  ทางกลุ่มเปิดรับสมาชิกจำนวน 4 ครั้ง  คือ
            ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม
            ครั้งที่ 2 เดือนเมษายน
            ครั้งที่ 3 เดือนกรกฎาคม
            ครั้งที่ 4 เดือนตุลาคม
            จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของกลุ่มพบว่าเมื่อสิ้นสุดการรับสมาชิกในเดือนตุลาคม  2548  กลุ่มบ้านดอนไชยมีสมาชิกทั้งสิ้น 1,949 คน  พอมาในปีนี้  พี่นกให้ข้อมูลว่าผลจากการรับสมัครสมาชิกทั้ง 4 รอบนั้น  จริงอยู่มีคนมาสมัครเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  แต่ทางคณะกรรมการเล็งเห็นว่า  ถ้าเปิดรับสมัครบ่อยๆ  คนที่มาสมัครในช่วงท้ายปีจะเสียค่าใช้จ่ายมาก  ที่เป็นอย่างนี้เพราะ  กติกาของเครือข่ายฯกำหนดไว้ว่าสมาชิกทุกคนจะต้องจ่ายสมทบให้กับคนทำงาน (กองทุนสวัสดิการคนทำงาน) ทุกปีๆละ 50 บาท/คน  ซึ่งทุกกลุ่มจะเก็บกันในเดือนมกราคม  เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วคนที่มาสมัครในช่วงท้ายปี  เช่น  มาสมัครในเดือนตุลาคม , พฤศจิกายน , ธันวาคม  จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนสวัสดิการคนทำงานอยู่แล้วเมื่อแรกสมัครเข้าเป็นสมาชิก  พอถึงเดือนมกราคมก็ต้องจ่ายอีก  เพราะ  ขึ้นปีใหม่แล้ว  ซึ่งทางคณะกรรมการไม่อยากให้สมาชิกต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก (จากการที่ผู้วิจัยได้คุยกับพี่นก  พี่นกบอกว่าสมาชิกไม่เคยมาบ่นในเรื่องนี้  แต่เป็นประเด็นที่คณะกรรมการเสนอกันขึ้นมาเอง) เมื่อเป็นเช่นนี้คณะกรรมการของกลุ่มดอนไชยจึงได้มีการประชุมและตกลงกันว่าในปี 2549  จะเปิดรับสมาชิกเพียง 2 ครั้ง  คือ
            ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม
            ครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคม
            การเปิดรับสมัครเพียง 2 รอบ  นอกจากเหตุผลในเรื่องของการที่คณะกรรมการไม่ต้องการให้สมาชิกเสียค่าใช้จ่ายมากแล้ว  ยังมีเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่สำคัญ  คือ ทางกลุ่มต้องการให้มีการจ่ายสวัสดิการเป็นชุดๆไป  โดยเฉพาะในเรื่องการตายที่จะคุ้มครองที่เครือข่ายฯเมื่อเป็นสมาชิกครบ 180 วัน (เมื่อพี่นกสะท้อนวิธีคิดแบบนี้  ทำให้ผู้วิจัยคิดถึงพ่อชบ  ผู้วิจัยจำได้ว่าพ่อชบเคยบอกว่ากลุ่มของสงขลาเปิดรับสมาชิกใหม่ทุก 6 เดือน  เพื่อต้องการจ่ายสวัสดิการให้เป็นชุดๆไป)
            ในการเปิดรับสมาชิกใหม่ของกลุ่มบ้านดอนไชยในครั้งที่ 1  เดือนมกราคม  2549 นั้น  เพิ่งเปิดรับเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม (เมื่อวานนี้เองค่ะ) โดยในครั้งนี้ในวันดังกล่าวเปิดรับสมาชิกอย่างเดียวตั้งแต่เวลา 09.00-16.00น. ที่วัดดอนไชย  ผู้วิจัยได้ถามพี่นกว่าปกติเท่าที่ทราบจะเปิดรับสมาชิกใหม่พร้อมกับวันที่สมาชิกเดิมมาออม  ทำไมครั้งนี้จึงแยกกัน  พี่นกบอกว่า  ในเดือนนี้มีกิจกรรมหลายอย่าง  ทั้งการประชุมใหญ่  การจ่ายเงินปันผล  การออม  และการรับสมาชิกใหม่  ถ้าทำในวันเดียวกันจะเกิดความวุ่นวาย  ก็เลยจัดแยกกัน
            นอกจากนี้แล้ว  ในการรับสมัครสมาชิกใหม่ในครั้งนี้ทางกลุ่มได้เพิ่มกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา  คือ  การอบรมสมาชิกใหม่   พี่นกบอกว่าที่ต้องมีการอบรมเพื่อให้คนที่สมัครเกิดความเข้าใจ  และต้องการสร้างให้เกิดความสมัครใจในการเข้าร่วมกลุ่มอย่างแท้จริง  ไม่อยากเห็นว่าคนที่มาสมัคร  เพราะ  สมัครตามคนอื่น  แต่อยากเห็นเขามาสมัคร  เพราะ  อยากเป็นสมาชิกจริงๆ  ดังนั้น  ต้องมีการอบรมก่อน  ใครที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่เข้าใจ (หรือเคยเข้าใจผิด) ไม่อยากสมัครก็ไม่เป็นอะไร (วิธีการนี้ผู้วิจัยจำได้ว่าเป็นวิธีการเดียวกับที่กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนบ้านหมอสมใช้ในการรับสมัครสมาชิก) ในครั้งนี้พี่นกบอกว่าอบรมไปประมาณ 3 กลุ่ม  ผู้วิจัยถามด้วยความสงสัย (จริงๆ) ว่าเวลาที่เปิดรับนั้นทั้งวัน  คนที่มาสมัครก็ทยอยกันมาจะอบรมกันอย่างไร  พี่นกบอกว่า  ถึงเขาจะทยอยกันมา  แต่ในการสมัครต้องใช้เวลาพอสมควร  ทั้งกรอกใบสมัคร  ตรวจหลักฐาน  ดังนั้น     แต่ละคนจะอยู่บริเวณรับสมัครกันนาน  ทางคณะกรรมการก็ต้องคอยดูว่าถ้าช่วงไหนคนเริ่มมากันเยอะแล้วก็จะเชิญมานั่งรวมกัน  แล้วให้คุณกู้กิจ  ซึ่งเป็นประธานกลุ่มฯ รับหน้าที่เป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจมาสมัครเป็นสมาชิก
            สำหรับเนื้อหาในการอบรมนั้น  จากการพูดคุยกับพี่นก  ผู้วิจัยขอสรุปออกมาเป็น 2 ส่วนก็แล้วกันนะคะ  คือ
            ส่วนที่ 1 เนื้อหาของการอบรมต้องการชี้ให้เห็นว่าการที่เรามาออมกันวันละ 1 บาทนั้น  ออมเพื่ออะไร?  ซึ่งคุณกู้กิจก็ได้ให้คำตอบว่าเป็น “การออมเพื่อให้”   จากนั้นก็โยงไปว่าแล้วให้อะไรบ้าง? (เป็นการบอกกับสมาชิกว่าเมื่อเข้าเป็นสมาชิกจะได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง)  ตรงนี้ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นส่วนที่สำคัญมาก  เพราะ  เป็นการปลูกฝังอุดมการณ์การออมเพื่อให้  และเป็นการสนองความต้องการของชาวบ้าน  เพราะ  ต้องยอมรับว่าคนที่มาออม  เขาก็อยากได้ผลประโยชน์  ดังนั้น  ถ้าเราชี้ให้เห็นได้ว่า  เมื่อมาออมแล้วได้ผลประโยชน์อะไร  เมื่อเขาเข้าใจ  เขาก็อยากเข้ามาเป็นสมาชิก
            ส่วนที่ 2  เป็นการอธิบายว่าเมื่อสมาชิกเอาเงินมาออมแล้ว  เงินที่ออมนั้นเอาไปทำอะไรบ้าง  เงินอยู่ตรงไหนบ้าง  ซึ่งการทำความเข้าใจในส่วนนี้นั้นพี่นกบอกว่าเพื่อเป็นการสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ  และกระตุ้นให้สมาชิกเข้าร่วมในกิจกรรมของกลุ่ม  เป็นการบอกให้สมาชิกรู้ว่าตนเองจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการได้อย่างไร  ตนเองมีบทบาทอะไรบ้าง  ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการสะท้อนให้เห็นความโปร่งใส  ตรวจสอบได้ของคณะกรรมการด้วยค่ะ
            สำหรับเวลาที่ใช้ในการอบรมนั้น  พี่นกบอกว่าไม่มาก  รุ่นหนึ่งประมาณ 20 นาที  คุณกู้กิจก็อธิบายตามแผนภูมิภาคสวรรค์ของเครือข่ายฯ นั่นแหละค่ะ (ความจริงอยากเอาแผนภูมิมานำเสนอมาก  พยายามหลายครั้งแล้ว  แต่ทำไม่ได้สักที)  นอกจากนี้แล้วเมื่อสมัครเสร็จก่อนกลับทางกลุ่มก็ได้มอบแผ่นพับเกี่ยวกับระเบียบและการจ่ายสวัสดิการให้แต่ละคนเอาไปศึกษาด้วยค่ะ 
            รวมเบ็ดเสร็จแล้วในเดือนมกราคม 2549  กลุ่มบ้านดอนไชยมีผู้มาสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ทั้งสิ้น 155 คน  รวมกับของเดิม 1,949 คน  รวมเป็น 2,104 คน  พี่นกบอกว่าความจริงแล้วมีการร้องขอให้เปิดรับสมัครวันนี้อีก 1 วัน  แต่พี่นกและกรรมการต้องตัดใจไม่ทำตามที่ได้รับการ    ร้องขอ  เพราะ  ไม่อยากจะเสียคำพูด  และต้องการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้น  นอกจากนี้แล้วพี่นกยังบอกว่า  เมื่อวานนี้มีข้าราชการมาสมัครหลายคน  แสดงว่าเขาเริ่มเชื่อถือเราแล้ว  ถ้าทำได้อย่างนี้ต่อไป  ต้องรุ่งแน่ๆ
            ความจริงแล้วยังมีเรื่องเล่าอีก 1 เรื่อง  เกี่ยวกับการเกิดกลุ่มใหม่  ตั้งใจจะเล่าให้ฟังวันนี้  แต่พอดูเวลาก็ขอยกยอดไปพรุ่งนี้ก็แล้วกันค่ะ (ไม่ได้กั๊กนะคะ)  เพราะ  ผู้วิจัยยังต้องทำงานอีกหลายอย่าง  ยังไม่ได้เตรียมตัวไปงานแต่งของเพื่อนเลย  ชุดก็ยังไม่มี  คงไม่ว่ากันนะคะ  แล้วพรุ่งนี้พบกันใหม่ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12395เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2006 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ควรได้คุยกับพี่สามารถเรื่องบทบาทของคุณอำนวยหรือCKOซึ่งเป็นหัวขบวนว่าควรทำอะไร อย่างไร? เพราะว่าไปแล้วในฐานะนักวิจัย บทบาทของพี่สามารถ(CKO)ก็เป็นประเด็นเรียนรู้หนึ่งของนักวิจัยเหมือนกัน มีทั้งร่วมคิดว่าควรเป็นอย่างไร และตามติดศึกษาว่าจริงๆแล้วเป็นอย่างไร เพื่อตั้งประเด็นคำถามให้เกิดการเรียนรู้ทบทวนตนเอง รวมทั้งคุณอำนวยและคุณกิจอื่นๆด้วย

เหล่านี้น่าจะเป็นบทบาทสำคัญของคุณวิจัยนะครับ

จะทำเรื่องเหล่านี้ได้ ต้องเข้าใจภาพรวมและรายละเอียดมากพอสมควร รวมทั้งทราบเป้าหมาย แหล่งเรียนรู้ และกระบวนการเพื่อไปสู่เป้าหมายเพื่อเป็นปฏิบัติการป้อนกลับให้เครือข่าย/กลุ่มเกิดการเรียนรู้ ดำเนินการไปสู่เป้าหมายอย่างลัดสั้น ซึ่งอ.อ้อมทำได้ดีทีเดียวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท