โรงหนังเร่ เร่หนัง ประกอบฝันให้น้อง


โรงหนังแห่งนี้ไม่มีผนัง ไม่มีระบบเสียงรอบทิศทาง ไม่เสียค่าเข้า ไม่ต้องจ่ายที่นั่งพิเศษ เพราะที่นี้มีเพียงพื้นคอนกรีต ร่มไม้ เครื่องฉาย LCD ผ้าใบสีขาว และเมื่อพระอาทิตย์ลาแสง เงาบนจอกระจ่างชัด เด็กที่วิ่งเล่นจนเหนื่อยก็ได้ฤกษ์ตั้งหน้าตั้งตาดูหนังเร่ จากใจของอาสาสมัครอิสรชน
โรงหนังเร่ เร่หนัง ประกอบฝันให้น้อง

โดย พรรัตน์ วชิราชัย




โรงหนังแห่งนี้ไม่มีผนัง ไม่มีระบบเสียงรอบทิศทาง ไม่เสียค่าเข้า ไม่ต้องจ่ายที่นั่งพิเศษ เพราะที่นี้มีเพียงพื้นคอนกรีต ร่มไม้ เครื่องฉาย LCD ผ้าใบสีขาว และเมื่อพระอาทิตย์ลาแสง เงาบนจอกระจ่างชัด เด็กที่วิ่งเล่นจนเหนื่อยก็ได้ฤกษ์ตั้งหน้าตั้งตาดูหนังเร่ จากใจของอาสาสมัครอิสรชน

ก่อนที่จะเป็นหนังกลางแปลงฉบับเด็กน้อยดู อาสาสมัครละครเร่ 6 ชีวิต รวมตัวกันที่สำนักงานของสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน (องค์กรสาธารณประโยชน์) แบ่งงานกันแข็งขัน ใครแต่งตัวเป็นแมสคอต ใครนำเกมส์ ใครแจกของเล่น ใครขึงผ้าใบ ใครดูแลการฉายหนัง พร้อมพรรคก็ยกพลขึ้นบกไป "ชุมชนเคหะบางชัน"

วันเสาร์ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ลานกีฬาของชุมชนเคหะบางชันจึงแน่นขนัดไปด้วยลูกเล็กเด็กแดง จนถึงพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอา ดันหลังลูกหลานไปเล่นกับพี่ๆ เขาหน่อย เร้ววววว

พวกเขาร้องเพลง เล่นเกมส์ วิ่งวุ่น รุมหัวระบายสี แปะงานประดิษฐ์ กินขนม และดูหนัง

กิจกรรมชวนบันเทิงใจ ระบายยิ้ม เกิดจากความต้องการอยากให้เด็กที่ไม่มีโอกาสเข้าโรงหนัง ได้มีกิจกรรมสนุกๆ ชวนสร้างสรรค์ แม้เพียงเวลาสั้นๆ ก็ดีกว่านั่งอยู่หน้าจอทีวี เล่นเกมส์เสริมสร้างความรุนแรงเป็นไหนๆ

จ๊ะจ๋า หรือ อัจฉรา อุดมศิลป์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาสาสมัครผู้ประสานงานกับสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน ใส่เสื้อสีแดงสดสกรีนชื่อ www.issarachon.com ยิ้มต้อนรับอย่างสดชื่น เล่าให้ฟังว่า



กิจกรรมโรงละครเร่นั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2544 ครั้งนั้นกลุ่มอิสรชนได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ตระเวนไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อเล่น "โรงละครหุ่นสัญจร จุก แกละ โก๊ะ เปีย" โดยมีจุดประสงค์ให้เด็กด้อยโอกาสและเด็กเร่ร่อนได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์

จากปีแรกที่ขอทุน ด้วยเงื่อนไขที่มีมากมาย ทำให้ปีต่อมากลุ่มอิสรชนเลือกทำกิจกรรมทางสังคมด้วยตัวเอง อาศัยแรงจากอาสาสมัครและแรงเงินบริจาคในการทำกิจกรรม จวบจนปัจจุบันได้พัฒนาเป็น "โครงการหนังเร่เพื่อน้องผู้ด้อยโอกาส" ตระเวนฉายหนังให้เด็กๆ ในชุมชนแออัด และเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร

"กิจกรรมทั้งหมดมาจากการบริจาคค่ะ เป็นเงินบ้าง เป็นของเล่น เป็นสิ่งของ เช่น ซีดีการ์ตูนที่เปิดอยู่ก็ได้มาจากร้านวิดีโอที่ช่วยสนับสนุนได้มาเป็นร้อยแผ่น แต่ตอนนี้ยอดเงินบริจาคลดไปครึ่งๆ ได้ เพราะภาวะเศรษฐกิจ การเมืองไม่ดี แต่ถึงอย่างไรเราก็จัดกิจกรรมเสมอ ทำแล้วมีความสุข"

จ๊ะจ๋า เป็นอาสาสมัครให้กับกลุ่มอิสรชนมา 6-7 เดือน ทำตั้งแต่ประสานงาน ทำบัญชี และอื่นๆ ที่ทำได้ วันนี้เธอเป็นหนึ่งในสต๊าฟที่สวมใส่แมสคอต "เป็ดน้อย" ที่ทำเอาเด็กๆ ตาลุกวาวรุมกรี๊ด ล้อมหน้าล้อมหลัง ขอจับขอกอดไม่หยุด

เมื่อถามถึงเหตุผลที่มาร่วมงานเป็นอาสาสมัคร ทั้งๆ ที่เด็กรุ่นใหม่แม้จะเรียนสังคมสงเคราะห์ แต่คนน้อยคนที่สนใจงานแบบนี้

เธอตอบปนหัวเราะว่า "ชอบทำงานกับคนค่ะ ไม่ชอบงานที่เข้าออฟฟิศ พอมาเรียนด้านนี้ ได้รู้จักกับพี่นที สรวารี นายกสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน และพี่นทีชวนมาเป็นอาสาสมัคร ก็เลยลองมาทำดู ปรากฏว่า ได้ทำก็มีความสุข ได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะของเด็กๆ แล้วหายเหนื่อย นอกจากนี้ การที่เราได้เห็นว่ายังมีเด็กที่ขาดโอกาสอย่างนี้อยู่เป็นจำนวนมากในสังคมบ้านเรา จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างโอกาสนั้นๆ ให้กับเด็ก ที่สำคัญคือ ดีกว่าอยู่เฉยๆ ค่ะ"



จ๊ะจ๋าเล่าต่อไปถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็นอาสาสมัครกับอิสรชนว่า ทำให้เธอได้เห็นชีวิตอีกด้านของครอบครัวเรร่อนที่สนามหลวง เด็กด้อยโอกาสในที่ต่างๆ จนถึงหญิงขายบริการทางเพศ

"คนสนามหลวงเราเห็นแล้วคิดว่าน่ากลัว แต่เมื่อไปพบจริงๆ เห็นอีกมุมว่า คนเร่ร่อนเขาไม่ใช่คนขี้เกียจ บางคนโดนหลอกลวง โดนละทิ้ง โดนเลือกปฏิบัติ ทำให้เขากลายเป็นคนเร่ร่อน หลักฐานอย่างบัตรประชาชนหายไป เจ้าหน้าที่ก็เลือกปฏิบัติ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิหลายอย่าง น้องๆ ที่เกิดจากครอบครัวเร่ร่อนก็ยิ่งไม่มีโอกาสเข้าไปใหญ่" เธออธิบายอย่างตั้งใจ

ทางด้าน นที สรวารี นายกสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน อธิบายถึงแนวคิดของอิสรชนว่า

"ผมว่าสังคมเราเป็นสังคมด้อยโอกาส ไม่ใช่หมายถึงคนยากจนด้อยโอกาสนะ แต่คนทั่วไปก็เหมือนกัน คนที่อยากให้ อยากแบ่งปันก็ไม่รู้จะไปที่ไหน เขาเห็นแต่ที่สำหรับบริจาค

"ขณะเดียวกันพื้นที่ของงานอาสาสมัครในกรุงเทพฯมีน้อย ส่วนใหญ่เห็นแต่ในต่างจังหวัด สิ่งที่เราทำเป็นเหมือน "สะพานโอกาส" ให้คนมีโอกาสแบ่งปันและเรียนรู้ เพื่อว่าคนที่มีก็จะได้รับรู้ชีวิตในอีกด้านหนึ่ง ส่วนคนที่ไม่มีจะได้รับสิ่งที่เขาขาดแคลน"

การเปิดโรงฉายหนังกลางแปลงเป็นเพียงหนึ่งในความตั้งใจที่จะมอบให้กับชุมชนที่ขาดโอกาส ซึ่งนทีบอกว่า ยังมีอีกโครงการที่จะต่อยอดอีกหลายโครงการ

เช่น โครงการละครเร่นี้ที่มีความตั้งใจจะสร้างสรรค์เป็น "รถโมบาย" ที่เป็นโรงเรียน โรงเล่นเคลื่อนที่ ซึ่งในความตั้งใจนั้นอยากให้มีอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ครบครัน เพื่อทำให้เด็กๆ มีโอกาสในการเรียนรู้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่เพียงในโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องติดดาวเทียมข้ามชาติ แต่ก็สามารถเติบโตอย่างมีพัฒนาการได้

ใครที่มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่รถกระบะจนถึงของเล่นเล็กๆน้อยๆ ได้ที่ สำนักเลขาธิการ สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน (องค์กรสาธารณ ประโยชน์) 50/357 หมู่บ้านพนาสนธิ์ 2 ถนนนิมิตใหม่ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10510 โทรศัพท์/โทรสาร 0-2915-6227 ประสานงาน 08-6687-0902

หรือ โอนเงินสดเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาปิ่นเกล้า ชื่อบัญชี สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน เลขที่บัญชี 031 - 0 - 03432 - 9

เพื่อร่วมกันเป็นสะพานโอกาส ทอดข้ามความอวิชา โน้มนำความรู้ให้กับเด็กๆ เป็นการเสริมความแกร่งให้กับอนาคตของสังคม
หมายเลขบันทึก: 122886เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2007 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท