การคิดเชิงระบบ


The Beginnings of Systems Thinking

      ลุควิค  วอน  เบอร์ทาแลนซ์พี  (Ludwing von Bertalanffy)  ศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีทางชีววิทยา ซึ่งถือว่าเป็นผู้วางรากฐานของ  "ทฤษฎีระบบทั่วไป"  (general system theory)  (von Bertalanffy, 1968  :  citing,  Nevliep.  1996  :  276) วอน  เบอร์ทาแลนซ์พีเป็นผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากนักทฤษฎีและนักปรัชญาหลายท่านได้แก่  ลิปนิช  (Leibniz)  นิโคลาส  (Nicolas of Cusa) มาร์ก  (Marx)  และเฮเกล  (Hegel)  นักปรัชญาชาวเยอรมันซึ่งได้อธิบายถึงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ในลักษณะศาสตร์ที่มีความเฉพาะเจาะจง  นักวิทยาศาสตร์ทั้งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสังคมศาสตร์จะพยายามทำกิจกรรมหรือมองสิ่งต่าง ๆ เสมือนกันว่านำสิ่งที่กำลังศึกษาใส่ไว้ในถุงแคปซูลที่เป็นโลกส่วนตัวโดยปราศจากการคำนึงถึงศาสตร์อื่นที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสิ่งที่ศึกษาอีกมากมาย  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะพยายามหาที่มั่นเพื่อจะยึดถือเป็นกฎ  หลักการ  เพื่อสะท้อนถึงความเชื่อพื้นฐาน  (paradigm)  วอน  เบอร์ทาแลนซ์พี  สังเกตเห็นว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีความสุขอยู่กับกับการวางรากฐานแนวคิด  ความเชื่อตามที่ตนเองสนใจ  เขาได้ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีตัวอย่างของนักฟิสิกส์ที่กำลังยุ่งอยู่กับกฎอนุพันธ์ ที่สองของวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความร้อนกับพลังงานกล(thermodynamics)  และพยายามที่จะโดดเดี่ยว  อนุภาคในสาขาวิชาชีววิทยา  นักชีววิทยาพยายามที่จะแบ่งส่วนของอวัยวะต่าง ๆ ให้เป็นส่วนที่เล็กที่สุดเท่าที่จะกระทำได้  หรือแม้แต่ในสาขาจิตวิทยาทางด้านสังคมศาสตร์  นักจิตวิทยาพยายามที่จะศึกษาพฤติกรรมมนุษย์โดยให้คงเหลือเพียงสิ่งเร้ากับการตอบสนอง  พยายามที่จะโดดเดี่ยวพฤติกรรมที่ศึกษา                    ท่ามกลางของการกระทำดังที่กล่าวมานี้  ได้เป็นตัวกระตุ้นทำให้วอนเบอร์ทาแลนซ์พีได้ค้นพบว่านักวิทยาศาสตร์ต่างก็มีมุมมองเฉพาะสาขาของตนเอง  เขาเริ่มต้นพิจารณาว่าทั้งหมดนี้คือปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นของการมองภาพรวม  (wholeness)  กับโครงสร้าง  (organization)  นักฟิสิกส์เริ่มให้ความสนใจความสัมพันธ์ระหว่างอนุภาค  (particles)  ในวิชาเทอร์ไมไดนามิก  (thermodynamics)  มากกว่าที่จะสนใจเพียงอนุภาคแต่เพียงอย่างเดียว  นักชีววิทยาเพ่งเล็งไปเพียงอะตอมอย่างโดดเดี่ยว  แต่จะสนใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างอะตอมด้วยกัน  นักจิตวิทยาเริ่มให้ความสนใจในองค์รวม  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้สร้างความมั่นใจให้กับวอนเบอร์ทาแลนซ์พีมากยิ่งขึ้น  ทำให้เขาสร้างแบบจำลอง  หลักการและกฎที่มีความเป็นไปได้  สามารถนำไปใช้ได้กับศาสตร์สาขาอื่น ๆ และถือว่าเป็นทฤษฎีทั่วไปที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้อธิบายกับสาขาวิชาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 122852เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2007 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท