แสงแรกในแดนซากุระ


ผู้พูดรู้ดีอยู่แล้วว่าเครื่องใช้แต่ละชนิดใช้อย่างไร การสาธิตก็เป็นไปด้วยความราบรื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ฟังจะเข้าใจขั้นตอนการใช้ เพราะทุกอย่างใหม่ไปหมด และมีอะไรมากมายที่ต้องจำ ดังนั้นการสอนงานไม่ควรแต่เพียงอธิบายอย่างเดียว ควรสอนทีละขั้นให้เขาลองทำทีละตอน จนกระทั่งแน่ใจว่าเขาใช้งานได้
    ออกจากหาดใหญ่วันที่ 8 มกราคม ตอน 2 ทุ่ม มานั่งแจ่วอยู่ที่ดอนเมืองราว 2 ชั่วโมง โชคดีจริงๆ ที่ก่อนถึงที่พักผู้โดยสารสำหรับรอขึ้นเครื่อง เกิดไฟไหม้พรมตรงทางเข้าพอดี ตอนที่ไปถึงนั่นไฟดับไปแล้ว แต่เขาต้องปิดแอร์บริเวณนั้นทั้งหมด เพื่อระบายควัน ดังนั้นต้องนั่งทนร้อน กะสูดกลิ่นควันไฟ รอเวลาออกจากเมืองไทย ได้ขึ้นเครื่องราว ตี สิบเอ็ดสิบห้า แต่กว่าเครื่องจะออก ก็เที่ยงคืนไปแล้ว (กำหนดเวลาออก 23.40 น) เนื่องจากต้องคอยผู้โดยสารที่ไปซื้อของที่ duty free ยังไม่กลับ เครื่องบินขึ้นจากดอนเมือง ผ่านทางอุบลราชธานี เข้าน่านฟ้าเขมร ตัดออกเวียดนาม แล้วผ่านทะเล ช่วงนี้มองออกไปข้างนอกไม่เห็นอะไรเลย มีแต่ความมืด นอนก็นอนไม่ค่อยจะหลับ มันหลับๆตื่นๆ จะบอกว่าแปลกที่ก็คงไม่ใช่ เป็นการนอนที่ไม่สบายเพราะนั่งบนเก้าอี้เหมือนขึ้นกรุงเทพฯทางรถทัวร์  สักพักพนักงานต้อนรับก็เอาขนมเค้กกับเครื่องดื่มมาบริการ ก็ตามฟอร์มมาเดี่ยวๆอย่างเรา ก็กินน้ำเปล่าไว้ก่อน บนเครื่องนี้พนักงานต้อนรับจะพูดญี่ปุ่น เพราะแขกส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น แต่เราตอบกลับเป็นภาษาไทย เขาก็คุยภาษาไทย เอ! อย่างนี้เรียกว่ายึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางได้ไหม เพราะคุยภาษาไทยเอาใจลูกค้า จริงๆแล้วให้พูดภาษาอื่นมาก็ฟังไม่รู้เรื่อง นอกเครื่องบินอุณหภูมิประมาณ -40 C ส่วนข้างในสบาย เพราะปรับอุณหภูมิและความดันให้เหมาะสมกับการอยู่ของมนุษย์  เขามาเปิดไฟปลุกตอนตีสี่ เพื่อบริการอาหารเช้า มี 2 เมนูให้เลือก คือ 1. omlette (ไข่เจียวห่อ ทอดมาแบบเกือบจะสุก หรือแบบสุกที่เหมือนกับเกือบจะไม่สุก) กับ 2. ข้าวกะปลา  อันนี้ยังไม่เห็นเพราะตอนที่เขามาถาม เราก็ตอบไปว่า เอาข้าวกะปลา สักพักเขาก็มาบอกว่า หมดแล้ว ให้กิน omletteไป เป็นการกินอาหารเช้ามื้อแรกนอกเมืองไทยที่ไม่อร่อยเลย ที่สำคัญต้องมากินตอนตีสองบ้านเรา (เวลาที่ญี่ปุ่นเร็วกว่าบ้านเรา 2 ชั่วโมง) กินเสร็จก็นั่งฟังเพลง จนกระทั่งเช้าก็เข้าน่านฟ้าญี่ปุ่นแล้ว มองออกไปข้างนอก เห็นแสงอาทิตย์กำลังฉายมา ก็เลยขอให้พนักงานต้อนรับช่วยเปิดตู้เก็บเอากล้องถ่ายรูปให้ เลยได้บันทึกแสงแรกในแดนซากุระ
สวยนะ จำไม่ได้แล้วว่ามีโอกาสเห็นพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ ตอนเช้าครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ จำได้แต่ตอนที่ชวนจินตนาขี่มอเตอร์ไซด์ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่หาดสมิหลาเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว  ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าสดใส ดวงอาทิตย์ค่อยๆโผล่ขึ้นมาทีละน้อย ก็ค่อยๆบันทึก ถ่ายมาได้ 5 รูปดังที่เห็น ใต้ดวงอาทิตย์ที่เห็นเป็นสีส้มไม่ใช่ทะเลนะ แต่เป็นเมฆ
     ก่อนลงจากเครื่อง โชเฟอร์เอ้ยไม่ใช่ กับตันแจ้ง่บอกว่าอุณหูมิที่สนามบินนาริตะประมาณ -3 C รู้สึกหนาวขึ้นมาก่อนเลย เพราะผมไม่ชอบอากาศหนาวอยู่แล้ว เวลาหนาวมันชอบปวดตามข้อศอกและข้อนิ้ว ตอนลงจากเครื่องเขาให้ไปรอเข้าแถวเช๊คที่ immigration office โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม กล่มแรกเป็นคนญี่ปุ่น มา counter ให้บริการเพียบ มาแป๊บเดียว ออกไปได้เลย หรือบางคนเดินผ่านได้เลย ไม่มีอะไรมาก ส่วนอีกกลุ่มเป็นของชาวต่างประเทศ มี counterให้บริการสักสี่ห้าโต๊ะ เข้าแถวยาว......ช่วงบริเวณที่กั้นเขาจะมีป้ายติดไว้ด้วยนะ ว่าถ้ายืนอยู่ตรงนี้ต้องรอประมาณกี่นาที  ผมเข้าแถวเกือบจะหลังสุด บริเวณที่ใกล้เคียงติดเอาไว้ว่าต้องรอประมาณ ครึ่งชั่วโมง แต่เอาเข้าจริงๆ นานกว่านั้น ถ้าดู turnaroud time ถือว่าตกนะ เพราะให้รอนานกว่าเวลาที่ตกลงไว้ ที่ counter เขาก็ถามว่ามาทำอะไร ทำไมไม่มี VISA ก็บอกเขาไปว่ามาเรียน PhD ที่ไม่มี VISA เพราะข้าราชการเข้าญี่ปุ่นไม่เกินสามเดือนไม่ต้องใช้ VISA เขาไม่ฟังให้จบก่อน บอกให้เราไปได้ ซึ่งน่าจะแสดงถึงภาษาอังกฤษของเราดีเกินคาด ตอนนั้นประมาณ แปดโมงเช้า ออกมาข้างนอก Ishida Sensei บอกว่าจะมารอรับที่หน้า immigration เราก็เดินหาอยู่หลายรอบ ก็ไม่เห็น เอาละวะ สงสัยมีปัญหาแน่ รอแบบกระวนกระวายได้สักสิบนาที ก็ลองเดินไปถามคนแถวนั้น โชคดีอย่างเหลือเชื่อว่าเป็นคนไทย ที่มารอรับเพื่อน ก็เลยถามว่าจะมา U of Tokyo จะไปทางไหน เขาก็ตอบแบบไม่ค่อยอยากคุยด้วย ว่าให้ไปขึ้นรถ taxi ข้างนอกสนามบิน พร้อมกับชี้ทิศทางที่ต้องเดินไป แถมบอกอีกว่าค่ารถประมาณ 20000 เยน (ประมาณ 6 พันบาท) แล้วก็คุยกับเพื่อนเขาต่อไป เหมือนไม่ใส่ใจ ไม่เป็นไรก็เราไม่ใช่เพื่อนเขานี่หว่า หรือให้เป็นเพื่อนก็ไม่เอาวะ ก็เลยตัดสินใจรอต่อไป Sensei มารับตอน 8.30 น แกบอกว่ามาไม่ทันรถไฟ เลยต้องรอคันต่อไป ที่สนามบินห่างจากกรุงโตเกียวราว 50-60 กม ใช้เวลาเดินทางทางรถไฟประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าตั๋วจำไม่ได้แล้ว สัก 1000 เยนเห็นจะได้ ถูกกว่าที่แม่นั่นบอกเกือบ 20 เท่า  พอมาถึง ที่สถานีโอเอโนะ ก็ต่อรถ taxi มาที่หอพัก Sensei ให้จัดข้าวจัดของให้เสร็จก่อน แล้วจะมารับราวอีก ครึ่งชั่วโมง ที่ข้างล่าง เราก็เอาข้าวของออกจากกระเป๋าเข้าตู้จนเสร็จ เหลือเวลาอีก 15 นาที น่าจะอาบน้ำทัน ก็เลยเข้าไปอาบน้ำ การใช้เครื่องทำน้ำอุ่น sensei อธิบายให้ฟังแล้ว เปิดให้ดูด้วยว่ามันอุ่นนะ ต่อพอเราใช้จริง เอมันใช้อย่างไรหว่า เปิดยังไงมันก็ไม่ยอมอุ่น เอาล่ะวะ ยอมตาย มันไม่อุ่นก็อาบมันทั้งอย่างนี้ก็แล้วกัน เป็นการอาบน้ำในต่างแดนครั้งแรก ที่อุณหภูมิ -3 C ไม่รู้ว่าน้ำอุณหภูมิเท่าไหร่ แต่เหมือนกับเอาน้ำแช่น้ำแข็งมาราดตัว ต้องใช้วิธีวิ่งผ่านน้ำมาถูสบู่ สั่นเหง็กๆ เลย เลยเข้าใจแล้วล่ะว่า ในเรื่อง Titanic นั้น Jack ตายเพราะนอนแช่อยู่ในน้ำทะเล ก็น้ำมันเย็นสะใจอย่างนี้นี่เอง  มาเล่าให้ sensei และ ทุกคนที่แลบฟัง เขาก็หัวเราะ ส่วนใหญ่บอกว่าถ้าให้อาบอย่างนั้นเขาไม่อาบหรอก สุดท้ายเจ้าม้อยเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยอธิบายวิธีการใช้อย่างละเอียด
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การอธิบาย แม้ว่าจะเข้าใจ เพราะผู้พูดรู้ดีอยู่แล้วว่าเครื่องใช้แต่ละชนิดใช้อย่างไร การสาธิตก็เป็นไปด้วยความราบรื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ฟังจะเข้าใจขั้นตอนการใช้ เพราะทุกอย่างใหม่ไปหมด และมีอะไรมากมายที่ต้องจำ ดังนั้นการสอนงานไม่ควรแต่เพียงอธิบายอย่างเดียว ควรสอนทีละขั้นให้เขาลองทำทีละตอน จนกระทั่งแน่ใจว่าเขาใช้งานได้  ก็ลงเอยด้วยประการ-ระ-ฉะ-นี้
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12268เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2006 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านสนุก และ รูปสวยมากคะ :)

ขอบทความลงสายใย 1 เรื่องนะจ๊ะ เรื่องอะไรก็ได้ ที่เขียนใน blog แล้ว หรือจะเขียนใหม่ก็ได้ ส่งภายในสิ้นเดือนจ๊ะ (อ้อ โปรแกรม ก.ไก่ work ดีมาก)
อาจารย์ครับ ผมขอความกรุณาอาจารย์เลือกบทความในบล๊อก ที่อาจารย์เห็นว่าเหมาะสมไปลงสายใยพยาธิได้เลยครับ  ช่วงนี้ผมต้องทำแลบทั้งวัน ที่สำคัญคือพยายามเรียบเรียงความคิดอยู่ว่าจะเขียนเรื่องการทำ PCR อย่างไร ไม่ให้คนที่รู้เรื่องอยู่แล้วงง และไม่ให้คนที่ยังไม่รู้เรื่องอยู่แล้วยิ่งงงใหญ่ โดยไม่อยากให้ออกมาเป็นเชิงวิชาการ เพราะสามารถหาอ่านกันได้ทั่วไป ทั้งภาษาอังกฤษ จีน ไทย ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่อยากบันทึกประสบการณ์ ข้อสังเกตุ และ trick ต่างๆ ในการทำ เพียงแต่มันซับซ้อนพอสมควร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท