จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

13 ปีแห่งความอดทน


หลังจากที่ท่านรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร อ.มัสลัน มาหามะ ลงมาจากเวทีบรรยาย ในโครงการพัฒนาบุคลิกภาพของบัณฑิตศึกษา แล้วผมก็มีโอกาสไปสลามท่าน แล้วท่านก็ถามกลับมาว่า วันนี้อาจารย์ได้ประเด็นไปเขียนในบล็อกมัย? ผมก็เลยต้องตอบท่านไปว่่า มีหลายประเด็นมากครับ จนไม่รู้จะเริ่มประเด็นไหนดี เสียดายที่วันนี้ (เมื่อวาน) ผมไม่ได้หิ้วโน้ตบุ๊คมาด้วย ไม่งั้นฟังไปพิมพ์ไปทันทีเลย

หัวข้อที่ท่านอาจารย์มัสลันบรรยายเมื่อวานนี้คือ "บทบาทของครูในการสร้างสันติภาพ" ครับ เรื่องการสร้างสันติภาพ ผมว่าท่านรองฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้วครับโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ผมฟังท่านบรรยายทีไร ขนลุกทุกที  แต่รอบนี้เวลามีน้อย จนผู้ฟังหลายคนบอกว่า อ้าวจบแล้วเหรอ ยังรู้สึกว่า ที่ท่านบรรยายไปหนึ่งชั่วโมง เพียงการเรียกน้ำย่อยเท่านั้นเอง (คนบ่นให้ผมได้ยินชัดๆ ก็ อ.อับดุลกอนี เต๊ะมามัด ผช.หน.สาขาวิชาวิชาชีพครู)

ระหว่างการเดินลงมาจากห้องประชุม ท่านอาจารย์มัสลันก็ได้คุยแลกเปลี่ยนกับผม ซึ่งผมนำเสนอว่า ผมเคยไปนำเสนอให้กับกรมสิทธิมนุษยชนฯ มาครั้งหนึ่งว่า ถ้าคุณจะปรับแนวคิดของเยาวชนมุสลิมให้หันมาใช้กระบวนการสันติวิธี สิ่งที่คุณควรนำเสนอและให้พวกเขาได้เรียนรู้คือ กลวิธีในการเปิดเมืองมักกะห์ของท่านศาสนฑูต (ซ.ล) เพราะเป็นการเปิดเมืองที่ไม่เสียเลือดเนื้อและเต็มไปด้วยความเมตตา ซึ่งประเด็นนี้ ท่านอาจารย์มัสลันก็ได้นำเสนอในการบรรยายครั้งนี้ด้วย

ผมจึงเรียนท่านไปว่า ผมประทับใจเรื่องของการเผยแพร่ศาสนาในช่วงที่ท่านศาสนฑูตอยู่ที่มักกะห์ของท่านมาก เพราะมันเป็นประเด็นใหม่สำหรับผม ในเรื่องของการเลือกใช้วิธีการเพื่อการสร้างสังคมที่เยี่ยมยอดมาก 

ท่านอาจารย์มัสลันนำเสนอว่า ในช่วงการเผยแพร่ที่มักกะห์นั้น ท่านศาสนฑูตไม่เคยใช้ความรุนแรงเลย ซึ่งหลายคนอาจมองว่า อาจเป็นเพราะท่านยังไม่มีกองกำลังก็ได้ แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะสิบสามปีที่ท่านเผยแพร่ศาสนาที่มักกะห์นั้น มุสลิมได้รับความทุกข์ทรมานมาก แต่ท่านกลับสั่งไม่ได้มีการโต้ตอบที่รุนแรง ท่านสั่งให้อดทน  ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ในช่วงนั้นมีหัวหน้าเผ่าต่างๆ จำนวนถึงสามสิบเผ่าให้สัตยาบันรับรองท่านแล้ว (ซึ่งประเด็นนี้ท่านยกหลักฐานอ้างอิงไว้อย่างน่าสนใจมากครับ) และพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของท่านทุกประการ แต่ท่านสั่งบรรดาสาวกว่า "จงอดทน เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของเรา คือสรวงสวรรค์"

ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ว่า แค่การปฏิบัติการแบบกองโจร หรือการก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในเมืองมักกะห์เป็นเรื่องง่ายมากที่จะทำ แต่ท่านศาสนฑูตไม่เลือกใช้วิธีการนี้ครับ สิ่งที่ท่านใช้อย่างเดียวคือ ให้อดทน

นอกจากนี้ในช่วงสิบสามปีของการเผยแพร่ที่เมืองมักกะห์ ผู้คนในเมืองไม่พอใจการเผยแพร่ของท่านศาสนฑูต มีทั้งการมาด่าว่าร้ายท่านที่หน้าบ้าน จนกระทั้งพยายามทำร้ายท่าน แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนกลุ่มเดียวกัน เขาจะเอาทรัพย์สมบัติของเขามาฝากไว้กับท่านศาสนฑูต เพื่อให้ท่านเป็นผู้ดูแลรักษาได้ เนื่องจากหากเก็บไว้ที่บ้านของเขาเองอาจสูญหายได้ ทั้งนี้เนื่องจากท่านศาสนฑูต ท่านได้รับฉายาว่า อัลอามีน ซึ่งแปลว่า ผู้ที่ไว้วางใจได้ (พูดง่ายๆ ใจหนึ่งเกลียด แต่อีกใจหนึ่งยังมั่นใจว่า ชายผู้นี้คือคนหนึ่งในมักกะห์ที่ยังสามารถไว้วางใจได้ทุกเรื่อง งงมัยครับ)

ดังนั้นในการอพยพจากมักกะห์ไปยังเมืองมาดีนะห์ ท่านศาสนฑูตจึงต้องใช้ท่านอาลี อยู่ที่บ้านของท่านอีกสามวัน เพื่อนำสิ่งของที่ผู้คนนำมาฝากไว้ ส่งคืนเจ้าของ

ผมมองว่า แค่ประเด็นนี้ก็นำมาคิดในสถานการณ์ปัจจุบันของบ้านเมืองเราได้แล้วครับ คือ

  • ปัจจุบันเพื่อนบ้านของคุณ หรือเพื่อนที่ทำงานของคุณ ไว้เนื้อเชื่อใจคุณหรือเปล่า มีความสุขหรือเปล่าที่คุณมาเป็นเพื่อนบ้าน ซึ่งคำว่าเพื่อนบ้านนี้ไม่ใช่แบ่งแยกว่าจะเป็นศาสนาอะไรนะครับ
  • คุณเลือกใช้วิธีการใดในการแก้ปัญหาของคุณเอง ความรุนแรงหรือความอดทน

ผมสรุปง่ายๆ เอาว่า ที่ศาสนาอิสลามถูกนำไปเป็นจำเลยให้กับปัญหาของโลกในทุกวันนี้ เพราะคนที่นับถือศาสนาอิสลามไม่นำหลักการของศาสนามาใช้นั่นเอง <p> </p><p> </p>

คำสำคัญ (Tags): #สันติวิธี
หมายเลขบันทึก: 122156เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2007 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อัสสาลามุอะลัยกุม ครับ อาจารย์

      อยู่ในรั้ว มอ.ย. ผมเห็นอาจารย์แวบๆ ไม่เคยได้คุยกันเลย วันนี้ผมได้อ่านบล็อกอาจารย์ ขอมีส่วนร่วมด้วย มีสองประเด็น ดังนี้

  • ดอกไม้ กับ กาแฟ เกี่ยวอะไรกับสันติวิธีด้วย ครับ กรุณาให้ความกระจ่าง หน่อย ผมคิดไปหลายตลบแล้ว ยังตีโจทย์ไม่แตก
  • เมื่อวานได้สอนจิตวิทยาการศึกษาการศึกษา กับ น.ศ.หลักสูตรวิชาชีพครู ก็ได้เล่าประวัตินบี เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำเป็นแบบอย่าง คนแรก เป็นเรื่องนบียูซุฟกับพ่อของท่านคือนบียะอฺกูบ มีข้อสรุปทางจิตวิทยาหลายอย่าง.. เช่น เมื่อเราเจอปัญหาอะไร คนที่เราต้องคิดคือ พ่อแม่ ปรึกษาท่าน และในทางตรงข้ามในฐานที่เราเป็พ่อแม่หรือครูก็ตาม อย่าทำตัวให้ลูกๆกลัวที่จะเล่าอะไรให้เราฟัง เมื่อลูกกลัวแล้วคนอื่นจะเป็นผู้รับรู้แทน เมื่อถึงตอนนั้นคนอื่นที่ว่านั้นจะเป็นใคร ดีหรือไม่ดีอย่างไร เรายังไม่รู้เลย..
  • อย่างที่สอง เมื่อเราได้รับนิมัต(ความสุขสบาย)แล้ว ไม่จำเป็นต้องบอกให้คนอื่นทราบ เพราะความอิจฉาริษยาไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่พี่น้องก็บอกไม่ได้ อย่างที่นบียะอฺกูบสอนลูกท่าน นบียูซูฟ ไม่ให้บอกฝันของท่านให้พี่น้องท่านฟัง
  • ส่วนเรื่องนบีมุฮำมัด ในห้วงสมัยท่านอยู่ที่มักกะฮฺ และท่านได้รับความไว้วางใจจากชาวมักกะฮฺในฐานะท่านซื้อสัตย์ จนฝากทรัพย์สินให้กับท่านตามที่อาจารย์เล่า เราหันมามองในท่านในฐานะครูแบบอย่าง บุคลิกภาพความเป็นคนซื้อสัตย์เป็นบุคลิกภาพที่จำเป็น และอัลลอฮฺได้สร้างให้ท่านเป็นคนเช่นนั้น เพราะท่านจะต้องไปสอนคนทั้งโลก เมื่อท่านพูดอะไร คนเขาจะเชื่อ วันหนึ่งท่านถามคนมักกะฮฺว่าถ้าท่านบอกว่า มีอูฐแดงโผล่มาจากช่องเขา พวกเขาจะเชื่อไหม คำตอบที่ได้รับคือ พวกเขาจะเชื่อ
  • หันมามองเรา ที่เป็นครู เคยปลูกฝังลักษณะหรือบุคลิกภาพเช่นนี้ไหม หรือว่า ปล่อยเป็นไปตามกระแสสังคม แล้วแบบนี้ลูกศิษย์จะดีได้อย่างไร เป็นคน

ขอบคุณ

P
Ibm ครูปอเนาะ  เป็นอย่างมากครับ
เรื่องภาพประกอบไม่มีนัยยะอะไรเลยครับ แค่อยากดูว่ามีใครจะถามถึงมันหรือเปล่า (ปรากฏว่าอาจารย์เป็นคนแรกที่ถามถึง) ผมเตรียมไว้ถามต่อว่า ในรูปมีของสามอย่าง ดอกไม้ แก้วกาแฟ และที่รอบแก้วกาแฟ
มีอยู่หนึ่งอย่างที่เป็นของฝากจากต่างประเทศ แฮะแฮะ อยากถามว่าคืออันไหน
ขอบคุณประเด็นเพิ่มเติมของอาจารย์มากครับ
นานเริงศักดิ์ ยงกิจ

อัสสาลามูอาลัยกุม (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)

อิสลามเป็นศาสนาสันติ เห็นได้ว่าจากการทักทายก็ทำให้เกิดความสันติสุขแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท