ความสำเร็จแห่งชีวิตใน พระมหาชนก (ตอนที่ 2)


ชีวิตสำเร็จได้ด้วยความเพียร ปัญญา และกำลังกาย
               ความต่อจากครั้งที่แล้ว ท่านได้ทราบเรื่องราวที่มาและเรื่องสรุปของพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ไปแล้ว  ความตอนต่อไปนี้จะเป็นเรื่องการค้นหาความคิดล้ำค่าในพระราชนิพนธ์ ซึ่งคนไทยทุกคนควรได้อ่าน  นั่นคือ 

                  "ปัจจัยแห่งความสำเร็จของชีวิต"

              แน่นอนครับ ใครๆ ก็ต้องการความสำเร็จในชีวิต  เพราะความสำเร็จหมายถึง ความสุข ความภูมิใจ ความงอกงาม ความมั่นคง ความมีหน้ามีตาและอื่นๆ    พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกได้มีคำตอบไว้แล้วว่า  ถ้าต้องการความสำเร็จจะต้องทำอย่างไร  ถ้าเราได้ค้นพบคำตอบและนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ก็เชื่อแน่ว่า "ความสำเร็จจะพึงเกิดแก่เราแน่นอน"

  พระมหาชนก   

ชีวิตสำเร็จได้ด้วย ความเพียร  ปัญญา  และกำลังกาย

     ความเพียร : ความคิดหลักในพระราชนิพนธ์ 

                          หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ

  พระมหาชนก  คือพระโพธิสัตว์ที่ทรงบำเพ็ญ  วิริยบารมี ซึ่งเป็นหนึ่งในบารมีสิบประการที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ต้องกระทำ และต้องกระทำให้สมบูรณ์

บารมีสิบประการ จำแนก 3 ระดับ   (บารมี  อุปบารมี  ปรมัตถบารมี)     รวม 30 ประการ ดังนี้

ทานบารมี              - การให้ด้วยใจบริสุทธิ์ 

ศีลบารมี                - สำรวมประพฤติกาย วาจา ใจ ให้ปกติ

เนกขัมมบารมี       - การออกจากกามด้วยการละความอยาก , 

                                   บวช 

อุเบกขาบารมี        - การวางเฉย เที่ยงธรรม 

เมตตาบารมี          - ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข

ขันติบารมี             - ความอดทน อดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ

ปัญญาบารมี         - ความรอบรู้

สัจจบารมี             - การตั้งมั่นในสัตย์ ความจริง

วิริยบารมี              - ความเพียรด้วยใจบริสุทธิ์

อธิฏฐานบารมี      - ความตั้งใจมั่นแน่วแน่มุ่งผลอย่างหนึ่ง

          "พระมหาชนกทรงว่ายน้ำกลางมหาสมุทรอยู่  7 วัน 

            แม้มิยังเห็นฝั่งก็ยังทรงเพียรว่ายอยู่เพื่อไปให้ถึงฝั่ง"

           ดังความว่า

"ดูก่อนเทวดา  ท่านก็เห็นผลแห่งกรรมประจักษ์แก่ตนแล้วมิใช่หรือ  คนอื่นๆ จมลงในมหาสมุทรหมด เราคนเดียวยังว่ายข้ามอยู่และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆ เรา  เรานั้นจักพยายามตามสติกำลัง จักทำความเพียรที่บุรุษควรทำ ไปให้ถึงฝั่งมหาสมุทร"

        นี่คือการบำเพ็ญเพียรหรือวิริยบารมีของพระมหาชนก ครับ   ซึ่งในพระราชปรารภกล่าวไว้ว่าเป็น "การทำความเพียรที่บริสุทธิ์"  ครับ หมายความว่า บำเพ็ญเพียรด้วยใจศรัทธา ไม่หวั่นไหว เชื่อมั่นว่าถ้ากระทำความเพียรคือว่ายอยู่ ย่อมสำเร็จ  คือขึ้นฝั่งได้  

         พระมหาชนกเชื่อมั่นอย่างนี้จึงไม่ทรงละความเพียร ทรงกล่าวว่า แม้เพียรแล้วต้องตายก็ย่อมได้ประจักษ์ว่าได้พึงรักษาชีวิตของตนไว้แล้ว พระองค์จะไม่ทรงยอมให้ศัตรูของความเพียร คือ ความเกียจคร้าน มาหยุดการกระทำนี้ได้ ดังความตอนที่นางมณีเมขลาถามพระมหาชนกว่า

        "มจฺจุ  ยสฺสาภินิปฺผตํ    ความว่า การทำความพยายามในฐานะอันไม่สมควรใดจนมัจจุคือ ความตายนั้นแลปรากฏขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรนั้นจะมีประโยชน์อะไร"

        พระมหาชนกตอบว่า     "ดูก่อนเทวดา  ผู้ใดรู้แจ้งว่าการงานที่ทำจะไม่ลุล่วงไปได้จริงๆ ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นละความเพียรในฐานะเช่นนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้าน

                                              ดูก่อนเทวดา คนบางพวกในโลกนี้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน จึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม"

อยากทำการงานสำเร็จ ต้องมีความเพียรที่บริสุทธิ์

           ท่านทั้งหลายครับ  การงานที่เราทำทุกวันนี้ย่อมต้องมีอุปสรรคนั่นคือ ความเกียจคร้าน  ศัตรูหมายเลขหนึ่งของความเพียร  อาจมีสาเหตุมาจากความยุ่งยาก ซับซ้อน เหนื่อยล้า จากงานหรือเกิดจากคนพาลคอยขัดขวาง ต่อต้านไม่ให้เราประสบความสำเร็จ  ถ้าเรายึดพระราชปรารภโดยอาศัยตัวอย่างจากพระมหาชนกดังกล่าวนี้  ทำการงานโดยความเพียรและศรัทธา เชื่อมั่นว่าจะบรรลุผลได้  เชื่อว่าเราคงบรรลุผลแห่งความศรัทธานั้นได้แน่นอน 

           สมาชิก KM  เชียงใหม่ ทุกท่านครับ  การที่ท่านเขียนบันทึกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกวัน ขยันเพียรเขียนอยู่อย่างนี้โดยเชื่อมั่นว่าจะบรรลุผล คือ การสร้างเครือข่ายความรู้ของคนทำงานที่สามารถสร้าง "ภูมิปัญญา" ของคนไทยให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง และก่อประโยชน์ในการพัฒนาความรู้ของชาติให้กว้างขวาง  สามารถพัฒนาสังคมไทยให้เป็น"สังคมแห่งความรู้" ในอนาคต ได้แน่นอน 

            การที่พระมหาชนกทรงเพียรว่ายน้ำในมหาสมุทรโดยไม่ร้องขอให้เทวดาช่วยเหลือ จนกระทั่งนางมณีเมขลายื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออุ้มพระมหาชนกไปสู่ฝั่ง ก็เป็นภาพสะท้อนที่ว่า  "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" เสียก่อน   ก่อนที่จะมีคนอื่นไปช่วยเหลือ  เพราะ " คนดีย่อมมีคนอื่นช่วยเหลือเสมอ"   ดังนั้น ผู้ที่มีความเพียรอย่างยิ่งมิได้อยู่ตามลำพัง หากอยู่ในสายตาเทวดาและมนุษย์  เมื่อนั้นผลแห่งการทำความดี ย่อมมีคนดีเข้ามาช่วยเหลือเสมอ

             ผมเองก็เช่นกัน ผมตั้งความเพียรไว้ว่า จะต้องเขียนบันทึกความรู้ ความคิด ไปสู่บุคคลอื่นอยู่อย่างนี้ไม่มีเบื่อ ท้อแท้  ครับ เพราะเห็นประโยชน์ของความเพียรดังในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก

           ท่านเห็นด้วยไหมครับ

(เสียดายครับ เรื่องนี้ยังไม่จบ  โปรดติดตามตอนต่อไปครับ) 

       

            

             

 

หมายเลขบันทึก: 121992เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ตามมาอ่านต่อ เดี๋ยวจะไปอ่านบทสุดท้ายค่ะ

คุณ Little Jazz

             ตามได้เลยครับ  อ่านแล้วมีอะไรแลกเปลี่ยนกันบ้างก็จะขอบคุณยิ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท